บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายชาญณรงค์ พลศรีลา

คดีหมายเลขดำที่ : อช.1/2555 วันที่ฟ้อง : 17/02/2555 คดีหมายเลขแดงที่ : อช.9/2555 วันที่ออกแดง : 26/11/2555

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 สำนักงานอัยการสูงสุด

ผู้เสียชีวิต : นายชาญณรงค์ พลศรีลา

คดี : ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ

 

นัดพร้อมวันที่ 12 มีนาคม 2555[2]

นัดพร้อมไต่สวนชันูสตรพลิกศพ นายชาญณรงค์ พลศรีลา  โดยอัยการในฐานะผู้ร้องขอได้ขอให้ศาลเลื่อนการไต่สวนเป็นนัดหน้า  มีพยานทั้งหมด 41 ปาก โดยจะมีการสืบพยานครบทั้งหมดไม่มีการตัดพยานออก และฝ่ายทนายญาติผู้เสียชีวิตยื่นพยาน 15 ปาก

 

นัดสืบพยานวันที่ 18 มิถุนายน 2555[3]

            พยาน

  1. นายนิค นอสติทซ์ (Nick Nostitz)ช่างภาพอิสระ ชาวเยอรมัน
  2. นายธีโล เธียลเค (Thilo Thielke) นักข่าวจาก Der Spiegel

พยานปากแรกนายนิค นอสติทซ์เบิกความว่า เขาเริ่มติดตามเหตุการณืทางการเมืองตั้งแต่ การชุมนุมของเสื้อเหลืองก่อนปี 2549  ในปี 2553 เขาได้เข้าไปทำข่าวการชุมนุมเสื้อแดงที่ผ่านฟ้า

นิคได้เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ค. 53 ว่าเขาเข้าไปทำข่าวที่สามเหลี่ยมดินแดง เห็นผู้ชุมนุมจำนวนประมาณ 200 คน  ขณะนั้นผู้ชุมนุมไม่ได้สวมเสื้อสีแดงแล้ว  เวลา 14.00 น.  เขาเข้าไปในถนนราชปรารภ ยังคงมีรถสัญจรไปมาอยู่ เมื่อไปถึงแยกรางน้ำมีทหารอยู่ในบังเกอร์ แต่เขาจำไม่ได้ว่าอาวุธที่ถือเป็น M16หรือไม่ จากนั้นเขาเดินไปซื้อน้าที่ เซเว่น อีเลฟเวน แล้วกลับมายังบังบริเวณสมเหลี่ยมดินแดง เวลา 15.00 น. เห็นรถสีเหลืองบรรทุกยางมาที่ราชปรารภ ไปยังปั๊ม เชลล์ นิคได้พบกับนายชาญณรงค์ ซึ่งในขณะนั้นเขายังไม่รู้ โดยชาญณรงค์สวมหน้ากากอนามัย มือถือหนังสติ๊กและตนได้บันทึกภาพนายชาญณรงค์ไว้ก่อนถูกยิงประมาณ 7 นาที  ผู้ชุมนุมได้ย้ายยางเข้าไปใกล้ฝั่งทหารมีระยะห่างประมาณ 80 ม.  ในขณะนั้นตนอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมประมาณ 4 ม. เห็นทหารยิงมายังกลุ่มผู้ชุมนุม เวลา 16.05 น. หลังมีการยิง 1 นาที นายชาญณรงค์กำลังคลานออกจากแนวยางเขาได้ถูกยิงเข้าที่บริเวณท้อง   ระหว่างที่กำลังนายชาญณรงค์กำลังกลับตัวเพื่อเข้าหาแนวยางนายนิคได้เห็นว่าเขถูกยิงที่แขนจนกระดูกหัก  จากนั้นพยายามเข้าหายางรถยนต์ ในขณะที่ผู้ชุมนุมที่อยู่หลังยางรถยนต์พยายามออกจากบังเกอร์ก็โดนยิงมาจากซอยรางน้ำ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีทหารประจำอยู่

นิคเบิกความอีกว่า ยืนยันว่านอกจากนายชาญณรงค์แล้วยังมีผู้ร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บอีก 2 ราย และทั้ง 2 ออกจากแนวยางรถยนต์ไปยังปั๊ม เชลล์ ตนเลยวิ่งตามไปถ่ายบุคคลทั้ง 2 ที่ห้องน้ำ จากนั้นผู้บาดเจ็บทั้ง 2 รายได้ปีนข้ามกำแพงไปบ้านที่อยู่หลังปั๊ม แล้วนิคได้กลับไปที่ทางเข้าปั๊มใกล้กับแนวยางอีกครั้ง เห็นมีผู้ชุมนุมวิ่งออกจากแนวยางอีก 2 คน  เสียงปืนดังใกล้เข้ามากว่าเดิมเขารู้สึกไม่ปลอดภัยจึงวิ่งออกจากจุดดังกล่าว  มีเสียงปืนดังเป็นระยะจึงเข้าไปหลบในห้องน้ำของปั๊ม เขาได้เห็นผู้ชุมนุม 2 คน พานายชาญณรงค์เข้ามาในห้องน้ำ เขาจึงถ่ายภาพผู้ชุมนุมทั้ง 2 คนนั้นไว้ หลังจากพาเขามาแล้วได้มีการเปิดดูบาดแผลของนายชาญณรงค์จากนั้นได้ส่งตัวเขาข้ามกำแพงไปแล้วไถลลงไปในสระน้ำ  แล้วนิคก็ได้ปีนข้ามกำแพงไปด้วย  นายนิคกล่าวว่าผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธและก็ได้มีการบอกกับทหารว่า ไม่มีอาวุธ ตั้งแต่ผู้ชุมนุมยังอยู่ที่บังเกอร์ยาง นิคยังได้ยืนยันอีกว่าไม่เห็นฝั่งผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน

ระหว่างนั้นทหารได้เดินเข้ามาและมีการยิงปืนขึ้นฟ้า ทำให้มีปลอกกระสุนกระเด็นข้ามมา เขาได้ยินเสียงผู้ชุมนุมที่ยังอยู่ตรงห้องน้ำของปั๊มบอกว่า “ผมยอมแล้ว ผมยอมแล้ว” และเขายังได้ยินเสียงทหารทำร้ายผู้ชุมนุม  มีทหารคนหนึ่งปีนข้ามกำแพงมาและมีทหารอีกคนอยู่ที่กำแพง  เขาและทหารที่ข้ามมาได้ช่วยกันดึงนายชาญณรงค์ขึ้นจากสระน้ำ เมื่อทหารดึงขึ้นมาจากน้ำแล้วทหารได้ตะโกนว่า ทำไมมึงยังไม่ตายอีก รู้ไหมทหารต้องนำตัวไปส่งโรงพยาบาล  ระหว่างนั้นนายชาญณรงค์ได้ลื่นไหลกลับลงไปในสระอีกครั้ง เขาจึงดูและผู้ตาย ทหารได้วิทยุเรียกหน่วยแพทย์มา ขณะนั้นนายชาญณรงค์หายใจไม่ออก ไม่ขยับตัว  หลังจากนั้นทหารได้มารับตัวนายชาญณรงค์ไป  หลังจากนั้นนิคได้กลับไปยังหลังกำแพง และไม่กล้าออกจากบริเวณดังกล่าวจึงได้ออกมาทางด้านหลังและไปถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเวลา 20.30 น. และได้บันทึกภาพพระที่สวดมนต์บนฐานอนุสาวรีย์ชัยฯ  จากนั้นจึงกลับบ้านเวลา 21.30 น. และได้เขียนบทความบันทึกเหตุการณ์เผยแพร่ทางเว็บไซต์นิวแมนเดลา[4]

หลังเหตุการณ์ประมาณหนึ่งเดือน ดูรายชื่อผู้เสียชีวิตจึงได้ติดตามไปที่สถานีตำรวจ พญาไท จึงทราบว่านายชาญณรงค์ได้เสียชีวิตแล้ว และบทความของเขาได้ถูกบล็อกจากกระทรวง ไอซีที เพื่อสอบถามและยืนยันว่าบทความไม่ได้ผิดกฎหมาย หลังจากนั้นบทความจึงเข้าได้อีกครั้ง  และเขายังเล่าถึงเรื่องที่ภรรยาเขาถูกจี้เอาเงินไป 2,000 บาท โดยคนร้ายยังได้กล่าวกับภรรยาเขาว่า “สวัสดีนิคด้วย” ทำให้เขาไม่แน่ใจว่าเป็นการถูกคุกคามหรือไม่ และคนร้ายรู้จักชื่อของเขาได้อย่างไร  แต่เขาได้บอกด้วยว่าหลังให้การกับ คอป. เหตุการณ์เหล่านี้ก็ลดลง

พยานคนที่สอง นายธีโล เธียลเค เบิกความว่าวันที่ 15 พ.ค. 53 ได้เดินทางจากบ้านไปที่ดินแดง เขาเห็นผู้ชุมนุม 40-50 คน หลังจากนั้นมีคนเอายางรถยนต์มาที่ถนนผู้ชุมนุมนำยางรถยนต์ไปใกล้เจ้าหน้าที่ทหาร หลัง 14.00 น. มีการยิงเกิดขึ้น เขาอยู่หลังบังเกอร์ของผู้ชุมนุมประมาณ 15 ม. ตนไม่เห็นว่าใครเป็นคนยิงหลังจากที่มีการยิงกันประมาณ 10 นาที เห็นผู้บาดเจ็บประมาณ 3-4 คน โดยไม่ทราบว่ามีผู้ชุมนุมเสียชีวิตหรือไม่ในขณะนั้น หลังจากที่ผู้ชุมนุมได้หนีเข้าไปในสถานีจำหน่ายน้ำมันแล้ว มีเจ้าหน้าที่ทหาร ถืออาวุธปืนไรเฟิลตามเข้าไป เขาที่หลบอยู่ด้านหลังของสถานีน้ำมันก็ได้กระโดดข้ามไปยังบ้านหลังนั้น และมีทหารเข้ามาพูดคุยแต่ตนไม่เข้าใจสิ่งที่ทหารพูด

นายธีโลเบิกความอีกว่า ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ฝ่ายทหารทีอาวุธปืน ใส่ชุดฟอร์มสีเขียว และยืนยันว่าผู้ชุมนุมที่อยู่หลังบังเกอร์ยางไม่มีการยิงตอบโต้กับทหาร ในตอนที่เขาอยู่ด้านหลังของปั๊ม นิค นอสติทซ์คือคนที่ที่พยายามจะช่วยเหลือผู้ชุมนุม

 

นัดสืบพยานวันที่ 25 มิถุนายน 2555[5]

                พยาน

  1. นางศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนายผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์
  2. นายไชยวัฒน์ พุ่มพวง  ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่น(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นายเดชภพ แล้ว)

ไม่มีข้อมูลการสืบพยานในศาล แต่มีการสัมภาษณ์ทนายโชคชัย อ่างแก้ว  ที่ให้ข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับการเบิกความของนางศิริพร ที่ได้เบิกความขั้นตอนการสลายการชุมนุมและคำสั่งการปฏิบัติการของทหารในการสลายการชุมนุม

ในการเบิกความของนายไชยวัฒน์ทนายโชคชัยกล่าวว่า เหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ค. 53 วิถีกระสุนถูกระดมยิงมาจากทางฝั่งที่มีทหารประจำการอยู่ และตัวของพยานเองก็โดนกระสุนยิงเข้าที่ขา และเห็นนายชาญณรงค์ถูกยิงด้วย

 

นัดสืบพยานวันที่ 2 กรกฎาคม 2555[6]

            พยาน

  1. นายเดชภพ พุ่มพวง ช่างภาพเนชั่น(นายไชยวัฒน์ พุ่มพวง)
  2. นายณัฐพงศ์ พรหมเพชร ช่างภาพช่องไทยพีบีเอส(ในคำสั่งศาลจะมียศว่าที่ร้อยตรีนำหน้า)
  3. นายพงษ์ไทย วัฒนาวณิชย์วุฒิ นักข่าวโพสต์ทูเดย์
  4. นายสรศักดิ์ ดิษปรีชา  รับจ้างขับรถ

พยานปากแรก นายเดชภพ พุ่มพวง(ชื่อเดิมนายไชยวัฒน์)  เบิกความว่า วันที่ 15 พ.ค. 53 เขาได้รับมอบหมายให้ไปถ่ายภาพที่ถนนราชปรารภ  ซึ่งที่นั่นมีลวดหนามของทหารที่ติดป้าย “แนวกระสุนจริง” ขณะที่ผู้ชุมนุมพยายามตั้งบังเกอร์ห่างออกไป ช่วงที่มีการยิงทหารเริ่มเดินรุกคืบบนถนนทั้งสองฝั่ง  แต่เขาไม่เห็นทหารบนสะพานลอย  มีเสียงปินดังจากทางแนวทหาร ฝั่งผู้ชุมนุมไม่ได้มีการตอบโต้ด้วยอาวุธ แต่ก็มีการยิงพลุซึ่งไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ตนใส่ปลอกแขนมีคำว่า PRESS ชัดเจน แต่เขาก็ยังถูกยิงเข้าที่โคนขาขวา โดยเชื่อว่ายิงมาจากฝั่งทหาร และไม่มีการประกาศเตือนล่วงหน้าจากทางเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

พยานปากที่สองว่าที่ร้อยตรีณัฐพงศ์ พรหมเพชร เบิกความว่า ช่วงบ่ายโมงกว่า กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้เริ่มพยายามนำยางรถยนต์เข้าไปวางห่างจากสามเหลี่ยมดินแดงประมาณ 100 ม. ฝ่ายทหารน่าจะอยู่ห่างออกไปทางรางน้ำ เขาไม่เห็นอาวุธในกลุ่มผู้ชุมนุม   ทางผู้ชุมนุมมีการนำฝากระโปรงรถทหารมาทำเป็นเกราะกำบัง  จากนั้นเขาได้ยินเสียงปืนดังจากทางฝั่งทหารแต่น่าจะเป็นการยิงขึ้นฟ้าและจากที่มีการยิงไม่กี่นัดก็เริ่มมากขึ้นๆ ผู้คนก็แตกกระจายหาที่กำบัง   ทางผู้ชุมนุมมีการตอบโต้ด้วยพลุตะไลจำนวนประมาณ 3 นัด แต่เขาเข้าใจว่าเป็น M79   ระหว่างที่ทหารรพดมยิงเรื่อยๆ อยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงปืนลูกโม่เป็นระยะๆ แต่ไม่มากนัก มาจากทางฝั่งผู้ชุมนุมด้วย  ระหว่างที่มีการยิงอยู่นั้นเขาได้เห็นผู้ชุมนุมถูกยิง 2 คน คนหนึ่งกระโดหนีไปได้ อีกคนทราบภายหลังว่าคือนายชาญณรงค์  แต่เขาไม่เห็นทหารยิงอย่างชัดเจน แต่ทราบว่ากระสุนมาจากทางทหาร ระหว่างนี้นายเดชภพก็ถูกยิงด้วย แต่เขาเข้าไปช่วยไม่ได้จนทหารเข้าไปช่วย  และเขายังถูกทหารยึดเทปบันทึกภาพไป เขาจึงต่อรองโดยเขาแจ้งทหารว่าในเทปมีภาพทหารช่วยนายเดชภพด้วย หากได้ออกอากาศน่าจะเป็นผลดี ทหารจึงยอมมอบเทปคืน แต่ทหารซึ่งแต่งนอกเครื่องแบบ(เขาคิดว่าเป็นระดับผู้บังคับบัญชา) สั่งให้เขาลบภาพที่มีการหามคนเจ็บหรือคนตายออกไป 1 ภาพ เมื่อได้เทปคืนจึงได้นำภาพที่เหลือไปออกอากาศ 2 ครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างเบิกความมีการเปิดฉายเทปบันทึกการรายงานข่าวสถานการณ์ดังกล่าวของไทยพีบีเอสที่นายณัฐพงศ์เก็บภาพไว้ได้ด้วยโดยเห็นผู้ชุมนุมมีการจุดตะไล และมีการระดมยิงเข้าบริเวณบังเกอร์ใกล้ปั๊มเชลล์กระทั่งมีการหามนายเดชภพออกจากจุดเกิดเหตุโดยทหารและมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทนายจำเลยได้ซักถามถึงภาพที่ระดมยิงใส่กองยางและมีผู้บาดเจ็บว่ามีการถ่ายไว้ด้วยหรือไม่  เขาได้ตอบว่ามีการถ่ายไว้แต่ไม่แน่ใจว่ามีการนำไปออกอากาศหรือไม่เพราะตนมีหน้าที่เพียงส่งภาพทั้งหมดเข้าไปยังสำนักงานเท่านั้น

พยานปากที่สาม นายพงษ์ไทย  วัฒนาวณิชย์วุฒิ  เบิกความว่าบังเกอร์ถูกนำมาวางที่ปั๊มเชลล์มีผู้ชุมนุมราว 20-30 คน แต่ยังไม่ทันเป็นรูปเป็นร่างก็ได้ยินเสียงปืน 2-3 นัด ซึ่งตนยังจับไม่ได้ว่ามาจากทางไหน  จากนั้นได้ยินเสียงปืนอีกหลายนัด และเริ่มประเมินได้แล้วว่ามาจากทางฝ่ายทหารแต่ไม่เห็นวิถีตกของกระสุน เขาจึงเข้าไปหลบฝั่งตรงกันข้ามกับปั๊มเชลล์ เห็นผู้ชุมนุมหลบอยุ๋หลังกองยางราว 10 คน จากนั้นกระสุนชุดที่สามก็มาอย่างต่อเนื่อง เขาได้เห้นวิถีกระสุนชัดว่ามาจากทางด้านทหาร มาทั้งข้างล่าง ข้างบน ตกที่ถนนข้ามกองยางไป และเห็นว่าโดนคนหลังกองยางด้วยเพราะเห็นเลือด แต่ไม่รู้ว่าโดนกี่คน ส่วนนายเดชภพซึ่งหลบอยุ่ใกล้ๆ นั้นก็ถูกยิงด้วยในช่วงนี้ นายเดชภพได้ตะโกนบอกว่าถูกยิง เขาจึงชะโงกไปดู  เขาวางกล้องจะไปช่วย จังหวะที่ชะโงกคลานไปแล้วครึ่งตัว เหมือนมีแรงลมผ่านใกล้หัวมากจึงต้องหลบเข้าที่เดิมและบอกให้นายเดชภพนั่งนิ่งๆ เพราะกลัวเขาโดนยิงซ้ำหากขยับ ทั้งสองคนนั่งอยู่นานปราะมาณ 20 นาที จึงเห็นทหารกระชับพื้นที่เข้ามาเรื่อยๆ มีอาวุธปืนคาดว่าเป็น M16 ค่อยๆ ย่องเข้ามาในลักษณะกระชับปืนคอยเล็งตลอด จนพบผู้สื่อข่าวและช่วยออกไปจากพื้นที่

พยานปากสุดท้ายนายสรศักดิ์ ดิษปรีชา เบิกความว่าระหว่างที่เขาหลบอยู่หลังกองยาง ขณะนั้นนายชาญณรงคืหมออยู่ห่างจากกองออกไปและพยายามคลานเข้ามาใกล้แล้วบอกว่า “ผมโดนแล้วๆ” และได้เปิดเสื้อให้เขาดูเห็นเลือดออกมาจากบาดแผลจำนวนมาก จากนั้นเขาพยายามวิ่งเข้าปั๊มซึ่งระหว่างปั๊มกับแนวยางจะมีช่องที่ไม่มีกองยางบังอยู่ มีกระสุนมาไม่ขาด  เมื่อเขาเข้าไปได้แล้วมีคนตะโกนบอกว่าอย่าไปอยู่ในปั๊มเพราะลูกปืนจะโดนหัวจ่ายน้ำมันระเบิด  เขาจึงอ้อมหลบข้างรถเก๋งที่จอดอยู่ข้างปั๊มก่อนจะพยายามออกมจากพื้นที่เพื่อกลับไปมอเตอร์ไซค์ที่จอดอยู่ไม่ไกล

เขาเบิกความด้วยว่าผู้ชุมนุมมี่อาวุธ นายชาญณรงค์ที่มีหนังสติ๊ก  แต่หลังจากที่ทหารเริ่มยิงมีเด็กผู้ชายคนหนึ่งนำตะไลออกมาเตรียมจุด แต่เขาได้เตือนเด็กว่าอย่าจุดเพราะจะยิ่งเป้นการยั่วยุ แล้วเด็กก็ไม่ได้จุดตะไล

 

นัดสืบพยานวันที่ 9 กรกฎาคม 2555[7]

            พยาน

  1. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด
  2. ร.อ.มนต์ชัย ยิ้มอยู่
  3. พ.อ.กัญชัย ประจวบอารีย์
  4. พ.ต.ท.สุรพล รื่นสุข  รองผู้กำกับการ สน. คันนายาว ในช่วงการชุมนุมมีหน้าที่ฝ่ายการข่าว กองบัญชาการตำรวจนครบาล
  5. พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร ในช่วงเหตุการณ์ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  6. พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ อดีตสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท

ในการสืบพยานครั้งนี้ พ.อ.สรรเสิรญ แก้วกำเนิด พ.อ.กัญชัย ประจวบอารีย์ และร.อ.มนชัย ยิ้มอยู่ไม่ได้ขึ้นให้การ เนื่องจากมีการนำส่งหลักฐานเอกสารและภาพถ่ายเพิ่มจึงเลื่อนการไต่สวนไปเป็น 24 กันยายน 2555  ส่วนทางฝ่ายตำรวจคือ พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ ต้องเลื่อนไปนัดของวันที่ 16 ก.ค. 55 เนื่องจากเวลาไม่พอ

พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร เบิกความว่าระหว่างวันที่ 12-16 พฤษภาคม 2553 กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้จัดกำลังตำรวจตั้งจุดตรวจจุดสกัดกั้นการนำอาวุธเข้าไปในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง 13 จุด ซึ่งใกล้ที่เกิดเหตุคือบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสามเหลี่ยมดินแดง ต่อมาได้ตั้งเพิ่มอีกจุด คือ ซอยรางน้ำ ในส่วนการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์นั้น เขาทราบข่าวเบื้องต้นจากการรายงานข่าวของพนักงานสอบสวนในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงการประกาศภาวะฉุกเฉินทำให้ พนักงานสอบสวนเจ้าของพื้นที่ และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ไม่สามารถเข้าพื้นที่เกิดเหตุได้

พ.ต.ท.สุรพล รื่นสุข เบิกความถึงส่วนการเสียชีวิตนายชาญณรงค์ เบื้องต้นทราบข่าวจากการรายงานของตำรวจในพื้นที่และต่อมาทราบชื่อผู้ตายจากสื่อมวลชน โดยการนำเสนอข่าวนั้นจะรวบรวมจาก ตำรวจในพื้นที่ตำรวจสันติบาลและสื่อมวลชน

 

นัดสืบพยานวันที่ 16 กรกฎาคม 2555[8]

            พยาน

  1. พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ อดีตสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท
  2. พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม  ผู้เชี่ยวชายด้านอาวุธปืน ทำหน้าที่ตรวจสอบอาวุธปืน

นอกจากตำรวจ 2 นายนี้แล้วตามข่าวยังมีตำรวจและทหารคนอื่นที่ขึ้นเบิกความในช่วงบ่ายอีก แต่ไม่มีข่าวสำนักไหนอยู่ทำข่าวในช่วงบ่าย

พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ เบิกความ สรุปว่า ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 ได้รับแจ้งว่ามีการก่อความวุ่นวายของกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วน ที่บริเวณปั๊มเชลล์ซอยรางน้ำ มีการเผายางรถยนต์ ขว้างขวดใส่เจ้าหน้าที่ทหารจนเกิดการปะทะกัน และได้รับแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บ โดยมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันที่บริเวณปากซอยราชวิถี 11 เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ซึ่งพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ผบก.น.1 (ขณะนั้น) สั่งการให้รถตำรวจนำรถพยาบาลเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บ แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ เนื่องถูกยิงสกัดจากแนวรั้วลวดหนามของทหาร พล.ต.ต.วิชัยจึงประสานกับ ศอฉ. เพื่อขอกำลังอาสาสมัครไปช่วยผู้บาดเจ็บออกมาจากที่เกิดเหตุ และช่วงบ่ายวันเดียวกันก็ได้รับแจ้งว่า มีรถตำรวจถูกยิงที่บริเวณถนนราชปรารภ ตอนกลางซึ่งเป็นช่วงที่ทหารวางกำลังอยู่
พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ เบิกความอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 53 หลังการประกาศภาวะฉุกเฉินโดยศอฉ.ทหารได้วางกำลังตั้งศูนย์บัญชาการที่สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ มักกะสัน ตรงถนนราชปรารภ พร้อมกับวางรั้วลวดหนามตลอดแนวกั้นเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่แยกราชประสงค์ โดยติดป้ายข้อความว่า เขตการใช้กระสุนจริง ทั้งที่ถนนราชปรารภ ตรงหน้าโรงแรมอินทรา และบริเวณซอยรางน้ำ รวมทั้งตำรวจก็ไม่สามารถเข้าพื้นตรวจที่เกิดเหตุได้ และทราบผลการชันสูตรศพนายชาญณรงค์ในภายหลังว่า ถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนความเร็วสูงเข้าที่บริเวณท้อง ซึ่งหากเป็นเหตุการณ์ปกติเมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ชุดสืบสวนสามารถเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุได้ เมื่อได้รับแจ้งเหตุ แต่ช่วงการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ ศอฉ.ประกาศผ่านสื่อ ห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับระบุด้วยว่า ช่วงการสืบสวนหาข่าวเห็นทหารพกปืนM 16 และทาโวร์ติดลำกล้องในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้

พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม ซึ่งทำหน้าที่ตรวจอาวุธปืน

 

นัดสืบพยานวันที่ 27 กันยายน 2555[9]

            พยาน

  1. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด  ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารบก ในช่วงเหตุการณ์เป็นโฆษก ศอฉ.
  2. พ.อ.กัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์   เสนาธิการหน่วยเฉพาะกิจ จ.นราธิวาส ในช่วงเกิดเหตุเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ จังหวัดลพบุรี
  3. พ.ต.มนต์ชัย ยิ้มอยู่  ในช่วงเหตุการณ์ยศ ร้อยเอก เป็นผู้บังคับกองร้อยในพื้นที่เกิดเหตุ นายทหารยุทธการและการศึก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เบิกความว่าได้เข้าร่วมประชุมกับ ศอฉ. แต่ไม่ได้ประชุมทุกรอซึ่งการประชุม ศอฉ. จะมีขึ้นทุกวันและมีหน้าที่นำเรื่องราวที่ประชุมเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ ศอฉ. ถูกจัดตั้งโดยคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผู้ควบคุมดูแล

การชุมนุมของ นปช. เริ่มในวันที่ 12 มี.ค.53 ที่บริเวณถนนราชดำเนิน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและให้รัฐบาลในขณะนั้นลาออก หลังจากนั้น 3 เม.ย.53 ได้ขยายพื้นที่ไปปิดสี่แยกราชประสงค์ เมื่อที่ราชดำเนินมีคนน้อยจึงขอพื้นที่คืนวันที่ 10 เม.ย.53  ในวันที่ 7 เม.ย.53 มีกลุ่มผู้ชุมนุมนำโดย นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง บุกไปในรัฐสภาและยึดอาวุธปืนจากเจ้าหน้าที่รัฐสภา หลังเหตุการณ์ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้ประชุมหารือกันโดยมีนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ดูแล และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงนำไปสู่การตั้ง ศอฉ.

นอกจากนายอริสมันต์บุกเข้ารัฐสภาแล้วยังมีการใช้กระสุน M79 ยิงไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ คิดโดยสรุปว่าเป็นการยิงจากกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีการเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 53 ที่มีการขอพื้นที่คืนบริเวณถนนราชดำเนินโดยทหารและตำรวจ ในช่วงเวลา 17.00 น. ไปแล้วเกิดการปะทะกันนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และมีทหารบาดเจ็บหลายนายและเสียชีวิต 5 นายในเหตุการณ์นั้น

พ.อ.สรรเสริญเบิกความต่ออีกว่าหลังการประชุมในตอนเช้ามีการสั่งการขอคืนพื้นที่ให้ปฏิบัติเสร็จภายในช่วงเวลา 17.00 น. ในขณะนั้นมีการรายงานจากทุกหน่วยว่าทัศนวิสัยไม่ดีเนื่องจากใกล้มืดแล้วจึงขอยุติการปฏิบัติการและศอฉ. ได้อนุมัติให้ถอนกำลังแต่ขณะนั้นทหารจากกองพันทหารราบที่ 2  ไม่สามารถถอนตัวออกจากสี่แยกคอกวัวได้เพราะมีผู้ชุมนุมขวางด้านหน้าและด้านหลัง   ต่อมาทหารหน่วยนั้นได้ถูกโจมตีด้วย M67  M79 และกระสุนปืนจากผู้ใช้อาวุธที่ฝั่งผู้ชุมนุม

เวลา 20.00 น. จากการที่ ศอฉ. ได้ประชุมกันอย่างต่อเนื่อง พ.อ.สรรเสริญนั่งใกล้กับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เขาเข้าใจว่าขณะนั้นนายกอร์ปศักดิ์ได้โทรศัพท์คุยกับ นพ.เหวง โตจิราการ เขาได้ยินนายกอร์ปศักดิ์พูดว่า “ให้ฝั่งโน้น(ผู้ชุมนุม นปช.) หยุดปฏิบัติการ เพราะทหารยุติแล้ว”

หลังเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. แล้ว ที่ราชประสงค์มีความรุนแรงเกิดขึ้นจึงนำไปสู่มาตรการปิดล้อม การตัดสาธารณูปโภค ตัดสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อให้ยุติการชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 53     ซึ่งปรากฏว่าในเวลากลางวันกลุ่มผู้ชุมนุมมีปริมาณไม่มาก แต่เมื่อเย็นและค่ำปริมาณก็เพิ่มขึ้นอีก แสดงว่าให้เห็นว่าผู้ชุมนุมยังสามารถเข้าออกได้อยู่

วันที่ 19 พ.ค. 53 จึงตัดสินใจ “กระชับวงล้อม” เพื่อกดดันให้ยุติการชุมนุมไปเองและต้องการควบคุมพื้นที่สวนลุมพินีเนื่องจากมีกลุ่มใช้อาวุธสงครามอยู่และยิงออกมา เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และเขาอธิบายว่าการกดดันทำให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเองไม่ได้เป็นการสลายการชุมนุมเพราะไม่มีการส่งกำลังไปยังใจกลางพื้นที่ชุมนุมการกระชับวงล้อมเราใช้มาตรฐานสากล 7 ขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก

ในส่วนการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ที่ราชปรารภนั้น เขาเบิกความว่าเขาได้ทราบเรื่องหลังเหตุการณ์ไปแล้ว ศอฉ. ไม่มีการแถลงข่าวเรื่องนี้ เนื่องจากไม่ใช่เหตุการณ์ในภาพรวมและจำไม่ได้ว่ามีทหารหน่วยปฏิบัติการที่ไหนบ้าง เขายืนยันว่าการเป็นโฆษกไม่จำเป็นต้องรู้เรื่อง และเขาได้กล่าวถึงอาวุธของทหารไว้ว่า ทหารจะมีอุวธประจำกายทุกนาย แต่กระสุนจริงจะแจกเฉพาะผู้บังคับหมู่ที่มีดุลยพินิจและประสบการณ์

เขากล่าวต่ออีกว่าที่มีภาพเขตการใช้กระสุนจริงนั้นเขาได้รับรายงานจากผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ถึงเหตุผลในการติดป้ายว่า เหตุผลแรก พื้นที่นั้มีชายชุดดำในกลุ่มผู้ชุมนุมยิงมา เหตุผลที่สอง เป็นพื้นที่อันตรายไม่ให้คนเข้า และสุดท้ายเป็นปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่นั้น  เขายังบอกอีกว่ามีการจับกุมกลุ่มผู้ใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งทาง ศอฉ. เรียกว่า “ชายชุดดำ” ได้หลังการชุมนุมแต่ไม่สามารถจับได้ระหว่างการชุมนุมเนื่องจากกลุ่มนี้จะแฝงตัวกับผู้ชุมนุม

เขาได้กล่าวถึงบทความในวารสารเสนาธิปัตย์ ฉบับที่ 59 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2553[10] ว่า ผู้เขียนได้มีการเขียนแก้จากเดิมที่วิเคราะห์จากรายงานข่าวว่ารูปแบบการปฏิบัติการของทหารเป็นการใช้การรบ แต่หลังจากผู้เขียนได้คุยเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ทหารผู้ปฏิบัติการ จึงมีการเขียนบทความอีกชิ้นลงในวารสารเสนาธิปัตย์ ฉบับที่ 60 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2553[11] โดยแก้ว่าไม่ใช่ปฏิบัติการรบ

พ.อ.สรรเสริญ ได้เบิกความด้วยว่าก่อนหน้า 10 เม.ย.53 นั้นยังไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่หลังจากมีการบาดเจ็บล้มตาย ศอฉ. จึงมีการสรุปถึงสาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่เขาไม่ทราบข้อสรุปอย่างไรก็ตามมีการแถลงเกี่ยวกับเหตุการณืที่เกิดขึ้นในบางกรณี เช่น กรณีที่มีคนโบกธงแล้วโดนยิงหงายท้อง(นายวสันต์ ภู่ทอง)

ในส่วนของชายชุดดำในวันที่ 10 เม.ย. 53 จับกุมตัวได้และมีการดำเนินคดีอยู่ แต่เขาจำชื่อไม่ได้ ส่วนคนขว้างระเบิดและยิง M79 ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนทำแต่สามารถจับกุมได้กว่า 10 คน ในเหตุการณ์นี้เจ้าหน้าที่ทหารมีการใช้อาวุธและกระสุนจริง และเขาได้กล่าวถึงการประชุม ศอฉ.ในวันที่ 10 เม.ย. ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้รับผิดชอบสั่งการ

พ.อ.สรรเสริญเบิกความถึงการใช้อาวุธในพื้นที่ราชปรารภว่า  ในแต่ละวันมีการรายงานว่ามีคนเจ็บคนตาย แต่ไม่ทราบมากนัก การเสียชีวิตนั้นตนเองไม่ได้รับรายงาน เพราะคนเป็นโฆษกไม่ใช่คนรับรายงาน  ใน 7 ขั้นตอนของการควบคุมฝูงชนนั้นไม่มีการใช้กระสุนจริง แต่หากตรวจพบว่าบุคคลใช้อาวุธจริงทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชน เจ้าหน้าที่ก็สามารถใช้กระสุนจริงได้ แต่ไม่มุ่งหมายเอาชีวิต  และหากนิยามว่าหนังสติ๊กไม่ใช่อาวุธสงคราม เมื่อมีคนถือหนังสติ๊ก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้อาวุธสงครามยิงได้  และมีการปฏิบัติภารกิจแบบ “สไนเปอร์” จริง แต่เป็นในลักษณะ “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” เพื่อคอยป้องกันประชาชนและทหาร ส่วนคำว่า “สไนเปอร์” เป็นคำศัพท์ทางการทหาร คือ “พลซุ่มยิงลอบสังหาร” ซึ่งต่างจาก “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” ที่ใช้แม้จะสามารถยิงสกัดได้แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเอาชีวิตรวมถึงไม่จำเป็นต้องอยู่ที่สูงเสมอไป ขึ้นอยู่กับลักฦษณะภูมิประเทศ โดยจะใช้ M16 และทาโวร์แต่ไม่แน่ใจว่าใช้อาวุธปืนชนิดอื่นด้วยหรือไม่

พยานปากที่สองพ.อ.กัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์ เข้าไปตั้งด่านในพื้นที่ถนนราชปรารภในวันที่ 14 พ.ค.53 เพื่ออำนวยความสะดวกและตรวจอาวุธไม่ให้ผู้ชุมนุมนำอาวุธเข้าไปยังที่ชุมนุม  แต่ไม่มีการห้ามเข้าออก  โดยหน่วยที่รับผิดชอบมี 3 กองร้อย  กองร้อยละ 150 นาย เข้าไปขึ้นกับ ร.1รอ.  โดยหน่วยของเขามีอาวุธปืนลูกซอง ประมาณ 80-100 กระบอก ที่เหลือเป็นโล่และกระบอง ทาโวร์ 5 กระบอก แต่เบิกกระสุนซ้อมรบไป  แต่ในปืนลูกซองมีกระสุนจริงด้วย

ได้รับคำสั่งให้มาจากทางสามเหลี่ยมดินแดงโดยเดินเท้าเข้าไปตั้งด่านที่บริเวณปากซอยราชปรารภ 12 ถึง 14 โดยผ่านผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ขณะผ่านมานั้นทหารได้รับความบอบช้ำแต่ไม่มีความรุนแรง  จุดที่ไปวางกำลังอยู่ใกล้สถานีจำหน่ายน้ำมันเอสโซ่ วางกำลังอยู่ตามชายคาตึกหลบตามซอกตึกห่างจากสถานีจำหน่ายน้ำมันเชลล์ประมาณ 300 ม.

ในวันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 16.00 น. หลังจากที่ถูกผู้ชุมนุมทำร้ายตลอดทางที่เข้ามาและมีการเคลื่อนกำลังมาประชิดขณะที่หน่วยของพ.อ.กัณฐ์ชัยกำลังตั้งด่าน จึงได้ขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาเพื่อผลักดันผู้ชุมนุมออกไป โดยใช้ดละและกระบอง  ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นหลังจากนั้นมีการวางลวดหนามห่างจากจุดที่วางกำลัง 100 ม. ทั้งด้านซ้ายและขวา ในบริเวณที่พยานวางกำลังไม่มีการติดป้ายข้อความ “เขตพื้นที่กระสุนจริง” มีเหตุการณ์ทหารถูกปล้นปืนไปที่สามเหลี่ยมดินแดงโดยเขาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่ภาคใต้ เวลา 17.00 น. ทหารจาก ร.1 ที่เข้ามาส่งอาหารทางสามเหลี่ยมดินแดงได้ถูกทำร้ายและปืนถูกปล้นไป 2 กระบอก และมีการเผารถยนต์ของทหารเหมือนเหตุการณ์ในภาคใต้ มีการแต่งกายคล้ายทหารมีการนำเสื้อทหารไปใส่ เช่นเดียวกับภาคใต้ที่ปลอมตัวเป็นทหาร รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมจะทำร้ายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าโดยไม่มีสติ  และเขายังเท้าความถึงการปล้นปืนในวันที่ 10 เม.ย. ที่สาพนปิ่นเกล้าซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้คืน

พ.อ.กัณฐ์ชัยได้เบิกความถึงคืนวันที่ 14 พ.ค. ต่อว่า หน่วยของเขาถูกโจมตีอย่างหนักโดยยิงมาจากทางสามเหลี่ยมดินแดงและตามซอยต่างๆ อาคารสูงเช่นอาคารชีวาทัยและโรงแรมเซ็นจูรี่  ด้วยอาวุธปืนเล็กยาว M79 และอาวุธระเบิดจากกองกำลังที่อยู่ในฝูงชน มีทหารบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่มีใครเสียชีวิต  วันที่ 16 พ.ค. ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดสามารถเก็บระเบิดที่กลุ่มผู้ชุมนุมวางไว้ได้ เขาได้ส่องกล้องไปบนตึกชีวาทัยพบว่ามีกองกำลังติดอาวุธอยู่บนตึกด้วย

เขาเบิกความย้อนกลับมาวันที่ 15 ว่ามีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธโจมตีหน่วยของเขา ซึ่งสายข่าวสามารถถ่ายภาพไว้ได้ หน่วยของเขาจึงมีการทำบังเกอรืโดยใช้กระสอบทราย มีตำรวจพร้อมอาวุธวางกำลังช่วยเหลือหน่วยของเขาในบริเวณใกล้เคียงด้วย เวลา 15.00 น. มีคนแจ้งว่ามีคนเจ็บที่บริเวณปั๊มเชลล์ จึงวิทยุไปยังผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อขอจัดกำลังเข้าไปช่วยเหลือ โดยเขามอบให้ ร.อ.มลชัย ยิ้มอยู่ จัดกำลังเข้าไปช่วย หลังจากนั้นได้นำผู้บาดเจ็บเป็นชาย 2 คน ซึ่งขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่ทราบชื่อในภายหลังว่าคือนายชาญณรงค์  ระหว่างที่เข้าไปช่วยนั้นมีเสียงปืนยิงมาจากทางสามเหลี่ยมดินแดง และมีทหารได้รับบาดเจ็บ คือ ส.อ.สรายุทธิ์ ศรีวะโสภา ถูกยิงแต่บาดเจ็บไม่มาก

พ.อ.กัณฐ์ชัยเบิกความอีกว่าอาวุธปืนทาโวร์ของหน่วยมีมากกว่า 100 กระบอก แต่ในการปฏิบัติการมีการเบิกจ่ายเพียง 5 กระบอกและไม่มีการเบิกจ่ายกระสุน  เพราะได้รับภารกิจเพียงแค่ตั้งด่านจึงเอาปืนมาเพียงแค่ขู่ก็เพียงพอแล้ว และตั้งแต่ 14-19 พ.ค. ไม่มีการเบิกจ่ายกระสุนจริง  แม้จะถูกโจมตีก็ไม่มีการตอบโต้

เขาอธิบายต่อว่าในระหว่างปฏิบัติการมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธยิงใส่หน่วยของเขา แต่ไม่มีการยิงใส่กลุ่มเหล่านั้นเลย แม้จะมีการร้องขอความช่วยเหลือไปยังผู้การ ร.1 รอ. แต่ถูกสั่งให้ช่วยเหลือตัวเองและให้เอากระสอบทรายทำเป็นบังเกอร์บังเอาไว้ รวมทั้งให้ใช้เพียงปืนลูกซองยิงขู่ โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา เพราะหน่วยของเขาเป็นหน่วยจากต่างจังหวัดจึงไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือให้ความสำคัญจากทหารในเมือง  การปฏิบัติจะได้รับคำสั่งจากผู้การ ร. 1 รอ. อีกทีแต่ผู้การจะได้รับคำสั่งจากไหนนั้นเขาไม่ทราบ   และในที่ตั้งด่านอยู่นั้นพยานจะขึ้นไปตรวจบนตึกสูงก็ถูกปฏิเสธจากประชาชนในบริเวณนั้นเพราะพวกเขาถูกขู่ว่าถ้าให้ทหารขึ้นตึกจะถูกเผา  ในวันที่ 14-19 นั้นนอกจากผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน ที่เขาเห็นแล้วไม่เห็นหรือได้รับรายงนว่ามีผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในบริเวณนั้นอีก

เขาคิดว่าการวางยางไม่ได้เป็นภัยคุกคาม แต่มีเสียงปืนและระเบิดดังมาจากฝั่งผู้ชุมนุมเป็นระยะ ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 มีการนำยางมาวางบริเวณหน้าสถานีจำหน่ายน้ำมันเชลล์ แต่ไม่ได้เห็นตัวคนชัดเจนแต่เห็นเพียงยางที่กลิ้งมาซึ่งในตอนนั้นเขาไม่ได้มีการสั่งการอะไร  แต่ได้ยินเสียงปืนและระเบิดดังมาจากฝั่งผู้ชุมนุมเป็นระยะ ซึ่งจุดที่ผู้ชุมนุมวางแนวยางนั้นห่างจากจุดที่พยานอยู่ประมาณ 300 ม. และคิดว่าการวางยางดังกล่าวไม่ได้เป็นภัยคุกคามอะไรต่อกำลังพลและประชาชน   จากการตรวจการพบว่ามีการยิงมาจากที่สูงและแนวราบมายังทหารที่ตั้งด่านอยู่แต่ทหารภายใต้การบังคับบัญชาของพยานก็ไม่ได้มีการยิงตอบโต้

เขาเบิกความอีกว่าช่วงที่ตั้งด่านตรวจค้นมีการตรวจพบอาวุธ เช่น มีด ระเบิดปิงปอง ระเบิดทำมือ ธงแหลม ได้มีการส่งให้ตำรวจในท้องที่เพื่อดำเนินคดี แต่คนที่ผ่านไปมาไม่มีอาวุธก็จะไม่ขัดขวางหากจะไปชุมนุมที่ราชประสงค์ และเท่าที่สังเกตการณ์ไม่พบว่ามีกลุ่มติดอาวุธยิงใส่ประชาชน

พยานปากสุดท้าย พ.ต.มนต์ชัย ยิ้มอยู่ เบิกความว่าช่วงเกิดเหตุ ศอฉ. ได้อนุญาตให้ใช้ทั้งกระสุนจริงและกระสุนยางได้ แต่ปืนทาโวร์ที่ตัวเขาเองใช้นั้นเป็นเพียงกระสุนซ้อมรบ ส่วนหลักการใช้กระสุนจริงของ ศอฉ. คือ  แจ้งเตือน ยิงขึ้นฟ้า และ ยิงโดยไม่ประสงค์ชีวิต ยิงเพื่อป้องกันตนเอง   ซึ่งหน่วยของเขาได้มีการเบิกปืนทาโวร์มา 5 กระบอก โดยมีทหารระดับสัญญาบัตรถือ และไม่มีการเบิกกระสุนจริงมาใช้ มีเพียงกระสุนซ้อมรบ

พ.ต.มนต์ชัย เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 14 พ.ค. 53 ไว้ว่า ถูกผู้ชุมนุมทำร้ายตลอดด้วย ไม้ เหล็กแหลม มีและอาวุธที่หนักขึ้น ระเบิดขวด ระเบิดปิงปอง ขวางใส่ จนทหารในหน่วยได้รับอันตรายบาดเจ็บแต่ไม่สาหัส หลายนายหัวแตก ฟกช้ำ และในตอนเย็น ที่สามเหลี่ยมดินแดง ผู้ชุมนุมได้ยึดอาวุธปืน M16 ไป 3 กระบอก และกระสุนจริงจากเจ้าหน้าที่ และเผาทำลายรถทหาร รวมทั้งนำเครื่องแต่งกายของทหารมาแต่งเพื่อทำให้เข้าใขผิดคิดว่าเป็นทหาร และในคืนวันนั้นหน่วยของเขาถูกโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธของ นปช. โดยใช้ปืนพก ปืนเล็กยาว M79 ระเบิดขว้าง ระเบิดเพลิง หนังสติ๊กและหัวน๊อต แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ และไม่ได้ทำการตอบโต้เพราะไม่มีคำสั่ง

ในวันที่ 15 พ.ค.53 ตำรวจติดอาวุธ 1 กองร้อย เข้ามาช่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ ส่วนผุ้ชุมนุมมีการพยายามเข้ามากดดันหน่วยของ พ.ต.มนต์ชัย และมีกองกำลังติดอาวุธมาด้วย ซึ่งมีเสียงปืนเล็กดังมาจากหลายทิศทาง ทั้งจากที่สูงอย่างตึกชีวาทัยและโรงแรมเซนจูรี่ และจากแนวราบ  มีกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากพอสมควรนำยางรถยนต์วางห่างจากจุดที่เขาอยู่ประมาณ 300 ม. ขณะนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้นยิงจากตึกสูงบริเวณรอบข้าง  เขาหลบอยู่ที่กำบังไม่มีการตอบโต้เนื่องจากไม่มีคำสั่ง

พ.ต.มนต์ชัยเบิกความต่อว่า หลังจากนั้นเขาทราบจากผู้พัน(พ.อ.กัณฐ์ชัย) ว่ามีคนเจ็บอยุ่ทางด้านหน้าทางปั๊มเชลล์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของ นปช. เขาจึงเข้าไปกับทหารอีกประมาณ 8 นาย  เพื่อตรวจสอบโดยอาวุธที่นำไปด้วยส่วนใหญ่เป็นปืนลูกซอง มีเพียงตัวเขาที่ใช้ทาโวร์ รวมทั้งมีช่างภาพของทหารไปด้วยเพื่อถ่ายภาพการปฏิบัติงาน คือ ส.อ.สรายุทธ์ ศรีวะโสภา โดยเดินทางไปตามแนวถนนทางด้านซ้าย ขณะเดินทางไปนั้นได้ถูกโจมตีด้วยอาวุธปืนเล็ก แต่ไม่มีใครบาดเจ็บเนื่องจากหลบตามเสา เมื่อเขาไปถึงปั๊มเชลล์จึงพยายามค้นหาผู้บาดเจ็บ จนพบอยู่บริเวณด้านหลังปั๊มในสระน้ำเล็กๆ ต่อมาทราบชื่อว่าเป็นนายชาญณรงค์ โดยขณะที่พบไม่พบผู้อื่นอยู่ในบริเวณนั้น จึงช่วยขึ้นจากสระ และเรียกผลเปลนำร่างไปและมีรถพยาบาลมารับไป ขณะนั้นได้รับแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บอีกคน ทราบชื่อในภายหลังว่าคือนายไชยวัฒน์ พุ่มพวง ช่างภาพเนชั่น ที่ได้รับบาดเจ็บอยู่ฝั่งตรงข้ามปั๊ม

ขณะเข้าไปที่ป็มเชลล์ ไม่มีการยิงใส่พวกเขาแล้ว เนื่องจากถ้ามีการยิงก็จะระเบิดขึ้น และยังพบผู้ชุมนุมคนหนึ่งยืนอยู่ในปั๊ม แต่เขาก็ไมได้สอบถามอะไร  แต่ขณะกลับไปจุดประจำการก็ถูกยิงไล่หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ส.อ.สรายุทธ์ ที่ตามไปถ่ายภาพถูกยิงขณะถ่ายภาพ

พ.ต.มนต์ชัยกล่าวถึงการใช้อาวุธของหน่วยในช่วงเกิดเหตุว่า แม้ว่าตามกฎการใช้กำลังในข้อ 58 จะระบุว่าเจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธตอบโต้เพื่อหยุดการคุกคามได้ แต่ว่าตั้งแต่ปฏิบัติการในพื้นที่และเวลาดังกล่าว ไม่เคยใช้อาวุธตอบโต้ แม้ว่ามีการตั้งคำถามว่าเป็นการปล่อยปละละเลยไม่ตอบโต้กลุ่มที่โจมตีอย่างนั้นจะสามารถคุ้มครองใครได้  แต่เหตุที่ไม่ตอบโต้เพราะตัวเขาเองไม่มีใจจะตอบโต้ และผู้บังคับบัญชาก็ไม่อนุญาต  หน่วยของเขาก็ไม่ได้รับความเสียหาย  และการที่ผู้ชุมนุมเอายางมาวางก็ไม่เป็นเหตุให้ต้องทำการตอบโต้หรือผลักดัน  และตอนนั้นก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมว่าไม่ให้เข้ามาประชิดเพราะไม่อยากให้เกิดการปะทะเหมือนช่วงเย็นของวันที่ 14 พ.ค.  และเขายืนยันด้วยว่าไม่มีทหารหน่วยใดเข้าไปผลักดันผู้ชุมนุมออกจากถนนราชปรารภ

พ.ต.มนต์ชัย ยังได้นำเอกสารที่แสดงถึงคดีการไต่สวนเพื่อพิจารณาว่าเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเพื่อมอบให้กับศาล และอ้างว่าคดีในลักษณะเดียวกันนี้ควรเป็นอำนาจของศาลทหารในการไต่สวน  แต่ศาลได้ชี้แจงกับเขาว่าเนื่องจากมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วภายหลังคดีที่เป็นความในเอกสารที่เขานำมาอ้าง  ดังนั้นจึงเป็นอำนาจของศาลในพื้นที่เกิดเหตุในการพิจารณาคดี

 

นัดสืบพยานวันที่ 24 ตุลาคม 2555 [12]

            พยาน

  1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี  และอดีต ผอ.ศอฉ.
  2. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช. เกษตรและสหกรณ์ และเป็นแกนนำ นปช.

พยานปากแรก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เบิกความถึงแนวทางการสั่งการของ ศอฉ.  ว่า ขณะที่เขาเป็น ผอ.ศอฉ. ได้ออกคำสั่ง 1/2553 เพื่อเป้นแนวทางในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์สำหรับสลายการชุมนุมตามมาตรฐานสากล คือ โล่, กระบอง, กระสุนยางซึ่งใช้ปืนลูกซองยิง, แก๊สน้ำตา, รถฉีดน้ำ และเป็นการปฏิบัติตามหลักมาตรการสากล 7 ขั้นตอน จากเบาไปหาหนัก ภายใต้อำนาจและการดูแลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ระหว่างปฏิบัติการต่างๆ มีการประชุม ศอฉ. ทุกวันเช้า-เย็น แต่เขาไม่เคยมีคำสั่งอะไรเป็นพิเศษนอกเหนือจากที่เคยให้เป็นแนวทางของ ศอฉ. ส่วนการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่มีทั้งกำลังตำรวจและทหาร ในหลายพื้นที่เพื่อสกัดคนไม่ให้เข้าไป รวมทั้ง ให้ตัดน้ำตัดไฟในพื้นที่ชุมนุม เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมมีความสะดวกสบายอีกด้วย ขณะที่การพกอาวุธปืนจะให้เฉพาะระดับผู้บังคับบัญชาเท่านั้นที่สามารถมีปืนพก ปืนเล็กยาวและกระสุนจริงได้เพื่อป้องกันตัวและประชาชน โดยไม่ทำให้มีผลถึงแก่ชีวิต

เขาเบิกความถึงการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์เอาไว้ว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 ที่บริเวณราชปรารภ  ขณะเกิดเหตุเขายังไม่ทราบรายละเอียดของเหตุการณ์  เขาทราบในภายหลังจากดีเอสไอ รวบรวมข้อมูลการเสียชีวิต 13 ศพที่ดีเอสไอมีความเห้นไม่ตรงกับ สตช. ว่าการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ในส่วนของ สตช. ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการชันสูตรศพขึ้นมาเฉพาะระบุว่าไม่ทราบว่าการเสียชีวิตเกิดจากฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ ส่วนรายงานของ คอป. มีการระบุถึงการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ไว้ แต่เขาไม่เห็นข้อความระบุว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่

พยานปากที่สองนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เบิกความถึงสาเหตุการชุมนุมของ นปช. และเล่าสถานการณ์แวดล้อมเอาไว้ว่า การชุมนุมของ นปช. เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยการชุมนุมเริ่มในวันที่ 12 มี.ค. 53 ตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าฯ แต่ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากกินพื้นที่ถึงบริเวณถนนราชดำเนินนอกและราชดำเนินกลาง   ในวันที่ 10 เม.ย. 53 ศอฉ. ได้นำกำลังทหรออกจากที่ตั้งพร้อมอาวุธปืน M16 ปืนยาว ดล่และกระบอง พร้อมรถถังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมโดยไม่ปฏิบัติตามหลักสากล  มีการโยนแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมจากบนเฮลิคอปเตอร์ มีการใช้พลแม่นปืนมีอาวุธปืนความเร็วสูงติดกล้องเล็งยิงผู้ชุมนุมเข้าที่ศีรษะและอวัยวะสำคัญ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลใช้พลซุ่มยิงกับผู้ชุมนุมทางการเมือง ไม่เคยมีรัฐบาลใดเคยทำมาก่อน  หลังเหตุการณ์ได้ยุบเวทีปราศรัยที่สะพานผ่านฟ้าไปรวมที่เวทีราชประสงค์เวทีเดียว

เขาได้เบิกความถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมว่า ประมาณวันที่ 14 พ.ค. 53 เกิดความคึงเครียดเนื่องจาก ศอฉ. ให้เจ้าหน้าที่ ทหารตั้งด่านตรวจค้นรอบพื้นที่การชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าพื้นที่ชุมนุมได้ และมีเหตุการ์เจ้าหน้าที่ปะทะกับผู้ชุมนุมและมีการซุ่มยิงทำให้ประชาชนเสียชีวิตหลายราย  เขาทราบจากข่าวว่านายชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิงชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 ซึ่งเหตุเกิดนอกพื้นที่ชุมนุมโดยบริเวณดังกล่าวนอกจากนายชาญณรงค์แล้วยังมีผู้อื่นถูกยิงเสียชีวิตอีกหลายราย

 

ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555[13]

การไต่สวนชันสูตรพลิกศพครั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายชาญณรงค์ พลศรีลา ตายที่โรงพยาบาลพญาไท 1 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 14.00 น. เหตุและพฤติการณที่ตายคือ  ถูกทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในการดำเนินการตามมาตรการปิดล้อมและสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่และผิวจราจรบริเวณถนนราชปรารภ ยิงด้วยอาวุธปืนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. หัวกระสุนปืนลูกโดดถูกที่บริเวณหน้าท้องและแขนขวาเป็นเหตุให้ลำไส้ฉีกขาดหลายตำแหน่ง

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายญาติผู้เสียชีวิต กล่าวถึงกระบวนการต่อจากนี้ว่า  ศาลจะส่งคำสั่งไปที่อัยการและอัยการจะส่งต่อให้พนักงานสอบสวนในท้องที่แล้วส่งต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งคดีเหล่านี้จะเป็นคดีพิเศษทั้งหมด ซึ่งพนักงานสอบสวนของกรมสวบสวนคดีพิเศษจะทำการสอบสวนเพิ่มเติม เพราะยังไม่ปรากฏชัดว่าใครบุคคลไหนเป็นผู้กระทำ ดังนั้นกระบวนการต่อไปก็จะเป็นการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด

อ่านคำสั่งศาลการไต่สวนการตายของชาญณรงค์ พลศรีลาฉบับเต็ม

 


[4] http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2010/05/16/nick-nostitz-in-the-killing-zone/

[5] “ช่างภาพเนชั่นเบิกความวิถีกระสุนยิงมาจากฝั่งทหาร,” กรุงเทพธุรกิจ, 25 มิ.ย. 55

[7] “เสธ.ไก่อู เลื่อนนัดศาลคดีเสื้อแดง,” Voice TV, 9 ก.ค. 55

[8] “ยันปืนสไนเปอร์ยิงฆ่าแท็กซี่แดง,” ข่าวสด, 17 ก.ค. 55

[10] ในการเบิกความของพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิดเกี่ยวกับบทความที่ลงในเสนาธิปัตย์ได้มีการอ้างชื่อบทความผิด ซึ่งบทความที่เขากล่าวถึงคือ “บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ ๑๔ – ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓” (หัวหน้าควง, “บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ ๑๔ – ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓,” วารสารเสนาธิปัตย์, ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2553)

แต่ในส่วนของชื่อผู้เขียนนั้นในตัวบทความไม่มีการระบุถึงชื่อจริงของผู้เขียนมีแต่เพียงนามปากกาว่า “หัวหน้าควง” แต่เมื่อเปรียบเทียบประวัติของคนเขียนเมื่อเทียบกับของ พ.อ.บุญรอด ศรีสมบัติที่เขียนบทความ “บทเรียนการปฏิบัติการข่าวสาร : กรณี ปปส.ในเมือง (มีนาคม – พฤษภาคม ๒๕๕๓)” (พ.อ.บุญรอด ศรีสมบัติ “บทเรียนการปฏิบัติการข่าวสาร : กรณี ปปส.ในเมือง (มีนาคม – พฤษภาคม ๒๕๕๓),” วารสารเสนาธิปัตย์, ปีที่ 60 ฉบับที่ 1 มกราคม – มีนาคม 2554) นั้นพบว่าตรงกันทั้งหมด  จึงคาดว่าหัวหน้าควงและ พ.อ.บุญรอดนั้นเป็นคนเดียวกัน

[11] หัวหน้าควง, “ข้อเท็จจริง : บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ ๑๔ – ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓,” วารสารเสนาธิปัตย์, ปีที่ 60 ฉบับที่3 กันยายน – ธันวาคม พ.ศ. 2554, โดยบทความชิ้นนี้นอกจากจุดที่พ.อ.สรรเสริญกล่าวถึงแล้วยังมีการเขียนคำอธิบายแก้บทความเก่าของตัวเขาเองอีกหลายจุด