บันทึกไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ(ยศเดิมพลทหาร)

นอกเหนือ

ไต่สวนชันสูตรพลิกศพร้อยตรีณรงค์ฤทธิ์ สาละ

คดีหมายเลขดำที่ : อช.4/2555 วันที่ฟ้อง : ไม่ทราบ

คดีหมายเลขแดงที่ : ไม่ทราบ วันที่ออกแดง : ไม่ทราบ

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 สำนักงานอัยการสูงสุด

ผู้เสียชีวิต : ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ

คดี : ชันสูตรพลิกศพ
 

นัดไต่สวนคำร้องวันที่ 19 มีนาคม 2555[2]

ศาลเลื่อนนัดโดยให้เหตุผลว่าการประกาศวันนัดพร้อมยังไม่ครบ 15 วันตามกฎหมายและยังขาดรายละเอียดพยานบุคคลจำนวน 55 ปากที่ผู้ร้องได้แจ้งไว้ และให้ผู้ร้องจัดทำบัญชีที่ระบุรายละเอียดของพยานบุคคลให้ศาลพิจารณาเพื่อจัดกลุ่มพยานที่มีจำนวนมากก่อนเข้าสู่กระบวนการไต่สวน และเลื่อนวันนัดพร้อมไปเป็นวันที่ 18 มิ.ย. 55

 

นัดพร้อมวันที่ 18 มิถุนายน 2555[3]

ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้นำพยานฝ่ายผู้ร้องเข้าเบิกความไต่สวนจำนวน 37 ปาก ใช้เวลา 10 นัด และให้ฝ่ายผู้เสียหายนำพยานเข้าเบิกความรวม 9 ปาก ใช้เวลา 5 นัดครั้งแรกในวันที่ 14 ก.พ.56

 

นัดสืบพยานวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556[4]

            พยาน

  1. นายธวัชชัย สาละ พ่อร.ต.ณรงค์ฤทธิ์
  2. นายชัยพร คำทองทิพย์ รับจ้าง
  3. นายไพโรจน์ ไชยพรม  ว่างงาน

ในวันนี้นายธวัชชัย สาละ ซึ่งเป็นพ่อของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ยื่นคำร้องขอถอนการแต่งตั้งทนายเจษฏา จันทร์ดีและนายพีระ ลิ้มเจริญ โดยเขาอ้างว่าไม่รู้จักทนายทั้งสองมาก่อน และเขาขอให้ศาลถอนตัวเขาเองออกจากการเป็นผู้ร้องร่วมโดยให้เหตุผลว่าเขาไม่ติดใจแล้วว่าใครเป็นผู้ทำให้ลูกชายเสียชีวิต ไม่คิดจะดำเนินคดีอาญาและแพ่งอีก เพราะตัวเขาเองพักอาศัยอยู่ไกลเดินทางเพื่อร่วมรับฟังการพิจารณาคดีลำบาก  แต่ทางฝ่ายทนายได้ให้ข่าวว่ามีการติดต่อทางโทรศัพท์กับนายธวัชชัยตลอดแต่เป็นการติดต่อผ่านผู้ช่วยทนาย

พยานปากแรกนายธวัชชัย สาละ เบิกความว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เป็นลูกชายคนโต วันที่ 3 พ.ย.52 ได้รับการคัดเลือกเข้ารับราชการทหารที่อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ แล้วถูกย้ายไปค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี  ก่อนหน้าวันเกิดเหตุมีการติดต่อกับลูกชายตลอด แต่ในวันเกิดเหตุเขาไม่ทราบลูกของตนถูกย้ายเข้าประจำการไปในกรุงเทพฯ

นายธวัชชัยเล่าถึงวันเกิดเหตุว่า ในวันที่ 28 เม.ย. 53 เวลาประมาณ 15.00-16.00 น. ขณะที่เขาอยู่ในบ้าน น้องสาวของภรรยาโทรศัพท์แจ้งว่าลูกชายของเขาถูกยิงเสียชีวิตที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ หลังจากนั้น 2 วันเขาจึงเดินทางไปที่วัดพระศรีมหาธาตุเพื่อร่วมงานฌาปนกิจ ต่อมาทหารได้นำศพของลูกชายกลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดแถวบ้านของครอบครัวทางเครื่องบิน

ทางครอบครัวได้รับเงินเยียวยาจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. จำนวน 100,000 บาท ในงานศพ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 200,000 บาท กองพลทหารราบที่ 9 มอบเงินช่วยเหลือเป็นรยเดือนให้เขาและภรรยาคนละ 6,300 บาท ไปตลอดชีวิต และได้ให้ทุนการศึกษาเดือนละ 10,000 บาท แก่ลูกสาวซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และสัญญาว่าจะให้เข้ารับราชการในตำแหน่งร้อยตรีด้วย และเขากล่าวด้วยว่าเขาไม่ทราบว่าใครเป้นคนสังหารลูกชาย แต่เขาก็ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีใดๆ ต่อผู้กระทำ

พยานปากที่สองนายชัยพร คำทองทิพย์ เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย.53 ทำงานเป็นช่างเชื่อมโลหะอยู่ในร้านจำหน่ายมุ้งลวดแห่งหนึ่งแถวถนนปรีดี พนมยงค์ โดยทำงานที่นี่ได้เพียง 7-8 วันเท่านั้น ช่วงเช้าพี่สาวของเขาโทรศัพท์สั่งให้ไปดูแม่ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุม เขาจึงซ้อนจักรยานยนต์ของเพื่อนซึ่งทำงานอยู่ในร้านข้างๆ ไปที่สี่แยกราชประสงค์ 8.00 น. เมื่อถึงแล้วจึงเดินตามหาแม่แต่ก็ไม่พบ พบเพียงเพื่อนบ้านของแม่จึงได้สอบถาม  แต่ก็ไม่มีคนเห็นแม่ของเขา จน นปช. เคลื่อนขบวนออกจากสี่แยกราชประสงค์ เขาจึงร่วมขบวนไปด้วยโดยอาศัยรถกระบะของผู้ชุมนุม

11.00 น. ขบวนผู้ชุมนุมเดินทางไปทางถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก  เมื่อนั่งรถกระบะมาถึงปั๊มก๊าซแห่งหนึ่งไม่สามารถเคลื่อนขบวนต่อไปได้เนื่องจากตำรวจและทหารตั้งบังเกอร์ แผงเหล็ก และรั้วลวดหนามขวางถนนเอาไว้ จึงลงจากรถดูเหตุการณ์อยู่บนฟุตปาธหน้าปั๊มก๊าซ ซึ่งตอนนั้นเจ้าหน้าที่ได้ใช้ บังเกอร์ แผงเหล็ก และรั้วลวดหนามขวางถนนเฉพาะฝั่งขาออกเท่านั้น ไม่มีการกั้นฝั่งขาเข้า และเขาสังเกตเห็นอีกว่าตำรวจยืนเรียงแถวอยู่ด้านหน้าของบังเกอร์  โดยมีเพียงโล่ กระบองเท่านั้นแต่ทหารยืนอยู่หลังบังเกอร์โดยมีอาวุธหลายชนิด เช่น ปืนลูกซองยาวและ M16  ต่อมามีการตะโกนด่าทอจากทั้ง 2 ฝ่าย ฝั่งผู้ชุมนุมมีการยิงหนังสติ๊ก ขว้างปาสิ่งของ และก้อนหินใส่ตำรวจ ทหาร ต่อมาเขาได้ยินเสียงปืนมาจากฝั่งตำรวจ ทหาร และเห็นทหารยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม  มีบางคนถูกยิงเข้าที่ไหล่และแขนจนเป็นรอยช้ำ  จึงคิดว่าถูกยิงด้วยกระสุนยาง  ต่อมาทหารกระจายกำลังโอบล้อมผู้ชุมนุม  ช่วงนั้นมีเสียงปืนดังอยู่ตลอดเวลา บางครั้งได้ยินเป็นชุด และเห็นทหารอยู่บนสะพานลอยและสะพานขึ้นทางยกระดับดอนเมือง บนสะพานมีแผ่นป้ายโฆษณาปิดอยู่บนรั้ว เห็นทหาร 2-3 นาย นอนราบกับพื้นและเล็งปืน M16 มาที่ผู้ชุมนุม

ช่วงบ่ายมีผู้หญิงถูกยิงที่ขาซ้ายจนเลือดไหล  เขาจึงวิ่งเข้าไปช่วยเหลือและนำส่งโรงพยาบาล ต่อมามีผู้ชายถูกยิงที่แขนจนเลือดออกบนเกาะกลางถนนจึงวิ่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ชายคนนั้นอีกแต่เขาถูกยิงเข้าที่กรามด้านขวาเขารู้สึกชา  แต่ไม่มีเลือดไหล เห็นทหารสวมชุดพรางผ้าพันคอสีฟ้า และถือปืนลูกซอง  หลายคนยืนอยู่ฝั่งทหาร ตำรวจ ซึ่งห่างจากจุดที่เขาอยู่ประมาณ 20 เมตร  ในตอนนั้นเสียงดังมาจากทุกทิศทาง และเห็นผู้ชุมนุมซึ่งอยู่ด้านหลังขว้างปาสิ่งของ  จากนั้นแผลที่กรามของเขาเริ่มมีเลือดไหลออกมาจึงวิ่งไปที่รถมูลนิธิซึ่งจอดอยู่ในบริเวณนั้นเขาจึงได้ถูกนำส่งโรงพยาบาลภูมิพลเพื่อทำการรักษาเมื่อแพทย์ตรวจบาดแผลจึงบอกว่ากระดูกขากรรไกรหัก และไม่สามารถผ่าตัดเอากระสุนออกได้เนื่องจากกระสุนเหล่านี้อยู่ใกล้กับเส้นประสาทต้องพักรักษาที่โรงพยาบาล 6 วัน ก่อนถูกส่งตัวกลับไปรักษาตัวที่บ้านพักใน จ.ขอนแก่น ทุกวันนี้ยังมีกระสุนฝังอยู่ที่กราม 1 นัด และที่คออีก 1 นัด

เขาได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์เป็นจำนวน 60,000 บาท  สำนักพระราชวัง 5,000 บาท ส่วนการเสียชีวิตของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เขาไม่ทราบว่าใครยิงเพราะเวลานั้นเขาถูกนำส่งโรงพยาบาล

พยานปากที่สามนายไพโรจน์ ไชยพรมเบิกความว่าก่อนวันที่ 28 เม.ย.53 เขาทำงานเป้นลูกจ้างร้านข้าวแกงแถวถนนสีลมและเคยเข้าร่วมชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์และถนนสีลม ในวันที่ 28 เม.ย. เขาเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่เช้าโดยขึ้นรถกระบะของผู้ชุมนุมเดินทางไปถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ถูกตำรวจ ทหารสกัดอยู่เมื่อถึงที่เกิดเหตุเห็นทหารสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่าน และมีการปะทะกัน เขาจึงลงจากรถกระบะเพื่อดูเหตุการณ์ ทหารใส่ชุดลายพราง และมีผ้าพันคอแต่ไม่แน่ใจว่าสีอะไรและไม่แน่ใจว่ามีตำรวจอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยหรือไม่ เนื่องจากขณะนั้นเกิดความชุลมุนนอกจากนี้ยังเห็นผู้ชุมนุมขว้างปาก้อนหินใส่ทหารและเห็นทหารยิงปืนลูกซองใส่ผู้ชุมนุม  มีผู้ชุมนุมถูกยิงที่แขนบนเกาะกลางถนนจนเลือดไหล เขาจึงวิ่งเข้าไปช่วยแต่ก็ถูกยิงสกัดจากทหาร  ขณะนั้นได้ยินเสียงปืนหลายนัดจึงวิ่งหลบเสาตอม่อทางยกระดับดอนเมืองไม่กี่นาทีต่อมาเขาถูกยิงเข้าที่ขาซ้ายจนล้มลงกับพื้น โดยยิงมาจากฝั่งทหาร แต่ไม่เห็นหน้าผู้ยิงระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมพยายามจะเข้ามาช่วย แต่ถูกยิงสกัดไว้จนไม่สามารถเข้ามาได้เขาจึงแข็งใจลุกขึ้นเองโดยหันหลังให้กับฝั่งทหารและพยายามวิ่งหลบออกมา  แต่เขาก็ถูกยิงซ้ำจากด้านหลังทะลุท้องจนล้มลงอีกครั้งระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมเข้ามาช่วยเหลืออุ้มเขาออกจากที่เกิดเหตุก่อนที่เขาจะหมดสติ

เมื่อฟื้นขึ้นมาเขาอยู่ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลภูมิพลไม่ทราบว่าสลบไปกี่วัน  แพทย์ได้ผ่าตัดเอากระสุนออกจากบาดแผลทำให้มีแผลเป็นปัจจุบันบางครั้งยังเจ็บที่แผลเป็น  แม้จะสามารถเดินได้แต่ไม่สามารถทำงานหนักได้  ต่อมาได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จำนวน 60,000 บาท อย่างไรก็ตามยังประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับคนยิง

 

นัดสืบพยานวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556[5]

            พยาน

  1. นายพร้อม ดาทอง
  2. นายวิชาญ วางตาล ขับรถแท็กซี่
  3. น.ส.ระจิตร จันทะมั่น คนงานโรงงานย่านอุดมสุข
  4. นายวสุรัตน์ ประมวล ลูกจ้างประจำ ผู้ช่วยช่าง สำนักงานระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร

พยานปากแรกนายพร้อม ดาทองเบิกความสรุปว่า เวลา 11.00 น. ของวันที่ 28 เม.ย. 53 เขาเดินทางไปสนามกีฬาธูปะเตมีย์ เพื่อดูสนามสอบทหารชั้นสัญญาบัตรที่จะจัดสอบในวันรุ่งขึ้น เมื่อเสร็จแล้วได้ขับจักรยานยนต์กลับบ้านโดยใช้ถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก  เมื่อมาถึงอนุสรณ์สถานเห็นกลุ่มเสื้อแดชุมนุมอยู่จำนวนมากจึงจอดจักรยานยนต์ดูเหตุการณ์  สักพักคนเสื้อแดงทยอยถอยหลังและได้ยินเสียงปืน  และเห็นปลอกกระสุนลูกซองหล่นอยู่หน้าผู้ชุมนุมเสื้อแดง  มีหนึ่งในผู้ชุมนุมบอกว่าเป็นกระสุนยาง  ต่อมามีผู้ชุมนุมล้มลงและมีเลือดไหลออกบริเวณท้อง  จึงเข้าไปช่วยเหลือโดยลากหลบกระสุนไปที่บริเวณตอม่อ  ส่วนเขาถูกยิงข้อมือซ้ายทะลุ  ช่วงหลบกระสุนเห็นทหารถือปืนออกจากข้างทาง  แต่ไม่รู้ว่าใครยิง  หลังเกิดเหตุได้เงินเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประมาณ 700,000 บาท จึงไม่คิดดำเนินคดีอาญาและแพ่งกับผู้ก่อเหตุ

พยานปากที่สองนายวิชาญ วางตาลเบิกความว่า  วันที่ 28 เม.ย. 53 เวลา 14.00 น. เขาขับแท็กซี่จากบ้านที่ย่านคูคตไปที่อู่ย่านรัชดาฯ โดยใช้เส้นทางถนนวิภาวดี  เลนคู่ขนานขาเข้า ผ่านอนุสรณ์สถานแห่งชาติเจอกลุ่มเสื้อแดงเต็มช่องทางขาเข้าและขาออก  จึงลงจากรถมาดูเหตุการณ์เห็นคนเสื้อแดงปาก้อนหิน หนังสติ๊ก ไม้ บางคนโยนผักผลไม้มาจากโทลล์เวย์ใส่ทหาร   จากนั้นทหารยิงปืนรัวเป็นชุด  ขณะนั้นท้องฟ้ามืดครึ้มและมีฝนตกหนักด้วย  เขาจึงวิ่งไปหลบหลังเสาโทลล์เวย์โดยที่เขาหันหน้าไปทางทหาร หน้าอกซ้ายแนบเสาอยู่ มีกระสุนยิงมาโดนที่หน้าอกขวาและไหล่ขวา  เข้าใจว่ากระสุนมาจากกลุ่มทหาร หลังถูกยิงล้มลงได้มีคนช่วยนำตัวส่งโรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่ากระสุนทะลุปอด ส่วนกระสุนที่เข้าไหล่ขวาทำให้กระดูกแตกและฝังใกล้กับเส้นประสาทแพทย์ไม่สามารถผ่าตัดเอาออกมาได้  หากผ่าตัดอาจทำให้แขนใช้การไม่ได้

เขาไม่เห็นเหตุการณ์ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิง  คดีนี้หากหาคนที่ยิงเขาได้ก็ไม่คิดดำเนินคดีอาญาและแพ่งกับผู้ก่อเหตุเนื่องจากได้รับเงินเยียวยาทั้งจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และน.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมกันเกือบ 700,000 แสนบาทและคดีล่วงเลยมานานกว่า 2 ปีแล้ว

เขาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังเบิกความเสร็จแล้วว่าเขาไม่ได้ร่วมชุมนุมแต่กลับถูกยิงด้วย หลังจากถูกยิงไม่สามารถทำงานได้ถึง 3 เดือน  และปัจจุบันก็ยังทำงานไม่สะดวกเนื่องจากกระสุนที่ฝังอยู่ที่หัวไหล่ยังขัดอยู่

พยานปากที่สามน.ส.ระจิตร จันทะมั่น เบิกความว่าคนรักของเธอติดตามการชุมนุมของ นปช. และได้ชักชวนเธอไปดูการชุมนุมที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ 10 กว่าวันก่อนเกิดเหตุ  ในวันที่ 28 เม.ย.53 เธออยู่ที่ราชประสงค์ ราว 10 โมงเช้า มีการประกาศว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณตลาดไทถูกทหารทำร้าย จึงมี นปช.จากตลาดไทชวนไปเยี่ยมมีการจัดรถยนต์หลายคันไป  เธอจึงร่วมเดินทางไปด้วย

ที่เกิดเหตุคือถนนวภาวดีรังสิตฝั่งขาออกมุ่งหน้าไปตลาดไท  มีเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจผู้ชุมนุมอยู่  จากนั้นเธอได้รับแจ้งจากผู้ชุมนุมที่เดินทางมาถึงก่อนหน้าเธอว่าไม่สามารถไปต่อได้แล้วเนื่องจากมีทหารมาสกัด  เธอจึงลงจากรถที่บริเวณปั๊มแก๊สร้างและพักอยู่ในบริเวณนั้นโดยมีผู้ชุมนุมก็เข้ามาด้วย  เธอเห็นทหารนำลวดขวางไว้และมีทหารที่ถือโล่ด้วย  และถนนวิภาวดีฝั่งขาเข้าก็มีทหารอยู่แต่ไม่ได้สังเกตว่าถืออาวุธปืนไว้หรือไม่  ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณปั๊มส่วนหนึ่งตัดสินใจไม่เคลื่อนต่อ แต่เธอและผู้ชุมนุมอีกส่วนพยายามไปข้างหน้าต่อโดยหมอบไปด้วย  เมื่อเดินไปสักพักมีทหารยิงสวนมาเป็นชุดตลอดเพื่อสกัดไม่ให้ไปต่อ  เธอยินยันว่าทหารยิงมาโดยเป็นลักษณะของการยิงสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนที่แต่ไม่ทราบว่าปืนที่ใช้นั้นเป็นชนิดใด  เธอยังคงพยายามเดินต่อไปข้างหน้าจนห่างจากปั๊มมาราว 100 เมตร เธอถูกยิงเข้าที่บริเวณหน้าแข้งขวา  ไม่ทราบว่าใครยิงแต่รู้ว่ามาจากทางฝั่งทหารเพราะขณะนั้นหันหน้าไปทางแนวทหาร และกระสุนมาตามแนวนั้น  เธอยังได้เห็นผู้ชายถูกยิงที่ท้องมีเลือดไหลและมีรอยไหม้ด้วยแต่ไม่ทะลุเข้าใจว่าเป็นกระสุนยาง

เธอเบิกความต่อว่าขณะที่เธอถูกยิงนั้นฝนกำลังตกหนัก  มีผู้ชุมนุมเห็นเหตุการณ์จึงได้เรียกผู้ที่ขับจักรยานยนต์ผ่านเข้ามารับตัวไปส่งโรงพยาบาล  แต่ไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้า  แต่ในที่สุดก็สามารถนำตัวเธอไปส่งรถพยาบาลของโรงพยาบาลภูมิพลได้ในเวลาเกือบ 1 ทุ่ม  เนื่องจากต้องใช้เวลาในการโทรศัพท์ติดต่อนานมาก  แพทย์ได้เอ็กซเรย์และได้ผ่าตัดเอากระสุนออก ลักษณะกระสุนเป็นตะกั่วกลมๆ น่าจะเป็นกระสุนลูกปราย  เธอพยายามขอกระสุนจากแพทย์เพื่อนำไปใช้แจ้งความแต่แพทย์ปฏิเสธโดยแจ้งว่าอยู่ในช่วงเหตุการณ์แบบนี้ให้ไม่ได้

น.ส.ระจิตรได้รับการช่วยเหลือจากบ้านราชวิถี สำนักพระราชวัง และองค์กรอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 70,000 บาท  เธอเคยให้การกับพนักงานสอบสวน สน.พญาไท และพนักงานสอบสวนของ DSI ด้วยในคดีนี้ แต่เธอไม่ได้เห็นเหตุการณ์

พยานปากที่สี่นายวสุรัตน์ ประมวล เบิกความว่าเขาถูกยิงเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 28 เม.ย.53  ก่อนที่เขาจะถูกยิงเขาตั้งใจจะไปซื้อที่อยู่อาศัยที่รังสิตจึงขับจักรยานยนต์มุ่งหน้าไปทางวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก  เมื่อถึงบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ  ในเวลาประมาณ 15.00 น. จึงพบว่ามีการเดินขบวนของ นปช. แต่ถนนยังใช้สัญจรได้อยู่   เมื่อเขาเห็นกลุ่มทหารตั้งแนวสกัดผู้ชุมนุมที่จะมุ่งหน้าไปทางรังสิตเขาจึงหยุดอยู่ที่ปั๊มแก๊ส  เขาได้ยินเสียงปืนดังขึ้นโดยที่ไม่ทราบทิศทางของเสียงทำให้ขบวนรถของผู้ชุมนุมไม่สามารถไปต่อได้  เขาจึงลงไปหลบที่ปั๊มเนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยและย้ายไปหลบที่ทางเข้าหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืนเป็นระยะหลายนัดต่อเนื่องจากฝั่งทหาร  จากนั้นเขาเขารู้สึกว่าลำตัวเหมือนโดนของแข็งกระทบจนหงายหลังล้มลง เขาพยายามลุกยืนแต่ไม่สามารถลุกขึ้นได้ มีเลือดไหลออกที่บริเวณหัวเขาจึงดึงกางเกงดูและพบว่าถูกยิง  ขณะที่เขาถูกยิงนั้นกำลังเดินเรียบไปทางประตูเหล็ก  วิถีกระสุนน่าจะมาจากทางด้านหน้าที่มีทหารอยู่ห่างออกไปประมาณ 100-150 เมตร  โดยทหารถือปืนยาวที่มลักษณะแบนทุกคน  เวลาในตอนนั้นประมาณ 15.00 น. ขณะนั้นฝนยังไม่ตกแต่ลมกรรโชกแรง

นายวสุรัตน์เบิกความต่อว่า  เห็นทหารถือปืนอยู่ด้านหน้าแต่ไม่ได้เห็นตอนยิงรู้ตัวอีกทีก็ล้มแล้ว  แต่ที่เขารู้ว่ามาจากทางทหารเนื่องจากตัวเขากระเด็นไปด้านหลัง  หลังถูกยิงพยานไม่เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธ  แพทย์โรงพยาบาลภูมิพลได้ให้ความเห็นเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่ากระสุนที่ยิงเป็นกระสุนลูกปราย  เขาไม่เห็นร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ขณะที่ถูกยิงและไม่ทราบหรือรู้ว่าตาย  แต่เขาทราบจากข่าวในวันรุ่งขึ้น  ขได้รับเงินเยียวยาจาก สำนักพระราชวัง 6,000 บาท จากกระทรวงพัฒนาสังคม 60,000 บาท  และได้แจ้งความไว้กับ สน.ดอนเมืองแล้ว

น.ส.ระจิตร  และนายวสุรัตน์  เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า ทั้งคู่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลนี้ ทั้งๆ ที่พยายามติดตามความคืบหน้าหลายครั้งแล้ว

 

นัดสืบพยานวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

            พยาน

  1. นายวิโรจน์ โกสถา  รับจ้าง
  2. นายคมกฤต นันทน์ธนโชติ  รับจ้าง

วันนี้พยานทั้งหมด 4 ปาก แต่อัยการแจ้งว่าพยานอีก 2 ปาก ไม่สามารถตามมาให้การได้เนื่องจากต้องเดินทางจากต่างจังหวัด  แต่ยังไม่ได้มีการตัดพยาน  แต่อาจจะให้มีการสืบพยานในศาลจังหวัดที่พยานอาศัยอยู่หลังมีการสืบพยานในกรุงเทพฯเสร็จแล้ว

พยานปากแรกนายวิโรจน์ โกสถา เบิกความว่าเขาเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม โดยวันเกิดเหตุ 28 เม.ย.53 เขาอยู่ที่ราชประสงค์จากนั้นแกนนำได้เรียกรวมเพื่อที่จะไปรับผู้ชุมนุมซึ่งถูกทหารสกัดอยู่ที่ตลาดไทมาที่ราชประสงค์ โดยออกจากราชประสงค์ 9.30 น. เขาขึ้นรถกระบะไปโดยใช้เส้นทางถนนวิภาวดี ฝั่งขาออก เมื่อไปถึงมีทหารตั้งแถวหน้ากระดาน เมื่อถึงบริเวณปั๊มแก๊สใกล้กับอนุสรณ์สถานแห่งชาติเขาจอดรถเอาไว้ที่บริเวณทางขึ้นโทลล์เวย์

จากนั้นแกนนำเดินเข้าไปเจรจากับทหารขอทหารให้เปิดทางให้ผู้ชุมนุมเดินทางจากตลาดไทเข้ามาได้ซึ่งเขาได้ตามแกนนำไปด้วย  แต่แกนนำเจรจาไม่สำเร็จ จึงเดินกลับกันออกมา เดินออกมาได้ราว 3 นาทีก็มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดต่อเนื่องราว 3 นาที เขาหันกลับไปดูเห็นทหารกำลังประทับปืนเล็ง M16 เตรียมยิงมากกว่า 10 คน ตลอดแนวทหาร   โดยขณะนั้นเขาอยู่ห่างจากแนวทหารราว 200 เมตร  จากนั้นเขากับเพื่อนที่มาด้วยกันหลบเข้าที่กำบัง และเห็นทหารบนโทลล์เวย์ด้วยราว 5-6 คน  ประทับปืน M16 เล็งอยู่ ขณะนั้นฟ้าครึ้มแต่ฝนยังไม่ตกยังมองเห็นได้ และที่เขาทราบว่าทหารใช้ปืน M16 เนื่องจากเขาเคยเป็นนาวิกโยธินมาก่อน เขาเห็นแค่ M16 เพียงอย่างเดียว

เขาเห็นนายไพโรจน์(ไม่ทราบนามสกุล) ถูกยิงฝั่งถนนฝั่งขาเข้าเขาก็ล้มนั่งลงไป  และเพื่อนของเขาชื่อเจ(ไม่ทราบชื่อจริง) ถูกยิงเข้าที่ต้นคอบนฟุตปาธบนเกาะกลางระหว่างถนนฝั่งขาเข้ากับขาออก โดยเจอยู่ห่างจากเขาราว 5-10 เมตร  ส่วนไพโรจน์ห่างราว 20-30 เมตร เขาจึงเข้าไปช่วยนายเจแล้วพยายามลากออกมา ขณะที่ช่วยเขาก็ต้องหมอบหลบด้วย  จากนั้นได้มีเพื่อนเข้ามาเขาได้ส่งนายเจให้เพื่อนรับไป ซึ่งระหว่างนี้เขาก็ถูกยิงเข้าที่ต้นขาขวาด้านหลังทะลุต้นขาด้านหน้าซึ่งตอนที่เขาถูกยิงนั้นเขายังอยู่ถนนฝั่งวิภาวดีขาออกหันหน้าไปฝั่งขาเข้า แนวจะอยู่ทางด้านซ้ายของเขา เมื่อถูกยิงเขาพยายาจะหลบแต่ก้าวไปได้เพียง 2 ก้าวก็ล้มลงที่ตอม่อโทลล์เวย์จากนั้นมีผู้ชุมนุมเข้ามาช่วยไปส่งที่รถแต่เขาไม่ทราบว่าเป็นรถของหน่วยงานใด เขาถูกพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลภูมิพล

เขามั่นใจว่ากระสุนมาจากทางทหารเพราะเห็นทหารประทับปืนเล็งมาและปากกระบอกมีไฟแล่บออกมา แต่ไม่เห็นว่าเป้นทหารนายใดที่ยิงตนเอง และเขาคิดว่าเขาถูกยิงจากปืน M16 เพราะกระสุนทะลุต้นขาออกไป เพราะถ้าเป็นกระสุนปืนลูกซองจะไม่ทะลุ  เขารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 6 วัน เขาไม่ทราบเรื่องร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละถูกยิง จนกระทั่งทราบจากข่าวในภายหลัง ในวันนั้นทั้งเขาไม่มีอาวุธและไม่พบว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ กลุ่มของเขาที่ไปด้วยกันไม่ได้มีการขว้างปาสิ่งของและไม่มีการทะเลาะกับทหาร เมื่อการเจรจาของแกนนำจบลงราว 3 นาที ทหารก็เริ่มยิง เมื่อมีการยิงก็ไม่ได้มีการตอบโต้หลบอย่างเดียว

เขาได้รับเงินเยียวยา จากกระทรวงการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ 60,000 บาท และจากสำนักพระราชวัง 2,000 บาท และเขาแจ้งความที่สน.ดอนเมือง

พยานปากที่สองนายคมกฤต  นันทน์ธนโชติ เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย.53 ตอนเช้าประมาณ 7 เกือบ 8 โมง เขาออกจากบ้านที่ตลาดไทกับภรรยาด้วยรถฟอร์ด เรนเจอร์ 4 ประตู ตั้งจะไปไหว้พระพรหมที่ราชประสงค์ โดยจะไปซื้อบายศรีที่ปากคลองตลาดก่อนโดยแวะปล่อยปลาที่คลองประปาก่อนโดยขับรถไปทางวิภาวดีขาเข้า แต่เมื่อปล่อยปลาก็ไม่ได้ไปต่อแล้วขับรถกลับมาทางวิภาวดีขาออก แต่เขาจะแวะซื้อน้ำมันที่ร้านประภาภรณ์  เมื่อไปเกือบจะถึงปั๊มแก๊สซึ่งอยู่ใกล้กับอนุสรณ์สถานแห่งชาติรถติดอยู่เลนกลางและเห็น่ว่าข้างหน้ามีผู้ชุมนุมอยู่กระจายกันทั้งบนถนนและบนรถตอนนั้นมีรถอยู่หนาแน่น  เขาจึงพยายามเบียงรถเข้าซ้ายเพื่อเข้าร้านประภาภรณ์แต่ว่ามีรถคอนเทนเนอร์จอดขวางหน้าร้านอยู่จึงเข้าไม่ได้ จึงตัดสินใจกลับบ้านโดยจะขึ้นทางด่วนกลับบ้าน

ก่อนขึ้นข้างหน้ารถเขามีรถกระบะจอดอยู๋เขาจึงต้องหักหลบออกทางขวาจึงเห็นทหารยู่ตลอดแนวอยู่ที่ประตูอนุสรณ์สถาน บนถนนฝั่งขาเข้า  เมื่อขึ้นไปบนทางขึ้นทางด่วนได้เล็กน้อยเขาก็ถูกยิงจากทางด้านขวากระสุนได้ถูกแขนขวาของเขา  เมื่อเขาถูกยิงเขาจึงหยุดรถและหันไปมองทางขวาลอดช่องใต้ทางด่วนเห็นทหารอยู่บนอนุสรณ์สถานเห็นทหาร 5 นาย มี 3 นาย ที่เล็งปืนมาทางเขา  มีกระสุนอีกนัดทะลุกระจกรถผ่านหน้าเขาไปและมีเศษกระสุนแตกมาโดนที่แก้มขวา ทะลุใบหูขวา และท้ายทอยด้านหลังหูขวามีเศษโลหะฝังอยู่ด้วย ส่วนกระสุนที่ยิงเข้ามาได้ไปฝังอยู่ที่ราวจับฝั่งที่นั่งข้างคนขับ  และเศษกระจกที่แตกกระเด็นใส่ตาของเขา หลังจากถูกยิงนัดที่สอง ทหารทั้ง 3 นายที่เล็งปืนมาได้ยิงต่อเนื่องมาโดนรถของเขาซึ่งภายหลังจึงทราบว่ามีกระสุนมาโดนทางด้านขวาของรถทั้งหมด 9 นัด ส่วนเศษโลหะที่ฝังอยู่ที่ท้ายทอยแพทย์ที่ทำการรักษาบอกไม่สามารถเอาออกมาได้อาจจะทำให้เกิดอันตราย  ภายหลังกระสุนที่ฝังอยู่ที่ราวจับเขาได้มอบให้แก่พนักงานสอบสวนแต่เขาไม่ทราบว่าเป็นกระสุนชนิดใดเนื่องจากกระสุนเสียรูปทรงจนแบน  ภรรยาที่นั่งมาด้วยกันไม่ได้บาดเจ็บแต่อย่างใด

เมื่อตั้งสติได้จึงขับรถต่อจนขึ้นไปบนโทลล์เวย์ได้แล้วแต่รถจอดติดอยู่จึงไม่สามารถไปต่อได้เขาจึงลงจากรถเพื่อขอความช่วยเหลือ ขณะที่กำลังเดินอยู่นั้นมีนักข่าวเดินเข้ามาหาเขาและถามถึงเหตุการณืที่เกิดขึ้นกับเขาและถ่ายรูปเขาเอาไว้ เขาเดินต่อไปเรื่อยๆ จนเจอสารวัตรทหาร  สารวัตรทหารได้บอกกับเขาว่าให้ข้ามไปโทลล์เวย์ฝั่งขาเข้า  เขาจึงเดินไปอีกฝั่งและได้เจอกับทหารแต่งกายคล้ายหน่วยคอมมานโดและได้ช่วยเขาข้ามไปอีกฝั่ง  มีรถตำรวจขับมาและรับตัวเขาไปโรงพยาบาลวิภาวดี  เขาไม่ทราบว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ถูกยิงเมื่อไหร่และทราบจากข่าวในภายหลัง แต่เขาคิดว่าน่าจะถูกยิงหลังจากที่เขาถูกยิงและขึ้นทางด่วนไปแล้วเนื่องจากตอนที่เขายังไม่ได้ขับรถขึ้นทางด่วนยังฟ้ามืดครึ้มแต่ฝนยังไม่ตก จนเขาขึ้นไปได้แล้วฝนจึงเริ่มตกและตกหนักเมื่อเขาอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว ซึ่งร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิงตอนที่ฝนตกไปแล้ว

เขารักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 2-3 วัน และขอออกจากโรงพยาบาลเองแม้ว่าแพทย์จะได้บอกให้เขาอยู่ต่อ  เนื่องจากไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้เพราะมีค่ารักษาราว 100,000 บาท แต่ภายหลังพรรคเพื่อไทยออกค่ารักษาให้ เขาทราบเนื่องจากมีซองใส่เงินมาจากพรรคถึงเขาต่างหากด้วย  วันที่รุ่งขึ้นภรรยาไปแจ้งความด้วยตัวเองที่ สน.ดอนเมือง และหลังจากออกจากโรงพยาบาลเขาได้ไปแจ้งความอีกครั้ง  ในราวเดือน ต.ค.53 DSI ได้เรียกไปให้การถึงเหตุการณืที่เกิดขึ้นด้วย จากนั้นปี 54 ได้ให้ทนายทำเรื่องเรียกร้องค่าเสียหายกับทางกระทรวงการคลังซึ่งจะทราบผล 12 มี.ค.56 นี้

เขาได้รับการเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ 60,000 บาท และเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาเขาได้รับเงินเยียวยา เป็นเงินจำนวน 615,000 บาท

 

นัดสืบพยานวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556[6]

             พยาน

  1. นายธีระ ปะติตัง ผู้รับเหมาก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรแกรนด์ ไอ ดีไซน์
  2. นายนิโคลัส นอสติทซ์(นิก) ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน
  3. นายประยูร อนุสิทธิ์ คนขับแท็กซี่

พยานปากแรกนายธีระ ปะติตัง เบิกความว่าเขาทำงานอยู่กับลูกน้องที่หมู่บ้านจัดสรรแกรนด์ ไอ ดีไซน์ ช่วงบ่ายเห็นผู้ชุมนุมกลุ่มนปช.เดินทางจากดอนเมืองไปทางปทุมธานีด้วยรถเครื่อง รถกระบะ และรถคันใหญ่อีก 1 คัน และมีที่เดินอยู่ด้วย แต่มีทหารและตำรวจคอยสกัดอยู่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติโดยทหารจะอยู่ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก ตำรวจจะอยู่ฝั่งขาเข้า  ผู้ชุมนุมจึงถอยไปอยู่ที่ปั๊มแก๊ส ปตท. ซึ่งอยู่ฝั่งเดียวกันกับสำนักงานของเขาห่างออกไปราว 300-400 เมตร

เมื่อเกิดเหตุการณ์เขาได้สั่งให้ลูกน้องหยุดทำงาน  เขาและลูกน้องรวมถึงผู้สื่อข่าวและชาวบ้านมุงดูเหตุการณ์อยู่บริเวณสำนักงานบ้านจัดสรรอยู่ติดกับถนนวิภาวดี รังสิต ขาออก ในขณะนั้นฝนกำลังตกอยู่นานประมาณ 1 ชั่วโมง โดยระหว่างนี้มีทหารประมาณ 10 นาย เข้ามาพักหลบฝน ดื่มน้ำ และเข้าห้องน้ำในสำนักงาน  ทุกคนสวมชุดลายพราง มีผ้าพันคอจำสีไม่ได้แต่ต่างจากสีเครื่องแต่งกาย และมีปืนยาวเกือบทุกคน เมื่อฝนหยุดทหารออกไปตั้งแถวใหม่บนถนนวิภาวดีหน้าสำนักงาน แต่มีทหารบางส่วนที่ไม่ได้ไปตั้งแถวด้วย  ทหารอีก 2-3 คน  อยู่ที่ตอม่อโทลล์เวย์ช่วงด้านหน้าโครงการ ทหารทั้งหมดถืออาวุธปืนในท่าเตรียมพร้อม

จากนั้นเวลา 14.00-15.00 น. ฝนยังตกและหยุดสลับกัน ทหารยังตั้งแถวอยู่ มีการ์ดนปช.สวมชุดสีดำ มีผ้าพันคอ ขับรถจักรยานยนต์มุ่งหน้ามายังแนวทหารราว 2-3 คัน ทหารจึงใช้กระสุนยางยิงจนถอยร่นกลับไป เป็นอย่างนี้อยู่ 2-3 เที่ยว เหตุที่ทราบว่าเป็นกระสุนยาง เพราะลูกน้องเก็บได้และนำมาให้ดูซึ่งเก้บมาได้เป็นจำนวนมาก  หลังจากนั้น 30 นาที มีทหารขี่รถจักรยานยนต์ 3-4 คัน บางคันขับมาคนเดียวบางคันก็มีทหารอีกนายนั่งซ้อนมาด้วย  มุ่งหน้าจากฝั่ง นปช.ไปยังแนวทหาร และได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 4-5 นัด ก่อนเห็นจักรยานยนต์ที่ทหารขับมาล้มลง 1 คัน มีนักข่าวและทหารคนอื่นๆ เข้าไปช่วยนำตัวขึ้นรถกระบะ ทราบภายหลังว่าทหารที่ถูกยิงคือ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ขณะเกิดเหตุพยานไม่เห็นว่าใครเป็นคนยิง แต่เสียงปืนดังมาจากแนวทหาร อยู่ห่างจากสำนักงานประมาณ 10 เมตร ส่วนกลุ่ม นปช.อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุมากกว่า 100 เมตร นอกจากนี้กลุ่ม นปช.ที่เดินเท้าเข้าหาแนวทหารในช่วงแรก พยานเห็นว่ามีเพียงหนังสติ๊ก บั้งไฟและไม้ ไม่มีมีดหรืออาวุธปืน ในเหตุการณ์นี้ยังมีลูกน้องของเขาที่ทำงานด้วยกันเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชื่อนาย ไพบูลย์

เขาตอบการซักถามเพิ่มเติมของศาลด้วยว่า ไม่มีคนอื่นอยู่ในแนวทหาร จะมีแค่ที่สำนักงานของเขาและบนถนน ส่วนด้านหลังแนวทหารมีเพียงรถของผู้ชุมนุม ที่เอากลับไม่ได้จึงจอดทิ้งเอาไว้ แต่ไม่มีคนอยู่ในบริเวรนั้นแล้ว และแม้ว่าในช่วงเหตุการณ์จะมีฝนตกทั้งวันแต่ยังสามารถมองเห็นได้ชัด  และขณะที่ทหารถูกยิงก็มีฝนตกพรำๆ แต่ยังเห็นเหตุการณ์ได้ชัด  ส่วนคนที่เข้ามาหลบฝนที่สำนักงานมีทั้งทหาร และชาวบ้านทั่วไป ซึ่งบางส่วนลงจากรถประจำทางเข้ามาเนื่องจากรถผ่านไปไม่ได้ แต่ไม่มีผู้ชุมนุมเข้าไปเนื่องจากมีทหารอยู่

นายนิโคลัส นอสติทซ์เบิกความว่า วนที่ 28 เม.ย.53  เดินทางออกจากบ้าน 11 โมงด้วย จักรยานยนต์ส่วนตัวโดยไปที่ราชประสงค์ก่อนเพื่อดูเหตุการณ์ชุมนุม นปช. ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ไปประจำทุกวันเพื่อตามข่าวความเคลื่อนไหว โดยเมื่อถึงที่ชุมนุมผู้ชุมนุมได้ประกาศจะไปให้กำลังใจเสื้อแดงที่ปทุมธานีและแจกซีดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ 10 เม.ย.53 หลังจากนั้นเขาโทรศัพท์หาแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐจึงทราบว่าจะมีเจ้าหน้าที่คอยสกัดกลุ่มนปช.ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ พยานจึงขับรถจักรยานยนต์ตามผู้ชุมนุมที่เคลื่อนขบวนด้วยรถจักรยานยนต์ รถยนต์และรถเครื่องเสียงไปทางถนนวิภาวดีรังสิต ขาออก ต่อมาขับแซงไปอยู่ด้านหน้าผู้ชุมนุมเพื่อไปดักรอจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อจะทราบการปฏิบัติการ  เมื่อถึงหน้าสโมสรกองทัพบกเห็นบังเกอร์พร้อมทหาร 5-10 นาย จึงจอดดูและถ่ายภาพ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ต่อมาเวลา 13.00 น. เขาไปถึงบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เห็นทหารและตำรวจยืนกันอยู่เป็นกลุ่ม  ทหารเกือบทุกคนตรงนั้นสวมชุดทหารลายพรางหลายคนมีการผูกผ้าพันคอสีฟ้า และมีนอกเครื่องแบบมาด้วย  แต่ยังเปิดถนนให้รถผ่านได้ เขาจึงขับรถไปจอดในซอย แล้วเดินออกมาอยู่บริเวณกลุ่มทหารเพื่อถ่ายภาพแต่มีทหารเข้ามาห้ามไม่ให้เข้าใกล้จนมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง จนมีตำรวจเข้ามาเจรจาและให้พยานเข้าไปยืนอยู่ในแนวทหาร  เห็นทั้งทหารและตำรวจมีปืนลูกซองยาว มีทั้งกระสุนยางปลอกสีแดง และกระสุนลูกปรายปลอกสีเทาขาวสะพายไหล่  ทหารหลายนายมีปืน M16 และปืน HK แต่ไม่ได้มีทุกนาย  เขาเก็บปลอกกระสุนจริงได้ในวันเกิดเหตุ และนำมาแสดงในขณะเบิกความด้วย

ต่อมาเวลา 13.30 น. ทหารปิดถนนวิภาวดีรังสิต ขาออก ยืนขวางเป็นแนวหน้ากระดานและนำลวดหนามมากั้น ส่วนเลนถนนในจะเป็นทหารกับตำรวจผสมกัน ทำให้ถนนคู่ขนานขาออกรถติดมาก ส่วนฝั่งขาเข้านั้นยังไม่มีการปิดถนน ขณะนั้นพยานเดินไปมาได้ การปิดกั้นถนนได้ทำให้รถของผู้ชุมนุมผ่านไปไม่ได้ ผู้ชุมนุมจึงพยายามเดินเท้าและขับจักรยานยนตร์มาทางแนวทหาร และเกิดการปะทะกัน ผู้ชุมนุมยิงหนังสติ๊กใส่ ขณะที่ทหารก็ยิงปืนลูกซองใส่ เขาไม่ทราบว่าฝ่ายใดเริ่มก่อนเมื่อมีการปะทะ นปช. ได้วิ่งหนี ทำให้ทหารก็เดินหน้าเรื่อยๆ และก็ยิงใส่ด้วยลูกซองต่อเนื่อง จนทำให้รถบางคันที่ติดอยู่กระจกแตกเนื่องจากถูกกระสุน โดยในช่วงนั้นเห็นทหารใช้ปืน M16 และ HK ยิงขึ้นฟ้าด้วย  และจับตัวบางคนที่อยู่ใกล้แนวทหารไว้  นอกจากนั้นมี นปช. ขว้างสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่จากด้านบนโทลล์เวย์ด้วย ซึ่งที่เสาโทลล์เวย์มีทหารยิงปืนรัวใส่เสื้อแดงที่อยู่บนโทลล์เวย์ โดยพยานได้ถ่ายภาพเหตุการณ์ดังกล่าวไว้  ขณะนั้นทหารที่ยิงอยู่ห่างจากเขาไปประมาณ 50 ม. ซึ่งทุกครั้งที่มีการยิง จะปรากฏฝุ่นที่เกิดจากกระสุนกระทบผนังปูนของโทลล์เวย์

นายนิโคลัสเบิกความอีกว่า เวลา 15.00 น. ฝนตกลงมาอย่างหนัก เขาจึงหลบฝนอยู่กับทหารใต้ทางด่วน เป็นช่วงที่พยานเก็บปลอกกระสุนที่นำมาอ้างต่อศาลได้ ขณะที่กลุ่มนปช.ถอยห่างจากแนวทหาร 300-500 ม. ช่วงนั้นก็ยังคงมีทหารเล็กปืนขึ้นไปข้างบนโทลเวย์ด้วย สักพักทหารที่มียศสูงกว่าเข้ามาพูดกับทหารกลุ่มดังกล่าวว่าบนโทลเวย์เคลียร์พื้นที่หมดแล้ว ทำให้ไม่มีการเล็งปืนขึ้นไปต่อ  เวลา 15.40 น. ฝนได้หยุดตกขณะที่พยานบริเวณทางคู่ขนาด สักพักได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ ตะโกนว่า “หยุดๆ” และตามด้วยมีการยิงปืนไป และเห็นจักรยานยนต์ล้มลง โดยพยานห่างจากทหารที่ยิงประมาณ 5-10 ม. ก่อนที่จะมีการตะโกนบอกว่า “หยุดๆ” นั้น ทหารยังยืนตั้งแนวกั้นถนนอยู่ โดยเสียงที่บอกว่า “หยุดๆ” นั้นมีหลายคนตะโกน ทั้ง ทหารและตำรวจที่ตั้งแนว จุดตรงนั้นใช้ปืนลูกซอง ยิงหลายนัด แต่ไม่รู้ว่าเป็นกระสุนยางหรือจริง โดยก่อนหน้านี้เขาได้ยินทหารคนหนึ่งถามเพื่อนว่า มีกระสุนยางเหลืออีกหรือไม่ และได้รับคำตอบจากเพื่อนว่า กระสุนยางหมดแล้วเหมือนกัน ใช้กระสุนจริงไปเลย ขณะเกิดเหตุ กลุ่ม นปช. อยู่ห่างออกไปประมาณ 300-500 ม.

หลังจากนั้นพยานได้กระโดดข้ามเกาะกลางขั้นระหว่างเลนถนนเพื่อเข้ามาจุดเกิดเหตุเพื่อถ่ายภาพ แต่ถูกทหารสั่งห้ามถ่าย ขณะที่พยานเข้าไปถ่ายภาพนั้นยังเห็นทหารที่ถูกยิงยังไม่เสียชีวิต โดยขณะนั้นมีอาการชักอยู่ ขณะนั้นมีทหารประมาณ 2-3 นาย อยู่กับผู้ตาย ซึ่งขณะนั้นหัวของทหารคนที่ถูกยิงหันไปทางถนนขาออก และมีรถจักรยานยนต์ล้มอยู่ หลังจากนั้นทหารใช้เปลมานำศพออกไป โดยพยานมีการนำภาพที่ถ่ายร่างผู้เสียชีวิตมอบให้ศาลพิจารณาด้วย

นายนิโคลัสเบิกความถึงการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในลักษณะเคลื่อนที่ด้วยจักรยานยนต์เหมือนที่ทหารที่เสียชีวิตปฏิบัติการก่อนเสียชีวิตว่า เคยทราบการปฏิบัติการในลักษณะนี้มาก่อนเกิดเหตุ 3 วัน โดยช่วงนั้นทหารจะขับจักรยานยนต์เพื่อตามจับคนเสื้อแดง ซึ่งพยานก็ติดตามความเคลื่อนไหวของทหารกลุ่มนี้ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันว่าเป็นกลุ่มเดียวกับทหารที่เสียชีวิตหรือไม่เขาเบิกความเพิ่มเติมถึงการปฏิบัติการของทหารในขณะเกิดเหตุด้วยว่า ก่อนหน้าที่นั้นทหารจะกระจายไปทั่วบริเวณนอกจากบนถนน ทางคู่ขนาดแล้ว ยังมีบริเวณสะพานลอย โดยช่วงเกิดเหตุไม่มีเสื้อแดงอยู่บริเวณใกล้เคียงและไม่มีการปะทะตั้งแต่ฝนตกแล้ว และหลังฝนตกทหารก็มีการกระจายกำลังไปทั่วบริเวณที่เกิดเหตุ โดยมีปืนลูกซองและปืนความเร็วสูง M16 และ HK

อัยการมอบภาพถ่ายของนายนิโคลัสให้แก่ศาล มีทั้งภาพการตั้งแถวของทหารและตำรวจ ภาพทหารใช้ปืนลูกซองยาวยิงใส่แนวผู้ชุมนุมและภาพร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ที่ถูกยิง นอกจากนี้อัยการได้นำภาพจากรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์อัลจาซีราพร้อมข้อความใต้ภาพ “ผู้ต้องสงสัยเป็นชายสวมโม่งเสื้อดำ ที่มาพร้อมกับเสื้อแดง 2 คน” ซึ่งเป็นหลักฐานที่พยานฝ่ายทหารนำมาจากอินเตอร์เน็ตและอ้างส่งต่อศาลให้เขาดู และสอบถามว่าเคยเห็นภาพนี้หรือไม่ เขาตอบว่าเคยเห็นและเป็นภาพของเพื่อนนักข่าวชื่อเวย์น์ เฮย์(Wayne Hay) สำนักข่าวอัลจาซีราห์ถ่ายไว้ได้ แต่ไม่ได้มีการพูดตามข้อความใต้ภาพที่ระบุนั้น แต่ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ถูกคนอื่นเขียนกำกับเพิ่มเติมในอินเตอร์เน็ตภายหลัง ส่วน เวย์น  เฮย์ เคยเล่ากับพยานว่าคนในภาพเป็นคนที่อยู่กับคนเสื้อแดงที่ถืออาวุธปืนพกสั้น ที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร และภาพดังกล่าวก็ถ่ายก่อนเกิดเหตุ นอกจากนี้ยังมีเพื่อนของพยานที่เป็นนักข่าวต่างประเทศอีกคนซึ่งทำข่าวอยู่ฝั่งผู้ชุมนุมได้เคยเล่าด้วยว่าผู้ชุมนุมขณะนั้นได้เปิดทางให้เจ้าหน้าที่ทหารชุดผู้ตายในคดีนี้ได้ขี่จักรยานยนต์เคลื่อนผ่านมาได้ โดยมีเพียงเสียงโห่เท่านั้นส่วนตัวเขาเองไม่เคยเห็นชายชุดดำในวันดังกล่าว

พยานปากที่สาม นายประยูร อนุสิทธิ์ ในวันเกิดเหตุเขารับผู้โดยสารจากหลักสี่ไปส่งที่ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เมื่อขับมาตามถนนวิภาวดีรังสิต ขาออก ถึงบริเวณโรงเรียนสังคีต ไปต่อไม่ได้ ระหว่างนั่งอยู่ในรถเห็นทหารเดินเรียงแถวสวนมา และยิงปืนลูกซองยาวขึ้นฟ้าในมุม 45 องศา ส่วนปืน M16 ที่ติดตัวมาด้วยไม่ได้ยิง ขณะเดียวกันก็เห็นผู้ชุมนุมยิงหนังสติ๊กใส่ทหาร และถอยร่นไปเรื่อยๆ ส่วนอาวุธอื่นนั้นพยานไม่เห็น  ต่อมาทหารบอกให้พยานทิ้งรถแล้วไปหลบในโรงเรียน ระหว่างหลบอยู่ พยานได้ยินเสียงปืนหลายนัด แต่ไม่ได้ออกมาดูเหตุการณ์

 

นัดสืบพยานวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

                พยาน

  1. นายจตุรงค์ สิรินภัทราวรรณ์        ช่างภาพสปริงนิวส์
  2. นางสาวณัฐชา ทองย้อย            ผู้สื่อข่าวสปริงนิวส์
  3. ว่าที่ ร.ต. จตุพร สุวรรณรัตน์        ผู้สื่อข่าวสปริงนิวส์
  4. ร.อ. กฤษฒิชัย กองกิจ              ทหารในสังกัดกองพันทหารม้าที่ 13 จ. เพชรบูรณ์
  5. ส.อ. กิตติกร กิ่งกลาง                 ทหารในสังกัดกองพันทหารม้าที่ 13 จ. เพชรบูรณ์

พยานปากแรก นายจตุรงค์ สิรินภัทราวรรณ์ เบิกความว่า เวลาประมาณ 15.00 น. ขณะปฏิบัติงานอยู่ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติบริเวณถนนวิภาวดี เขาได้รับแจ้งจากช่างภาพของสถานีที่ประจำอยู่บริเวณสะพานด้านหน้าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ถนนวิภาวดีฝั่งขาออกว่าแบตเตอร์รี่กล้องหมด เขาจึงซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่เจ้าหน้าที่ของสถานีขับเข้าไปเพื่อนำแบตเตอร์รี่ไปให้ช่างภาพที่กำลังบันทึกภาพเหตุการณ์อยู่บริเวณสะพายลอยดังกล่าว   ขณะที่ซ้อนรถจักรยานยนต์เข้าไป ขณะนั้นมีฝนตกค่อนข้างหนัก ได้ขับผ่านกลุ่มของ นปช. โดยมุ่งหน้าเข้าไปด้านทางแนวกั้นของทหารที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามบริเวณเลยจุดทางขึ้นทางด่วนโทลล์เวย์ตรงอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีขาออกไปเล็กน้อย

แต่การสื่อสารระหว่างนายจตุรงค์กับช่างภาพที่อยู่บนสะพานลอยขาดหายไป ทำให้คนขับขับเลยเข้าไปบริเวณใกล้แนวกั้นของเจ้าหน้าที่คาดว่าห่างจากแนวกั้นเพียงประมาณ 10 ม. เจ้าหน้าที่ได้ตะโกนแจ้งเตือนให้นำรถถอยห่างออกจากแนวกั้น  แต่เขาไม่ทราบว่าเป็นตำรวจหรือทหารที่ประจำอยู่บริเวณตอม่อไม่ได้อยู่ในแนวกั้นของ เจ้าหน้าที่เป็นคนตะโกน    ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ถือปืนอยู่ในแนวได้หันปลายกระบอกปืนมาทางเขาแต่ไม่ได้ยิงเพราะเจ้าหน้าที่น่าจะเห็นปลอกแขนจึงทราบว่าเขาเป็นผู้สื่อข่าวไม่ใช่กลุ่ม นปช.  ขณะที่รถจักรยานยนต์เข้าไปใกล้แนวกั้นของเจ้าหน้าที่เขาเห็นเจ้าหน้าที่แต่งกายในชุดเตรียมพร้อม  โดยสวมเสื้อสีเข้มออกไปทางดำ สวมรองเท้าคอมแบท  สวมหมวกครึ่งใบ มีผ้าพันคอไม่ทราบสี ถืออาวุธประเภทปืนยาวเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่แน่ใจว่าถือทุกคนหรือไม่ ไม่สามารถแยกประเภทปืนได้ และไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นชุดทหารหรือชุดตำรวจเนื่องจากขณะนั้นมีฝนตกและท้องฟ้าสลัว และมีเจ้าหน้าที่กว่า 10 คนที่แต่งกายเหมือนกัน และถือปืนยาวทุกคน ประจำอยู่บริเวณตอหม้อด้านซ้ายและด้านขวาหน้าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ด้วย แต่ขณะที่รถจักรยานยนต์เข้าไปบริเวณแนวทหารเขาไม่พบว่ามีคนที่มีสัญลักษณ์คนเสื้อแดงอยู่ใกล้แนวกั้นของเจ้าหน้าที่ และไม่มีชาวบ้านอยู่ทั้งในแนวและหลังแนวของเจ้าหน้าที่

เมื่อได้ยินเสียงตะโกนเตือนจากเจ้าหน้าที่ รถของนายจตุรงค์จึงได้เลี้ยววนกลับมาด้านหลัง และเห็นช่างภาพของสถานีที่อยู่ตรงสะพานลอย จึงได้นำแบตเตอร์รี่ไปเปลี่ยนให้และอยู่ที่บนสะพานดังกล่าวซึ่งห่างจากแนวเจ้าหน้าที่ประมาณ 100 ม. และห่างจาก นปช. 300 ม. ซึ่งเขาคิดว่าแนวของเจ้าหน้าที่และนปช.น่าจะห่างกันประมาณ 400-500 ม.  บนสะพานลอยที่เขาอยู่มีช่างภาพและชาวบ้านทั่วไปไม่มีสัญลักษณ์ของเสื้อแดงอยู่ด้วยประมาณ 10 กว่าคน และถัดจากสะพานลอยที่เขาอยู่ไปทางดอนเมืองอยู่เรื่อยไปจนถึงแนวที่ผู้ชุมนุม อยู่มีชาวบ้านยืนอยู่กระจัดกระจาย

ขณะที่อยู่บนสะพานยังคงมีฝนตกปรอยๆ และก่อนเกิดเหตุการณ์ทหารถูกยิง  นายจตุรงค์เห็นว่ามีกลุ่มรถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ประมาณ 5-6 คัน โดยรถ 1 คัน จะมี 2 คน คือคนขับและคนซ้อนพร้อมอาวุธปืนยาวขับลงมาจากทางด่วนโทลล์เวย์ตรงจุดที่ผู้ชุมนุมยืนอยู่  เขาเห็นเพราะจุดที่อยู่บริเวณสะพานสามารถมองเห็นชัดเจนว่ามีใครขึ้น-ลงมาจากโทลล์เวย์   จากนั้นทหารที่ขับผ่านผู้ชุมนุมที่อยู่บนถนนคู่ขนานแล้วขับตัดเข้ามายังเส้นทางหลักของถนนวิภาวดี  ขณะที่รถจักรยานยนต์ทหารอยู่บนถนนไม่มีรถคันอื่นรวมอยู่ด้วยเพราะขณะนั้นถนนวิภาวดีถูกปิดการจราจรไปแล้ว และเมื่อรถจักรยานยนต์ของทหารขับผ่านด้านล่างของสะพานลอยที่เขายืนอยู่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 ครั้ง น่าจะดังมาจากทางด้านซ้ายของเขา  คิดว่าเป็นบริเวณตอม่อทางขึ้นโทลล์เวย์ขาออกเพราะเห็นแสงไฟออกจากปลายกระบอกปืนแต่ไม่เห็นคนยิง โดยขณะที่เขาหันหน้าเข้าไปฝั่งแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ ทันใดนั้นเห็นรถของเจ้าหน้าที่ล้มลง 1 คัน และจากรถคันอื่นๆ ที่ขับมาในกลุ่มเดียวกันได้ล้มลง และคนที่อยู่บนสะพานลอยได้ร้องตะโกนว่ายิงกันเองแล้ว และเขาเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณแนวกั้นยิงทหารที่อยู่บนถนน

โดยจุดที่ทหารถูกยิงล้มลงอยู่ห่างจากสะพานลอยที่พยานอยู่ประมาณ 50-70 ม. และอยู่ห่างจากแนวทหาร 30-50 ม.หลังจากเหตุการณ์ยิงกันเกิดขึ้น พยานยังคงประจำอยู่บนสะพานลอยจนเหตุการณ์คลี่คลายถึงได้กลับสถานี

พยานที่ 1 แสดงภาพข่าว[7]ภาพข่าวปรากฏภาพรถจักรยานยนต์ของทหารขับมุ่งหน้าเข้าไปยังแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ในช่องทางเดินรถฝั่งขวาสุดอยู่ติดกับเกาะกลางของเส้นทางหลักของถนนวิภาวดีขาออก จากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น และรถของทหารได้ล้มลง ส่วนทหารวิ่งเข้าไปยังเกาะกลางถนน[8]

พยานปากที่สองน.ส.ณัฐชา ทองย้อย   เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย. 53 เธอขึ้นรถไปกับแกนนำ นปช. ที่เคลื่อนจากกรุงเทพฯ ไปตลาดไท เมื่อไปถึงเจอด่านเจ้าหน้าที่สวมชุดพรางที่มีอาวุธปืนยาวไม่ทราบประเภทสกัดกั้นอยู่ที่บริเวณปั๊ม ปตท.  ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก หลังจากผลักดันกันระยะหนึ่งปรากฏว่าทางผู้ชุมนุม นปช. ไม่สามารถผ่านแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ไปได้ แกนนำ นปช.จึงได้ประกาศยุติการชุมนุมและประกาศให้ นปช. เข้าไปอยู่ในปั๊มแก๊สและไม่ให้เข้าไปอยู่ในปั๊ม ปตท. ที่มีทหารประจำอยู่ พยานจึงลงจากรถของแกนนำและขึ้นไปอยู่บนสะพานลอยที่อยู่ตรงกลางระหว่างแนวกั้นของทหารและกลุ่ม นปช. ซึ่งบนสะพานลอยดังกล่าวมีคนทั่วไปและนักข่าวประมาณ 10-20 คน แต่ไม่มีผู้ชุมนุม นปช. และเจ้าหน้าที่รวมอยู่ด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ได้ไล่สื่อมวลชนและผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมด  ขณะนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ห่างจากสะพานลอยที่พยานอยู่ประมาณ 200-300 ม. และบริเวณตอม่อระหว่างสะพานลอยถึงจุดที่ทหารตั้งแนวอยู่มีทหารกระจายอยู่ตามตอม่อ

เวลาประมาณ 15.00 น. ได้มีคนขับรถลงมาจากโทลล์เวย์ประมาณ 8-9 คัน โดยขับไปทางแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ จากนั้นรถคันแรกได้ล้มลง และเธอได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 ครั้ง มาจากแนวของทหารและพยานเห็นแสงจากปืนออกจากเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในแนว และคนที่อยู่บนสะพานก็บอกว่าทหารยิงกันเอง จากนั้นทหารได้เข้าไปหามทหารที่ถูกยิงออกไป

พยานปากที่สามว่าที่ร้อยตรี จตุพร สุวรรณรัตน์ เบิกความว่า เวลาประมาณ 12.00 น. ขณะที่พยานเดินทางมาถึงโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา บริเวณถนนวิภาวดีฝั่งขาออกพบว่ามีแนวทหารแต่งชุดลายพราง มีผ้าพันคอสีฟ้า และมีการยิงปืนกระสุนยาง มีปืนลูกซองยาว และมีรถฉีดน้ำ เพื่อสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนผ่านไปตลาดไทได้  พยานได้ตั้งกล้องถ่ายภาพอยู่บริเวณดังกล่าว  จากนั้นได้มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่  ซึ่งทางเจ้าหน้าได้ห้ามไม่ให้สื่อมวลชนถ่ายภาพเหตุการณ์ พยานจึงย้ายเข้าไปอยู่ในโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา

เวลาประมาณ 13.00 น. ขณะที่นายจตุพรสังเกตการณ์อยู่ในโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา พบว่าผู้ชุมนุมได้เข้ามาในโรงเรียนเพื่อพยายามข้ามฝั่งไปยังตลาดไท แต่เจ้าหน้าที่ยิงสกัดด้วยกระสุนยาง และผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการยิงหนังสติ๊กและโยนก้อนอิฐที่เก็บได้จากข้างทาง ไม่พบว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน ขณะที่เจ้าหน้าที่มีโล่ กระบอง และปืน ผู้ชุมนุมไม่สามารถฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ไปได้  และฝนได้ตกลงมา  ผู้ชุมนุมจึงถอยห่างออกไปจากบริเวณแนวของทหารประมาณ 300-400 ม. ในขณะที่ฝนตกนั้นไม่มีการปะทะแล้ว ส่วนเขาได้ขยับมาที่เกาะกลางถนนที่อยู่หลังแนวเจ้าหน้าที่ไปทางตลาดไทประมาณ 200 ม. เพื่อหลบฝน ซึ่งหลังแนวทหารบริเวณที่พยานยืนอยู่ไม่มีประชาชนทั่วไปอยู่  ขณะนั้นเจ้าหน้าที่บางคนหลบฝน บางส่วนยังอยู่ในแนว  แต่เขาไม่ได้สังเกตทหารที่หลบฝนอยู่ตรงตอม่อทางขึ้นทางด่วนโทลล์เวย์  และพยานมองไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมอยู่ตรงไหน   ขณะนั้นถนนถูกปิดการจราจรทุกช่องทาง

เวลาประมาณ 15.00 น. ฝนเริ่มซาลง เจ้าหน้ายังคงตั้งแนวสกัดอยู่บริเวณปั๊ม ปตท. ส่วนนายจตุพรยังคงสังเกตการณ์อยู่หลังแนวทหารเหมือนเดิม จากนั้นเขาได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิด 1 ครั้ง เพราะใต้โทลล์เวย์เสียงจะดังก้องมาก  เขาได้รับรายงานว่ามีทหารถูกยิง และได้เห็นทหารที่ถูกยิงถูกหามใส่เปลผ่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ไปที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ  เขาจึงได้วิ่งเข้าถามทหารที่หามเปลออกมาว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งทหารตอบว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้น จากนั้นเขาได้ติดตามไปสอบถามทหารที่อยู่ในชุดที่ขับรถจักรยานยนต์มาพร้อมกับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละว่าเหตุการณ์อะไรขึ้น ทหารตอบว่าเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาด

พยานปากที่สี่ ร.อ. กฤษฒิชัย กองกิจ เบิกความว่า เดือนมีนาคม 2553 ได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากผู้บังคับการกองร้อย กองพันทหารม้าที่ 26 ให้มาปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยที่กองพันทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ โดยเขาเป็นหัวหน้ากองร้อยและนำกำลังพลทั้งหมด 120 นาย  เข้ามาประจำการตามคำสั่ง วันที่ 28 เม.ย. 53 ได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากผู้บังคับบัญชาให้ไปสกัดกั้น นปช.ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก เขาจึงได้นำกำลังพลจำนวนหนึ่งกองร้อยไป

ขั้นตอนการสั่งการของทหารมีดังนี้ ผู้บังคับบัญชาจะสั่งการด้วยวาจาผ่านวิทยุสื่อสารเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการสั่งการ จากนั้นคนที่รับวิทยุสั่งการจะพิมพ์คำสั่งลงในกระดาษเขียนข่าวซึ่งเป็นเอกสารสั่งการ และนำกำลังพลหนึ่งกองร้อยที่ประกอบด้วยทหารทั้งหมด 120 นาย เคลื่อนตัวออกจากกองพันทหารราบที่ 11 ด้วยรถบัสของราชการไปถึงที่อนุสรณ์สถานฯ ในเวลาประมาณ 13.00 น. เมื่อไปถึงพบว่ามีกองพันทหารม้าที่ 12 และ 16 และตำรวจอยู่ในพื้นที่แล้ว

ทหารในชุดของร.อ.กฤษฒิชัยแต่งกายด้วยชุดลางพราง สวมหมวกเหล็ก มีริบบิ้นสีขาวติดที่หัวไหล่ด้านขวาเป็นสัญลักษณ์ ส่วนของกองพันทหารม้าที่ 12 และ 16 มีผ้าพันคอสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ จากนั้นได้ตั้งแนวสกัดโดยแถวที่ 1 – 3  มีอาวุธประจำกายเป็นโล่และกระบอง แถวที่ 4 มีอาวุธปืนลูกซองยาว และแถวที่ 5 อาวุธปืนเล็กยาวประเภท M16  HK33  และทาโวร์ แต่ปืนที่หน่วยของเขาใช้คือ HK33 มีลักษณะภายนอกคล้ายปืน M16  เขาอยู่ในแถวที่ 5 แต่ไม่มีอาวุธปืนประจำกายมีเพียงวิทยุสื่อสารเท่านั้น โดยทหารทั้งสามกองร้อยตั้งแนวอยู่บนถนนคู่ขนานขาออก ส่วนตำรวจอยู่บนเส้นทางหลัก และห่างไปด้านหลังแนวทหารประมาณ 200 ม. จะมีกองพันทหารม้าที่ 15 อีกหนึ่งกองร้อยตั้งแนวกั้นอยู่ด้านหลังเพื่อสกัด ผ็ชุมนุมที่อาจเคลื่อนพลมาจากฝั่งตลาดไท

เวลา 13.30 น. ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนมาถึงแนวสกัดของทหาร มีการต่อว่าทหารและรื้อทำลายลวดหนามที่เจ้าหน้าที่วางสกัดไว้ซึ่งห่างจากแนวทหารไปประมาณ 5 ม.  มีการใช้หินและอิฐขว้างเข้าใส่เจ้าหน้าที่มีบางคนขว้างลงมาจากบนทางด่วนโทลล์เวย์  พยานไม่เห็นผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน แต่หลังเหตุการณ์จบลงร.อ.กฤษฒิชัยได้รับแจ้งจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธปืนพก

ผู้ชุมนุมยังไม่สามารถฝ่าแนวสกัดของทหารไปได้  มีทหารได้รับบาดเจ็บจากการปะทะเล็กน้อย โดยระหว่างนี้ทหารได้ปฏิบัติหน้าที่ไม่มีทหารที่ออกไปอยู่นอกแนวที่ตั้งสกัดอยู่บนถนน และการปฏิบัติเป็นไปตามขั้นตอนควบคุมฝูงชนที่ได้ฝึกมา คือ

  1. ตั้งแนวแสดงกำลังพลเพื่อให้ นปช. เห็นว่าไม่สามารถผ่านไปได้
  2. ประกาศแจ้งเตือนให้ทราบว่าไม่อนุญาตให้ผ่านไปได้
  3. ใช้โล่ผลักดัน
  4. ใช้น้ำฉีด และใช้เครื่องเสียงรบกวนเพื่อให้มวลชนสลายตัว แต่ในขั้นตอนการฉีดน้ำได้ข้ามไปเพราะรถฉีดน้ำไม่พร้อม
  5. ใช้กระบองและแก๊สน้ำตา
  6. ใช้กระสุนยาง

ภายใต้ขั้นตอนควบคุมฝูงชนนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้กระสุนจริง ยกเว้นทหารจะถูกยิงด้วยกระสุนจริงก่อน ถึงจะสามารถใช้กระสุนจริงเพื่อป้องกันตัวเองได้ แต่ในวันดังกล่าวมีการใช้กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้าเพื่อให้เกิดเสียงดังให้ผู้ชุมนุม นปช. หวาดกลัว

เวลา 14.00 น. เหตุการณ์ปะทะรอบแรกได้จบลง และได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ช่วงที่ฝนตกทหารบางส่วนได้เข้าไปหลบฝนที่ใต้ทางด่วน พยานก็เข้าไปหลบฝนที่ใต้ทางด่วนเช่นกัน แต่ยังคงมีทหารบางส่วนที่ยังคงตั้งแนวอยู่

เวลา 15.30 หลังฝนหยุดตก ทหารและตำรวจได้กลับมาตั้งแนวสกัดตามเดิม โดยไม่มีทหารประจำอยู่บริเวณตอม่อแล้ว และระหว่างนั้นร.อ.กฤษฒิชัยได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่าจะมีเจ้าหน้าที่ทหารอีกหน่วยเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์เพื่อเข้ามาสมทบกับทหารที่ตั้งแนวสกัดอยู่ โดยทหารที่มาจะมีริบบิ้นสีขาวที่ไหล่ขวาเป็นสัญลักษณ์ และเขาได้แจ้งให้ผู้ใต้บังคับบังชาที่ปฏิบัติหน้าที่ทราบด้วย แต่หลังจากนั้นเขาได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 4-5 นัด แต่ไม่ทราบทิศทางแต่ดังอยู่รอบๆ บริเวณนั้น เมื่อเสียงปืนสงบลงได้รับแจ้งว่ามีทหารถูกยิง เขาจึงได้จัดกำลังนำเปลเข้าไปช่วยทหารที่ถูกยิงส่งโรงพยาบาล  ส่วนทหารชุดที่มาสมทบคนอื่นๆ ได้เข้าไปในแนวสกัด และไม่มีเหตุการณ์ปะทะกันเกิดขึ้นอีก  ในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ เขาไม่เห็นว่ามีชายชุดดำปรากฏอยู่ในเหตุการณ์

ร.อ.กฤษฒิชัยได้อธิบายเกี่ยวกับการยิงวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ในลักษณะเดียวกันกับรถจักรยานยนต์ของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ หากเป็นการยิงในระยะไกลผู้ยิงต้องมีความเชี่ยวชาญ แต่ถ้าระยะ 5-10 ม. คนที่ใช้ปืนเป็นทั่วไปสามารถยิงได้

พยานปากที่ห้า ส.อ. กิตติกร กิ่งกลางเบิกความว่า ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่กองพันทหารราบที่ 11 ต่อมาในวันที่ 28 เม.ย. 53 ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่สกัดกั้น กลุ่มนปช.ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ  จึงได้เดินทางไปพร้อมกับกองร้อยซึ่งมี ร.อ.ปรีชาเป็นผู้บังคับบัญชา  ออกจากกองพันทหารราบที่ 11 ด้วยรถของราชการ เมื่อไปถึงพบว่าเจ้าหน้าที่ได้วางลวดหนามสกัดไว้อยู่แล้ว และเขาได้เข้าไปอยู่ในแนวสกัดบริเวณปั๊ม ปตท. โดยแนวสกัดที่มีตำนวจและทหารจะตั้งแนวในระนาบเดียวกัน และมีการตั้งแนวในลักษณะเดียวกัน คือแถวแรกถึงแถวที่สามเป็นโล่และกระบอง แถวที่สี่และห้าเป็นอาวุธปืนลูกซองยาวกระสุนยางและ M16 HK33 ทาโวร์ กระสุนจริง พยานอยู่แถวที่สามมีปืนลูกซองยาวกระสุนยาง แต่กระสุนจริงใช้ยิงขึ้นฟ้าเพื่อปรามผู้ชุมนุม  หน่วยของเขาได้รับคำสั่งให้ประจำที่แนวกั้นซึ่งอยู่บนถนน ไม่มีทหารที่อยู่นอกแนวกั้น และเขาไม่เห็นว่ามีทหารคนอื่นๆ อยู่นอกแนวกั้นและอยู่บริเวณตอม่อ

ขณะที่ทหารถูกยิงมีฝนตกลงมาแต่ไม่หนักมาก และระหว่างนั้นมีคนโยนระเบิดปิงปองลงมาจากโทลล์เวย์  ซึ่ง ส.อ.กิตติกรเห็นว่าบนโทลล์เวย์มีประชาชนแต่งกายหลากหลายและบางคนแต่งกายแบบ นปช. ประมาณ 50 คน ขณะระเบิดปิงปองถูกโยนลงมา มีเสียงปืนดังขึ้นต่อเนื่อง จากนั้นทหารที่อยู่ในแนวได้ออกไปนำร่างทหารที่ถูกยิงออกมา แต่เขาไม่ทราบว่าใครยิง เขาก็ได้รับบาดเจ็บจากระเปิดปิงปองและถูกนำส่งโรงพยาบาล

วันเกิดเหตุส.อ.กิตติกร แต่งชุดลายพรางมีผ้าพันคอสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ สวมหมวกเหล็ก ด้านผู้ชุมนุมส่วนมากสวมเสื้อแดงและมีสีอื่นๆ ปนอยู่ด้วย แต่ไม่พบว่ามีชายชุดดำอยู่ในกลุ่มนปช.

 

นัดสืบพยานวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

                พยาน

  1. ส.ต.ต. สุกิจ หวานไกล สภอ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
  2. ส.ต.อ. ณรงค์ วังทองพูล สภอ.บ้านราช จ.เพชรบุรี
  3. ส.ต.อ. วินัย กองแก้ว
  4. ด.ต. สนธยา ต่วนเครือ สภอ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

พยานปากที่หนึ่งส.ต.ต. สุกิจ หวานไกล เบิกความว่าต้นเดือนเมษายน 2553 ได้รับคำสั่งให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่กรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่รวมทั้งหมด 150 นาย โดยต้นคำสั่งมาจากสำนักงานตำรวจนครบาลที่สั่งการมายังสำนักงานตำรวจนครบาลภาค 7 และสั่งการลงมายังสภอ.ท่ายางอีกต่อหนึ่ง  ภายหลังได้รับคำสั่งพยานเดินทางมาพักอยู่สำนักงานตำรวจนครบาลแห่งชาติ และวันที่ 28 เม.ย. 53 ช่วงเช้าได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่กองบัญชาการทหารราบที่ 11 หรือ ศอฉ.ในเวลานั้น จากนั้นกองร้อยของเขารวมทั้งหมด 150 นายได้รับคำสั่งให้ไปสกัดกั้นผู้ชุมนุมที่ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก และเขาทราบว่ามีกองตำรวจจากราชบุรีและกาญจนบุรีร่วมปฏิบัติภารกิจด้วย

พยานเดินทางมาถึงบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ และ พ.ต.ท.โชคชัยผู้บังคับกองร้อยได้ชี้แจงให้ปิดถนนวิภาวดีฝั่งขาออกบริเวณช่องทางเดินรถด้านใน  กองร้อยของส.ต.ต.สุกิจ แต่งกายด้วยเครื่องแบบตำรวจพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน มีหมวกนิรภัย โล่ กระบอง มีตำรวจหลายคนมีอาวุธปืนพกสั้น บางคนมีอาวุธปืนเล็กยาวประเภท M16 และตั้งแนวกั้นโดยสองแถวแรกเป็นตำรวจที่มีโล่และกระบอง แถวที่สามเป็นปืนกระสุนยาง ส่วนเจ้าหน้าที่ที่มี M16 จะอยู่แถวท้ายสุด ส่วนแนวด้านข้างของเขาเป็นทหารที่แต่งกายด้วยชุดลายพรางยืนอยู่แนวระนาบเดียวกัน และที่ตอม่อที่กั้นระหว่างถนนมีทหารสวมชุดลายพราง สวมหมวกกันน็อก มีโล่และอาวุธปืนเล็กยาวหลายคน และบางคนเป็นปืน M16 มีแถบสีติดที่หมวกและมีผ้าพันคอสีฟ้าด้วย ส่วนด้านหน้าแนวของเจ้าหน้าที่จะมีลวดหนามถูกวางไว้อยู่

เวลา 13.00 น. หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตั้งแนวสกัดเสร็จแล้ว ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนเข้ามาถึงบริเวณแนวกั้น และพยายามรื้อลวดหนามจนสำเร็จ ขณะนั้นส.ต.ต.สุกิจยืนถือโล่อยู่ด้านหน้าสุดของแนวกั้น  เห็นเจ้าหน้าที่ทหารพยายามเจรจากับผู้ชุมนุม แต่ไม่สำเร็จ และเจ้าหน้าที่ได้ใช้ปืนกระสุนยางยิงขู่ขึ้นฟ้า ส่วนผู้ชุมนุมได้ใช้หนังสติ๊กยิงลูกแก้วและลูกหินเข้าใส่เจ้าหน้าที่ และบางคนใช้ก้อนหินและไม้ มีเจ้าหน้าที่บางคนได้รับบาดเจ็บแต่เจ้าหน้าที่ส่วนมากไม่เป็นอะไรเพราะมีโล่บังอยู่

แม้เจ้าหน้าที่จะยิงปืนขู่แต่ผู้ชุมนุมยังคงพยายามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่และสามารถรื้อลวดหนามออกได้สำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถฝ่าแนวที่ทหารยืนกั้นอยู่ไปได้ ขณะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นตำรวจในกองร้อยเดียวกับส.ต.ต.สุกิจไม่มีใครอยู่นอกแนวสกัด มีทหารที่อยู่นอกแนวแต่เขาไม่ได้สังเกตว่าอยู่จุดไหนบ้าง

เวลา 14.00 น. ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักและมีลมแรง เจ้าหน้าที่บางส่วนจึงหลบฝนใต้ทางด่วนแต่บางส่วนยังคงยืนอยู่ตรงแนวสกัด ผู้ชุมนุมก็หลบฝนอยู่ในปั๊มแก๊สเช่นกัน ฝนตกหนักอยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมงจึงซาลง

เวลา 15.00 น. เมื่อฝาซาลงเจ้าหน้าที่หลบอยู่ได้ถูกเรียกให้กลับมาตั้งแนวสกัดตามเดิม แต่แนวสกัดได้ขยับเข้ามาใกล้ผู้ชุมนุมมากขึ้น โดยขยับมาตั้งอยู่บริเวณปั๊มปตท. ขณะนั้นฝนยังตกเบาๆ และสามารถมองเห็นชัดเจนได้ในระยะ 100 ม. และมีทหารประจำอยู่ตรงตอม่อโทลล์เวย์ด้านขวามือของส.ต.ต.สุกิจอีกประมาณ 3-4  คน และมีอาวุธปืนเล็กยาวแต่ไม่แน่ใจว่าเป็น M16 หรือเปล่า จากนั้นได้มีรถประจำทางเปิดไฟขับตรงเข้ามาที่แนวสกัดของทหาร และเขาเข้าใจว่าเป็นรถที่ผู้ชุมนุมขับเข้ามาเพื่อฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่จึงได้ระวังตัวมากขึ้น ระหว่างนั้นมีรถจักยานยนต์ประมาณ 5-6 คันเปิดไฟหน้ารถแต่เขามองไม่เห็นคนที่นั่งมากับรถเพราะไฟหน้ารถแยงตาพยาน รถประจำทางได้จอดเข้าข้างทางด้านซ้าย ส่วนรถจักรยานยนต์ได้ขับแซงขึ้นมาด้านขวา และเขาได้ยินเสียงของเจ้าหน้าที่ตะโกนให้รถจักรยานยนต์หยุด แต่รถยังวิ่งเข้ามาและพยานได้ยิงเสียงปืนดังขึ้นมาจากกลุ่มทหารที่อยู่นอกแนวด้านขวามือและมีเสียงปืนหลายนัดดังขึ้นมาจากจากแถวหลังของแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ทหารด้วย และเห็นตำรวจและทหารเล็งปืนไปทางด้านหน้าที่รถจักรยานยนต์กำลังขับมา จากนั้นรถได้ล้มไปทั้งหมด และเมื่อเสียงปืนสงบลงมีคนตะโกนว่าทหารถูกยิง โดยจุดที่ถูกยิงอยู่ห่างจากจุดที่พยานยืนอยู่ประมาณ 20-30 ม. และมีทหารนำเปลไปนำร่างทหารที่ถูกยิงออกไป

ภายหลังจากเหตุการณ์ยิงทหารเกิดขึ้นสถานการณ์ก็สงบลง การจราจรถูกเปิดใช้ตามปกติ และตำรวจได้ทำหน้าที่ตั้งด่านตรวจค้นรถที่ขับผ่านบริเวณดังกล่าวอยู่ประมาณ 1ชั่วโมง จากนั้นได้ถอนกำลังกลับไปที่ตั้งที่กองพันทหารราบที่ 11

พยานปากที่สอง ส.ต.อ.ณรงค์ วังทองพูล เบิกความว่า ได้รับคำสั่งเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกองร้อยประมาณ 150 นาย  ก่อนเกิดเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย. 53 เพียงสองวัน เมื่อมาถึงได้เข้าพักที่กองพันทหารราบที่ 11 ต่อมาในวันที่ 28 เม.ย.  เขาได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติภารกิจสกัดการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม นปช. ที่ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก

เวลา 11.00 กองร้อยของส.ต.อ.ณรงค์ ที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบตำรวจ สวมผ้าพันคอสีชมพู บางคนมีโล่ มีกระบอง มีอาวุธปืน M16 และอาวุธปืนลูกซองได้เดินทางถึงถนนวิภาวดีขาออก ซึ่งพบว่ามีแนวทหารที่แต่งกายด้วยชุดลายพราง สวมผ้าพันคอสีฟ้า และทุกคนมีปืนเล็กยาวซึ่งเขาไม่แน่ใจว่าเป็น M16 HK33 หรือทาโวร์ ตั้งด่านสกัดอยู่ก่อนแล้ว

เมื่อผู้ชุมนุมมาถึงบริเวณดังกล่าวได้รื้อลวดหนามที่เจ้าหน้าที่วางไว้  ได้ใช้ก้อนหินและไม้ขว้างใส่เจ้าหน้าที่ และมีผู้ชุมนุม นปช.บางส่วนอยู่บนโทลล์เวย์ขว้างปาสิ่งของลงมาใส่เจ้าหน้าที่ และมีเจ้าหน้าที่ขับรถขึ้นไปผลักดันผู้ชุมนุม ที่อยู่บนโทลล์เวย์ลงมาด้านล่าง  จากนั้นทหารยังคงประจำอยู่ด้านบนของโทลล์เวย์ ส่วนบนถนนได้เกิดการผลักดันกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตั้งแนวอยู่  เจ้าหน้าที่ได้ยิงปืนกระสุนยางขู่ผู้ชุมนุมที่อยู่บนถนนวิภาวดีและบนโทลล์เวย์ การปะทะเกิดขึ้นนานประมาณ 30 นาที ก่อนจะจบลงด้วยการที่เจ้าหน้าที่สามารถผลักดัน นปช.ให้ถอยร่นออกไปได้  หลังจากนั้นได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก กลุ่ม นปช.จึงได้สลายตัว ส่วนเจ้าหน้าที่บางส่วนยังคงตั้งแนวสกัดอยู่ แต่มีบางส่วนที่ไปหลบฝนในปั๊ม ปตท. และตอม่อกลางถนนวิภาวดี

เวลา 15.00 น. เมื่อฝนซาลงแล้ว ส.ต.อ.ณรงค์ เห็นว่ามีทหารหลบฝนกระจายกันอยู่และทุกคนมีปืนยาวอยู่บริเวณตอม่อตรงทางขึ้นทางด่วนโทลล์เวย์ประมาณ 6-7 คน และขณะนั้นเขาได้กลับมาตั้งแนวสกัดตามเดิมและเห็นว่ามีรถประจำทางเปิดไฟหน้ารถขับตรงเข้าที่แนวสกัดของเจ้าหน้าที่ แต่ต่อมารถประจำทางคันดังกล่าวได้จอดรถเข้าข้างทางห่างจากจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งแนวอยู่ไม่ไกลมากนัก จากนั้นมีรถจักรยานยนต์เปิดไฟหน้าขับตรงเข้ามายังแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ประมาณ 6-7 คัน แต่เขามองเห็นไม่ชัดว่ามีคนนั่งซ้อนท้ายรถมาด้วยหรือเปล่าเพราะขณะนั้นท้องฟ้ายังคงมืดอยู่และรถยังอยู่ระยะไกลเกินไป และเมื่อรถจักรยานยนต์ขับเข้ามาใกล้แนวสกัดของเจ้าหน้าที่มากขึ้น มีตำรวจและทหารตะโกนบอกให้รถหยุดแต่รถไม่หยุด จากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดจากด้านข้างฝั่งขวามือของเขา และรถจักรยานยนต์ได้ล้มลง 1 คัน ส่วนรถที่ตามมาข้างหลังได้หยุดรถและล้มลงตาม ในตอนแรกเขาไม่ทราบว่ารถล้มลงเพราะเหตุใด จากนั้นได้มีทหารเข้าไปดูรถที่ล้มและตะโกนว่ามีทหารถูกยิง ทหารจึงนำเปลเอาร่างทหารที่ถูกยิงออกไปส่งโรงพยาบาล ส่วนพยานยังคงประจำการต่ออยู่บนถนนวิภาวดีต่ออีก 1 ชม. จึงถอนกำลังกลับกองพันทหารราบที่ 11

พยานปากที่สาม ส.ต.อ.วินัย กองแก้ว เบิกความว่า วันที่ 25 เมษายน 2553 ขณะที่ประจำการอยู่ สภอ. บางอ้อ จ.ราชบุรี ได้รับคำสั่งให้มาประจำการที่กองพันทหารราบที่ 11 ต่อมาวันที่ 28 เมษายน ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ. ให้มาปฏิบัติภารกิจควบคุมฝูงชนโดยมีจำนวนเจ้าหน้าที่รวมทั้งหมดสามกองร้อย

เวลา 12.00 น. ได้เดินทางมาถึงบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ส.ต.อ.วินัยแต่งกายด้วยชุดควบคุมฝูงชน สวมสนับแขนสนับเข่าอ่อน เสื้อเกราะอ่อนที่กันกระสุนไม่ได้ สวมหมวก บนโล่เขียนว่า police  กระบอง ตำรวจจากราชบุรีสวมผ้าพันคอสีเขียว และมีอาวุธปืนประจำกาย  แนวสกัดแถวแรกของแนวจะถือโล่ แถวที่สองถือกระบอง แถวที่สามมีปืนลูกซองกระสุนยาง เขาไม่เห็นมีตำรวจที่ใช้ M16 และ HK33  ทหารก็แต่งกายด้วยชุดควบคุมฝูงชนเช่นกันแต่โล่จะเขียนว่า ARMY บางนายมีปืนเล็กยาวแต่เขาไม่แน่ใจว่าเป็นปืน M16 หรือเปล่าประมาณ 20 กระบอกต่อหนึ่งกองร้อย

หลังจากตั้งแนวสกัดประมาณ 20 นาที กลุ่มนปช.เคลื่อนมาถึงและมีการขว้างปาสิ่งของและยิงหนังสติ๊กเข้าใส่แนวสกัดของเจ้าหน้าที่ ด้านบนโทลล์เวย์ก็มี นปช. ขว้างปาสิ่งของลงมาใส่เจ้าหน้าที่เช่นกัน ผู้ชุมนุมสามารถรื้อลวดหนามที่เจ้าหน้าที่ตั้งขวางไว้ได้บางส่วน และปะทะกับแนวสกัดของทหารที่ใช้โล่กระบองผลักดันและใช้กระสุนยาง แต่ส.ต.อ.วินัยไม่แน่ใจว่ามีการใช้กระสุนจริงด้วยหรือไม่ การผลักดันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นติดต่อกันประมาณ 1 ชม. แต่ผู้ชุมนุมไม่สามารถผ่านด่านสกัดของทหารไปได้จึงถอยร่นกลับไปทางดอนเมือง หลังจากนั้นได้มีฝนตกลงมาหลักบ้างเบาบ้านสลับกันไป ผู้บังคับกองร้อยจึงสั่งให้พักผ่อนอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้ และทหารก็พักผ่อนด้วยเช่นกัน

เวลา 15.00 น. พยานได้ยินเสียงนกหวีดเรียกรวมพล และขยับแถวเข้าใกล้ผู้ชุมนุมอีก โดยมาตั้งแนวอยู่ที่บริเวณหน้าปั๊ม ปตท.ขณะนั้นส.ต.อ.วินัยเห็นมีทหารวางกำลังอยู่ที่ตอม่อเป็นจุดๆ ก่อนถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ประมาณจุดละ 2 คน และมีอาวุธปืนยาวทุกคน ขณะตั้งแนวสกัดสังเกตเห็นมีแสงไฟจากรถจักรยานยนต์ประมาณ 3-4 คัน ขับเข้ามาเป็นกลุ่ม โดยลงมาจากโทลล์เวย์ตรงเข้ามายังแนวทหารที่ตั้งแนวสกัดอยู่ จากนั้นพยานได้ยินเสียงนกหวีดอีกและเสียงตะโกนบอกให้หยุดรถ  เขาเข้าใจว่าเป็นรถของผู้ชุมนุมเพราะไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าจะมีเจ้าหน้าที่เคลื่อนพลในลักษณะนี้ แต่รถไม่ยอมหยุดและขับตรงเข้าหาแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ จนเข้ามาในระยะ 20-30 ม. เขาได้ยินเสียงปืนดังมาจากด้านขวาของเขาหรือบริเวณตอม่อทางขึ้นโทลล์เวย์ประมาณ 3-4 นัดจากนั้นรถที่ขับเข้ามาได้ล้มลง และในเวลาใกล้เคียงกันที่ด้านหลังก็มีเสียงปืนดังด้วย แต่ขณะนั้นเขาตั้งโล่ป้องกันอยู่จึงไม่สามารถมองเห็นได้ จากนั้นทหารได้นำเปลไปรับคนเจ็บส่งโรงพยาบาล ส่วนเขาประจำการอยู่ต่ออีกประมาณหนึ่งชั่วโมงและได้ถอนกำลังกลับที่ตั้ง

ขณะเกิดเหตุเขาสังเกตไม่เห็นผู้ชุมนุมเข้ามาปะปนอยู่ใกล้บริเวณแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ และสังเกตไม่เห็นว่าผู้ชุมนุม มีอาวุธปืนหรือไม่

พยานปากที่สี่ ด.ต.สนธยา ต่วนเครือ เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย. 53  ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ. ให้ไปตั้งแนวสกัดที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ เพื่อสกัดผู้ชุมนุม นปช. ที่จะเดินทางไปตลาดไท เขาเดินทางไปถึงบริเวณดังกล่าวในเวลาเที่ยงวัน และร่วมกันตั้งแนวสกัดเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางผ่านไปได้ เขาอยู่ด้านหน้าสุดของแนวสกัด

เมื่อผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงได้พยายามฝ่าด่านสกัดแต่ไม่สำเร็จจึงได้ล่าถอยไป ต่อมาฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก  เมื่อฝนซาแล้วได้มีรถประจำทางขับเข้ามาแล้วจอดเข้าข้างทาง  จากนั้นมีรถจักรยานยนต์ขับแซงขึ้นมาและตรงเข้าหาแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ เมื่อขับเข้ามาใกล้ด.ต.สนธยา เห็นคนที่นั่งบนรถแต่งกายด้วยชุดทหารลายพราง เขาได้สังเกตเห็นว่ามีสัญลักษณ์เป็นผ้าพันคอหรือเป็นริบบิ้นหรือไม่ จากนั้นได้มีเสียงปืนดังขึ้นมาจากด้านขวาของเขา  บริเวณหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. รถจักรยานยนต์คันแรกได้ล้มลงและรถคันอื่นๆ ได้ล้มลงห่างจากจุดที่เขาอยู่ประมาณ 30 ม. เขามองไม่เห็นคนยิงแต่เข้าใจว่าเสียงปืนดังมาจากฝั่งที่ทหารอยู่และบริเวณดังกล่าวไม่มีตำรวจและผู้ชุมนุมอยู่ จากนั้นทหารวิ่งกรูนำเปลเข้าไปช่วยทหารออกไปส่งโรงพยาบาล

สำหรับอาวุธประจำกายของตำรวจมีเพียงปืนลูกซองไม่ใช่ HK33และ M16 แต่ทหารมีปืนทั้งสองประเภท

 

นัดสืบพยานวันที่ 19 มีนาคม 2556

มีพยานรวมทั้งหมด 4 ปาก จากกองพันทหารราบที่ 2 กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์จ.กาญจนบุรี เป็นทหารที่ขับรถจักรยานยนต์อยู่กลุ่มเดียวกันกับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ

  พยาน

  1. ร.อ. ธนรัตน์ มณีวงค์
  2. ส.อ. อนุภัทร์ ขอมปรางค์
  3. จ.ส.อ. โกศล นิลบุตร
  4. จ.ส.อ. นภดล ตนเตชะ  ปัจจุบันลาออกจากราชการและประกอบธุรกิจส่วนตัว

พยานปากที่หนึ่ง ร.อ.ธนรัตน์ มณีวงค์ เบิกความว่าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำกำลังพลหนึ่งกองร้อย หรือ 150 นาย  ให้มาปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่บ้านผู้บัญชาการทหารบก  ย่านปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ  ต่อมาได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

วันที่ 28 เม.ย. 53ได้รับคำสั่งให้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อเป็นหน่วยเสริมในการปฏิบัติงาน โดยชุดปฏิบัติการดังกล่าวแต่งกายด้วยชุดทหารลายพราง สวมเสื้อเกราะ หมวกเคฟล่าที่ทำจากใยสังเคราะห์มีคุณสมบัติกันกระสุนได้เหมือนหมวกเหล็ก มีสัญลักษณ์เป็นริบบิ้นสีขาวติดที่หัวไหล่ด้านขวาและสวมผ้าพันคอสีเขียว มีอาวุธปืนทาโวร์กระสุนจริงเป็นอาวุธประจำกาย โดยนายทหารชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนบางนายใช้ปืนลูกซองยาว และพลทหารถือปืนลูกซองยาวกระสุนยาง และการปฏิบัติการเจ้าหน้าทุกคนถูกสั่งเรื่องการใช้อาวุธว่าจะใช้กระสุนจริงได้ก็ต่อเมื่อต้องป้องกันชีวิตตัวเองโดยไม่ทำลายชีวิตของผู้อื่น

เวลา 15.00 น. ร.อ.ธนรัตน์ได้รับคำสั่งให้นำกำลังเคลื่อนที่ด้วยรถจักรยานยนต์ไปช่วยเจ้าหน้าที่ที่ตั้งแนวอยู่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ  บนถนนวิภาวดีฝั่งขาออกซึ่งถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมอยู่   โดยเขาซึ่งเป็นหัวหน้ากองร้อยได้ทราบว่าผู้บังคับบัญชาได้ประสานงานกับทหารหน่วยที่ตั้งแนวสกัไว้ก่อนแล้ว สำหรับขั้นตอนการสั่งการก่อนเคลื่อนกำลังพลดังกล่าวมีดังนี้

  1. รองนายยกรัฐมนตรีสั่งการด้วยเอกสารมายังผู้บังคับบัญชาโดยใช้กระดาษเขียนข่าว
  2. จากนั้นผู้บังคับบัญชาจะสั่งการพยานด้วยวาจา

ร.อ.ธนรัตน์นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ขับนำหน้าเป็นคันแรก โดยตั้งขบวนและเคลื่อนขบวนออกจากสี่แยกหลักสี่ไปตามช่องทางจราจรหลักของถนนวิภาวดีขาออก สภาพอากาศขณะที่ขับรถไปเริ่มครึ้มฟ้าครึ้มฝน สามารถมองเห็นได้ในระยะ 200-300 ม. และขณะรถเริ่มเคลื่อนตัวมาเรื่อยๆ ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก รถที่ขับมาทุกคนต้องเปิดไฟหน้ารถ หลังจากขับผ่านหน้าดอนเมือง สังเกตเห็นถนนคู่ขนานที่อยู่ซ้ายมือมีผู้ชุมนุม นปช. อยู่จำนวนหลายร้อยคน ส่วนมากสวมเสื้อแดงและบางคนถือธงแดงที่มีปลายแหลมคม แต่พยานไม่ได้สังเกตเห็นว่า ผู้ชุมนุมมีอาวุธปืนหรือไม่ และเมื่อทหารขับรถเข้ามาใกล้บริเวณที่ผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่ได้ยินเสียงผู้ชุมนุมตะโกนว่ามีทหารมา  ผู้ชุมนุมบางส่วนได้พยายามกรูข้ามที่กั้นกลางระหว่างช่องทางหลักกับช่องทางคู่ขนานเข้าหาทหาร เขาจึงสั่งการให้รถจักรยานยนต์ทุกคันรีบขับออกจากบริเวณนั้นและพุ่งไปข้างหน้า รถกลุ่มแรกที่หลุดออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีประมาณ 6-7 คัน รถคนที่เขาซ้อนมาอยู่ด้านสุดเหมือนเดิมและเมื่อมาจนถึงจุดที่ห่างจากแนวสกัดของตำรวจประมาณ 50 ม. เขาไม่ได้สังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณตอม่อโทลล์เวย์หรือไม่ แต่บริเวณทางเท้าที่อยู่ฝั่งซ้ายมือของเขามีประชาชนยืนอยู่ประปราย และสังเกตเห็นแนวตำรวจอยู่ด้านหน้า และในบริเวณเดียวกันนั้นมีรถยนต์ประมาณ 2-3 คัน จอดอยู่ข้างทาง รถคันที่เขาซ้อนมาขับผ่านรถประจำทางจอดอยู่ห่างจากแนวสกัดประมาณ 100 ม. และเห็นมีรถหกล้อจอดอยู่ด้านข้าง เมื่อพยานขับเข้าใกล้แนวของตำรวจในระยะ 50 ม.ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 4-5 นัด แต่ไม่แน่ใจทิศทางของเสียงเพราะอยู่ใต้โทลล์เวย์เสียงจึงดังก้อง แต่ไม่ได้ยินเสียงคนตะโกนห้ามให้หยุดรถ เมื่อได้ยินเสียงปืนทหารที่ขับมาทุกคันได้หักรถให้ล้มเพื่อหาที่กำบังตามยุทธวิธีทางการทหารที่ฝึกมา เมื่อเสียงปืนสงบลงได้ตรวจสอบและพบว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิงนอนนิ่งหันหัวไปทางคอนกรีตกั้นระหว่างช่องทางหลักกับช่องทางคู่ขนาน จึงเรียกทหารที่อยู่ในแนวสกัดให้เข้ามาช่วยนำตัวส่งโรงพยาบาล จากนั้นพยานเรียกรวมพลทั้งหมดเข้าไปร่วมตั้งแนวสกัดกับเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยอื่นๆ

อัยการได้แสดงรูปถ่ายว่ามีบุคคลที่สวมเสื้อแดงและเสื้อดำสวมหมวกไหมพรมมีอาวุธปืนพกจำนวน 2 คน แต่ระหว่างเกิดเหตุร.อ.ธนรัตน์ไม่พบบุคคลตามภาพ แต่เขานำภาพนี้มาแสดงเพราะต้องการชี้ให้เห็นว่ามีบุคคลอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่มีอาวุธปืนอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

พยานปากที่สองส.อ.อนุภัทร์ ขอมปรางค์ วันที่ 28 เม.ย. 53 เวลา 13.00 น. ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ร.อ. ธนรัตน์ มณีวงค์(พยานปากที่ 1) ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ โดยเขาแต่งกายด้วยชุดทหารลายพรางและมีปืนทาโวร์กระสุนจริงพร้อมด้วยโล่เป็นอาวุธประจำกาย เคลื่อนพลด้วยรถจักรยานยนต์ทั้งหมด 50 คัน คันละ 2 คน เขาเป็นผลขับโดยมีร.อ.ธนรัตน์ นั่งซ้อนท้าย  ไปตามถนนวิภาวดีฝั่งขาออก  การจราจรติดขัดเนื่องจากมีรถของประชาชนและรถของกลุ่ม นปช.จอดขวางอยู่บนถนน

ขณะที่กำลังเคลื่อนพลไปนั้นได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก สามารถมองเห็นได้ในระยะ 30 ม. รถทุกคันต้องเปิดไฟหน้ารถ รถสามารถเคลื่อนตัวไปได้ด้วยความเร็วเพียง 20 กม./ชม. ระหว่างทางเห็นผู้ชุมนุม นปช.อยู่บริเวณทางเท้าด้านซ้ายมือของพยาน ผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธเป็นโล่ หนังสติ๊ก ไม้ และสวมหมวกกันน็อก และได้กรูเข้ามาเพื่อทำร้ายทหาร แต่พยานไม่ได้ถูกทำร้ายเพราะสามารถขับรถหลุดออกมาได้เป็นคันแรก แต่จากการสอบถามทหารคนอื่นๆ ทราบว่ามีบางคนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และถูกกระชากทรัพย์ประเภทกระสุนปืน หมวก เสื้อเกราะไป  มีรถที่สามารถผ่านมาได้พร้อมส.อ.อนุภัทร์ประมาณ 7-8 คัน ขณะขับรถตรงมาได้ยินเสียงปืนดังขึ้นประมาณ 4 นัด แต่ไม่ทราบว่ามาจากทิศทางใด เขาจึงล้มรถลงและเข้าที่กำบังข้างทาง พอเสียงปืนเงียบลงร.อ. ธนรัตน์ ได้สั่งให้เขาตรวจสอบกำลังพล และพบว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละถูกยิงนอนหันศีรษะไปทางถนนคู่ขนาน จึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่นำเปลมารับไปส่งโรงพยาบาล

ส.อ.อนุภัทร์ ไม่ทราบว่ามีการประสานกันหรือไม่อย่างไรแต่เขาทราบว่าพลทหารสื่อสารจะรับหน้าที่นี้ และเขาไม่ได้สังเกตว่ามีบุคคลอยู่บริเวณด้านข้างก่อนถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่หรือไม่

พยานปากที่สาม จ.ส.อ.โกศล นิลบุตร เบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 53 ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนกำลังจากปิ่นเกล้าไปที่ ร.1 พัน.2 และจากนั้นได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบโดยเป็นชุดเคลื่อนที่เร็วด้วยรถจักรยานยนต์เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา จากนั้นได้รับคำสั่งให้ไปรวมพลที่แยกหลักสี่เพื่อเคลื่อนพลไปอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ขณะที่รวมพลอยู่ท้องฟ้ามืดครึ้ม  แต่หลังจากเคลื่อนพลออกมาได้ไม่นานฝนได้ตกลงมาอย่างหนักและการจราจรติดขัดรถจึงเคลื่อนตัวได้ช้า

หลังจากจากเคลื่อนพลผ่านดอนเมืองมาได้ประมาณ 500 ม.ได้พบกับกลุ่มนปช.ยืนอยู่ตรงทางเท้าฝั่งซ้ายมือของจ.ส.อ.โกศล และเขาได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายออกจากจุดดังกล่าวให้เร็วที่สุด เพราะผู้ชุมนุม นปช.ได้กรูข้ามคอนกรีตที่กั้นอยู่เข้ามาพร้อมอาวุธประเภทไม้และหนังสติ๊ก

รถของจ.ส.อ.โกศล สามารถหลุดพ้นออกจากกลุ่มของนปช.ได้เป็นกลุ่มแรกพร้อมกับรถของทหารคนอื่นๆ อีก 8 คัน หลังจากหลุดออกจากแนวผู้ชุมนุมมาได้ พยานสังเกตเห็นแนวของตำรวจที่ตั้งสกัดอยู่ จึงคิดว่าน่าจะรอดแล้วเพราะสามารถเข้าไปหลบที่แนวของเจ้าหน้าที่ได้ แต่ปรากฏว่าได้มีเสียงปืนดังขึ้น 5-6 นัด ไม่ทราบทิศทาง เขาจึงล้มรถแล้วเข้าหาที่กำบังและพยายามเรียกกำลังพลที่กระจัดกระจายอยู่ให้เข้ามาที่เกาะกลางถนน จากนั้นพลทหารที่ขับรถมากับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ได้คลานเข้าไปช่วยร.ต.ณรงค์ฤทธิ์  เขาได้เรียกหมอมาช่วยเพราะคิดว่ายังไม่เสียชีวิต และเห็นถูกยิงบริเวณหูด้านซ้าย จากนั้นทหารที่อยู่ในแนวได้นำเปลมาหามออกไป

จ.ส.อ.โกศลคิดว่าทหารที่อยู่ในแนวน่าจะทราบรถที่ขับเข้ามาเป็นทหารเหมือนกัน เพราะหลังจากถูกยิงเขาได้พยายามเข้ามาช่วย และพยานไม่ได้สังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่นอกแนวสกัดบริเวณตอม่อโทลล์เวย์หรือไม่ และก่อนถึงแนวกั้นของเจ้าหน้าที่พยานเห็นมีประชาชนทั่วไปและ นปช. ยืนอยู่ที่ทางเท้าประปราย และหลังจากเหตุการณ์สงบเขาได้เข้าไปรวมที่แนวสกัดและกลับที่ตั้งในอีกสองชั่วโมงต่อมา        

พยานปากที่สี่ จ.ส.อ.นภดล ตนเตชะ เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย. 53 ปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่สื่อสาร ในเวลา 15.30 น. ได้รับคำสั่งจากร.อ. ธนรัตน์ มณีวงค์(พยานปากที่ 1) ให้เคลื่อนกำลังพลไปยังอนุสรณ์สถานแห่งชาติ  ทหารเคลื่อนขบวนไปด้วยจักรยานยนต์ 50 คัน คันละ 2 คน ส่วนทหารที่เหลือนั่งรถกระบะไป  พยานไม่มีอาวุธประจำกาย แต่มีวิทยุสื่อสารของราชการทหาร โทรศัพท์เคลื่อนที่ วิทยุไอคอม GPRS โดยในปฏิบัติการนี้ เขามีหน้าเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างหน่วยเหนือกับผู้บังคับกองร้อยร.อ. ธนรัตน์ และทำหน้าที่สื่อสารระหว่างร.อ. ธนรัตน์ กับกำลังพลในกองร้อย ส่วนนายทหารคนอื่นๆ มีอาวุธประจำกายเป็นปืนทาโวร์ ปืนลูกซองกระสุนยาง

เมื่อรถเคลื่อนขบวนผ่านดอนเมืองไปได้ประมาณ 400-500 ม. ได้พบกับกลุ่มนปช. 700-800 คน  อยู่ที่ช่องทางริมสุดของถนนคู่ขนานขาออก ส่วนจ.ส.อ.นภดลและกำลังพลทั้งหมดได้เคลื่อนกำลังตามเส้นทางหลัก เมื่อผู้ชุมนุมเห็นเจ้าหน้าที่ก็ได้พยายามเข้ามาทำร้าย ร.อ. ธนรัตน์ จึงได้สั่งการให้กำลังพลเคลื่อนที่ไปข้างให้เร็วที่สุด มีรถหลุดออกไปได้ 5-6 คัน รวมทั้งรถของเขาหลุดออกมาเป็นคันที่สองด้วย

หลังจากหลุดออกไปได้เห็นว่ามีตำรวจที่สวมเครื่องแบบตั้งแนวสกัดอยู่ ร.อ.ธนรัตน์ จึงได้สั่งการให้รีบขับรถเข้าไปในแนวป้องกัน แต่ก่อนถึงแนวป้องกัน 40-50 ม. ได้ยิงเสียงปืนดังขึ้นประมาณ 4-5 นัด แต่ไม่ทราบทิศทาง กำลังพลทั้งหมดหักรถล้มลงตามยุทวิทีทางการทหารที่ฝึกมา หลังจากเสียงปืนสงบลงร.อ.ธนรัตน์ ได้ถามว่ามีใครถูกยิงบ้างไหม พลทหารที่ขับรถมากับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละได้บอกว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิง ร.อ.ธนรัตน์ จึงได้เรียกให้ทหารที่อยู่ในแนวนำเปลมารับไปส่งโรงพยาบาล

ขณะที่เคลื่อนพลเจ้าหน้าที่ทหารกับตำรวจไม่ได้มีการประสานงานกัน มีแต่การประสานงานกับทหารที่รับผิดชอบเป็นระยะ แต่การติดต่อสื่อสารขาดไปโดยการสื่อสารครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นตอนที่ผ่านด่านของกลุ่มนปช.ออกมาได้ก่อนที่มาถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ เพราะขณะนั้นคิดว่าพ้นอันตรายแล้ว

ศพของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์มีรอยยิงบริเวณคิ้วหมวกได้หลุดมาห้อยอยู่ด้านหลัง  ขณะที่เกิดเหตุจ.ส.อ.นภดลมองไม่เห็นทางด้านซ้ายมือของเขาว่ามีใครอยู่ไหม เพราะมีเสาและต้นไม้บังอยู่

 

นัดสืบพยานวันที่ 20 มีนาคม 2556

                พยาน

  1. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารบก
  2. นายพีรบูรณ์ สวัสดินันทน์  ช่างภาพ ช่อง 9
  3. นายนิมิต สุขประเสริฐ ผู้สื่อข่าว ช่อง 9
  4. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ
  5. นายพงษ์ระวี ธนะชัย อาชีพทำไรอ้อย  ทหารปลดประจำการ เป็นผู้ขับรถคันที่ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์นั่งซ้อนท้าย [9]
  6. พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พยานปากที่หนึ่ง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เบิกความว่าเมื่อ วันที่ 7 เม.ย. 53 นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งที่ 1/2553 เรื่องการจัดตั้งศูนย์อํานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ. และแต่งตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นผู้อำนวยการศูนย์อํานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน  โดยในวันเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการ ผู้รับผิดชอบ ผู้ปฏิบัติงาน และแต่งตั้งนายสุเทพเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการของ ศอฉ.  และ ศอฉ. ได้มีคำสั่งที่ 1/2553 ซึ่งนายสุเทพในฐานะ ผอ. ได้ลงนาม เพื่อสั่งการให้หน่วยงานทั้งหมดที่ ศอฉ.ดูแลให้ระวังและระงับเหตุร้ายที่เกิดจากการชุมนุม และภายใต้คำสั่งที่ 1/2553 ของ ศอฉ. มีข้อบัญญัติถึงการใช้กำลังที่รวมถึงอาวุธและกำลังพลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงและเพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป ทั้งหมด 7  ข้อ ดังนี้

  1. ชี้แจงอธิบายความว่าผู้ชุมนุมกำลังทำผิดกฎหมายใด
  2. จัดแสดงอาวุธและกำลังพล เป็นปฏิบัติจิตวิทยาเพื่อป้องปราม
  3. ใช้โล่ผลักดันผู้ชุมนุม
  4. ใช้น้ำฉีดและใช้เครื่องเสียงความถี่สูง
  5. ใช้แก๊สน้ำตา
  6. ใช้กระบองกับกระสุนยาง

แต่การใช้กระสุนจริงไม่ได้อยู่ใน 7 ขั้นตอนดังที่กล่าวมานี้

ก่อนตั้ง ศอฉ. รัฐบาลได้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศอ.รส. เพื่อดูแลการชุมนุมที่เริ่มขึ้นในระยะแรก แต่เมื่อการชุมนุมดำเนินไปซักระยะได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นเมื่อนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรองและพวกบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา และแย่งเอาอาวุธปืนประจำกายของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและทหารที่รัฐสภาไป พร้อมด้วยแสดงท่าทีข่มขู่บุคลากรในรัฐสภาด้วย จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องปรับจาก ศอ.รส. ขึ้นมาเป็น ศอฉ. เพื่อปรับใช้กฎหมายให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป คือจากพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ต่อมาวันที่ 10 เม.ย. 53 ศอฉ. ได้มีคำสั่ง “ขอคืนพื้นที่” บริเวณราชดำเนินเพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ เพราะในขณะนั้น นปช.ได้เปิดเวทีเพิ่มที่แยกราชประสงค์แล้ว ในเวลาประมาณ 15.30 น. กลุ่ม นปช. ได้แย่งเอาอาวุธประจำกายของทหารที่รักษาความสงบอยู่ที่บริเวณสะพานปิ่นเกล้าไป

จากนั้นประมาณ 17.00 น. ศอฉ.มีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่แล้ว แต่ไม่สามารถถอนกำลังออกมาได้เพราะถูกผู้ชุมนุม ปิดล้อมอยู่ และพบว่ามีกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในผู้ชุมนุมด้วย พร้อมทั้งได้ใช้อาวุธปืนและระเบิดยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่จนเป็นเหตุให้มีทหารเสียชีวิต  ซึ่งรวมถึงพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรมด้วย นอกจากนั้นยังมีทหารอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ศอฉ. จึงมีคำสั่งให้ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนามสามารถใช้อาวุธจริงได้ ภายใต้ข้อกำหนดดังต่อไปนี้

  1. ห้ามใช้อาวุธที่มีอานุภาพสูงกว่าอาวุธประจำกาย เช่น ปืนลูกซองยาว, M16, ทาโวร์และ HK33 นอกจากนี้เช่น เครื่องยิงลูกระเบิด และระเบิดขว้าง จะไม่สามารถใช้ได้
  2. อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงสามารถยิงขึ้นฟ้าเพื่อข่มขวัญได้
  3. สามารถใช้กระสุนจริงต่อเป้าหมายบุคคลได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นกำลังใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่และผู้บริสุทธิ์ให้ถึงแก่ชีวิต โดยที่เจ้าหน้าไม่สามารถเลือกใช้ปฏิบัติการอื่นเพื่อป้องกันได้แล้ว

ซึ่งการใช้อาวุธดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมเลขที่ 59/2550   ข้อ 5.8 และ 5.9 เรื่องกฏการใช้กำลังของกองทัพไทย

แต่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในตอนต้นจะเป็นการปฏิบัติตามกฎจากเบาไปหาหนัก 7 ข้อ โดยไม่มีการใช้กระสุนจริงแต่อย่างใด แต่ต่อมาปรากฏชัดว่ามีกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธ และพ.อ.สรรเสริญได้รับรายงานว่าการยื้อแย่งอาวุธจากเจ้าหน้าที่ที่สะพานปิ่นเกล้า  ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความว่ามีทรัพย์สินของทางราชการสูญหายไปทั้งหมด 115 รายการ ทางด้านผู้ชุมนุมนำอาวุธที่ยึดมาไปแสดงบนเวทีและแจ้งว่ายึดได้จากทหารด้วย  และมีเจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายร่างกาย  ในช่วงเย็นมีการยิงระเบิด M79 และปืนเล็กยาวเข้าใส่ทหาร ส่งผลให้ในช่วงเย็นมาตรฐานการชุมนุมเปลี่ยนแปลงไป เจ้าหน้าที่จึงสามารถใช้กระสุนจริงได้โดยไม่เกินกว่าเหตุ  ก่อนที่เหตุการณ์จะสงบลงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้โทรศัพท์ไปเจรจากับนายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนำนปช.มีใจความว่า เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการตั้งแต่ 17.00 น. แล้ว ให้แกนนำแจ้งแก่ผู้ชุมนุมให้หยุดใช้อาวุธต่อเจ้าหน้าที่ เพราะเกรงว่าเหตุการณ์จะรุนแรงไปกว่านี้ จากนั้นเหตุการณ์ก็สงบลง

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความว่าพบหลายกรณีที่กลุ่ม นปช. นำเอาอาวุธที่ยึดจากทหารมาใช้กับทหารที่ เช่น กรณีเหตุการณ์นายเมธี อมรวุฒิกุล และกรณีการใช้อาวุธ M16 ยิงใส่ทหารที่วัดปทุมวนาราม ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นวัดพบว่ามีอาวุธปืนซุกซ่อนไว้ที่ฐานพระ และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นอาวุธของทหารที่หายไป

จากการตรวจภาพถ่ายและวีดีโอเหตุการณ์ วันที่ 10 เม.ย. ปรากฏชัดเจนว่ามีกลุ่มชายชุดดำที่เคลื่อนกำลังด้วยรถตู้ เข้ามายิงอาวุธสงคราม M79 เข้าใส่ทหารที่สี่แยกคอกวัว และในเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ชุมุนม เสียชีวิตแต่ไม่ได้รับรายงานว่าเสียชีวิตจากการกระทำของใคร

พยานในฐานะโฆษก ศอฉ. ในขณะนั้น ได้รายงานให้สังคมได้รับทราบตามวิดีโอที่แสดงเห็นว่ามีผู้ชุมุนมคนหนึ่งที่ถือธงแดงโบกเป็นสัญลักษณ์ หรือ โบกด้วยความดีใจกับกลุ่ม นปช. จากนั้นได้ถูกยิงล้มลง ที่ต้องนำภาพนี้มาอธิบายเพราะเชื่อว่าทหารไม่น่าจะเป็นผู้ยิงเพราะกำลังถอนกำลังพลแล้วในขณะนั้น แต่น่าจะเป็นการกระทำของชายที่แต่งกายด้วยชุดสีดำมากกว่า

พยานได้นำภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวมาแสดงต่อศาล โดยมีรายละเอียดภาพดังนี้[10]

  1. ภาพความรุนแรงที่เป็นกระทำของฝ่าย นปช.
  2. ชายชุดดำพร้อมอาวุธสงคราม โล่ที่ยึดมาจากทหาร อยู่ร่วมกับในบริเวณเดียวกันกับนปช.
  3.  หนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมให้สัมภาษณ์ว่ามีคนแต่งกายคล้ายทหารอยู่ชั้นสองอาคารและยิงปืนเข้าใส่ทหาร

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความถึงเหตุการณ์ 28 เม.ย. 53 ว่าเขาได้รับรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ถูกยิงเสียชีวิตใต้ทางด่วนโทลล์เวย์บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงทราบว่าบริเวณดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านสกัดอยู่ และมีเจ้าหน้าที่ทหารขับรถจักรยานยนต์ 10 คัน ได้ออกไปปฏิบัติหน้าที่และกำลังจะกลับเข้าแนวสกัด ซึ่งปรากฏว่ามีทหาร 1 นายที่นั่งซ้อนท้ายมาถูกยิงทะลุขมับซ้าย ไม่ทราบว่าถูกยิงมาจากทิศทางใด แต่ภาพที่บันทึกได้ปรากฏว่ารถล้มจากฝั่งซ้ายไปขวา แต่ตอม่อโทลล์เวย์ที่อยู่กลายถนนวิภาวดีมีรอยเศษปูนกระจายในลักษณะของการยิงมาจากด้านขวามือของทหารที่ขับรถมา และกระสุนปืนได้เฉียดตอม่อโทลล์เวย์ก่อนที่จะพุงมาถูกทหารเสียงชีวิต เป็นเหตุให้ทหารที่เสียชีวิตล้มลงด้านซ้ายตามวิถีและแรงปะทะของกระสุนปืน และภาพถ่ายของนักข่าวสำนักข่าวอัลจาซีร่าสามารถจับภาพคนเสื้อแดงพร้อมอาวุธปืนอยู่ที่ด้านขวามือบริเวณปั๊ม ปตท. และโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา และตามภาพข่าวจะปรากฏว่าคนเสื้อแดงมีอาวุธปืนพกสั้น ส่วนทหารถูกยิงด้วยอาวุธปืนความเร็วสูง แต่ก็มีความเป็นได้ว่าคนเสื้อแดงอาจนำอาวุธปืนที่แย่งจากทหารได้เมื่อวันที่ 10 เม.ย.  มาก่อเหตุดังกล่าวก็เป็นได้

จากการรวบรวมหลักฐานพบว่ากระสุนพุ่งมาจากฝั่งขวาของทหารที่เคลื่อนพลมาด้วยรถจักรยานยนต์หรือฝั่งซ้ายของเจ้าหน้าที่ที่ตั้งแนวอยู่ ซึ่งบริเวณดังกล่าวไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ มีแต่คนเสื้อแดงที่ยืนอยู่ และหลังจากรถจักรยานยนต์ของ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ที่ถูกยิงล้มลง รถคันอื่นๆ ที่ขับตามได้ล้มลงและทหารพยานปีนข้ามเกาะกลางถนนวิภาวดีไปตามแนววิถีกระสุนที่ยิงมาจากฝั่งขวามือ ซึ่งพยานได้รับข้อมูลว่ามีแต่กลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ และในกลุ่มนั้นคนที่มีอาวุธปืนรวมอยู่ด้วย[11]

พ.อ.สรรเสริญเบิกความอีกว่าเขาทราบจากสื่อมวลชนว่าแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ได้ชี้แจงถึงผลการชันสูตรกระสุนมาจากทางด้านซ้ายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ แต่จากประสบการณ์ของพยานทำให้เชื่อได้ว่ากระสุนถูกยิงมาจากฝั่งขวาเพราะ

1. หากการยิงมาจากด้านซ้ายรถของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์น่าจะล้มไปทางขวาหรือตามแนวกระสุน หรือตามแรงปะทะ

2. ปรากฏรอยฝุ่นจากกระสุนที่เฉียดเสาตอม่อที่ด้านขวาก่อนที่ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์จะล้มลงไปทางด้านซ้าย

3. อาวุธยิงร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เป็นกระสุนความเร็วสูงดังนั้นลักษณะการล้มลงจากรถของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ต้องล้มไปตามแนวแนววิถีกระสุน หรือล้มตรงข้ามจากฝั่งที่มีแรงปะทะเข้า

พ.อ.สรรเสริญได้อธิบายเพิ่มเติมถึงลักษณะการสั่งการของ ศอฉ.

  1. เป็นการสั่งด้วยวาจาซึ่งเป็นผลจากการประชุม
  2. เป็นหนังสือสั่งการที่เกิดจากการสั่งการผ่านวิทยุราชการทหาร ซึ่งถูกพิมพ์ออกมาบนเอกสารที่เขียนว่า “กระดาษเขียนข่าว” เหตุที่ต้องใช้เช่นนี้เพราะหากสั่งการด้วยหนังสือจะเป็นการสั่งการถึงบุคคลเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเป็นกระดาษเขียนข่าวเป็นการสั่งการที่หมายถึงทั้งหน่วยงาน และสามารถระบุถึงความเร่งด่วนของคำสั่งได้หลายระดับ เช่น ด่วนมาก ด่วนที่สุด และด่วนภายในเวลาที่กำหนดลงไปในเอกสารนั้น  พร้อมด้วยมีการกำหนดระดับความลับของคำสั่ง และมีเลขจดหมายกำกับทุกครั้ง

พยานปากที่สองนายพีรบูรณ์ สวัสดินันทน์[12] เบิกความว่าได้รับคำสั่งให้ตามทำข่าวการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่สี่แยกราชประสงค์ตั้งแต่เช้า และได้ติดตามการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม นปช. ไปตามถนนศรีอยุธยา ดินแดง และถนนวิภาวดีตั้งแต่ช่วงเที่ยง เมื่อถึงเวลาประมาณบ่ายโมงผู้ชุมนุมได้เคลื่อนมาถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ  แต่ไม่สามารถไปต่อได้เพราะมีแนวเจ้าหน้าที่ตั้งแนวสกัดอยู่ พยานและทีมข่าวจึงได้หยุดรถและไปตั้งกล้องถ่ายภาพที่สะพานลอยตรงปั๊มแก๊ส

ต่อมาฝนได้ตกลงมาอย่างหนักนายพีรบูรณ์ ยังคงตั้งกล้องอยู่ที่เดิม เขาสังเกตเห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ขยับแนวสกัดเข้ามาใกล้แนวของผู้ชุมนุมมากขึ้น และอยู่ห่างจากเขาไปเพียง 100 ม. เขาไม่ได้สังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่นอกแนวสกัดหรือไม่  บริเวณระหว่างสะพานลอยที่พยานอยู่ถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ มีประชาชนแต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นนปช.หรือไม่เดินผ่านไปมาประปราย

ต่อมาเมื่อฝนหยุดตกนายพีรบูรณ์เห็นมีเจ้าหน้าที่แต่งกายด้วยชุดสีเขียวขับรถจักรยานยนต์มีคนนั่งซ้อนท้ายมาด้วย ลงมาจากโทลล์เวย์ประมาณ 10 คัน พร้อมอาวุธปืนลูกซองยาว เมื่อลงจากโทลล์เวย์ได้หักรถเข้าช่องทางหลัก และขับลอดใต้สะพานลอยที่เขาอยู่ตรงเข้าไปยังแนวของเจ้าหน้าที่เขาได้บันทึกภาพเอาไว้จนกระทั่งทหารเข้าไปใกล้แนวสกัด  ในขณะเกิดเหตุเขาไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทราบเหตุการณ์เมื่อกลับเข้าสถานีและเปิดดูภาพในกล้อง เพราะจุดที่พยานตั้งกล้องอยู่ห่างจากเหตุการณ์ 100 ม. และขณะเขากำลังบันทึกภาพเขาต้องมองภาพจากจอของกล้องที่มีขนาดเล็กจึงเห็นรายละเอียดไม่ชัดเจน และเขาไม่ได้ยินเสียงปืนเพราะที่แนวเจ้าหน้าที่มีเสียงจากลำโพงดังมาก ตอนแรกพเขาคิดว่ารถล้มเพราะถนนลื่น แต่หลังจากนั้นรถที่ตามมาก็ล้มลงทุกคัน เขาจึงเข้าใจว่าเป็นการเจตนาทำให้ล้มลงและทหารได้วิ่งเข้าไปที่เกาะกลางถนน ตอนที่ทหารอยู่บนถนนได้มีรถของประชาชนทั่วไปอยู่บนถนนด้วย

พยานปากที่สามนายนิมิต สุขประเสริฐ เบิกความว่าได้ติดตามการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม นปช.ที่นำโดยนายขวัญชัย ไพรพนาไปยังตลาดไทจนมาถึงที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติเวลาประมาณเที่ยง และไม่สามารถเคลื่อนไปต่อได้ ขณะนั้นการจราจรติดขัดมากเขาจึงลงจากรถแล้วเดินไปจนถึงแนวสกัดของทหารและตำรวจ ที่อยู่ใกล้กับปั๊ม ปตท. เห็นเหตุการณ์ปะทะระหว่าง ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ซึ่งมีโล่ กระบอง และอาวุธปืน เขาหลบอยู่กำแพงปั๊มน้ำมันห่างจากเหตุการณ์ประมาณ 5  ม. เห็นผู้ชุมนุมบางคนถูกยิงด้วยกระสุนยาง จากนั้นผู้ชุมนุมได้ล่าถอยออกจากแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ไปประมาณ 300-500 ม.

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ขยับขึ้นมาในลักษณะเป็นแถวหน้ากระดานผ่านปั๊ม ปตท. ขึ้นมาอีก ไปจนถึงหน้าโครงการหมู่บ้านไอดีไซด์ที่กำลังก่อสร้างอยู่ ขณะที่ผู้ชุมนุมไปรวมกันที่ทางเท้าและขว้างปาสิ่งของเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ส่วนเจ้าหน้าที่บางคนยิงปืนขึ้นฟ้า จากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นตำรวจหรือทหารขึ้นไปบนโทลล์เวย์เพื่อผลักดันผู้ชุมนุมลงมาจากโทลล์เวย์ และสังเกตว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวยังคงอยู่บนโทลล์เวย์หลังผลักดันผู้ชุมนุมลงมาแล้ว

จากนั้นพยานได้หลบเข้าปั๊มเพื่อส่งข่าวให้สถานี ในปั๊ม ปตท. มีนักข่าว ช่างภาพ และประชาชนทั่วไป ส่วนผู้ชุมนุมได้ถูกทหารไล่ออกไปจากบริเวณนั้นหมดแล้ว ขณะที่นายนิมิตอยู่ในปั๊มได้มีท้องฟ้ามืดครึ้ม และมีฝนตกลงมาเป็นระยะ  ระหว่างนั้นเขาได้ยินคนพูดว่ามีทหารถูกยิง จึงได้ออกมาดูเหตุการณ์บริเวณโครงการหมู่บ้านไอดีไซน์ โดยยืนด้านหลังแนวป้องกันของเจ้าหน้าที่ เขาเห็นทหารนำผู้บาดเจ็บออกมาในสภาพนอนนิ่งและมีเลือดออกบริเวณศีรษะ ขณะที่เขาไปดูเหตุการณ์บริเวณดังกล่าวพบว่ามีเพียงเจ้าหน้าที่ไม่มีผู้ชุมนุมอยู่ในบริเวณดังกล่าวแล้ว และไม่มีอยู่ในบริเวณถนนวิภาวดีฝั่งขาเข้าด้วย ส่วนบริเวณปั๊มน้ำมันที่อยู่ด้านซ้ายมีแต่ประชาชนทั่วไปพยายามจะออกไปจากเหตุการณ์ โดยไม่มีผู้ชุมนุมอยู่เพราะถูกไล่ออกไปก่อนหน้านั้นแล้ว และก่อนเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปตรวจบัตรประจำตัวทุกคนที่อยู่ในปั๊ม เขาเองก็ถูกตรวจบัตรด้วย

พยานปากที่สี่ น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เบิกความว่าสืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน 2552 ได้มีผู้ชุมนุมได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก วันที่ 12 มี.ค. 53 พรรคเพื่อไทยตั้งศูนย์ช่วยเหลือที่มีชื่อว่า ศชปป.ขึ้น โดยมีสำนักงานอยู่ที่พรรคเพื่อไทย มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ประมาณ 20 คน พร้อมด้วยอุปกรณ์สื่อสารเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ส่วนมากเดินทางมาจากต่างจังหวัด และมอบหมายให้พยานดำรงตำแหน่งเลขาศูนย์ฯ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และหากมีความก็จะให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นได้

เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. ช่วงเช้ารัฐบาลได้ประกาศ “ขอคืนพื้นที่” บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ผู้ชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจึงได้เคลื่อนกำลังไปสนับสนุนผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์ แต่ในช่วงบ่ายรัฐบาลกลับได้กำลังเข้าไปขอคืนพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ โดยช่วงบ่ายมีการผลักดันที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ซึ่งโดยปกติเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติการตามหลักการเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน แต่กลับพบว่ามีการใช้กระสุนจริงข้ามขั้นตอน และมีการใช้อาวุธสงครามประเภท M16 HK33 ทาโวร์ ปืนสั้น ยิงขึ้นฟ้า  การยิงขึ้นฟ้าเมื่อกระสุนตกกลับลงมาก็จะมีความเร็วไม่แตกต่างกับตอนยิงขึ้นไป ซึ่งผู้ปฏิบัติหน้าที่จะทราบเรื่องนี้ดี  และมีการโยนแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ใส่ผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านล่าง และในช่วงค่ำมีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้นอีกรอบ และนำรถหุ้มเกราะที่ติดตั้งอาวุธปืนกลต่อสู้อากาศยานมาใช้ด้วย ซึ่งการปฏิบัติการในช่วงเย็นหรือหลังจากพระอาทิตย์ตกดินไปแล้วตามหลักการสากลและตามกฎปฏิบัติของกระทรวงกลาโหมจะไม่ถือเป็นการควบคุมฝูงชนแต่จะถือเป็นการปฏิบัติการทางการทหารจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งทหารและพลเรือนกว่า 20 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 800 คน

เหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2553 ข้อมูลที่ ศชปป.ได้มาจากการสังเกตการณ์และรายงานข่าวของสื่อมวลชน ทำให้เชื่อได้ว่าการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ตั้งแนวสกัดอยู่ เพราะจากการติดตามพบว่าอาวุธที่ยิงร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เสียชีวิตเป็นชนิดเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ใช้

และจากประสบการณ์ปี 2552 และปี 2553 ปรากฏภาพผ่านสื่อว่ามีบุคคลที่แต่งกายด้วยชุดพลเรือนปะปนและร่วมปฏิบัติการกลุ่มทหารด้วย

พยานปากที่ห้านายพงษ์ระวี ชนะชัย  เบิกความว่าในวันที่ 28 เม.ย. 53 ขณะนั้นเขาเป็นทหารเกณฑ์  ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติโดยเคลื่อนที่ด้วยรถจักรยานยนต์ไปด้วยกัน 50 คัน คันละ2 คนสวมเครื่องแบบลายพรางและมีสัญลักษณ์เป็นริบบิ้นสีขาวที่หัวไหล่ด้านขวา เจ้าหน้าที่มีปืนเล็กยาวและปืนลูกซอง  เขาเป็นพลขับรถจักรยานยนต์คันที่มีร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละนั่งซ้อนท้ายไปด้วย โดยขับมาเป็นคันที่ 4-5 ของขบวน จักรยานยนต์ที่ใช้เป็น ฮอนด้า เวฟ 110  หลังจากเคลื่อนพลออกไปได้ซักพักก็ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก และได้พบกับกลุ่ม นปช.จำนวนมาก แต่พยานได้ไม่ถูกทำร้าย และไม่ได้สังเกตว่า ผู้ชุมนุมมีอาวุธหรือไม่

นายพงษ์ระวีเป็นรถคันกลุ่มแรกที่ขับผ่านผู้ชุมนุมมาได้ประมาณ 4-5 คันและได้พบกับแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ โดยเขาขับรถเข้ามาที่ช่องทางหลักของถนนวิภาวดี และได้ขับรถเข้าใกล้แนวกั้นของตำรวจด้วยความเร็วประมาณ 20-30 กม./ชม. โดยอยู่ห่างจากแนวตำรวจประมาณ 3 ม. ส่วนผู้ชุมนุมอยู่ห่างจากจุดนั้นไปประมาณ 500 ม.   แล้วได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 4-5 นัด พยานจึงได้ตัดสินใจล้มรถจักรยานยนต์ลงซึ่งเป็นไปตามยุทธวิธีทางการทหาร เขาไม่ได้รู้สึกถึงแรงปะทะที่เกิดจากการยิง และไม่ทราบว่ากระสุนยิงมาจากทิศทางใด เพราะเสียงปืนดังก้องมาก ไม่ทราบชนิดปืน จากนั้นเขาได้หาที่กำบัง บริเวณที่กั้นระหว่างช่องทางหลักกับทางคู่ขนาน โดยยังไม่รู้ว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ที่นั่งซ้อนท้ายมาถูกยิงหรืออยู่จุดใด

นายพงษ์ระวี เบิกความว่าหลังจากนั้นมีนายทหารยศจ่าเขาจำชื่อไม่ได้ ตะโกนว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิง พยานยังไม่ได้เข้าไปดูแต่จากจุดที่หลบอยู่สามารถมองเห็นว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์นอนหัวเฉียงไปทางด้านซ้าย รถที่พยานขับมาก็ล้มลงทางด้านซ้าย จากนั้นหัวหน้ากองร้อยร.อ.ธนรัตน์ มณีวงค์ ได้สั่งให้นำเปลมารับไปส่งโรงพยาบาล และพยานได้เข้าไปอยู่ในแนวสกัดของเจ้าหน้าที่

นายพงษ์ระวี เบิกความต่อว่าเขาไม่เห็นเหตุการณ์ที่ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิง แต่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 2 ชุด ชุดแรกดังมาจากด้านหน้าตรงแนวตำรวจเป็นปืนลูกซอง 5 นัด ตอนที่ได้ยินเสียงปืนชุดแรกร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ยังคงซ้อนท้ายอยู่ จากนั้นประมาณ 1-2 นาทีได้ยินเสียงปืนชุดที่ดังขึ้น 5 นัด ซึ่งเสียงปืนดังกว่าชุดแรก จึงได้ตัดสินใจหักล้มรถลงด้านซ้าย แต่ไม่ได้สังเกตว่าปืนดังมาจากทิศทางไหน และไม่ทราบว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์หัวหน้าไปทิศทางไหน  เพราะขณะนั้นพยานหันหน้าไปด้านหน้าอย่างเดียว

พยานปากที่หกพ.ต.อ. ปรีดา สถาวร เบิกความว่า วันที่ 9 มี.ค. 53  รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สำนังานตำรวจนครบาลได้รับคำสั่งวันที่ 10 มีนาคม ให้กำหนดแผนรักษาความสงบเรียบร้อย โดยจัดทำแผนจากข้อมูลด้านงานข่าวเพื่อจัดกำลังควบคุมการชุมนุมของ นปช. ซึ่งสาระคือการตั้งจุดตรวจสกัดกลุ่มนปช.ที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และราชดำเนินซึ่งเป็นพื้นที่กลุ่ม นปช. ประกาศว่าจะใช้ชุมนุม

ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. รัฐได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถาณการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ.ขึ้น และแต่งตั้งเจ้าหน้าปฏิบัติงานตามคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีลงนามเลขที่ 2/2553  ในเวลาต่อมา ศอฉ.ได้มีคำสั่งเลขที่ 1/2553 เพื่อมอบหมายภารกิจให้ทหาร ตำรวจ และพลเรือนปฏิบัติหน้าที่

สำหรับตำรวจซึ่งมีตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ให้มีการจัดกำลังพลควบคุมฝูงชนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่กทม.

และวันที่ 28 เม.ย.ได้รับรายงานว่าผู้ชุมนุม นปช. จะเคลื่อนกำลังจากราชประสงค์ไปตลาดไท ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วไปตรวจตราความสงบเรียบร้อย และให้จัดกองกำลังสามกองร้อยไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความเรียบร้อยที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถนนวิภาวดี และพยานปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์บัญชาการตำรวจนครบาล

 

นัดสืบพยานวันที่ 21 มีนาคม 2556

            พยาน

  1. พ.ต.ท.สุพจน์ เผ่าถนอม ปฏิบัติหน้าที่รองผกก.ฝ่ายสรรพาวุธ กองพลาธิการและสรรพาวุธ
  2. พ.อ.นพ.เสกสรรค์ ชายทวีป แพทย์นิติเวชประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
  3. พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
  4. พ.ต.ท.ศุภฤกษ์ อาภรณ์รัตน์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

พยานปากที่หนึ่ง พ.ต.ท.สุพจน์ เผ่าถนอม เบิกความว่าเขาทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐาน  พบว่าอาวุธปืน HK33 M16 มีใช้ในราชการตำรวจและทหาร แต่ปืนทาโวร์มีใช้เฉพาะทหารเท่านั้น ส่วนอาก้ามีใช้หน่วยงานปกครองของกระทรวงมหาดไทย

M16 เป็นปืนเล็กยาวสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ A1 ซึ่งประสิทธิภาพการยิงสูงกว่า ส่วน A2 จะยิงได้ไกลกว่า ทั้งสองประเภทมีลักษณะภายนอกเหมือนกัน ถ้าคนที่ไม่มีความรู้ไม่สามารถแยกออกได้ HK33 ลักษณะภายนอกมีความแตกต่างจาก M16 แต่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ส่วนปืนทาโวร์ ใช้กระสุนขนาดเดียวกับ HK33 และ M16 มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันคือยิงกระทบของแข็งจะทำให้แตก บุบ ผิดรูป

ส่วนกระสุนความเร็วสูงชนิด M199 และM855 เป็นกระสุนที่ใช้กับปืนทั้ง 3 ประเภท แต่ M855 ใช้กับ A2และทาโวร์สามารถยิงทะลุของแข็ง และเสื้อเกราะระดับ 3 ได้ ส่วนหมวกเคฟล่ายิงระยะหวังผลพยานคิดว่าทะลุได้ ระยะยิงหวังผลของ A1ยิงได้ไกล 460 ม., A2 ยิงได้ไกล 800 ม., ทาโวร์ยิงได้ไกล 500 ม.

ปืนชนิดเดียวกัน เช่น  M16  ประเภท A1 และ A2 สามารถสลับอุปกรณ์กันได้ทุกชิ้นส่วน และถ้าสลับอุปกรณ์กันแล้วผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานจะไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าถูกยิงออกจากปืนกระบอกใด

พยานปากที่สอง พ.อ.นพ.เสกสรรค์ ชายทวีป เบิกความว่าวันที่ 28 เม.ย. 53 เวลา 19.00 น. ศพร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ถูกส่งมายังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเพื่อชันสูตรพลิกศพ โดยศพถูกส่งไปที่สถาบันพยาธิวิทยาเพื่อเก็บในห้องเย็นป้องกันการเสื่อมสลาย

ต่อมาในวันที่ 30 เมษายน เวลา 10.00 น. พ.อ.นพ.เสกสรรค์ และแพทย์อีก 2 คนได้ตรวจสภาพศพด้านนอก พบว่าเป็นเพศชาย วัยหนุ่ม รูปร่างสันสัด สูง 167 ผมดำตัดสั้น ผิวดำแดง สวมชุดทหารลายพราง มีหมวกลายพรางสวมมาด้วย ที่ศพมีบาดแผลฉีกขาด ปากแผลไม่เรียบ บาดแผลฉีกขาดอยู่บริเวณหางคิ้วซ้ายหรือขมับด้านซ้ายขนาด กว้าง 0.7 ซม. ยาว 1.5 ซม. และมีบาดแผลหัวตาขวาขนาดกว้าง 3 ซม. ยาว 6 ซม. คาดว่าเป็นทางทางออกของเศษกระสุน ศีรษะด้านขวาไม่มีบาดแผลและไม่มีรอยกระสุนออก ไม่มีบาดแผลที่บริเวณอื่นๆ ของร่างกาย

จากนั้นได้มีการผ่าชันสูตรภายในศีรษะพบว่าใต้หนังศีรษะมีลักษณะฟกช้ำเป็นบริเวณกว้างและกะโหลกแตกด้านซ้าย เนื้อสมองด้านซ้ายถูกทำลายอย่างรุนแรง พบเศษโลหะฝังค้างอยู่ในศีรษะและเนื้อสมองประมาณ 6-7 ชิ้น ขนาด 0.2 X0.5 ซม. จึงได้ใช้เครื่องมือแพทย์คีบออกและนำส่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และฐานกะโหลกส่วนกลางแตกร้าว ส่วนอื่นๆ ภายในร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติ

จากการชันสูตรพบว่าเป็นกระสุนลูกโดดที่ยิงเข้าจากทิศทางด้านซ้ายไปขวา แต่หัวกระสุนไม่ค้างอยู่ในศีรษะคาดว่าแตกกระจาย   หมวกที่สวมพบว่ามีรอยพรุนด้านซ้าย ค่อนมาทางด้านหน้าตรงกับรอยบาดแผลที่ศีรษะ และก่อนการผ่าชันสูตรได้นำร่างของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ไปเอ็กซเรย์ พบว่ามีเงาของเศษโลหะกระจายอยู่ในศีรษะหลายชิ้น โดยเศษโลหะค่อนมาทางด้านขวาของศีรษะ และตอนผ่าชันสูตรพบว่าวิถีกระสุนเป็นการยิงมาจากด้านซ้ายไปขวาและมีเศษโลหะกระจายอยู่ในเนื้อสมองด้านขวา

พยานปากที่สาม พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่าเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 53  ได้รับแจ้งจาก DSI ให้ตรวจพิสูจน์รถจักรยานยนต์ที่ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์นั่งซ้อนมาในวันเกิดเหตุที่จอดอยู่กองพันทหารราบที่ 11 พบว่าเป็นรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ ฮอนด้า เวฟ พบรอยกระสุนบริเวณเบาะด้านซ้ายของคนขับทะลุด้านขวา แสดงให้เห็นว่ามีการยิงกระสุนมาไม่น้อยกว่า 2 นัด

วันที่ 2  พ.ค. ได้ไปสถานที่เกิดเหตุที่ถนนวิภาวดี โดยมี DSI และทหารร่วมตรวจด้วย ได้นำรถจักรยานยนต์พร้อมบุคคลที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ไปจำลองเหตุการณ์ด้วย วิธีการตรวจพิสูจน์จะมีการใช้อุปกรณ์สอดเข้ายังรอยกระสุนที่ปรากฏในรถเพื่อหาวิถีกระสุน และวัดพิกัด ประกอบกับการตรวจสอบรอยกระสุนที่หมวกซึ่งอยู่ส่วนบน และบาดแผลของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ พบว่าวิถีกระสุนถูกยิงมาจากด้านซ้ายและทะลุไปทางด้านขวา เป็นกระสุนลูกโดด

จากการนำเศษกระสุนไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการพบว่าเป็นกระสุนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งเป็นกระสุนที่ใช้กับปืน M16 และHK33  แต่ไม่สามารถระบุประเภทปืนและปืนกระบอกที่ใช้ยิงได้ นอกจากจะนำปืนมาประกอบการตรวจสอบ

แต่ก็ยังไม่สามารถบอกว่าชัดเจนว่าถูกยิงจากทิศทางใดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะหากจำลองเหตุการณ์ว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ไม่ได้หันหน้าไปทางตรงอาจแสดงให้เห็นว่าวิถีกระสุนมาจากทิศทางอื่นๆได้ เช่น ถ้าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์หันหน้าไปทางด้านขวา 45 องศากระสุนอาจถูกยิงมาจากด้านหน้า หรือถ้าหันหน้ามาด้านขวา 90 องศากระสุนอาจถูกยิงมาจากด้านขวาก็ได้ แต่การยิงมาด้านซ้ายมีความเป็นได้สูงสุด และกระสุนน่าจะถูกยิงมาจากระดับที่สูงกว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์หรืออย่างน้อยผู้ยิงต้องยืนขณะยิง

พยานปากที่สี่ พ.ต.ท.ศุภฤกษ์ อาภรณ์รัตน์ เบิกความว่า วันที่ 3 พ.ค. 53 ศูนย์บริหารวัตถุพยานได้ส่งปลอกกระสุนปืนขนาด .223 จำนวน 5 ชิ้น และเศษแกนกระสุนขนาด .223 จำนวน 2 ชิ้น มาตรวจว่าเศษปลอกและแกนกระสุนมาจากปืนชนิดใด ปรากฏว่าเป็นลูกกระสุนปืนขนาด .223  ซึ่งจะมีขนาดจริงเป็น .224 ที่สามารถบรรจุในอาวุธปืนได้หลายชนิด เช่น ปืนล่าสัตว์ที่สามารถออกใบอนุญาตให้ประชาชนได้ และปืน M16 HK 33 และทาโวร์ที่ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ประชาชนได้ และถูกยิงมาจากปืนที่มีเกรียวในลำกล้อง 6 เกรียววนขวา

 

นัดสืบพยานวันที่ 22 มีนาคม 2556

             พยาน

  1. พ.ต.ท. บุญโชติ เลี้ยงบำรุง สน.มักกะสัน
  2. นายแพทย์วิทวัส ศรีประยูร โรงพยาบาลพระราม 9
  3. นายแพทย์ยรรยง โทนหงษา โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
  4. พ.ต.ท.เทพพิทักษ์ แรงกล้า สน.พญาไท

 

พยานปากที่หนึ่งพ.ต.ท.บุญโชติ เลี้ยงบำรุง ความว่าขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สน.ดอนเมือง วันที่ 29 เม.ย. 53 ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบคดีร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ และทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าเวลา 16.00 น. ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ได้ถูกยิงเสียชีวิตและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พยานจึงได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจวิถีกระสุน พบปลอกกระสุนปืน .223 ตกอยู่ที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. จำนวน 4 ปลอก ต่อมาได้รับแผ่นซีดีบันทึกเหตุการณ์จากปั๊ม ปตท.[13] แต่ปลอกกระสุนดังกล่าวเกิดจากการยิงปืนขึ้นฟ้าตามที่ปรากฏภาพในวีดีโอของปั๊ม  ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ และในที่เกิดเหตุมีรอยกระสุนที่โทลล์เวย์เป็นจำนวนมาก และในวันเดียวกันได้มีพนักงานสอบสวนเดินทางไปสอบปากคำนายทหารชุดที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ในวันเกิดเหตุ

จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุโดยลากเส้นจากตำแหน่งที่เกิดเหตุและรอยที่รถจักรยานยนต์ พบว่าวิถีกระสุนไม่สามารถยิงมาจากที่ต่ำได้ และมีกระสุนบางส่วนปรากฏที่เสาโทลล์เวย์ ดังนั้นวิถีกระสุนน่าจะมาจากด้านซ้ายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ซึ่งอาจมาจากแนวที่สูงกว่าแต่ไม่สูงมาก หรือสามารถยิงมาจากเกาะกลางก็ได้ หรืออาจยิงเฉียงมาจากชั้นสองของบ้านตัวอย่างของโครงการหมู่บ้านไอดีไซน์

จากการสอบสวนไม่ทราบตัวผู้ยิงพ.ต.ท.บุญโชติ ได้ร่วมสังเกตการณ์การชันสูตรพลิกศพ และเขาได้ขอเศษกระสุนปืนมาเก็บไว้เป็นหลักฐาน แต่ DSI ที่ทำงานใน ศอฉ. ไม่อนุญาตและเก็บไว้เองทั้งหมด ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 ได้ส่งสำนวนการสอบสวนทั้งหมดให้ DSI

พยานปากที่สอง นพ.วิทวัส ศรีประยูร เบิกความว่า วันที่ 30 เม.ย. 53 เวลา 01.00 น. นายวิชาญ วังตาลได้ย้ายจาก โรงพยาบาลราชวิถีมาที่โรงพยาบาลพระราม9 พบว่าคนไข้มีรอยกระสุน 2 แห่งที่หัวไหล่ด้านขวา และราวนมด้านขวา พยานจึงได้ผ่าตัดเอากระสุนที่ราวนมออกทางบริเวณสีข้าง ส่วนกระสุนที่ไหล่ขวาไม่ได้ผ่าออกเพราะมีความเสี่ยงสูง เศษกระสุนที่ผ่าออกเป็นโลหะสีเทา ตามแนวบาดแผลที่ผ่ากระสุนออก วิถีกระสุนน่าจะยิงจากบนลงล่าง 

พยานปากที่สาม นพ.ยรรยง โทนหงษา เบิกความว่า  วันที่ 28 เม.ย. 53 นายไพโรจน์ ไชยพรมได้รับบาดเจ็บที่ช่องท้องและต้นขาซ้ายได้มารับการรักษา เขาได้เข้าไปช่วยอาจารย์หมอผ่าตัด พบว่าในช่องท้องมีบาดแผลด้านหน้าทะลุด้านหลัง และลำไส้เล็กมีรอบช้ำและฉีกขาด ส่วนขาซ้ายมีบาดแผล 2 แห่ง คือด้านหน้าและด้านหลัง โดยบาดเผลเกิดจากวัตถุที่มีความเร็วสูงประเภทอาวุธปืนและระเบิด  แต่เขาจำไม่ได้ว่าวิถีกระสุนปืนยิงเข้าจากด้านหน้าหรือด้านหลัง

พยานปากที่สี่ พ.ต.ท.เทพพิทักษ์ แรงกล้า เบิกความว่าเนื่องจากร.ต.ณรงค์ฤทธิ์  สาละ ถูกนำมาชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลพระมุงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สน.พญาไท จึงต้องทำหน้าที่สอบสวนการตาย แต่หลังจากสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นในรอบแรก เขาได้ทำสรุปสำนวนว่าการตายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ไม่ได้เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง และเนื่องจากการตายเป็นคดีอาญา จึงได้ส่งคดีเพื่อไปรวมกับคดีกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งสน.ดอนเมืองได้ส่งให้กับ DSI ไปก่อนหน้านี้แล้ว  ภายหลังมา DSI ได้รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมจึงมีความเห็นว่าการตายอาจเกิดจากกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติที่ตามคำสั่ง จึงได้ส่งสำนวนกลับมาที่สำนักงานตำรวจนครบาล

สำนักงานตำรวจนครบาลจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวนโดยมี สน.พญาไทในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ และผลจากการรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม สน.พญาไทจึงได้ทำสรุปสำนวนกลับไปยัง DSI เป็นรอบที่สอง โดยยืนตามเดิมว่าไม่มีพยานหลักฐานที่ชี้ชัดได้การตายของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง  ต่อมา DSI ได้พิจารณาอีกรอบและยืนยันกลับมาว่ามีพยานหลักฐานชัดเจนที่ทำให้เชื่อได้ว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์อาจเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง และส่งสำนวนดังกล่าวกลับที่สำนักงานตำรวจนครบาล

สำนักงานตำรวจนครบาลได้มีคำสั่งที่ 387/2554 ลงวันที่ 21 กันยายน 2554 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการชันสูตรพลิกศพร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ต่อมาในวันที่ 27 กันยายน 2554 ได้มีคำสั่งเพิ่มเติมโดยแต่งตั้งพ.ต.ท.เทพพิทักษ์ให้เป็นคณะกรรมสืบสวนสอบสวนด้วย จากนั้นได้มีการเรียกพยานที่ DSI ได้เคยสอบสวนไว้แล้วมาสอบสวนเพิ่มเติมต่อหน้าพนักงานอัยการ ซึ่งพยานได้ให้การตามเดิมแบบที่เคยให้การกับ DSI ไว้

จากการสอบปากคำพยานทั้ง 54 ปาก  พยานจึงได้สรุปความเห็นโดยมีสาระสำคัญระบุว่าร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ได้ถึงแก่ความตายจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการ ตามรายงานการสอบที่ส่งให้อัยการเพื่อยื่นต่อศาลให้ทำการไต่สวนการตาย

 

ศาลออกคำสั่งวันที่ 30 เมษายน 2556[14]

ในวันนี้ญาติผู้เสียชีวิตรวมถึงอัยการผู้ร้องไม่มาร่วมฟังคำสั่งศาลจึงไม่ได้อ่านรายละเอียดของคำสั่งเพียงแต่อ่านส่วนสรุปผลการไต่สวนโดยมีความว่า พลทหารณรงค์ฤทธิ์ถูกยิงเสียชีวิตจากกระสุนปืนของทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ บริเวณถนนวิภาวดี-รังสิต ฝั่งขาออก ในวันที่ 28 เม.ย.53 เวลาประมาณ 15.00 น.  แต่ทางข่าวสดได้นำลงรายละเอียดบางส่วนของคำสั่งศาลไว้ในส่วนของข่าวด่วนวันเดียวกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ศาลพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและผู้ตายเป็นอย่างไรและใครเป็นผู้กระทำร้ายผู้ตาย โดยผู้ร้องมีนายธวัชชัย สาละ บิดาผู้ตายเบิกความ สอดคล้องกับพยานปากอื่น คือ ร.อ.ธนรัชน์ มณีวงศ์, จ.ส.อ.นภดล ตนเตชะ, จ.ส.อ.โกศล นิลบุตร, ส.อ.อนุภัทร์ ขอมปรางค์ และนายพงษ์ระวี ชนะชัย (อดีตพลทหาร) ทำนองว่า ร.อ.ธนรัชต์ มณีวงศ์ หัวหน้าชุดเคลื่อนที่เร็ว ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำกำลังชุดเคลื่อนที่เร็วด้วยรถจักรยานยนต์  เดินทางไปที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เพื่อเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งมีพลทหารพงษ์ระวี ชนะชัย ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนผู้ตายนั่งซ้อนท้าย เมื่อมาถึงแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต ขาออกในช่องทางหลักและแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นแนวเดียวกันทางช่องทางคู่ขนาน กลุ่มรถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มแรกที่มาถึงใกล้แนวสกัดของทหารและตำรวจ โดยขับขี่เรียงตามกันมา รถจักรยานยนต์ผู้ตายนั่งซ้อนท้ายตามมาเป็นคันที่ 5 และได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 5 นัด พยานทั้งหมดจึงล้มรถ จักรยานยนต์ลงและวิ่งเข้าหาที่กำบัง ส่วนผู้ตายถูกยิงที่ศีรษะตกลงจากรถและเสียชีวิตเวลาต่อมา

นอกจากนี้ ส.ต.ท.สุกิจ หวานไกล ส.ต.อ.วินัย กองแก้ว และ ส.ต.อ.ณรงค์ วังทองพูล เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งแนวสกัดในขณะเกิดเหตุเบิกความสอดคล้องกันว่า ในวันเกิดเหตุได้ปฏิบัติหน้าที่และหันหน้าไปทางกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. เมื่อเวลา 15.00 น. เห็นทหารวางกำลังบริเวณตอม่อทางขึ้นทางด่วนโทลล์เวย์เป็นระยะทั้งฝั่งซ้ายและขวา แต่ละจุดมีทหารถืออาวุธปืนยาว 2 นาย ต่อมามีรถจักรยานยนต์ 5-6 คัน เปิดไฟหน้าขับขี่เข้ามาตามถนนวิภาวดีรังสิต เข้าใกล้แนวสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจห่างประมาณ 50 เมตร พยานกับพวกเข้าใจว่าเป็นรถจักรยานยนต์ของกลุ่มนปช. มีคนตะโกนให้หยุดและเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยิงปืนไปที่กลุ่มรถจักรยานยนต์หลายนัด จนรถล้มลงมีคนตะโกนว่ามีทหารถูกยิง

ขณะที่ พ.ท.นพ.เสกสรร ชายทวีป เบิกความว่า ได้ชันสูตรพลิกศพผู้ตาย พบว่าที่ศีรษะผู้ตายมีบาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบระหว่างหน้าขมับหางคิ้วขวา ขนาดกว้าง 3 ซม. ยาว 6 ซม. บาดแผลบริเวณหัวตาซ้ายกว้าง 0.7 ซม. ยาว 1.5 ซม.จากการผ่าศีรษะผู้ตายปรากฏว่าใต้หนังศีรษะพบรอยกระสุนและรอยฟกช้ำเป็นบริเวณกว้าง กะโหลกศีรษะแตก บริเวณหางคิ้วซ้ายเนื้อสมองซีกซ้ายถูกทำลายอย่างรุนแรง และพบเศษโลหะ 6-7 ชิ้น ฝังอยู่ภายในกะโหลกศีรษะและเนื้อสมอง และพบว่าวิถีกระสุน เข้าจากทิศทางซ้ายไปขวา ระหว่างหน้าขมับซ้ายและหางคิ้วซ้าย และสาเหตุที่ตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ตรวจพิสูจน์รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กยษ กจ 683 ที่ผู้ตายนั่งซ้อนท้ายขณะเกิดเหตุและตรวจพิสูจน์เศษกระสุนปืนที่ผ่าออกจากศีรษะผู้ตายรวมทั้งตรวจหมวกทหารที่ผู้ตายสวมขณะเกิดเหตุ ผลการตรวจรถจักรยานยนต์ดังกล่าว พบว่าบริเวณเบาะนั่งด้านซ้ายที่คนขับมีรอยกระสุนปืนทะลุไปทางด้านขวา และผลการตรวจพิสูจน์เศษกระสุนปืนที่ผ่าออกจากศีรษะผู้ตาย พบว่า เป็นกระสุนขนาด .223 นิ้ว หรือ 5.56 มม. ซึ่งเป็นกระสุนปืนความเร็วสูงที่ใช้กับอาวุธปืนเล็กยาวแบบ เอ็ม 16 หรือ เอชเค 33 เชื่อว่าพยานเบิกความไปตามความจริง นอกจากนี้ยังมีเอกสารการตรวจวิถีกระสุนที่ยิงมาที่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายนั่งอยู่ พบว่ามาจากคนยืนยิง ไม่ใช่ยิงมาจากที่สูง

ดังนั้นพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมานั้น ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้คือ ผู้ตายถูกยิงเข้าที่ศีรษะ ด้วยกระสุนปืนขนาด.223 นิ้ว หรือ 5.56 มม. ซึ่งยิงจากจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ทำให้ผู้ตายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

ศาลจึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ตายที่บริเวณถนนวิภาวดี-รังสิต ฝั่งขาออก แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา เหตุและพฤติการณ์การตายคือ ถูกลูกกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ โดยลูกกระสุนถูกที่ศีรษะด้านซ้ายทางคิ้วผ่านทะลุกะโหลกศีรษะทำลายเนื้อสมองเป็นเหตุให้ตาย


[1] เดิมเป็นพลทหารหลังเสียชีวิตได้รับการประดับยศเป็นร้อยตรี

[3] “ยิงบนรางบีทีเอสกระสุนหัวเขียวตร.ให้การศาลคดี6ศพวัดปทุม,” ข่าวสด, 19 มิ.ย.55

[4]เซอร์ไพรส์! พ่อพลทหารเหยื่อกระสุน 28 เม.ย.53 ถอนทนาย-ถอนการเป็นผู้ร้องร่วม,” ประชาไท, 15 ก.พ.56,  ; ““เทือก”ชดเชย พ่อพลทหาร,” ข่าวสด, 15 ก.พ.56,

[6] “นิกขึ้นศาล-ชี้ปี53จนท.กระสุนจริง,” ข่าวสด, 23 ก.พ.56 ;  “นอสติทซ์ หอบภาพเบิกคดี ‘พลฯ ณรงค์ฤทธิ์’ พยานยันจุดเกิดเหตุมีแต่ จนท.,” ประชาไท, 27 ก.พ.56

[7] หมายเหตุ:  จากการเบิกความของสรรเสริญ แก้วกำเนิด และนักข่าวช่อง 9 ในวันต่อมา ปรากฏว่าภาพข่าวที่สปริงนิวส์นำมาใช้เบิกความในศาลเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับขณะที่พลทหารณรงค์ฤทธิ์ถูกยิงแต่จุดที่อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุการณ์ออกมาเล็กน้อยซึ่งเป็นภาพของทหารกลุ่มที่สองที่ขับตามกลุ่มแรกที่มีพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละอยู่ในทหารกลุ่มแรกซึ่งนักข่าวของสปริงนิวส์ไม่สามารถจับภาพได้

[8] วิดีโอข่าวของสปริงค์นิวส์ที่ได้มีการเปิดประกอบการเบิกความดูได้ที่  “ทหารยิงกันเอง” อัพโหลดโดย RedHeart2553

[9] เป็นพยานที่ถูกเพิ่มเข้ามาในวันดังกล่าว แต่เป็นพยานที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนแล้ว

[10] เป็นภาพที่ถูกเผยแพร่ทั่วไป แต่ได้ถูกตัดต่อขึ้นใหม่ น่าจะตัดต่อโดยทีมงานของพยาน

[11] พยานแสดงภาพถ่ายของช่อง 9

[12] วิดีโอรายงานข่าวชิ้นที่นายพีรบูรณ์ เป็นภาพข่าวที่บันทึกเหตุการณ์ที่เห็นเหตุการณ์ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ตกลงจากจักรยานยนต์ที่นั่งซ้อนมา

[13] วีซีดีบันทึกเหตุการณ์ไม่สมบูรณ์ โดยภาพขณะที่เกิดเหตุการณ์ยิงพลทหารณรงค์ฤทธิ์ไม่มี มีแค่ถึงช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุ

[14] “ศาลชี้ ‘พลทหารฯณรงค์ฤทธิ์’ ถูกยิงที่อนุสรณ์สถานฯ เม.ย.53 ตายจากกระสุนปืนจนท.ทหาร,” ข่าวสด, 30 เม.ย.56

บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายชาญณรงค์ พลศรีลา

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ : อช.1/2555 วันที่ฟ้อง : 17/02/2555 คดีหมายเลขแดงที่ : อช.9/2555 วันที่ออกแดง : 26/11/2555

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 สำนักงานอัยการสูงสุด

ผู้เสียชีวิต : นายชาญณรงค์ พลศรีลา

คดี : ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ

 

นัดพร้อมวันที่ 12 มีนาคม 2555[2]

นัดพร้อมไต่สวนชันูสตรพลิกศพ นายชาญณรงค์ พลศรีลา  โดยอัยการในฐานะผู้ร้องขอได้ขอให้ศาลเลื่อนการไต่สวนเป็นนัดหน้า  มีพยานทั้งหมด 41 ปาก โดยจะมีการสืบพยานครบทั้งหมดไม่มีการตัดพยานออก และฝ่ายทนายญาติผู้เสียชีวิตยื่นพยาน 15 ปาก

 

นัดสืบพยานวันที่ 18 มิถุนายน 2555[3]

            พยาน

  1. นายนิค นอสติทซ์ (Nick Nostitz)ช่างภาพอิสระ ชาวเยอรมัน
  2. นายธีโล เธียลเค (Thilo Thielke) นักข่าวจาก Der Spiegel

พยานปากแรกนายนิค นอสติทซ์เบิกความว่า เขาเริ่มติดตามเหตุการณืทางการเมืองตั้งแต่ การชุมนุมของเสื้อเหลืองก่อนปี 2549  ในปี 2553 เขาได้เข้าไปทำข่าวการชุมนุมเสื้อแดงที่ผ่านฟ้า

นิคได้เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ค. 53 ว่าเขาเข้าไปทำข่าวที่สามเหลี่ยมดินแดง เห็นผู้ชุมนุมจำนวนประมาณ 200 คน  ขณะนั้นผู้ชุมนุมไม่ได้สวมเสื้อสีแดงแล้ว  เวลา 14.00 น.  เขาเข้าไปในถนนราชปรารภ ยังคงมีรถสัญจรไปมาอยู่ เมื่อไปถึงแยกรางน้ำมีทหารอยู่ในบังเกอร์ แต่เขาจำไม่ได้ว่าอาวุธที่ถือเป็น M16หรือไม่ จากนั้นเขาเดินไปซื้อน้าที่ เซเว่น อีเลฟเวน แล้วกลับมายังบังบริเวณสมเหลี่ยมดินแดง เวลา 15.00 น. เห็นรถสีเหลืองบรรทุกยางมาที่ราชปรารภ ไปยังปั๊ม เชลล์ นิคได้พบกับนายชาญณรงค์ ซึ่งในขณะนั้นเขายังไม่รู้ โดยชาญณรงค์สวมหน้ากากอนามัย มือถือหนังสติ๊กและตนได้บันทึกภาพนายชาญณรงค์ไว้ก่อนถูกยิงประมาณ 7 นาที  ผู้ชุมนุมได้ย้ายยางเข้าไปใกล้ฝั่งทหารมีระยะห่างประมาณ 80 ม.  ในขณะนั้นตนอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมประมาณ 4 ม. เห็นทหารยิงมายังกลุ่มผู้ชุมนุม เวลา 16.05 น. หลังมีการยิง 1 นาที นายชาญณรงค์กำลังคลานออกจากแนวยางเขาได้ถูกยิงเข้าที่บริเวณท้อง   ระหว่างที่กำลังนายชาญณรงค์กำลังกลับตัวเพื่อเข้าหาแนวยางนายนิคได้เห็นว่าเขถูกยิงที่แขนจนกระดูกหัก  จากนั้นพยายามเข้าหายางรถยนต์ ในขณะที่ผู้ชุมนุมที่อยู่หลังยางรถยนต์พยายามออกจากบังเกอร์ก็โดนยิงมาจากซอยรางน้ำ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีทหารประจำอยู่

นิคเบิกความอีกว่า ยืนยันว่านอกจากนายชาญณรงค์แล้วยังมีผู้ร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บอีก 2 ราย และทั้ง 2 ออกจากแนวยางรถยนต์ไปยังปั๊ม เชลล์ ตนเลยวิ่งตามไปถ่ายบุคคลทั้ง 2 ที่ห้องน้ำ จากนั้นผู้บาดเจ็บทั้ง 2 รายได้ปีนข้ามกำแพงไปบ้านที่อยู่หลังปั๊ม แล้วนิคได้กลับไปที่ทางเข้าปั๊มใกล้กับแนวยางอีกครั้ง เห็นมีผู้ชุมนุมวิ่งออกจากแนวยางอีก 2 คน  เสียงปืนดังใกล้เข้ามากว่าเดิมเขารู้สึกไม่ปลอดภัยจึงวิ่งออกจากจุดดังกล่าว  มีเสียงปืนดังเป็นระยะจึงเข้าไปหลบในห้องน้ำของปั๊ม เขาได้เห็นผู้ชุมนุม 2 คน พานายชาญณรงค์เข้ามาในห้องน้ำ เขาจึงถ่ายภาพผู้ชุมนุมทั้ง 2 คนนั้นไว้ หลังจากพาเขามาแล้วได้มีการเปิดดูบาดแผลของนายชาญณรงค์จากนั้นได้ส่งตัวเขาข้ามกำแพงไปแล้วไถลลงไปในสระน้ำ  แล้วนิคก็ได้ปีนข้ามกำแพงไปด้วย  นายนิคกล่าวว่าผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธและก็ได้มีการบอกกับทหารว่า ไม่มีอาวุธ ตั้งแต่ผู้ชุมนุมยังอยู่ที่บังเกอร์ยาง นิคยังได้ยืนยันอีกว่าไม่เห็นฝั่งผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน

ระหว่างนั้นทหารได้เดินเข้ามาและมีการยิงปืนขึ้นฟ้า ทำให้มีปลอกกระสุนกระเด็นข้ามมา เขาได้ยินเสียงผู้ชุมนุมที่ยังอยู่ตรงห้องน้ำของปั๊มบอกว่า “ผมยอมแล้ว ผมยอมแล้ว” และเขายังได้ยินเสียงทหารทำร้ายผู้ชุมนุม  มีทหารคนหนึ่งปีนข้ามกำแพงมาและมีทหารอีกคนอยู่ที่กำแพง  เขาและทหารที่ข้ามมาได้ช่วยกันดึงนายชาญณรงค์ขึ้นจากสระน้ำ เมื่อทหารดึงขึ้นมาจากน้ำแล้วทหารได้ตะโกนว่า ทำไมมึงยังไม่ตายอีก รู้ไหมทหารต้องนำตัวไปส่งโรงพยาบาล  ระหว่างนั้นนายชาญณรงค์ได้ลื่นไหลกลับลงไปในสระอีกครั้ง เขาจึงดูและผู้ตาย ทหารได้วิทยุเรียกหน่วยแพทย์มา ขณะนั้นนายชาญณรงค์หายใจไม่ออก ไม่ขยับตัว  หลังจากนั้นทหารได้มารับตัวนายชาญณรงค์ไป  หลังจากนั้นนิคได้กลับไปยังหลังกำแพง และไม่กล้าออกจากบริเวณดังกล่าวจึงได้ออกมาทางด้านหลังและไปถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเวลา 20.30 น. และได้บันทึกภาพพระที่สวดมนต์บนฐานอนุสาวรีย์ชัยฯ  จากนั้นจึงกลับบ้านเวลา 21.30 น. และได้เขียนบทความบันทึกเหตุการณ์เผยแพร่ทางเว็บไซต์นิวแมนเดลา[4]

หลังเหตุการณ์ประมาณหนึ่งเดือน ดูรายชื่อผู้เสียชีวิตจึงได้ติดตามไปที่สถานีตำรวจ พญาไท จึงทราบว่านายชาญณรงค์ได้เสียชีวิตแล้ว และบทความของเขาได้ถูกบล็อกจากกระทรวง ไอซีที เพื่อสอบถามและยืนยันว่าบทความไม่ได้ผิดกฎหมาย หลังจากนั้นบทความจึงเข้าได้อีกครั้ง  และเขายังเล่าถึงเรื่องที่ภรรยาเขาถูกจี้เอาเงินไป 2,000 บาท โดยคนร้ายยังได้กล่าวกับภรรยาเขาว่า “สวัสดีนิคด้วย” ทำให้เขาไม่แน่ใจว่าเป็นการถูกคุกคามหรือไม่ และคนร้ายรู้จักชื่อของเขาได้อย่างไร  แต่เขาได้บอกด้วยว่าหลังให้การกับ คอป. เหตุการณ์เหล่านี้ก็ลดลง

พยานคนที่สอง นายธีโล เธียลเค เบิกความว่าวันที่ 15 พ.ค. 53 ได้เดินทางจากบ้านไปที่ดินแดง เขาเห็นผู้ชุมนุม 40-50 คน หลังจากนั้นมีคนเอายางรถยนต์มาที่ถนนผู้ชุมนุมนำยางรถยนต์ไปใกล้เจ้าหน้าที่ทหาร หลัง 14.00 น. มีการยิงเกิดขึ้น เขาอยู่หลังบังเกอร์ของผู้ชุมนุมประมาณ 15 ม. ตนไม่เห็นว่าใครเป็นคนยิงหลังจากที่มีการยิงกันประมาณ 10 นาที เห็นผู้บาดเจ็บประมาณ 3-4 คน โดยไม่ทราบว่ามีผู้ชุมนุมเสียชีวิตหรือไม่ในขณะนั้น หลังจากที่ผู้ชุมนุมได้หนีเข้าไปในสถานีจำหน่ายน้ำมันแล้ว มีเจ้าหน้าที่ทหาร ถืออาวุธปืนไรเฟิลตามเข้าไป เขาที่หลบอยู่ด้านหลังของสถานีน้ำมันก็ได้กระโดดข้ามไปยังบ้านหลังนั้น และมีทหารเข้ามาพูดคุยแต่ตนไม่เข้าใจสิ่งที่ทหารพูด

นายธีโลเบิกความอีกว่า ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ฝ่ายทหารทีอาวุธปืน ใส่ชุดฟอร์มสีเขียว และยืนยันว่าผู้ชุมนุมที่อยู่หลังบังเกอร์ยางไม่มีการยิงตอบโต้กับทหาร ในตอนที่เขาอยู่ด้านหลังของปั๊ม นิค นอสติทซ์คือคนที่ที่พยายามจะช่วยเหลือผู้ชุมนุม

 

นัดสืบพยานวันที่ 25 มิถุนายน 2555[5]

                พยาน

  1. นางศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนายผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์
  2. นายไชยวัฒน์ พุ่มพวง  ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่น(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นายเดชภพ แล้ว)

ไม่มีข้อมูลการสืบพยานในศาล แต่มีการสัมภาษณ์ทนายโชคชัย อ่างแก้ว  ที่ให้ข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับการเบิกความของนางศิริพร ที่ได้เบิกความขั้นตอนการสลายการชุมนุมและคำสั่งการปฏิบัติการของทหารในการสลายการชุมนุม

ในการเบิกความของนายไชยวัฒน์ทนายโชคชัยกล่าวว่า เหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ค. 53 วิถีกระสุนถูกระดมยิงมาจากทางฝั่งที่มีทหารประจำการอยู่ และตัวของพยานเองก็โดนกระสุนยิงเข้าที่ขา และเห็นนายชาญณรงค์ถูกยิงด้วย

 

นัดสืบพยานวันที่ 2 กรกฎาคม 2555[6]

            พยาน

  1. นายเดชภพ พุ่มพวง ช่างภาพเนชั่น(นายไชยวัฒน์ พุ่มพวง)
  2. นายณัฐพงศ์ พรหมเพชร ช่างภาพช่องไทยพีบีเอส(ในคำสั่งศาลจะมียศว่าที่ร้อยตรีนำหน้า)
  3. นายพงษ์ไทย วัฒนาวณิชย์วุฒิ นักข่าวโพสต์ทูเดย์
  4. นายสรศักดิ์ ดิษปรีชา  รับจ้างขับรถ

พยานปากแรก นายเดชภพ พุ่มพวง(ชื่อเดิมนายไชยวัฒน์)  เบิกความว่า วันที่ 15 พ.ค. 53 เขาได้รับมอบหมายให้ไปถ่ายภาพที่ถนนราชปรารภ  ซึ่งที่นั่นมีลวดหนามของทหารที่ติดป้าย “แนวกระสุนจริง” ขณะที่ผู้ชุมนุมพยายามตั้งบังเกอร์ห่างออกไป ช่วงที่มีการยิงทหารเริ่มเดินรุกคืบบนถนนทั้งสองฝั่ง  แต่เขาไม่เห็นทหารบนสะพานลอย  มีเสียงปินดังจากทางแนวทหาร ฝั่งผู้ชุมนุมไม่ได้มีการตอบโต้ด้วยอาวุธ แต่ก็มีการยิงพลุซึ่งไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ตนใส่ปลอกแขนมีคำว่า PRESS ชัดเจน แต่เขาก็ยังถูกยิงเข้าที่โคนขาขวา โดยเชื่อว่ายิงมาจากฝั่งทหาร และไม่มีการประกาศเตือนล่วงหน้าจากทางเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

พยานปากที่สองว่าที่ร้อยตรีณัฐพงศ์ พรหมเพชร เบิกความว่า ช่วงบ่ายโมงกว่า กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้เริ่มพยายามนำยางรถยนต์เข้าไปวางห่างจากสามเหลี่ยมดินแดงประมาณ 100 ม. ฝ่ายทหารน่าจะอยู่ห่างออกไปทางรางน้ำ เขาไม่เห็นอาวุธในกลุ่มผู้ชุมนุม   ทางผู้ชุมนุมมีการนำฝากระโปรงรถทหารมาทำเป็นเกราะกำบัง  จากนั้นเขาได้ยินเสียงปืนดังจากทางฝั่งทหารแต่น่าจะเป็นการยิงขึ้นฟ้าและจากที่มีการยิงไม่กี่นัดก็เริ่มมากขึ้นๆ ผู้คนก็แตกกระจายหาที่กำบัง   ทางผู้ชุมนุมมีการตอบโต้ด้วยพลุตะไลจำนวนประมาณ 3 นัด แต่เขาเข้าใจว่าเป็น M79   ระหว่างที่ทหารรพดมยิงเรื่อยๆ อยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงปืนลูกโม่เป็นระยะๆ แต่ไม่มากนัก มาจากทางฝั่งผู้ชุมนุมด้วย  ระหว่างที่มีการยิงอยู่นั้นเขาได้เห็นผู้ชุมนุมถูกยิง 2 คน คนหนึ่งกระโดหนีไปได้ อีกคนทราบภายหลังว่าคือนายชาญณรงค์  แต่เขาไม่เห็นทหารยิงอย่างชัดเจน แต่ทราบว่ากระสุนมาจากทางทหาร ระหว่างนี้นายเดชภพก็ถูกยิงด้วย แต่เขาเข้าไปช่วยไม่ได้จนทหารเข้าไปช่วย  และเขายังถูกทหารยึดเทปบันทึกภาพไป เขาจึงต่อรองโดยเขาแจ้งทหารว่าในเทปมีภาพทหารช่วยนายเดชภพด้วย หากได้ออกอากาศน่าจะเป็นผลดี ทหารจึงยอมมอบเทปคืน แต่ทหารซึ่งแต่งนอกเครื่องแบบ(เขาคิดว่าเป็นระดับผู้บังคับบัญชา) สั่งให้เขาลบภาพที่มีการหามคนเจ็บหรือคนตายออกไป 1 ภาพ เมื่อได้เทปคืนจึงได้นำภาพที่เหลือไปออกอากาศ 2 ครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างเบิกความมีการเปิดฉายเทปบันทึกการรายงานข่าวสถานการณ์ดังกล่าวของไทยพีบีเอสที่นายณัฐพงศ์เก็บภาพไว้ได้ด้วยโดยเห็นผู้ชุมนุมมีการจุดตะไล และมีการระดมยิงเข้าบริเวณบังเกอร์ใกล้ปั๊มเชลล์กระทั่งมีการหามนายเดชภพออกจากจุดเกิดเหตุโดยทหารและมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทนายจำเลยได้ซักถามถึงภาพที่ระดมยิงใส่กองยางและมีผู้บาดเจ็บว่ามีการถ่ายไว้ด้วยหรือไม่  เขาได้ตอบว่ามีการถ่ายไว้แต่ไม่แน่ใจว่ามีการนำไปออกอากาศหรือไม่เพราะตนมีหน้าที่เพียงส่งภาพทั้งหมดเข้าไปยังสำนักงานเท่านั้น

พยานปากที่สาม นายพงษ์ไทย  วัฒนาวณิชย์วุฒิ  เบิกความว่าบังเกอร์ถูกนำมาวางที่ปั๊มเชลล์มีผู้ชุมนุมราว 20-30 คน แต่ยังไม่ทันเป็นรูปเป็นร่างก็ได้ยินเสียงปืน 2-3 นัด ซึ่งตนยังจับไม่ได้ว่ามาจากทางไหน  จากนั้นได้ยินเสียงปืนอีกหลายนัด และเริ่มประเมินได้แล้วว่ามาจากทางฝ่ายทหารแต่ไม่เห็นวิถีตกของกระสุน เขาจึงเข้าไปหลบฝั่งตรงกันข้ามกับปั๊มเชลล์ เห็นผู้ชุมนุมหลบอยุ๋หลังกองยางราว 10 คน จากนั้นกระสุนชุดที่สามก็มาอย่างต่อเนื่อง เขาได้เห้นวิถีกระสุนชัดว่ามาจากทางด้านทหาร มาทั้งข้างล่าง ข้างบน ตกที่ถนนข้ามกองยางไป และเห็นว่าโดนคนหลังกองยางด้วยเพราะเห็นเลือด แต่ไม่รู้ว่าโดนกี่คน ส่วนนายเดชภพซึ่งหลบอยุ่ใกล้ๆ นั้นก็ถูกยิงด้วยในช่วงนี้ นายเดชภพได้ตะโกนบอกว่าถูกยิง เขาจึงชะโงกไปดู  เขาวางกล้องจะไปช่วย จังหวะที่ชะโงกคลานไปแล้วครึ่งตัว เหมือนมีแรงลมผ่านใกล้หัวมากจึงต้องหลบเข้าที่เดิมและบอกให้นายเดชภพนั่งนิ่งๆ เพราะกลัวเขาโดนยิงซ้ำหากขยับ ทั้งสองคนนั่งอยู่นานปราะมาณ 20 นาที จึงเห็นทหารกระชับพื้นที่เข้ามาเรื่อยๆ มีอาวุธปืนคาดว่าเป็น M16 ค่อยๆ ย่องเข้ามาในลักษณะกระชับปืนคอยเล็งตลอด จนพบผู้สื่อข่าวและช่วยออกไปจากพื้นที่

พยานปากสุดท้ายนายสรศักดิ์ ดิษปรีชา เบิกความว่าระหว่างที่เขาหลบอยู่หลังกองยาง ขณะนั้นนายชาญณรงคืหมออยู่ห่างจากกองออกไปและพยายามคลานเข้ามาใกล้แล้วบอกว่า “ผมโดนแล้วๆ” และได้เปิดเสื้อให้เขาดูเห็นเลือดออกมาจากบาดแผลจำนวนมาก จากนั้นเขาพยายามวิ่งเข้าปั๊มซึ่งระหว่างปั๊มกับแนวยางจะมีช่องที่ไม่มีกองยางบังอยู่ มีกระสุนมาไม่ขาด  เมื่อเขาเข้าไปได้แล้วมีคนตะโกนบอกว่าอย่าไปอยู่ในปั๊มเพราะลูกปืนจะโดนหัวจ่ายน้ำมันระเบิด  เขาจึงอ้อมหลบข้างรถเก๋งที่จอดอยู่ข้างปั๊มก่อนจะพยายามออกมจากพื้นที่เพื่อกลับไปมอเตอร์ไซค์ที่จอดอยู่ไม่ไกล

เขาเบิกความด้วยว่าผู้ชุมนุมมี่อาวุธ นายชาญณรงค์ที่มีหนังสติ๊ก  แต่หลังจากที่ทหารเริ่มยิงมีเด็กผู้ชายคนหนึ่งนำตะไลออกมาเตรียมจุด แต่เขาได้เตือนเด็กว่าอย่าจุดเพราะจะยิ่งเป้นการยั่วยุ แล้วเด็กก็ไม่ได้จุดตะไล

 

นัดสืบพยานวันที่ 9 กรกฎาคม 2555[7]

            พยาน

  1. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด
  2. ร.อ.มนต์ชัย ยิ้มอยู่
  3. พ.อ.กัญชัย ประจวบอารีย์
  4. พ.ต.ท.สุรพล รื่นสุข  รองผู้กำกับการ สน. คันนายาว ในช่วงการชุมนุมมีหน้าที่ฝ่ายการข่าว กองบัญชาการตำรวจนครบาล
  5. พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร ในช่วงเหตุการณ์ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  6. พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ อดีตสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท

ในการสืบพยานครั้งนี้ พ.อ.สรรเสิรญ แก้วกำเนิด พ.อ.กัญชัย ประจวบอารีย์ และร.อ.มนชัย ยิ้มอยู่ไม่ได้ขึ้นให้การ เนื่องจากมีการนำส่งหลักฐานเอกสารและภาพถ่ายเพิ่มจึงเลื่อนการไต่สวนไปเป็น 24 กันยายน 2555  ส่วนทางฝ่ายตำรวจคือ พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ ต้องเลื่อนไปนัดของวันที่ 16 ก.ค. 55 เนื่องจากเวลาไม่พอ

พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร เบิกความว่าระหว่างวันที่ 12-16 พฤษภาคม 2553 กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้จัดกำลังตำรวจตั้งจุดตรวจจุดสกัดกั้นการนำอาวุธเข้าไปในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง 13 จุด ซึ่งใกล้ที่เกิดเหตุคือบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสามเหลี่ยมดินแดง ต่อมาได้ตั้งเพิ่มอีกจุด คือ ซอยรางน้ำ ในส่วนการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์นั้น เขาทราบข่าวเบื้องต้นจากการรายงานข่าวของพนักงานสอบสวนในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงการประกาศภาวะฉุกเฉินทำให้ พนักงานสอบสวนเจ้าของพื้นที่ และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ไม่สามารถเข้าพื้นที่เกิดเหตุได้

พ.ต.ท.สุรพล รื่นสุข เบิกความถึงส่วนการเสียชีวิตนายชาญณรงค์ เบื้องต้นทราบข่าวจากการรายงานของตำรวจในพื้นที่และต่อมาทราบชื่อผู้ตายจากสื่อมวลชน โดยการนำเสนอข่าวนั้นจะรวบรวมจาก ตำรวจในพื้นที่ตำรวจสันติบาลและสื่อมวลชน

 

นัดสืบพยานวันที่ 16 กรกฎาคม 2555[8]

            พยาน

  1. พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ อดีตสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท
  2. พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม  ผู้เชี่ยวชายด้านอาวุธปืน ทำหน้าที่ตรวจสอบอาวุธปืน

นอกจากตำรวจ 2 นายนี้แล้วตามข่าวยังมีตำรวจและทหารคนอื่นที่ขึ้นเบิกความในช่วงบ่ายอีก แต่ไม่มีข่าวสำนักไหนอยู่ทำข่าวในช่วงบ่าย

พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ เบิกความ สรุปว่า ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 ได้รับแจ้งว่ามีการก่อความวุ่นวายของกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วน ที่บริเวณปั๊มเชลล์ซอยรางน้ำ มีการเผายางรถยนต์ ขว้างขวดใส่เจ้าหน้าที่ทหารจนเกิดการปะทะกัน และได้รับแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บ โดยมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันที่บริเวณปากซอยราชวิถี 11 เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ซึ่งพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ผบก.น.1 (ขณะนั้น) สั่งการให้รถตำรวจนำรถพยาบาลเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บ แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ เนื่องถูกยิงสกัดจากแนวรั้วลวดหนามของทหาร พล.ต.ต.วิชัยจึงประสานกับ ศอฉ. เพื่อขอกำลังอาสาสมัครไปช่วยผู้บาดเจ็บออกมาจากที่เกิดเหตุ และช่วงบ่ายวันเดียวกันก็ได้รับแจ้งว่า มีรถตำรวจถูกยิงที่บริเวณถนนราชปรารภ ตอนกลางซึ่งเป็นช่วงที่ทหารวางกำลังอยู่
พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ เบิกความอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 53 หลังการประกาศภาวะฉุกเฉินโดยศอฉ.ทหารได้วางกำลังตั้งศูนย์บัญชาการที่สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ มักกะสัน ตรงถนนราชปรารภ พร้อมกับวางรั้วลวดหนามตลอดแนวกั้นเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่แยกราชประสงค์ โดยติดป้ายข้อความว่า เขตการใช้กระสุนจริง ทั้งที่ถนนราชปรารภ ตรงหน้าโรงแรมอินทรา และบริเวณซอยรางน้ำ รวมทั้งตำรวจก็ไม่สามารถเข้าพื้นตรวจที่เกิดเหตุได้ และทราบผลการชันสูตรศพนายชาญณรงค์ในภายหลังว่า ถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนความเร็วสูงเข้าที่บริเวณท้อง ซึ่งหากเป็นเหตุการณ์ปกติเมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ชุดสืบสวนสามารถเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุได้ เมื่อได้รับแจ้งเหตุ แต่ช่วงการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ ศอฉ.ประกาศผ่านสื่อ ห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับระบุด้วยว่า ช่วงการสืบสวนหาข่าวเห็นทหารพกปืนM 16 และทาโวร์ติดลำกล้องในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้

พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม ซึ่งทำหน้าที่ตรวจอาวุธปืน

 

นัดสืบพยานวันที่ 27 กันยายน 2555[9]

            พยาน

  1. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด  ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารบก ในช่วงเหตุการณ์เป็นโฆษก ศอฉ.
  2. พ.อ.กัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์   เสนาธิการหน่วยเฉพาะกิจ จ.นราธิวาส ในช่วงเกิดเหตุเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ จังหวัดลพบุรี
  3. พ.ต.มนต์ชัย ยิ้มอยู่  ในช่วงเหตุการณ์ยศ ร้อยเอก เป็นผู้บังคับกองร้อยในพื้นที่เกิดเหตุ นายทหารยุทธการและการศึก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เบิกความว่าได้เข้าร่วมประชุมกับ ศอฉ. แต่ไม่ได้ประชุมทุกรอซึ่งการประชุม ศอฉ. จะมีขึ้นทุกวันและมีหน้าที่นำเรื่องราวที่ประชุมเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ ศอฉ. ถูกจัดตั้งโดยคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผู้ควบคุมดูแล

การชุมนุมของ นปช. เริ่มในวันที่ 12 มี.ค.53 ที่บริเวณถนนราชดำเนิน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและให้รัฐบาลในขณะนั้นลาออก หลังจากนั้น 3 เม.ย.53 ได้ขยายพื้นที่ไปปิดสี่แยกราชประสงค์ เมื่อที่ราชดำเนินมีคนน้อยจึงขอพื้นที่คืนวันที่ 10 เม.ย.53  ในวันที่ 7 เม.ย.53 มีกลุ่มผู้ชุมนุมนำโดย นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง บุกไปในรัฐสภาและยึดอาวุธปืนจากเจ้าหน้าที่รัฐสภา หลังเหตุการณ์ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้ประชุมหารือกันโดยมีนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ดูแล และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงนำไปสู่การตั้ง ศอฉ.

นอกจากนายอริสมันต์บุกเข้ารัฐสภาแล้วยังมีการใช้กระสุน M79 ยิงไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ คิดโดยสรุปว่าเป็นการยิงจากกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีการเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 53 ที่มีการขอพื้นที่คืนบริเวณถนนราชดำเนินโดยทหารและตำรวจ ในช่วงเวลา 17.00 น. ไปแล้วเกิดการปะทะกันนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และมีทหารบาดเจ็บหลายนายและเสียชีวิต 5 นายในเหตุการณ์นั้น

พ.อ.สรรเสริญเบิกความต่ออีกว่าหลังการประชุมในตอนเช้ามีการสั่งการขอคืนพื้นที่ให้ปฏิบัติเสร็จภายในช่วงเวลา 17.00 น. ในขณะนั้นมีการรายงานจากทุกหน่วยว่าทัศนวิสัยไม่ดีเนื่องจากใกล้มืดแล้วจึงขอยุติการปฏิบัติการและศอฉ. ได้อนุมัติให้ถอนกำลังแต่ขณะนั้นทหารจากกองพันทหารราบที่ 2  ไม่สามารถถอนตัวออกจากสี่แยกคอกวัวได้เพราะมีผู้ชุมนุมขวางด้านหน้าและด้านหลัง   ต่อมาทหารหน่วยนั้นได้ถูกโจมตีด้วย M67  M79 และกระสุนปืนจากผู้ใช้อาวุธที่ฝั่งผู้ชุมนุม

เวลา 20.00 น. จากการที่ ศอฉ. ได้ประชุมกันอย่างต่อเนื่อง พ.อ.สรรเสริญนั่งใกล้กับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เขาเข้าใจว่าขณะนั้นนายกอร์ปศักดิ์ได้โทรศัพท์คุยกับ นพ.เหวง โตจิราการ เขาได้ยินนายกอร์ปศักดิ์พูดว่า “ให้ฝั่งโน้น(ผู้ชุมนุม นปช.) หยุดปฏิบัติการ เพราะทหารยุติแล้ว”

หลังเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. แล้ว ที่ราชประสงค์มีความรุนแรงเกิดขึ้นจึงนำไปสู่มาตรการปิดล้อม การตัดสาธารณูปโภค ตัดสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อให้ยุติการชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 53     ซึ่งปรากฏว่าในเวลากลางวันกลุ่มผู้ชุมนุมมีปริมาณไม่มาก แต่เมื่อเย็นและค่ำปริมาณก็เพิ่มขึ้นอีก แสดงว่าให้เห็นว่าผู้ชุมนุมยังสามารถเข้าออกได้อยู่

วันที่ 19 พ.ค. 53 จึงตัดสินใจ “กระชับวงล้อม” เพื่อกดดันให้ยุติการชุมนุมไปเองและต้องการควบคุมพื้นที่สวนลุมพินีเนื่องจากมีกลุ่มใช้อาวุธสงครามอยู่และยิงออกมา เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และเขาอธิบายว่าการกดดันทำให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเองไม่ได้เป็นการสลายการชุมนุมเพราะไม่มีการส่งกำลังไปยังใจกลางพื้นที่ชุมนุมการกระชับวงล้อมเราใช้มาตรฐานสากล 7 ขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก

ในส่วนการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ที่ราชปรารภนั้น เขาเบิกความว่าเขาได้ทราบเรื่องหลังเหตุการณ์ไปแล้ว ศอฉ. ไม่มีการแถลงข่าวเรื่องนี้ เนื่องจากไม่ใช่เหตุการณ์ในภาพรวมและจำไม่ได้ว่ามีทหารหน่วยปฏิบัติการที่ไหนบ้าง เขายืนยันว่าการเป็นโฆษกไม่จำเป็นต้องรู้เรื่อง และเขาได้กล่าวถึงอาวุธของทหารไว้ว่า ทหารจะมีอุวธประจำกายทุกนาย แต่กระสุนจริงจะแจกเฉพาะผู้บังคับหมู่ที่มีดุลยพินิจและประสบการณ์

เขากล่าวต่ออีกว่าที่มีภาพเขตการใช้กระสุนจริงนั้นเขาได้รับรายงานจากผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ถึงเหตุผลในการติดป้ายว่า เหตุผลแรก พื้นที่นั้มีชายชุดดำในกลุ่มผู้ชุมนุมยิงมา เหตุผลที่สอง เป็นพื้นที่อันตรายไม่ให้คนเข้า และสุดท้ายเป็นปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่นั้น  เขายังบอกอีกว่ามีการจับกุมกลุ่มผู้ใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งทาง ศอฉ. เรียกว่า “ชายชุดดำ” ได้หลังการชุมนุมแต่ไม่สามารถจับได้ระหว่างการชุมนุมเนื่องจากกลุ่มนี้จะแฝงตัวกับผู้ชุมนุม

เขาได้กล่าวถึงบทความในวารสารเสนาธิปัตย์ ฉบับที่ 59 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2553[10] ว่า ผู้เขียนได้มีการเขียนแก้จากเดิมที่วิเคราะห์จากรายงานข่าวว่ารูปแบบการปฏิบัติการของทหารเป็นการใช้การรบ แต่หลังจากผู้เขียนได้คุยเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ทหารผู้ปฏิบัติการ จึงมีการเขียนบทความอีกชิ้นลงในวารสารเสนาธิปัตย์ ฉบับที่ 60 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2553[11] โดยแก้ว่าไม่ใช่ปฏิบัติการรบ

พ.อ.สรรเสริญ ได้เบิกความด้วยว่าก่อนหน้า 10 เม.ย.53 นั้นยังไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่หลังจากมีการบาดเจ็บล้มตาย ศอฉ. จึงมีการสรุปถึงสาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่เขาไม่ทราบข้อสรุปอย่างไรก็ตามมีการแถลงเกี่ยวกับเหตุการณืที่เกิดขึ้นในบางกรณี เช่น กรณีที่มีคนโบกธงแล้วโดนยิงหงายท้อง(นายวสันต์ ภู่ทอง)

ในส่วนของชายชุดดำในวันที่ 10 เม.ย. 53 จับกุมตัวได้และมีการดำเนินคดีอยู่ แต่เขาจำชื่อไม่ได้ ส่วนคนขว้างระเบิดและยิง M79 ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนทำแต่สามารถจับกุมได้กว่า 10 คน ในเหตุการณ์นี้เจ้าหน้าที่ทหารมีการใช้อาวุธและกระสุนจริง และเขาได้กล่าวถึงการประชุม ศอฉ.ในวันที่ 10 เม.ย. ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้รับผิดชอบสั่งการ

พ.อ.สรรเสริญเบิกความถึงการใช้อาวุธในพื้นที่ราชปรารภว่า  ในแต่ละวันมีการรายงานว่ามีคนเจ็บคนตาย แต่ไม่ทราบมากนัก การเสียชีวิตนั้นตนเองไม่ได้รับรายงาน เพราะคนเป็นโฆษกไม่ใช่คนรับรายงาน  ใน 7 ขั้นตอนของการควบคุมฝูงชนนั้นไม่มีการใช้กระสุนจริง แต่หากตรวจพบว่าบุคคลใช้อาวุธจริงทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชน เจ้าหน้าที่ก็สามารถใช้กระสุนจริงได้ แต่ไม่มุ่งหมายเอาชีวิต  และหากนิยามว่าหนังสติ๊กไม่ใช่อาวุธสงคราม เมื่อมีคนถือหนังสติ๊ก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้อาวุธสงครามยิงได้  และมีการปฏิบัติภารกิจแบบ “สไนเปอร์” จริง แต่เป็นในลักษณะ “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” เพื่อคอยป้องกันประชาชนและทหาร ส่วนคำว่า “สไนเปอร์” เป็นคำศัพท์ทางการทหาร คือ “พลซุ่มยิงลอบสังหาร” ซึ่งต่างจาก “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” ที่ใช้แม้จะสามารถยิงสกัดได้แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเอาชีวิตรวมถึงไม่จำเป็นต้องอยู่ที่สูงเสมอไป ขึ้นอยู่กับลักฦษณะภูมิประเทศ โดยจะใช้ M16 และทาโวร์แต่ไม่แน่ใจว่าใช้อาวุธปืนชนิดอื่นด้วยหรือไม่

พยานปากที่สองพ.อ.กัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์ เข้าไปตั้งด่านในพื้นที่ถนนราชปรารภในวันที่ 14 พ.ค.53 เพื่ออำนวยความสะดวกและตรวจอาวุธไม่ให้ผู้ชุมนุมนำอาวุธเข้าไปยังที่ชุมนุม  แต่ไม่มีการห้ามเข้าออก  โดยหน่วยที่รับผิดชอบมี 3 กองร้อย  กองร้อยละ 150 นาย เข้าไปขึ้นกับ ร.1รอ.  โดยหน่วยของเขามีอาวุธปืนลูกซอง ประมาณ 80-100 กระบอก ที่เหลือเป็นโล่และกระบอง ทาโวร์ 5 กระบอก แต่เบิกกระสุนซ้อมรบไป  แต่ในปืนลูกซองมีกระสุนจริงด้วย

ได้รับคำสั่งให้มาจากทางสามเหลี่ยมดินแดงโดยเดินเท้าเข้าไปตั้งด่านที่บริเวณปากซอยราชปรารภ 12 ถึง 14 โดยผ่านผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ขณะผ่านมานั้นทหารได้รับความบอบช้ำแต่ไม่มีความรุนแรง  จุดที่ไปวางกำลังอยู่ใกล้สถานีจำหน่ายน้ำมันเอสโซ่ วางกำลังอยู่ตามชายคาตึกหลบตามซอกตึกห่างจากสถานีจำหน่ายน้ำมันเชลล์ประมาณ 300 ม.

ในวันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 16.00 น. หลังจากที่ถูกผู้ชุมนุมทำร้ายตลอดทางที่เข้ามาและมีการเคลื่อนกำลังมาประชิดขณะที่หน่วยของพ.อ.กัณฐ์ชัยกำลังตั้งด่าน จึงได้ขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาเพื่อผลักดันผู้ชุมนุมออกไป โดยใช้ดละและกระบอง  ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นหลังจากนั้นมีการวางลวดหนามห่างจากจุดที่วางกำลัง 100 ม. ทั้งด้านซ้ายและขวา ในบริเวณที่พยานวางกำลังไม่มีการติดป้ายข้อความ “เขตพื้นที่กระสุนจริง” มีเหตุการณ์ทหารถูกปล้นปืนไปที่สามเหลี่ยมดินแดงโดยเขาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่ภาคใต้ เวลา 17.00 น. ทหารจาก ร.1 ที่เข้ามาส่งอาหารทางสามเหลี่ยมดินแดงได้ถูกทำร้ายและปืนถูกปล้นไป 2 กระบอก และมีการเผารถยนต์ของทหารเหมือนเหตุการณ์ในภาคใต้ มีการแต่งกายคล้ายทหารมีการนำเสื้อทหารไปใส่ เช่นเดียวกับภาคใต้ที่ปลอมตัวเป็นทหาร รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมจะทำร้ายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าโดยไม่มีสติ  และเขายังเท้าความถึงการปล้นปืนในวันที่ 10 เม.ย. ที่สาพนปิ่นเกล้าซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้คืน

พ.อ.กัณฐ์ชัยได้เบิกความถึงคืนวันที่ 14 พ.ค. ต่อว่า หน่วยของเขาถูกโจมตีอย่างหนักโดยยิงมาจากทางสามเหลี่ยมดินแดงและตามซอยต่างๆ อาคารสูงเช่นอาคารชีวาทัยและโรงแรมเซ็นจูรี่  ด้วยอาวุธปืนเล็กยาว M79 และอาวุธระเบิดจากกองกำลังที่อยู่ในฝูงชน มีทหารบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่มีใครเสียชีวิต  วันที่ 16 พ.ค. ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดสามารถเก็บระเบิดที่กลุ่มผู้ชุมนุมวางไว้ได้ เขาได้ส่องกล้องไปบนตึกชีวาทัยพบว่ามีกองกำลังติดอาวุธอยู่บนตึกด้วย

เขาเบิกความย้อนกลับมาวันที่ 15 ว่ามีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธโจมตีหน่วยของเขา ซึ่งสายข่าวสามารถถ่ายภาพไว้ได้ หน่วยของเขาจึงมีการทำบังเกอรืโดยใช้กระสอบทราย มีตำรวจพร้อมอาวุธวางกำลังช่วยเหลือหน่วยของเขาในบริเวณใกล้เคียงด้วย เวลา 15.00 น. มีคนแจ้งว่ามีคนเจ็บที่บริเวณปั๊มเชลล์ จึงวิทยุไปยังผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อขอจัดกำลังเข้าไปช่วยเหลือ โดยเขามอบให้ ร.อ.มลชัย ยิ้มอยู่ จัดกำลังเข้าไปช่วย หลังจากนั้นได้นำผู้บาดเจ็บเป็นชาย 2 คน ซึ่งขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่ทราบชื่อในภายหลังว่าคือนายชาญณรงค์  ระหว่างที่เข้าไปช่วยนั้นมีเสียงปืนยิงมาจากทางสามเหลี่ยมดินแดง และมีทหารได้รับบาดเจ็บ คือ ส.อ.สรายุทธิ์ ศรีวะโสภา ถูกยิงแต่บาดเจ็บไม่มาก

พ.อ.กัณฐ์ชัยเบิกความอีกว่าอาวุธปืนทาโวร์ของหน่วยมีมากกว่า 100 กระบอก แต่ในการปฏิบัติการมีการเบิกจ่ายเพียง 5 กระบอกและไม่มีการเบิกจ่ายกระสุน  เพราะได้รับภารกิจเพียงแค่ตั้งด่านจึงเอาปืนมาเพียงแค่ขู่ก็เพียงพอแล้ว และตั้งแต่ 14-19 พ.ค. ไม่มีการเบิกจ่ายกระสุนจริง  แม้จะถูกโจมตีก็ไม่มีการตอบโต้

เขาอธิบายต่อว่าในระหว่างปฏิบัติการมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธยิงใส่หน่วยของเขา แต่ไม่มีการยิงใส่กลุ่มเหล่านั้นเลย แม้จะมีการร้องขอความช่วยเหลือไปยังผู้การ ร.1 รอ. แต่ถูกสั่งให้ช่วยเหลือตัวเองและให้เอากระสอบทรายทำเป็นบังเกอร์บังเอาไว้ รวมทั้งให้ใช้เพียงปืนลูกซองยิงขู่ โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา เพราะหน่วยของเขาเป็นหน่วยจากต่างจังหวัดจึงไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือให้ความสำคัญจากทหารในเมือง  การปฏิบัติจะได้รับคำสั่งจากผู้การ ร. 1 รอ. อีกทีแต่ผู้การจะได้รับคำสั่งจากไหนนั้นเขาไม่ทราบ   และในที่ตั้งด่านอยู่นั้นพยานจะขึ้นไปตรวจบนตึกสูงก็ถูกปฏิเสธจากประชาชนในบริเวณนั้นเพราะพวกเขาถูกขู่ว่าถ้าให้ทหารขึ้นตึกจะถูกเผา  ในวันที่ 14-19 นั้นนอกจากผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน ที่เขาเห็นแล้วไม่เห็นหรือได้รับรายงนว่ามีผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในบริเวณนั้นอีก

เขาคิดว่าการวางยางไม่ได้เป็นภัยคุกคาม แต่มีเสียงปืนและระเบิดดังมาจากฝั่งผู้ชุมนุมเป็นระยะ ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 มีการนำยางมาวางบริเวณหน้าสถานีจำหน่ายน้ำมันเชลล์ แต่ไม่ได้เห็นตัวคนชัดเจนแต่เห็นเพียงยางที่กลิ้งมาซึ่งในตอนนั้นเขาไม่ได้มีการสั่งการอะไร  แต่ได้ยินเสียงปืนและระเบิดดังมาจากฝั่งผู้ชุมนุมเป็นระยะ ซึ่งจุดที่ผู้ชุมนุมวางแนวยางนั้นห่างจากจุดที่พยานอยู่ประมาณ 300 ม. และคิดว่าการวางยางดังกล่าวไม่ได้เป็นภัยคุกคามอะไรต่อกำลังพลและประชาชน   จากการตรวจการพบว่ามีการยิงมาจากที่สูงและแนวราบมายังทหารที่ตั้งด่านอยู่แต่ทหารภายใต้การบังคับบัญชาของพยานก็ไม่ได้มีการยิงตอบโต้

เขาเบิกความอีกว่าช่วงที่ตั้งด่านตรวจค้นมีการตรวจพบอาวุธ เช่น มีด ระเบิดปิงปอง ระเบิดทำมือ ธงแหลม ได้มีการส่งให้ตำรวจในท้องที่เพื่อดำเนินคดี แต่คนที่ผ่านไปมาไม่มีอาวุธก็จะไม่ขัดขวางหากจะไปชุมนุมที่ราชประสงค์ และเท่าที่สังเกตการณ์ไม่พบว่ามีกลุ่มติดอาวุธยิงใส่ประชาชน

พยานปากสุดท้าย พ.ต.มนต์ชัย ยิ้มอยู่ เบิกความว่าช่วงเกิดเหตุ ศอฉ. ได้อนุญาตให้ใช้ทั้งกระสุนจริงและกระสุนยางได้ แต่ปืนทาโวร์ที่ตัวเขาเองใช้นั้นเป็นเพียงกระสุนซ้อมรบ ส่วนหลักการใช้กระสุนจริงของ ศอฉ. คือ  แจ้งเตือน ยิงขึ้นฟ้า และ ยิงโดยไม่ประสงค์ชีวิต ยิงเพื่อป้องกันตนเอง   ซึ่งหน่วยของเขาได้มีการเบิกปืนทาโวร์มา 5 กระบอก โดยมีทหารระดับสัญญาบัตรถือ และไม่มีการเบิกกระสุนจริงมาใช้ มีเพียงกระสุนซ้อมรบ

พ.ต.มนต์ชัย เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 14 พ.ค. 53 ไว้ว่า ถูกผู้ชุมนุมทำร้ายตลอดด้วย ไม้ เหล็กแหลม มีและอาวุธที่หนักขึ้น ระเบิดขวด ระเบิดปิงปอง ขวางใส่ จนทหารในหน่วยได้รับอันตรายบาดเจ็บแต่ไม่สาหัส หลายนายหัวแตก ฟกช้ำ และในตอนเย็น ที่สามเหลี่ยมดินแดง ผู้ชุมนุมได้ยึดอาวุธปืน M16 ไป 3 กระบอก และกระสุนจริงจากเจ้าหน้าที่ และเผาทำลายรถทหาร รวมทั้งนำเครื่องแต่งกายของทหารมาแต่งเพื่อทำให้เข้าใขผิดคิดว่าเป็นทหาร และในคืนวันนั้นหน่วยของเขาถูกโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธของ นปช. โดยใช้ปืนพก ปืนเล็กยาว M79 ระเบิดขว้าง ระเบิดเพลิง หนังสติ๊กและหัวน๊อต แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ และไม่ได้ทำการตอบโต้เพราะไม่มีคำสั่ง

ในวันที่ 15 พ.ค.53 ตำรวจติดอาวุธ 1 กองร้อย เข้ามาช่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ ส่วนผุ้ชุมนุมมีการพยายามเข้ามากดดันหน่วยของ พ.ต.มนต์ชัย และมีกองกำลังติดอาวุธมาด้วย ซึ่งมีเสียงปืนเล็กดังมาจากหลายทิศทาง ทั้งจากที่สูงอย่างตึกชีวาทัยและโรงแรมเซนจูรี่ และจากแนวราบ  มีกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากพอสมควรนำยางรถยนต์วางห่างจากจุดที่เขาอยู่ประมาณ 300 ม. ขณะนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้นยิงจากตึกสูงบริเวณรอบข้าง  เขาหลบอยู่ที่กำบังไม่มีการตอบโต้เนื่องจากไม่มีคำสั่ง

พ.ต.มนต์ชัยเบิกความต่อว่า หลังจากนั้นเขาทราบจากผู้พัน(พ.อ.กัณฐ์ชัย) ว่ามีคนเจ็บอยุ่ทางด้านหน้าทางปั๊มเชลล์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของ นปช. เขาจึงเข้าไปกับทหารอีกประมาณ 8 นาย  เพื่อตรวจสอบโดยอาวุธที่นำไปด้วยส่วนใหญ่เป็นปืนลูกซอง มีเพียงตัวเขาที่ใช้ทาโวร์ รวมทั้งมีช่างภาพของทหารไปด้วยเพื่อถ่ายภาพการปฏิบัติงาน คือ ส.อ.สรายุทธ์ ศรีวะโสภา โดยเดินทางไปตามแนวถนนทางด้านซ้าย ขณะเดินทางไปนั้นได้ถูกโจมตีด้วยอาวุธปืนเล็ก แต่ไม่มีใครบาดเจ็บเนื่องจากหลบตามเสา เมื่อเขาไปถึงปั๊มเชลล์จึงพยายามค้นหาผู้บาดเจ็บ จนพบอยู่บริเวณด้านหลังปั๊มในสระน้ำเล็กๆ ต่อมาทราบชื่อว่าเป็นนายชาญณรงค์ โดยขณะที่พบไม่พบผู้อื่นอยู่ในบริเวณนั้น จึงช่วยขึ้นจากสระ และเรียกผลเปลนำร่างไปและมีรถพยาบาลมารับไป ขณะนั้นได้รับแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บอีกคน ทราบชื่อในภายหลังว่าคือนายไชยวัฒน์ พุ่มพวง ช่างภาพเนชั่น ที่ได้รับบาดเจ็บอยู่ฝั่งตรงข้ามปั๊ม

ขณะเข้าไปที่ป็มเชลล์ ไม่มีการยิงใส่พวกเขาแล้ว เนื่องจากถ้ามีการยิงก็จะระเบิดขึ้น และยังพบผู้ชุมนุมคนหนึ่งยืนอยู่ในปั๊ม แต่เขาก็ไมได้สอบถามอะไร  แต่ขณะกลับไปจุดประจำการก็ถูกยิงไล่หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ส.อ.สรายุทธ์ ที่ตามไปถ่ายภาพถูกยิงขณะถ่ายภาพ

พ.ต.มนต์ชัยกล่าวถึงการใช้อาวุธของหน่วยในช่วงเกิดเหตุว่า แม้ว่าตามกฎการใช้กำลังในข้อ 58 จะระบุว่าเจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธตอบโต้เพื่อหยุดการคุกคามได้ แต่ว่าตั้งแต่ปฏิบัติการในพื้นที่และเวลาดังกล่าว ไม่เคยใช้อาวุธตอบโต้ แม้ว่ามีการตั้งคำถามว่าเป็นการปล่อยปละละเลยไม่ตอบโต้กลุ่มที่โจมตีอย่างนั้นจะสามารถคุ้มครองใครได้  แต่เหตุที่ไม่ตอบโต้เพราะตัวเขาเองไม่มีใจจะตอบโต้ และผู้บังคับบัญชาก็ไม่อนุญาต  หน่วยของเขาก็ไม่ได้รับความเสียหาย  และการที่ผู้ชุมนุมเอายางมาวางก็ไม่เป็นเหตุให้ต้องทำการตอบโต้หรือผลักดัน  และตอนนั้นก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมว่าไม่ให้เข้ามาประชิดเพราะไม่อยากให้เกิดการปะทะเหมือนช่วงเย็นของวันที่ 14 พ.ค.  และเขายืนยันด้วยว่าไม่มีทหารหน่วยใดเข้าไปผลักดันผู้ชุมนุมออกจากถนนราชปรารภ

พ.ต.มนต์ชัย ยังได้นำเอกสารที่แสดงถึงคดีการไต่สวนเพื่อพิจารณาว่าเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเพื่อมอบให้กับศาล และอ้างว่าคดีในลักษณะเดียวกันนี้ควรเป็นอำนาจของศาลทหารในการไต่สวน  แต่ศาลได้ชี้แจงกับเขาว่าเนื่องจากมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วภายหลังคดีที่เป็นความในเอกสารที่เขานำมาอ้าง  ดังนั้นจึงเป็นอำนาจของศาลในพื้นที่เกิดเหตุในการพิจารณาคดี

 

นัดสืบพยานวันที่ 24 ตุลาคม 2555 [12]

            พยาน

  1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี  และอดีต ผอ.ศอฉ.
  2. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช. เกษตรและสหกรณ์ และเป็นแกนนำ นปช.

พยานปากแรก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เบิกความถึงแนวทางการสั่งการของ ศอฉ.  ว่า ขณะที่เขาเป็น ผอ.ศอฉ. ได้ออกคำสั่ง 1/2553 เพื่อเป้นแนวทางในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์สำหรับสลายการชุมนุมตามมาตรฐานสากล คือ โล่, กระบอง, กระสุนยางซึ่งใช้ปืนลูกซองยิง, แก๊สน้ำตา, รถฉีดน้ำ และเป็นการปฏิบัติตามหลักมาตรการสากล 7 ขั้นตอน จากเบาไปหาหนัก ภายใต้อำนาจและการดูแลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ระหว่างปฏิบัติการต่างๆ มีการประชุม ศอฉ. ทุกวันเช้า-เย็น แต่เขาไม่เคยมีคำสั่งอะไรเป็นพิเศษนอกเหนือจากที่เคยให้เป็นแนวทางของ ศอฉ. ส่วนการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่มีทั้งกำลังตำรวจและทหาร ในหลายพื้นที่เพื่อสกัดคนไม่ให้เข้าไป รวมทั้ง ให้ตัดน้ำตัดไฟในพื้นที่ชุมนุม เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมมีความสะดวกสบายอีกด้วย ขณะที่การพกอาวุธปืนจะให้เฉพาะระดับผู้บังคับบัญชาเท่านั้นที่สามารถมีปืนพก ปืนเล็กยาวและกระสุนจริงได้เพื่อป้องกันตัวและประชาชน โดยไม่ทำให้มีผลถึงแก่ชีวิต

เขาเบิกความถึงการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์เอาไว้ว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 ที่บริเวณราชปรารภ  ขณะเกิดเหตุเขายังไม่ทราบรายละเอียดของเหตุการณ์  เขาทราบในภายหลังจากดีเอสไอ รวบรวมข้อมูลการเสียชีวิต 13 ศพที่ดีเอสไอมีความเห้นไม่ตรงกับ สตช. ว่าการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ในส่วนของ สตช. ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการชันสูตรศพขึ้นมาเฉพาะระบุว่าไม่ทราบว่าการเสียชีวิตเกิดจากฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ ส่วนรายงานของ คอป. มีการระบุถึงการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ไว้ แต่เขาไม่เห็นข้อความระบุว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่

พยานปากที่สองนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เบิกความถึงสาเหตุการชุมนุมของ นปช. และเล่าสถานการณ์แวดล้อมเอาไว้ว่า การชุมนุมของ นปช. เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยการชุมนุมเริ่มในวันที่ 12 มี.ค. 53 ตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าฯ แต่ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากกินพื้นที่ถึงบริเวณถนนราชดำเนินนอกและราชดำเนินกลาง   ในวันที่ 10 เม.ย. 53 ศอฉ. ได้นำกำลังทหรออกจากที่ตั้งพร้อมอาวุธปืน M16 ปืนยาว ดล่และกระบอง พร้อมรถถังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมโดยไม่ปฏิบัติตามหลักสากล  มีการโยนแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมจากบนเฮลิคอปเตอร์ มีการใช้พลแม่นปืนมีอาวุธปืนความเร็วสูงติดกล้องเล็งยิงผู้ชุมนุมเข้าที่ศีรษะและอวัยวะสำคัญ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลใช้พลซุ่มยิงกับผู้ชุมนุมทางการเมือง ไม่เคยมีรัฐบาลใดเคยทำมาก่อน  หลังเหตุการณ์ได้ยุบเวทีปราศรัยที่สะพานผ่านฟ้าไปรวมที่เวทีราชประสงค์เวทีเดียว

เขาได้เบิกความถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมว่า ประมาณวันที่ 14 พ.ค. 53 เกิดความคึงเครียดเนื่องจาก ศอฉ. ให้เจ้าหน้าที่ ทหารตั้งด่านตรวจค้นรอบพื้นที่การชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าพื้นที่ชุมนุมได้ และมีเหตุการ์เจ้าหน้าที่ปะทะกับผู้ชุมนุมและมีการซุ่มยิงทำให้ประชาชนเสียชีวิตหลายราย  เขาทราบจากข่าวว่านายชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิงชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 ซึ่งเหตุเกิดนอกพื้นที่ชุมนุมโดยบริเวณดังกล่าวนอกจากนายชาญณรงค์แล้วยังมีผู้อื่นถูกยิงเสียชีวิตอีกหลายราย

 

ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555[13]

การไต่สวนชันสูตรพลิกศพครั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายชาญณรงค์ พลศรีลา ตายที่โรงพยาบาลพญาไท 1 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 14.00 น. เหตุและพฤติการณที่ตายคือ  ถูกทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในการดำเนินการตามมาตรการปิดล้อมและสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่และผิวจราจรบริเวณถนนราชปรารภ ยิงด้วยอาวุธปืนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. หัวกระสุนปืนลูกโดดถูกที่บริเวณหน้าท้องและแขนขวาเป็นเหตุให้ลำไส้ฉีกขาดหลายตำแหน่ง

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายญาติผู้เสียชีวิต กล่าวถึงกระบวนการต่อจากนี้ว่า  ศาลจะส่งคำสั่งไปที่อัยการและอัยการจะส่งต่อให้พนักงานสอบสวนในท้องที่แล้วส่งต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งคดีเหล่านี้จะเป็นคดีพิเศษทั้งหมด ซึ่งพนักงานสอบสวนของกรมสวบสวนคดีพิเศษจะทำการสอบสวนเพิ่มเติม เพราะยังไม่ปรากฏชัดว่าใครบุคคลไหนเป็นผู้กระทำ ดังนั้นกระบวนการต่อไปก็จะเป็นการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด

อ่านคำสั่งศาลการไต่สวนการตายของชาญณรงค์ พลศรีลาฉบับเต็ม

 


[4] http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2010/05/16/nick-nostitz-in-the-killing-zone/

[5] “ช่างภาพเนชั่นเบิกความวิถีกระสุนยิงมาจากฝั่งทหาร,” กรุงเทพธุรกิจ, 25 มิ.ย. 55

[7] “เสธ.ไก่อู เลื่อนนัดศาลคดีเสื้อแดง,” Voice TV, 9 ก.ค. 55

[8] “ยันปืนสไนเปอร์ยิงฆ่าแท็กซี่แดง,” ข่าวสด, 17 ก.ค. 55

[10] ในการเบิกความของพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิดเกี่ยวกับบทความที่ลงในเสนาธิปัตย์ได้มีการอ้างชื่อบทความผิด ซึ่งบทความที่เขากล่าวถึงคือ “บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ ๑๔ – ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓” (หัวหน้าควง, “บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ ๑๔ – ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓,” วารสารเสนาธิปัตย์, ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2553)

แต่ในส่วนของชื่อผู้เขียนนั้นในตัวบทความไม่มีการระบุถึงชื่อจริงของผู้เขียนมีแต่เพียงนามปากกาว่า “หัวหน้าควง” แต่เมื่อเปรียบเทียบประวัติของคนเขียนเมื่อเทียบกับของ พ.อ.บุญรอด ศรีสมบัติที่เขียนบทความ “บทเรียนการปฏิบัติการข่าวสาร : กรณี ปปส.ในเมือง (มีนาคม – พฤษภาคม ๒๕๕๓)” (พ.อ.บุญรอด ศรีสมบัติ “บทเรียนการปฏิบัติการข่าวสาร : กรณี ปปส.ในเมือง (มีนาคม – พฤษภาคม ๒๕๕๓),” วารสารเสนาธิปัตย์, ปีที่ 60 ฉบับที่ 1 มกราคม – มีนาคม 2554) นั้นพบว่าตรงกันทั้งหมด  จึงคาดว่าหัวหน้าควงและ พ.อ.บุญรอดนั้นเป็นคนเดียวกัน

[11] หัวหน้าควง, “ข้อเท็จจริง : บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ ๑๔ – ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓,” วารสารเสนาธิปัตย์, ปีที่ 60 ฉบับที่3 กันยายน – ธันวาคม พ.ศ. 2554, โดยบทความชิ้นนี้นอกจากจุดที่พ.อ.สรรเสริญกล่าวถึงแล้วยังมีการเขียนคำอธิบายแก้บทความเก่าของตัวเขาเองอีกหลายจุด

บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายชาติชาย ชาเหลา

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ : ช.6/2555  วันที่ฟ้อง : 14/03/2555

คดีหมายเลขแดงที่ : ช.4/2555 วันที่ออกแดง : 17/12/2555

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4

ผู้เสียชีวิต : นายชาติชาย ชาเหลา

คดี : ชันสูตรพลิกศพ

นัดไต่สวนพยานวันที่ 25 มิถุนายน 2555[1]

พยาน

  1. พ.ต.อ. สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รองผบก.น.6
  2. นางพลอย ขบวนฮาม มารดาของนายชาติชาย(ไม่พบรายงานข่าวที่มีการเบิกความของเธอ)

พ.ต.อ. สืบศักดิ์ เข้าเบิกความปากแรกสรุปว่า ตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ชุดที่ 3 โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 54 DSI ได้ส่งสำนวนมาให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลสอบสวนต่อ เนื่องจากเชื่อว่าการเสียชีวิตของนายชาติชายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  จึงทำหนังสือยื่นต่อสำนักงานอัยการสูงสุดขอให้ส่งพนักงานอัยการร่วมสืบสวนคดีนี้ด้วย

โดยผลการสืบสวนสรุปว่า คดีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. -19 พ.ค. 53 โดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) เริ่มชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน เพื่อขอให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยุบสภา แต่รัฐบาลไม่ยอมทำตาม กลุ่มผู้ชุมนุมจึงขยายการชุมนุมไปหลายพื้นที่ รวมถึงแยกราชประสงค์ ซึ่งมีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก นายอภิสิทธิ์จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง แล้วออกคำสั่งตั้ง ศอฉ. โดยมีคำสั่งให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการ และให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อระงับสถานการณ์รุนแรง รวมทั้งได้ประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ห้ามเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม ห้ามเดินรถโดยสารบางพื้นที่ ห้ามให้บริการรถไฟฟ้าบางสถานี และตัดสาธารณูปโภค

พ.ต.อ. สืบศักดิ์ เบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุวันที่ 13 พ.ค.53 ศูนย์ศอฉ.มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหาร เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมสถานการณ์ โดยกองกำลังทหารชุดดังกล่าวประมาณ 165 นายได้ตั้งด่านแข็งแรงที่บริเวณสะพานลอยหน้าอาคารอื้อจื่อเหลียง มีอาวุธปืนM16 M653 HK ปืนลูกซองกระสุนยาง กระสุนซ้อมรบ และกระสุนจริงประจำกาย ซึ่งนอกจากทหารแล้วผู้อื่นไม่สามารถเข้าไปในบริเวณนั้นได้ ขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากจากแยกถนนวิทยุมุ่งหน้าตรงเข้าหาด่านของทหาร มีการใช้พลุและตะไลยิงเข้าใส่ด่าน เจ้าหน้าที่ทหารจึงใช้ปืนยิงตอบโต้   เวลาประมาณ 22.50 น. ขณะที่นายชาติชายซึ่งมาร่วมชุมนุมและถือกล้องวีดีโอยืนถ่ายภาพเหตุการณ์อยู่หน้าบริษัทกฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด[2] ใกล้อาคารอื้อจื่อเหลียง ได้ถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่หน้าผากด้านขวาทะลุศีรษะ 1 นัด แล้วเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาฯ

ภายหลังการเสียชีวิตพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน พร้อมด้วยแพทย์นิติเวช พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ร่วมกันชันสูตรพลิกศพปรากฏว่า นายชาติชายถูกกระสุนความเร็วสูงยิงเข้าที่ศีรษะทำลายอวัยวะสำคัญเป็นเหตุให้เสียชีวิต และจากการตรวจสอบพยานหลักฐานจากที่เกิดเหตุพบเศษชิ้นเนื้อ เส้นผม คราบเลือดของผู้ตาย และเศษหัวกระสุนตกอยู่ที่พื้นใกล้กับจุดที่นายชาติชายล้มลง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนตรวจพิสูจน์พบเพียงแค่รอยแนววิถีกระสุนที่นายชาติชายถูกยิง และยืนยันว่าเป็นกระสุนความเร็วสูง แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นกระสุนชนิดใด เนื่องจากเศษกระสุนเสียสภาพมาก อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมพยานเอกสารหลักฐาน ประจักษ์พยานแล้วไม่พบชายชุดดำปะปนกับผู้ร่วมชุมนุม จึงเชื่อว่านายชาติชายเสียชีวิตเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ  ภายหลังศาลไต่สวนพยานปาก
นัดพร้อมวันที่ 23 กรกฎาคม 2555[3]

นัดพร้อมคู่ความคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของนายชาติชาย ชาเหลา  ศาลได้กำหนดนัดวันไต่สวนพยานฝ่ายอัยการผู้ร้องในวันที่ 5, 9, 12 และ 19 ต.ค. และนัดไต่สวนพยานฝ่ายทนายความญาติผู้ตายวันที่ 30 ต.ค. เวลา 09.00 น.

นัดสืบพยานวันที่ 5 ตุลาคม 2555[4]

พยาน พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่า ได้รับแจ้งเรื่องกรณีนี้จากพนักงานสอบสวนเมื่อ ก.ย. 53 และได้เดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุในวันที่ 24 ก.ย. 53 ที่หน้า บริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ถนนพระราม 4 ที่ประตูเหล็กม้วนพบรอยบุบอยู่สูงจากพื้น 1.74 เมตร 1 รอย ซึ่งคาดว่าเกิดจากเศษโลหะที่น่าจะเป็นเศษกระสุนปืนมากระแทกอย่างแรงและเร็ว รวมทั้งพบเส้นผมติดที่ขอบปูนด้านข้างประตู 1 เส้น สูงจากพื้น 1.90 เมตร และเหตุที่เส้นผมอยู่สูงกว่ารอยกระสุนนั้น เพราะเมื่อกระสุนกระทบกับศีรษะจะทำให้กระสุนและกระโหลกศีรษะแตกออกและกระเด็นออกไปทำให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าได้

เขาเบิกความอีกว่าหลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำข้อมูลภาพและวีดีโอคลิปขณะเกิดเหตุ รวมทั้งข้อมูลผลการชันสูตรศพให้  จึงได้มีการเข้าไปตรวจสถานที่เกิดเหตุอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 53 เพื่อจำลองเหตุการณ์หาทิศทางการยิง ผลการจำลองประกอบภาพและคลิปขณะเกิดเหตุเป็นภาพใกล้เคียงช่วงเวลาที่นายชาติชายหรือผู้ตายถูกยิง ขณะนั้นอยู่ริมถนนด้านหน้าที่รถเข็นและแผงเป็นที่กำบัง หันหน้าไปทางแยกศาลาแดง ซึ่งรอยบาดแผลกระสุนเข้าหน้าผากขวาทะลุศีรษะด้านหลังซ้าย กระสุนจึงมาจากทางฝังแยกศาลาแดง แนวกระสุนเป็นไปได้ทั้งระนาบตามแนวถนนและจากสะพานลอยข้ามถนนพระราม 4

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์  เบิกความด้วยว่าจากการดูบาดแผลเกิดจากกระสุนขนาด .223 ซึ่งใช้กับปืนเล็กกล เช่น M16 และ ทาโวร์ สำหรับภาพและคลิปนั้นเขาไม่ทราบว่าทางพนักงานสอบสวนได้มาจากไหน

นัดสืบพยานวันที่ 12 ตุลาคม 2555[5]

พยาน

  1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) (เลื่อน)
  2. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำนปช. (เลื่อน)
  3. พญ.เกษณี จงประสาธน์สุข อาจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พญ.เกษณี จงประสาธน์สุข เบิกความถึงการชันสูตรศพนายชาติชายว่า ได้รับศพเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 53 โดยสภาพของศพถูกยิงด้วยอาวุธปืนเข้าที่ศีรษะ มีแผลเปิดบริเวณท้ายทอยขนาด 5 ซ.ม. และขมับด้านขวา 0.5 ซ.ม. จากการตรวจพิสูจน์บาดแผลพบว่า เกิดจากลูกกระสุนปืนขนาด 5.56 ม.ม. แต่ไม่ทราบว่าใช้กับอาวุธปืนชนิดใด

ศาลได้แจ้งว่าการเบิกความของนายสุเทพและนายณัฐวุฒิ ที่ทนายญาติผู้ตายประสงค์จะนำเข้าเบิกความนั้น  ศาลตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าประเด็นที่จะเข้าเบิกความนั้น นายณัฐวุฒิและนายสุเทพเคยเข้าเบิกความปรากฏอยู่ในบันทึกคำให้การพยานของศาลอาญาแล้ว ศาลจึงให้นำคำให้การดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาคดี พร้อมกับให้พนักงานอัยการและทนายความญาติผู้ตาย แจ้งพยานทั้ง 2 ปากว่าหากประสงค์จะเบิกความในประเด็นโดยละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้โดยเฉพาะ ให้เตรียมข้อเท็จจริงมาเบิกความในนัดหน้า หากเป็นประเด็นซ้ำก็ให้อ้างคำให้การเดิม

นัดสืบพยานวันที่ 19 ตุลาคม 2555[6]

พยาน

  1. พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร โฆษก บช.น.
  2. นางศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนายผู้รับมอบจากญาติผู้ตาย
  3. พ.ต.ท.สุพจน์ ชายป่า พนักงานสอบสวน (สบ3) สน.พระราชวัง

พ.ต.อ.ปรีดา เบิกความโดยสรุปว่า มีหน้าที่เป็นผู้วางแผนการปฏิบัติของบช.น. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 53 มีการประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร บริเวณ กทม. ต่อมาวันที่ 10 มี.ค. 53 ได้รับคำสั่งให้จัดตั้งชุดรักษาความสงบในกทม. โดยตั้งด่านตรวจค้นตามจุดต่างๆ ที่จะเข้าสู่กทม. กระทั่งวันที่ 7 เม.ย. 53 รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงมีคำสั่งให้จัดกำลังตั้งด่านในวันที่ 10 พ.ค. 53 บริเวณสีลม ศาลาแดง ราชดำริ และบริเวณโดยรอบ จำนวน 11 กองร้อย รวมทั้งหมด 13 ด่าน ภายใต้การดูแลของ บก.น. 5 โดยลักษณะเป็นการยืนรักษาการณ์

พยานเบิกความต่อว่า วันที่ 13 พ.ค. 53 เพิ่มคำสั่งให้ตำรวจที่รักษาการณ์ตรวจค้นบุคคลที่ผ่านเข้าออกตามจุดต่างๆ ที่วางกำลังไว้ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามาเพิ่มเติ่ม และตรวจค้นอาวุธ หากพบอาวุธก็จะจับกุม ขณะปฏิบัติหน้าที่ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่พกอาวุธปืนสั้นเท่านั้น การวางกำลังระหว่างตำรวจกับทหารนั้น เป็นไปตามคำสั่งของศอฉ. โดยทหารจะอยู่บริเวณด้านใน ส่วนตำรวจจะล้อมอยู่ด้านนอก จากการตรวจค้นพบว่ามีผู้พกพาอาวุธเข้ามา

ทนายซักถามว่ามีการรายงานว่าพบชายชุดดำหรือไม่ เขาบอกว่าไม่ทราบ เพราะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการวางกำลังเท่านั้น และการปฏิบัติการในเดือน พ.ค. 53 เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนทหารเท่านั้น ส่วนทหารจะมีอาวุธหรือไม่ พยานไม่ทราบ

นางศิริพร เมืองศรีนุ่น เบิกความว่า เป็นผู้รับมอบจากญาติผู้ตายให้เป็นผู้ร้องทุกข์ และติดตามความคืบหน้าของคดี โดยจะมอบเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ศาลประกอบการพิจารณาคดี ประกอบด้วย คำสั่งศาลแพ่งและศาลปกครอง เรื่องการสลายการชุมนุมที่ศาลมีความเห็นว่าสามารถกระทำได้ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักสากล เอกสารกฎการใช้กำลังตามที่สหประชาชาติกำหนด บัญชีการเบิกกระสุนและอาวุธปืน เอกสารรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และภาพถ่ายป้าย เขตพื้นที่ใช้กระสุนจริง

พ.ต.ท.สุพจน์ ชายป่า  เบิกความว่า ได้รับแต่งตั้งจาก บช.น. ให้เป็นพนักงานสอบสวนในคดี โดยได้รับสำนวนการสอบสวนมาจาก DSI ที่มีความเห็นว่าสาเหตุการตายน่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่ทหาร ที่อ้างว่าปฏิบัติหน้าที่  ซึ่งเขาเป็นผู้สอบสวนนายอภิสิทธิ์เกี่ยวกับการตั้งศอฉ. และคำสั่งแต่งตั้งต่างๆ พร้อมกับสอบสวนพยานทุกปากที่ปรากฏอยู่ในสำนวนสอบสวนที่มอบให้แก่ศาล จากการสอบสวนทราบว่า ขณะนั้นผู้ตายกำลังถือกล้องวิดีโอบันทึกภาพ และเดินถือไฟฉายเลเซอร์ไปด้วย โดยผู้ตายไม่มีอาวุธแต่อย่างใด สำหรับอาวุธปืนที่ทหารใช้มีM16 และ HK 33 จากการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด จึงมีความเห็นสรุปว่าการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร

นัดสืบพยานวันที่ 30 ตุลาคม 2555[7]

พยาน

  1. พ.ท.กิตติพงศ์ เนื่องชมพู ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 8 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา
  2. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ.

พ.ท.กิตติพงศ์ เนื่องชมพู เบิกความว่า ช่วงที่มีการชุมนุมในวันที่ 9 เม.ย. 2553 ได้รับคำสั่งให้มาประจำอยู่ที่กรมทหารราบที่ 11 ก่อนจะมีคำสั่งเพิ่มกำลังมาช่วยอำนวยความสะดวกในช่วงกลางวัน และรักษาความปลอดภัยช่วงกลางคืน โดยตั้งด่านแข็งแรงบริเวณสะพานลอย ถนนพระราม 4 ห่างจาก ศาลาแดง ซอย 1 ประมาณ 30 เมตร

พ.ท.กิตติพงศ์ เบิกความถึงเหตุการณ์ว่า วันที่ 13 พ.ค. 2553 ตนนำกำลังตั้งด่านตั้งแต่เวลา 06.00 น. จนถึงเวลา 06.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. รวม 24 ช.ม. โดยอาวุธประจำกายของทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในตอนนั้น ประกอบด้วย ปืนลูกซอง ปืนพก ปืนM16 และปืน HK  แต่ไม่มีการจ่ายกระสุนจริง โดยช่วงเช้าเหตุการณ์บริเวณ ถนนพระราม 4 ปกติเรียบร้อยดี และช่วงกลางคืนวันที่ 13 เหตุการณ์ก็ไม่ได้มีอะไรรุนแรง นอกจากช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. ทหารเริ่มได้รับการก่อกวนจากผู้ชุมนุม โดยมีรถซาเล้งขับมายังรั้วลวดหนามของเจ้าหน้าที่ และพยายามรื้อออก ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มตั้งด่านบริเวณสะพานไทย-เบลเยี่ยม เขาจึงสั่งการให้ทหารตะโกนไล่ออกไป แต่ผู้ชุมนุมก็ยังไม่ไปจึงสั่งการให้ทหารนายหนึ่งยิงปืนลูกซองขึ้น 2 ชุด เพื่อให้รู้ว่าบริเวณดังกล่าวมีทหารอยู่ไม่ให้ก่อกวน  เป็นเพียงการยิงกระสุนยางเท่านั้น  ซึ่งผู้ชุมนุมได้ล่าถอยไป แต่ไม่นานก็เริ่มก่อกวนด้วยเสียงตะไล บั้งไฟ คล้ายเสียงปืน แต่ทหารรู้ว่าไม่ใช่ปืนแน่นอนจึงถอยกลับเข้าจุด จากนั้นประมาณ 23.00 น. ผู้ชุมนุมจึงหยุดการก่อกวนและถอยออกไป

พ.ท.กิตติพงศ์ เบิกความอีกว่า การปฏิบัติหน้าที่ในคราวนี้เป็นการปฏิบัติตามหลักอย่างเคร่งครัด 7 ขั้นตอน ซึ่งตนปฏิบัติเพียงการแสดงกำลังเพื่อให้รู้ว่าทหารมีจำนวนมาก พร้อมกับยืนยันว่าในขอบเขตความรับผิดชอบของตนไม่มีการใช้กระสุนจริงเด็ดขาดเป็นกระสุนยางทั้งหมด แม้ว่าจะมีอาวุธประจำกายตลอดเวลา แต่กระสุนไม่ได้ประจำกายตลอดเวลาด้วย เพราะขึ้นอยู่กับคำสั่งของผู้บังคับกองพัน และในวันเกิดเหตุตนไม่ทราบว่ามีผู้ถูกยิงเสียชีวิต มาทราบเมื่อเวลาผ่านไป 4 เดือนแล้ว เนื่องจากพล.ม.2 เรียกประชุม และแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ความรับผิดชอบของตน ซึ่งตนไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะในคืนที่เกิดเหตุบริเวณ ถ.พระราม 4 ที่ตนดูแลอยู่ไม่มีเหตุรุนแรง มีเพียงการยิงขู่แสดงสัญลักษณ์ให้ผู้ชุมนุมรู้ว่ามีทหาร และไม่ได้ใช้กระสุนจริง

พยานปากที่ 2 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เบิกความว่า การชุมนุมของกลุ่มนปช.ในปี 2553 เพื่อขับไล่รัฐบาลให้นายอภิสิทธิ์ลาออกหรือยุบสภา  เป็นการชุมนุมที่แตกต่างจากการชุมนุมปี 2552 เพราะมีการก่อการร้ายคู่ขนานกับการชุมนุมด้วย ได้แก่ การใช้อาวุธปืนยิงตามธนาคาร ที่ทำการของรัฐ ใช้ RPG ยิงที่เก็บน้ำมันเครื่องบิน ใช้ระเบิด อาวุธสงครามปืนM16 เข่นฆ่าทหาร และประชาชน

กระทั่งวันที่ 7 ต.ค. 53 นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และนายยศวริศ ชูกล่อม แกนนำนปช. นำผู้ชุมนุมบุกเข้ารัฐสภา ทำร้ายเจ้าหน้าที่ และแย่งอาวุธปืน ก่อนบุกเข้ามาที่ห้องอาหารรัฐสภาเพื่อจับตน จากเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการที่คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้งศอฉ.ในค่ำวันเดียวกัน เพราะเห็นว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ตนเป็นผอ.ศอฉ. รับผิดชอบดูแล กำกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่  ดังนั้นคำสั่งทั้งหมดตั้งแต่ คำสั่งที่ 1/2553 เขาจึงเป็นผู้ที่เซ็นคำสั่งทั้งหมด โดยยึดหลักสากลจากเบาไปหาหนัก มีโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ และปืนลูกซองที่ใช้กระสุนยาง เป็นเครื่องมือในการควบคุมฝูงชน ซึ่งใช้กำลังทหารกว่า 2 หมื่นคน  ในการออกคำสั่งจะมีบันทึกข้อความที่ตนเซ็นสั่งการ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติจะมีคำสั่งต่อทางวิทยุหากไม่ได้รับคำสั่งจากศอฉ.จะไม่สามารถปฏิบัติการใดๆ ได้

นายสุเทพเบิกความต่อว่า แต่หลังจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 53 คนร้ายที่ปะปนมากับกลุ่มผู้ชุมนุมยิงเจ้าหน้าที่ และประชาชนเสียชีวิต ศอฉ.จึงมีนโยบายให้ทุกหน่วยป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะในระยะประชิด และไม่ให้เผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม จึงมีคำสั่งตั้งด่านแข็งแรงด้วยวัตถุประสงค์ไม่ต้องการให้เข้าถึงตัวเจ้าหน้าที่ และทำป้ายห้ามผ่านเด็ดขาด แต่ตนได้รับรายงานภายหลังว่าบางจุดเจ้าหน้าที่กลับเขียนป้ายว่าเขตใช้กระสุนจริง ซึ่งตนเข้าใจว่าเพื่อขู่เตือนประชาชนไม่ให้บุกฝ่าเข้ามายังเขตห้ามผ่านเด็ดขาด โดยอนุญาตให้ใช้ปืนพก และปืนM16 ได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ปืนเอ็ม 79 เด็ดขาด ขณะที่กระสุนก็มีทั้งกระสุนจริง และกระสุนซ้อม ซึ่งตนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ได้เบิกกระสุนแล้ว ซึ่งสาเหตุที่อนุญาตให้ใช้ปืนกล เนื่องจากให้เจ้าหน้าที่ได้คุ้มครองตัวเอง และประชาชน หลังเกิดเหตุการณ์ 10 เม.ย. 53 ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล โดยอัยการสูงสุดทำบันทึกรายงานเสนอต่อ ศอฉ.ว่าหากมีการก่อการร้ายรัฐบาลก็มีสิทธิมีอำนาจใช้อาวุธเพื่อป้องกันเหตุร้าย

นอกจากนี้ คำสั่งศอฉ.ยังสั่งเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังในพื้นที่สูงข่มเพื่อป้องกันการโจมตีในระยะไกล หรือกระสุนวิถีโค้ง โดยส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่สูงข่มที่อยู่ใกล้กับจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งด่าน ซึ่งไม่ใช่การซุ่มยิง ส่วนการเสียชีวิตของนายชาติชาย ตนได้รับทราบภายหลัง และไม่รู้ว่าขณะที่นายชาติชายถูกยิงอยู่ในลักษณะใด และใครเป็นผู้กระทำ

นัดสืบพยานวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555[8]

พยาน  นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำนปช.

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อเบิกความสรุปว่า การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มนปช. เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 53 เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น ยุบสภา โดยตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และที่ราชประสงค์ ชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. 53 รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเข้าสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ในวันที่ 10 เม.ย. 53 ขณะนั้นพยานยังอยู่ที่เวทีราชประสงค์

พยานเบิกความต่อว่า จากนั้นวันที่ 28 เม.ย. 53 ได้รับรายงานว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการเข้ามาชุมนุม ปะทะกับทหารบริเวณอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต ต่อมาวันที่ 13 พ.ค. 53 เกิดเหตุลอบยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ซึ่งในช่วงดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านปิดล้อมพื้นที่การชุมนุม จึงไม่มีใครสามารถเข้าหรือออกได้ รวมถึงตัดน้ำ ตัดไฟ ในบริเวณพื้นที่ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมที่ต้องการออกจากการชุมนุม ไม่สามารถออกไปได้ และผู้ที่เป็นห่วงผู้ชุมนุมต้องการเข้ามาดู ก็ไม่สามารถเข้ามาได้ ทำให้เกิดการปะทะกันบริเวณโดยรอบพื้นที่ชุมนุมเป็นระยะ

นายณัฐวุฒิเบิกความอีกว่า ต่อมาในช่วงเช้ามืดของวันที่ 19 พ.ค. 53 ได้รับรายงานว่ารัฐบาลได้ส่งกำลังทหารกว่า 10,000 นาย เคลื่อนเข้ามาที่เวทีราชประสงค์ พร้อมอาวุธครบมือ พยานและบรรดาแกนนำจึงประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 13.00 น.  เขายืนยันว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎสากล เนื่องจากใช้กระสุนจริง และพลซุ่มยิงตามตึกสูง สำหรับการตายของนายชาติชายนั้น พยานทราบข่าวภายหลังผ่านสื่อมวลชนว่านายชาติชายถูกยิงจากระยะไกลเข้าที่บริเวณศีรษะ

จากนั้นศาลถามพยานว่าในการชุมนุมมีการยิงพลุ และตะไลใส่ทหารหรือไม่ พยานเบิกความว่า มีการยิงจริง แต่รัศมีของพลุและตะไลไม่สามารถไปถึงฝั่งทหารได้
ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 17 ธันวาคม 2555[9]

ศาลได้พิเคราะห์เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย เห็นว่าผู้ร้องมีเจ้าหน้าที่กู้ชีพของวชิรพยาบาล ประจักษ์พยานยืนยันว่าเห็นแสงที่เชื่อว่าเป็นกระสุนปืนมาจากแนวตั้งด่านของฝ่ายเจ้าพนักงาน ซึ่งพยานเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนมาจากทางแยกศาลาแดง แนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน อีกทั้งจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้บริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และ อาคารอื้อจือเหลียง ถนนพระราม 4 ซึ่งบริเวณนั้นมีเพียงเจ้าพนักงานตั้งด่านตรวจแข็งแรง และเจ้าพนักงานมีอาวุธประจำกาย ได้แก่ M16 , M 653 , HK33 , ปืนลูกซอง และปืนพก ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ.และด้านหลังแนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงานเป็นบังเกอร์ ซึ่งบุคลภายนอกไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ยกเว้รถพยาบาลเท่านั้น

เมื่อไม่ปรากฏจากการไต่สวนว่ามีบุคคลฝ่ายที่ 3 เข้ามาก่อเหตุใดๆ อีกทั้งกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 ม.ม.) ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืน ขนาดเดียวกับกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืน M16 , M 653 , HK33 , ที่เจ้าพนักงานใช้ประจำการณ์ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในที่เกิดเหตุ จึงเชื่อได้ว่า กระสุนดังกล่าวถูกยิงมาจากกลุ่มเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านตรวจแข็งแรง โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ
มีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายชาติชาย  ชาเหลา ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 เวลา 23.37 น. เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาด ร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก ซึ่งวิธีกระสุนปืนมากจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงานซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บริเวณถนนพระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

อ่านคำสั่งศาลไต่สวนการตายของชาติชาย ชาเหลาฉบับเต็ม

เชิงอรรถ

[1] “เบิกความคดีไต่สวนชันสูตรศพคนเสื้อแดง,” เดลินิวส์, 25 มิ.ย. 55
[2] ในรายงานข่าวชื่อร้านผิดซึ่งชื่อร้านซึ่งอาจจะเป็นได้ว่า
[3] “ไต่สวนช่างภาพอิตาลี-เสื้อแดงตาย พยานยันเป็นฝีมือทหาร,” เดลินิวส์, 23 ก.ค. 55
[4] “จนท.ตรวจที่เกิดเหตุ เบิกความไต่สวนการตาย “ชาติชาย ชาเหลา” เหยื่อกระสุน พ.ค.53,” ประชาไท, 7 ต.ค. 55
[5] “ ‘ธิดา’ เบรกแดงไม่สนงานปชป,” ข่าวสด, 13 ต.ค. 55
[6] “นปช.ให้ด้วย1ล้านแจ้งข้อมูลชุดดำพยานย้ำ!คดีฮิโรยูกิชี้จนท.ยิง,” ข่าวสด, 20 ต.ค. 55
[7] “ไต่สวนศพสวนลุม,” ข่าวสด, 30 ต.ค. 55
[8] “นัดชี้อีกคดี ผลไต่สวน”ศพแดง”,” ข่าวสด, 15 พ.ย. 55
[9] “ศาลสั่งคดีที่ 3 ไต่สวนการตายเสื้อแดง ตายด้วยกระสุนจากกลุ่มทหาร,” ประชาไท, 17 ธ.ค.55

บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ : อช.3/2555  วันที่ฟ้อง : 22/02/2555

คดีหมายเลขแดงที่ : อช.12/2555 วันที่ออกแดง : 20/12/2555

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุด

ผู้เสียชีวิต : เด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ

คดี : ชันสูตรพลิกศพ

 

นัดไต่สวนคำร้องวันที่ 28 พฤษภาคม 2555[2]

ในวันนี้มีการนัดสืบพยานและอัยการได้ยื่นบัญชีพยานโดยมีทั้งหมด 50 ปาก  และในคำร้องไต่สวนชันสูตรพลิกศพมีการระบุถึงการตายของคุณากรเอาไว้ว่า ระหว่างที่ทหารปิดถนนราชปรารภและมีการติดป้ายเขตกระสุนจริง ในวันที่ 15 พ.ค.เวลา 00.01 น. นายสมร ไหมทอง ได้ขับรถตู้เข้ามาในเขตดังกล่าวเพื่อกลับบ้านพัก ผ่านถนนราชปรารภ มุ่งหน้าแยกมักกะสัน เมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศโทรโข่งให้หยุดรถ นายสมรยังขับต่อไป จึงระดมยิงใส่รถตู้จนนายสมร ได้รับบาดเจ็บที่ท้อง ขณะที่ลูกกระสุนยังไปถูก ด.ช.คุณากร ที่ออกมาเดินบริเวณโรงภาพยนตร์โอเอซึ่งอยู่ติดกับแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสันอันเป็นที่ตั้งของหน่วยทหาร  เป็นเหตุให้ ด.ช.คุณากรเสียชีวิต ขอให้ศาลได้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ใด เมื่อใดและทราบถึงสาเหตุ พฤติการณ์การตาย  และขอให้องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอารเบียตั้งอยู่บนถนนรามคำแหง  ซึ่งเป็นผู้อุปการะด.ช.คุณากรเนื่องจาก ด.ช. คุณากรเป็นเด็กกำพร้า บิดาเสียชีวิตและมารดาหายสาบสูญ

 

นัดสืบพยานวันที่  20 กรกฎาคม 2555[3]

                พยาน[4]

  1. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด  อดีตโฆษกศอฉ.
  2. พ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูล ผู้บังคับกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.)
  3. ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล[5] ผู้บังคับกองร้อยอยู่ในสังกัดของพ.ท. วรการ ฮุ่นตระกูล  (ป.พัน.31 รอ.)

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความว่า จากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ช่วงแรกเป็นการชุมนุมตามกฎหมาย แต่ระยะหลังทวีความรุนแรงขึ้นและกระทำผิดกฎหมาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นพิจารณาเห็นว่าการกระทำทวีความรุนแรงขึ้น จึงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีคำสั่งตั้ง ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ เป็น ผอ.ศอฉ.

เขาเบิกความต่อว่า กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งจุดตรวจค้นโดยพลการอย่างผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ศอฉ.จึงมีคำสั่งให้ทหารจากพล. 1 รอ. เข้าปิดกั้นการจราจรบริเวณราชประสงค์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับบ้านและกันไม่ให้คนไปชุมนุมเพิ่ม  ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงแยกมักกะสัน ย่านราชปรารภ วางกำลังเฉพาะบริเวณถนนใหญ่เท่านั้นจะไม่นำกำลังทหารเข้าไปประจำการบริเวณ ตรอกซอยเล็กๆ และเขาไม่ทราบว่าพล. 1 รอ. ใช้เจ้าหน้าที่จากหน่วยใดบ้าง และศอฉ.มีคำสั่งห้ามใช้เส้นทางหรือนำยานพาหนะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว มีวิธีการเป็นไปตามกฎการใช้กำลัง ในขั้นต้นให้แจ้งเตือนหากมีผู้ฝ่าฝืน โดยใช้โทรโข่ง หรือส่งอาณัติสัญญาณห้ามเข้า

พ.อ.สรรเสริญเบิกความว่า ระหว่างวันที่ 13-18 พ.ค. 2553 เป็นแค่การปิดกั้นพื้นที่เท่านั้น ศอฉ.มีมติกำชับลงไปแล้วว่า ห้ามใช้อาวุธกับประชาชน แต่ไม่ได้ติดตามว่าทำตามหรือไม่ เนื่องจากเขาอยู่ส่วนกลางจึงไม่ทราบรายละเอียดเรื่องที่มีผู้เสียชีวิต รวมถึงกรณี ด.ช.คุณากร ด้วย ส่วนมาตรการกระชับพื้นที่กดดันกลุ่มผู้ชุมนุม เพิ่งมีคำสั่งในวันที่ 19 พ.ค. 2553 หลังจากนั้นคณะกรรมการของกองทัพบก ประชุมและสรุปการชี้แจง แต่พยานไม่ทราบว่ามีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องในส่วนนั้น

ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูลเบิกความว่า วันที่ 14 พ.ค. 2553 ได้รับคำสั่งให้มารักษาพื้นที่บริเวณแยกมักกะสันถึงแยกประตูน้ำ เขาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ท.วรการ ดูแลกำลังพล 150 นาย พร้อมอาวุธM 16 จำนวน 20 กระบอก ปืนลูกซอง 30 กระบอก มีทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง ส่วนที่เหลือถือโล่และกระบอง โดยจัดกำลังพลที่ราชปรารภ 2 จุด และมักกะสัน 2 จุด มีเจ้าหน้าที่ประจำจุด 5-6 นาย ส่วนที่เหลือจะอยู่บริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ สับเปลี่ยนเวร เวรละ 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั่วไป พร้อมตรวจค้นการพกพาวุธ โดยในวันที่ 14 พ.ค.2553 ตรวจไม่พบผู้พกพาอาวุธแต่อย่างใด

เขาบิกความต่อว่า ช่วงกลางดึกได้รับแจ้งทางวิทยุว่า มีรถตู้สีขาวจะเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ ถ้ามีรถลักษณะนี้เข้ามาให้ประกาศเตือนเพื่อไม่ให้เข้าพื้นที่ ต่อมาเวลา 00.30 น. มีรถตู้สีขาวออกมาจากซอยราชปรารภ 8 แล้วจอด ขณะนั้นตัวเขาอยู่ที่หน้าร้านอาหารอินเดียฟู้ด ห่างไปประมาณ 50-60 เมตร เขาจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ใช้รถประชาสัมพันธ์ของหน่วยประกาศบอกรถตู้ให้กลับไปทางเดิม หรือไปทางประตูน้ำนานกว่า 10 นาที แต่รถตู้ไม่ยอมออก และวิ่งพุ่งเข้ามาที่ใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ก่อนได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดจากหลายทิศทาง แต่เขาไม่เห็นคนยิงว่าเป็นใครและไม่ทราบว่ามีหน่วยอื่นหรือไม่ เพราะจุดเกิดเหตุไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบ

เขาเบิกความอีกว่าไม่ได้ทำการตรวจค้นรถตู้แต่อย่างใด เพราะเกรงว่าจะมีอาวุธ และเป็นรถต้องสงสัยที่ได้รับแจ้ง หลังจากรถตู้ถูกยิงถึงทราบว่ามีเด็กได้รับบาดเจ็บและได้รับแจ้งจากทหารพยาบาลประจำหน่วยว่ามีคนบาดเจ็บในรถตู้ด้วย แต่ทางผู้บัญชาการก็ไม่ได้เรียกไปประชุมในเรื่องนี้ และไม่ได้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ

พ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูลเบิกความว่า ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 14 พ.ค. 53 เข้าประจำจุดในเวลา 16.00 น. ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงราชปรารภ และแยกมักกะสัน โดยแบ่งกำลังพลเป็น 3 หน่วย มีหน่วยราชปรารภ  แยกมักกะสัน ส่วนกำลังที่เหลืออยู่ใต้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์

ในเวลา 17.00 น. มีผู้ยิงปืนเล็กยาวเข้ามา ต่อมาเวลา 19.00-04.00 น. มีการยิงเอ็ม 79 เข้ามาเป็นสิบนัด แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง จากนั้นในเวลา 00.30 น. ได้รับรายงานทางวิทยุว่า มีรถตู้ฝ่าฝืนเข้ามา และได้ยินเสียงปืนแต่ไม่ทราบว่ามาจากทางใด ภายหลังทราบว่ามีผู้บาดเจ็บ จึงให้หน่วยทหารเฉพาะกิจประสานไปยังมูลนิธิให้นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล  หลังเกิดเหตุประมาณ 15 นาที ได้รับแจ้งทางวิทยุว่ามีเด็กถูกยิงบาดเจ็บ แต่เขาไม่ได้เข้าไปดู เพราะไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบ จนรุ่งเช้าเวลา 09.00 น. จึงเข้าไปดูและพบว่ารถตู้มีรอยกระสุนรอบคัน ก่อนมีคนบอกว่าคนขับเป็นผู้ชุมนุม เพราะตรวจค้นภายในรถพบมีด ผ้าพันคอ และเสื้อสีแดง แต่เห็นเพียงในรูปภาพเท่านั้น ส่วนตอนเกิดเหตุกำลังสะลึมสะลือ เพราะก่อนหน้านั้นปฏิบัติงานหนักมาก จึงนอนหลับพักผ่อนตรงจุดที่ประจำอยู่ มารู้สึกตัวอีกทีตอนได้ยินเสียงปืนดังขึ้น  ส่วนในการประชุมไม่มีการแจ้งเรื่องนี้

 

นัดสืบพยานวันที่ 29 ตุลาคม 2555[6]

            พยาน

  1. นายสมศักดิ์ วันแอเลาะห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติ
  2. นายสมเจตร์ ศาลาวงศ์ อาสาสมัครหน่วยแพทย์วชิรพยาบาล
  3. พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

นายสมศักดิ์ วันแอเลาะห์ เบิกความโดยสรุปว่า ด.ช.คุณากร เป็นเด็กกำพร้าในความสงเคราะห์ขององค์กร ศึกษาอยู่ชั้นป.4 โรงเรียนวิจิตรวิทยา เป็นคนสมาธิสั้น ชอบเล่น และจะชอบหลบหนีออกจากสถานสงเคราะห์ไปเที่ยวเล่นบ่อยครั้ง โดยวันเกิดเหตุมีคนมาแจ้งให้ทราบว่า พบ ด.ช.คุณากรไปเที่ยวเล่นแถวพื้นที่การชุมนุม ทั้งที่ไม่ได้รู้เรื่องการเมืองเลย คิดว่าคงอยากรู้อยากเห็นตามปกติของเด็ก และหลังจากเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน คือเดือนมิถุนายน มีคนโทรศัพท์มาแจ้งว่า ด.ช.คุณากร ถูกยิงเสียชีวิต ศพถูกส่งไปยังสุสานศพไร้ญาติ จังหวัดชลบุรี จึงเดินทางไปรับศพมาประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม

นายสมเจตร์ ศาลาวงศ์ เบิกความว่า ช่วงเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มนปช. ตนและเพื่อนอาสาสมัครตระเวนช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่แถวบ่อนไก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และราชปรารภ โดยวันที่ 15 พ.ค. 53 จอดรถกู้ชีพอยู่บริเวณลานจอดรถของอาบอบนวดเจ-วัน ถนนศรีอยุธยา ติดกับ โรงพยาบาลพญาไท 1 ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืน และระเบิดดังมาจากประตูน้ำเป็นระยะๆ กระทั่งได้รับแจ้งจากวิทยุสื่อสารว่ามีคนเจ็บบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ ขณะนั้นอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุเพียง 200-300 เมตร เมื่อได้รับแจ้งก็เตรียมพร้อม แต่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ทันที เพราะมีรั้วลวดหนามของทหารกั้นอยู่บริเวณแยกจตุรทิศ

นายสมเจตร์เบิกความต่อว่า ผ่านไป 30 นาที ทหารที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเห็นว่ามีรถพยาบาล จึงวิทยุไปบอกทหารที่อยู่ในพื้นที่ที่มีคนเจ็บ ว่าจะนำรถพยาบาลของตนเข้าไป จึงขับรถตามทหารที่ขี่รถจักรยานยนต์นำทางเข้าไป  ในระหว่างทางจะเห็นทหารถืออาวุธอยู่ 2 ข้างทาง แต่ไม่พบว่ามีชายชุดดำอยู่ในจุดดังกล่าว  เมื่อไปถึงข้างบันไดเลื่อนของแอร์พอร์ตลิงก์มีพยาบาลทหาร 5-6 นาย ไม่ได้ถืออาวุธ และพบ ด.ช.คุณากรอยู่ในเปลพยาบาลทหารข้างรถทหาร ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นขณะนั้นยังไม่เสียชีวิต แต่สภาพที่เห็นคือมีไส้ทะลักออกมาเพราะถูกยิง แต่ไม่ทราบว่าใครยิง จึงรีบนำตัวส่ง โรงพยาบาลพญาไท แต่เสียชีวิตระหว่างนำส่ง

พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม เบิกความว่า เป็นผู้ชันสูตรศพด.ช.คุณากร โดยเวลา 03.30 น. วันที่ 15 พ.ค. 53 พนักงานสอบสวน สน.พญาไท นำศพมาส่งชันสูตร สภาพศพภายนอกมีบาดแผลถูกยิงเข้าบริเวณด้านหลังข้างขวาช่วงล่าง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 ซ.ม. ในระดับต่ำกว่ายอดศีรษะ 60 ซ.ม. กระสุนเข้าด้านหลังขวาทะลุผ่านช่องท้องมาด้านหน้า มีลำไส้จำนวนมากทะลักที่ปากแผล และพบเศษโลหะเล็กๆ กระจายตามแนวกระสุนผ่าน เลือดออกภายในช่องท้อง 800 ม.ล. ลำไส้เล็กฉีกขาดหลายแห่ง เศษโลหะที่กระจายตามแนวบาดแผลนั้น สันนิษฐานได้ว่าเป็นเศษโลหะจากกระสุนปืนที่มีความเร็วสูง อาจเป็นปืนที่ใช้ในสงคราม เช่น อาก้า เอ็ม 16 เพราะดูจากเศษโลหะ และแนวเข้าออกของกระสุน สรุปสาเหตุการเสียชีวิตได้ว่า เกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงเข้าที่ท้องทำให้ลำไส้ทะลุ

 

นัดสืบพยานวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555[7]

            พยาน[8]

  1. ร.ท.กิตติภพ ธูปทอง ทหารพยาบาล
  2. ส.อ.พุทธรักษ์ สุขเกษม ทหารพยาบาล
  3. ส.อ.วรากร ผาสุข กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์
  4. ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์
  5. พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

ร.ท.กิตติภพ ธูปทอง เบิกความว่าวันเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนไม่ให้รถตู้เข้ามา จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังอย่างต่อเนื่อง สักพักจึงได้รับคำสั่งให้ไปดูผู้บาดเจ็บ ก็พบนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ถูกยิงบาดเจ็บ ต่อมามีหน่วยแพทย์อาสาวชิรพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ในขณะเกิดเหตุเขาไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

ส.อ.พุทธรักษ์ สุขเกษม เบิกความว่า  ขณะเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนไม่ให้รถตู้เข้ามา และได้ยินเสียงปืนดังขึ้นต่อเนื่อง หลังเสียงปืนสงบ จึงพบร่างด.ช.คุณากร อยู่ในซอยโรงภาพยนตร์โอเอ ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสมีไส้ทะลักออกมา แต่ยังไม่เสียชีวิต จากนั้นหน่วยแพทย์อาสาวชิรพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ในขณะเกิดเหตุนั้น เขาไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

ส.อ.วรากร ผาสุข เบิกความสรุปว่า วันเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่อยู่ฝั่งซ้ายของถนนราชปรารภ มีปืนM16 เป็นอาวุธประจำกาย มีหน้าที่ตรวจค้นบุคคลเข้าออก และไม่พบว่ามีใครพกพาอาวุธเข้าไปแต่อย่างใด ขณะเกิดเหตุได้ยินเสียงประกาศเตือนว่ารถตู้อย่าเข้ามาหลายครั้ง จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ไม่เห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่าปฏิบัติหน้าที่อยู่จุดเดียวกันกับส.อ.วรากร ได้ยินเสียงประกาศเตือน และเสียงปืนเช่นกัน แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิง

พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบว่ารอยกระสุนปืนบริเวณร้านค้ากับใกล้สำนักงานคอนโดไอดีโอ และมีกระสุนตกอยู่ตรงประตูเหล็กด้านหน้าร้าน สันนิษฐานว่ายิงมาจากฝั่งตรงข้าม โดยวิถีกระสุนยิงในลักษณะเป็นแนวราบ แต่ไม่สามารถระบุชนิดของกระสุนและอาวุธปืนได้

 

นัดสืบพยานวันที่ 26 พฤศจิกายยน 2555[9]

            พยาน[10]

  1. นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้
  2. นายคมสันติ ทองมาก ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่น
  3. พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
  4. พ.ต.ต.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย กลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุนปืน สตช. ทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน
  5. ร.ต.อ.สากล คำยิ่งยง พนักงานสอบสวน สน.พญาไท

นายสมร ไหมทองเบิกความสรุปได้ว่า หลังจากกลับจากส่งผู้โดยสาร ได้ขับรถตู้เข้ามาบริเวณถนนราชปรารภ และถูกระดมยิง ขณะนั้นไม่ได้ยินประ กาศแจ้งเตือนแต่อย่างใด หลังเสียงปืนสงบเห็นทหารถือปืนเข้ามาล้อมรถ และช่วยนำพยานส่งโรงพยาบาล

นายคมสันติ ทองมากเบิกความว่า เป็นผู้ถ่ายคลิปเหตุการณ์ยิงรถตู้ ไม่ได้ตัดต่อแต่อย่างใด ขณะนั้นยืนอยู่ด้านหลังเจ้าหน้าที่ และได้ยินเจ้าหน้าที่ประกาศบอกรถตู้ว่าอย่าเข้ามา พร้อมเล็งปืนไปที่รถตู้ หลังสิ้นเสียงประกาศก็เห็นรถตู้วิ่งเข้ามาบริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ และได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1-2 นาที จากด้านซ้ายและขวาที่ เจ้าหน้าที่ประจำการอยู่

พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมากเบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ตรวจอาวุธปืนM16 แต่จากการตรวจไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นกระบอกเดียวกับที่ใช้ยิงผู้ตาย เนื่องจากส่งมาหลังเกิดเหตุเป็นเวลากว่า 1 ปี เช่นเดียวกับพ.ต.ต.กิตติศักดิ์เบิกความสรุปว่าเป็นผู้ตรวจสอบภาพถ่ายรถตู้ที่ถูกยิงรอบคัน และตรวจอาวุธปืนM16 ผลปรากฏว่าไม่ตรงกับปืนที่ใช้ยิงผู้ตาย

ร.ต.อ.สากล คำยิ่งยง เบิกความเพื่อให้การรับรองเอกสารรายงานช่วงเกิดเหตุและมอบแก่ศาล โดยรายละเอียดมีว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่สน.พญาไท เป็นพนักงานสอบสวน ได้รับคำสั่งให้สอบสวนคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม โดยเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14-20 พ.ค. 53 บริเวณแยกประตูน้ำ ราชปรารภ ถึงสามเหลี่ยมดินแดง โดยตรวจสอบพบผู้เสียชีวิต 15 ราย ซึ่ง1 ใน 15 รายนั้นมีด.ช.คุณากรรวมอยู่ด้วย ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 02.00 น. บริเวณใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ หลังจากทราบแล้วได้รวบรวมเอกสารทั้ง 15 ราย ให้คณะสอบสวนอีกชุด แต่ตัวเขาเองไม่ได้ทำการตรวจสอบศพเอง แต่มีพนักงานสอบสวนอีกชุดหนึ่งทำการตรวจสอบ  โดยสาเหตุการตายเบื้องต้นมาจากถูกอาวุธปืนยิง

 

นัดสืบพยานวันที่ 4 ธันวาคม 2555[11]

            พยาน พ.ต.ท.บรรยง แดงมั่นคง พนักงานสอบสวน สน.พญาไท

พ.ต.ท.บรรยง แดงมั่นคง เบิกความว่า คดีนี้บช.น.แต่งตั้งพนักงานสอบสวน 10 นาย เขาเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวน จากการสอบสวนทราบว่าคดีนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มนปช.บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 53 หลังจากนั้นมีการปะทะกันในวันที่ 10 เม.ย. 53 ผู้ชุมนุมจึงย้ายมารวมกันที่ราชประสงค์ในเวลาต่อมา ขณะที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 53 และวันที่ 13 พ.ค. 53 ได้ประกาศห้ามเข้าออกพื้นที่ถนนบางสาย ในคดีนี้เป็นถนนราชปรารภ ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงแยกมักกะสัน และจะขอพื้นที่คืนจากผู้ชุมนุม
วันที่ 14 พ.ค. 53 เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนพลมาที่ถนนราชปรารภ และได้ใช้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์เป็นศูนย์บัญชาการ นอกจากนี้ ยังนำลวดหนามมาขวางหน้าโรงแรมอินทรา ใต้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และแยกมักกะสัน เพื่อห้ามยานพาหนะและคนนอกไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ รวมทั้งตั้งบังเกอร์อยู่ริมถนนราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง และบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย กระทั่งเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 15 นายสมร ไหมทอง ได้ขับรถตู้ออกจากซอยวัฒนวงศ์ แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนราชปรารภ มุ่งหน้าแยกดินแดง ระหว่างขับถึงจุดที่สร้างคอนโดไอดีโอซึ่งเป็นเขตหวงห้าม เจ้าหน้าที่ทหารประกาศให้ขับออกมาแต่คนขับยังฝ่าเข้าไป ทหารจึงสกัดโดยใช้ปืนยิงรถตู้จนจอดนิ่งอยู่บริเวณทางขึ้นสถานีแอร์พอร์ตลิงก์

พ.ต.ท.บรรยงเบิกความอีกว่า หลังสิ้นเสียงปืนเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปช่วยเหลือนายสมรที่ยังไม่เสียชีวิต และนำตัวใส่รถ GMC ที่จอดอยู่ในโรงภาพยนตร์โอเอ ทราบว่ามีคนเจ็บอีกคนคือ ด.ช. คุณากร อยู่ในรถ GMC ด้วย จากนั้นทหารอนุญาตให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิรับทั้งคู่ไปส่งที่โรงพยาบาลพญาไท 1 โดยด.ช.คุณากรเสียชีวิต ส่วนนายสมรบาดเจ็บสาหัส นอกจากนี้ ยังมีนายพัน คำกอง เสียชีวิตอยู่บริเวณคอนโดฯ ไอดีโอ ด้วย เหตุการณ์นี้นายคมสันติ ทองมาก ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่นบันทึกคลิปเหตุการณ์ทั้งหมด และมอบให้แก่พนักงานสอบสวนแล้ว

เขาเบิกความถึงคลิปกล่าวว่าเห็นรถตู้ของนายสมรขับมาตามถนนราชปรารภจากประตูน้ำไปแยกดินแดง เมื่อข้ามทางรถไฟใต้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์แล้วมีเสียงปืนดังขึ้นทุกทิศจนรถตู้หยุด จากนั้นทหารเข้าไปช่วยนำนายสมรออกจากรถตู้และรักษาพยาบาลเบื้องต้น ก่อนใช้เปลหามเข้าไปในซอยโรงภาพยนตร์โอเอและใส่รถ GMC จากนั้นมีรถมูลนิธิเข้าไป เห็นทหารนำด.ช.คุณากรออกจากรถ GMC สภาพยังไม่เสียชีวิต แต่เดินไม่ได้แล้วและมีบาดแผลที่ท้อง ทราบภายหลังว่าถูกยิงข้างหลังทะลุท้อง รถมูลนิธินำทั้งคู่ไปส่งโรงพยาบลพญาไท 1 และมีภาพรถมูลนิธิมารับนายพัน คำกอง ไปส่งโรงพยาบาลด้วย

พนักงานสอบสวนเบิกความต่อว่า ผลการชันสูตรพบกระสุนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ที่แขนซ้ายของนายพัน และพบกระสุนM16 ในตัวของนายสมร ขณะที่ผลการตรวจปืนM16 จำนวน 40 กระบอก จากทหารที่รักษาการณ์ในที่เกิดเหตุ ไม่พบว่าตรงกับของกลางแต่อย่างใด เขาไม่ได้ตรวจรถตู้ที่ถูกยิง แต่ได้นำภาพถ่ายและคลิปภาพเสียงส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจ และจากการสอบสวนนายอเนก ชาติโกฎิเจ้าหน้าที่ รปภ.ของคอนโดฯ ไอดีโอให้การว่าอยู่กับนายพันในช่วงเกิดเหตุ หลังได้ยินเสียงปืนทั้งคู่ออกมาดูสถานการณ์ด้านหน้า และเห็นทหารอยู่โดยรอบ แต่ไม่เห็นว่าใครยิง และนายคมสันติยังได้ให้การสอดคล้องกันด้วยว่าได้ยินเสียงปืนและเสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่ห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าวด้วย  และนอกจากนี้ พ.ต.อ.สุขเกษม สุนทรวิภาต ผกก.สภ.บ้านไร่ อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนร่วมกับทหาร ให้การว่าได้ยินประกาศห้ามรถตู้เข้ามาและได้ยินเสียงปืน แต่ไม่ได้ออกไปดู

พยานเบิกความอีกว่า หลังยุติการชุมนุม DSI ประกาศให้คดีสลายการชุมนุมเป็นคดีพิเศษ พยานจึงส่งสำนวนไปให้DSI และทาง DSI เชื่อว่าการตายของด.ช.คุณากร น่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่ จึงส่งสำนวนกลับมาให้สอบสวนต่อ เขาเบิกความว่าเชื่อได้ว่าเกิดจากการยิงของทหารเนื่องจากในที่เกิดเหตุทหารขึ้นไปใช้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์เป็นศูนย์บัญชาการและบล็อกแนวบริเวณดังกล่าวไว้หมด บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าออกบริเวณนี้ได้ ส่วนด.ช.คุณากรถูกกระสุนM16 ยิงจากด้านหลังทะลุด้านหน้า จุดที่เสียชีวิตกับรถตู้อยู่บริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ นายพันยังถูกปืนM 16 ยิงเสียชีวิตในบริเวณนั้นด้วย ทหารอาจไม่ทราบว่ามีด.ช.คุณากรอยู่ในบริเวณดังกล่าว และไม่น่าเป็นการยิงโดยเจตนา

 

ฟังคำสั่งวันที่ 20 ธันวาคม 2555[12]

ด.ช.คุณากรผู้ตาย มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 44 ม.1 แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กทม. กระทั่งปี 2547 ย้ายไปอยู่ในความปกครองของสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ตั้งอยู่เขตสวนหลวง โดยระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค. 53 นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และจัดตั้งศอฉ. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผอ.ศอฉ. และศอฉ.ได้ออกประกาศควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมเข้าออก ถ.ราชปรารภ ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำ ถึง สี่แยกมักกะสัน ที่มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาการให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งถนนและตามแนวบังเกอร์ ประกอบด้วยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และจัดวางลวดหนามตั้งแต่บริเวณปากซอยราชปรารภ 6 ถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์

วันที่ 14 พ.ค. 53 เวลา 23.00 น. เศษ นายคมสันติ ทองมาก ผู้สื่อข่าวซึ่งไปทำข่าวเกี่ยวกับผู้ชุมนุมนปช. บริเวณถ.ราชปรารภ พบเห็นผู้ตายวิ่งเล่นอยู่บริเวณบังเกอร์ที่เจ้าหน้าที่ทหารวางไว้ตามสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ฝั่งโรงภาพยนตร์โอเอ ต่อมาเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 14 พ.ค. 53 นายสมร ไหมทอง ขับรถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพฯ ออกจาก ซ.วัฒนวงศ์ แล้วเลี้ยวขวาไปที่สี่แยกมักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล ซึ่งประจำอยู่บริเวณด้านหน้าร้านอาหารอินเดียฟู้ด จึงแจ้งไปยังชุดตรวจที่อยู่ใกล้ปากซอยให้ประกาศห้ามรถยนต์ตู้ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ควบคุม แต่นายสมรยังคงขับรถยนต์ตู้ต่อไปทางสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อแล่นผ่านจุดที่ ร.อ.เสริมศักดิ์ กับพวกประจำอยู่ มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดมาจากหลายทิศทาง นายสมรพยายามขับรถยนต์ตู้ต่อไปจนข้ามทางรถไฟไปถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อสิ้นเสียงปืนพบว่านายสมรถูกกระสุนปืนที่เอวและท้อง

นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ถูกกระสุนปืนยิงใส่อีก 2 คน คือ นายพัน คำกอง และผู้ตายในคดีนี้โดยมีบาดแผลถูกกระสุนปืนยิงเข้าด้านหลังบริเวณกึ่งกลางลำตัวทะลุช่องท้อง ซึ่งพบผู้ตายได้รับบาดเจ็บนอนอยู่ที่พื้นถนนในซอยโรงภาพยนตร์โอเอ ห่างจากปากซอยซึ่งติดถ.ราชปรารภประมาณ 20 เมตร ถัดจากปากซอยไปไม่ไกลเป็นจุดที่รถยนต์ตู้คันที่นายสมรขับจอดอยู่ ส่วนนายพัน คำกอง ถูกกระสุนปืนขณะยืนอยู่ตรงบริเวณทางเข้าออกอาคารคอนโดมิเนียมไอดีโอ ตรงกันข้ามเยื้องกับซอยโรงภาพยนตร์โอเอ

สำหรับสาเหตุที่ผู้ตายถูกยิงนั้น ได้ความจากนายสมร ผู้บังคับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุว่า เมื่อขับเลี้ยวขวาออกจากซอยได้ประมาณ 30 เมตร ก็มีเสียงปืนดังขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองฝั่งระดมยิงมาที่รถยนต์ตู้ของพยาน ซึ่งสอดคล้องกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าเห็นทหารจำนวน 3 นายยิงปืนมาที่รถ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายคมสันติว่า ก่อนที่รถยนต์ตู้จะแล่นเข้ามา เจ้าหน้าที่ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่าขอให้ผู้ขับหยุดรถ มิฉะนั้นจะยิงสกัด เมื่อสิ้นเสียงประกาศจึงมีเสียงปืนดังมาจาก 2 ฝั่งถนน โดยทั้ง 2 ฝั่งถนนมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำถึงสี่แยกมักกะสัน ซึ่งพยานได้บันทึกภาพเหตุการณ์รถยนต์ตู้เข้าไปในพื้นที่จนกระทั่งถูกยิงสกัดไว้

อีกทั้งพยานผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุต่างเบิกความตรงกันสรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 มีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่ 4 แยกมักกะสันไปจนถึงซอยราชปรารภ 6 ฝั่งซ้ายมุ่งหน้าที่ 4 แยกประตูน้ำ แบ่งกำลังคุมพื้นที่ 4 แห่ง แต่ละแห่งมีเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 6 คน โดยก่อนเกิดเหตุพยานแต่ละคนได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ไม่ให้รถตู้ นายสมรแล่นผ่านเข้าไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ แต่รถตู้ยังแล่นต่อไป จากนั้นมีเสียงปืนดังหลายนัดมาจากหลายทิศทาง

แม้พยานผู้ร้องจะไม่มีใครสามารถระบุตัวได้แน่ชัดว่าผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันเกิดเหตุถ.ราชปรารภตั้งแต่ 4 แยกประตูน้ำไปจนถึง 4 แยกมักกะสัน เป็นพื้นที่ควบคุม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ นำโดยพ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูล และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ประจำอยู่ตลอดแนวถ.ราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่ 4 แยกประตูน้ำไปจนถึง 4 แยกมักกะสัน และปากซอยหมอเหล็ง เฉพาะหน่วยของพ.ท.วรการมีทหารถึง 150 คน มีกองบัญชาการอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการอยู่พบเห็น

อีกทั้งพล.อ.ต.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม แพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายเบิกความรับรองว่าพบโลหะชิ้นเล็กที่บาดแผลของผู้ตาย สันนิษฐานว่าเป็นโลหะจากหัวกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งเป็นปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ประเภท M16 หรืออาก้า ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานผู้ร้องและภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดีหลักฐานจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการบริเวณที่เกิดเหตุหลายนายมีอาวุธปืนM16 อยู่ด้วย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้

จึงต้องรับฟังว่า คืนเกิดเหตุขณะที่นายสมรขับรถยนต์ตู้เข้าไปในถ.ราชปรารภ มุ่งหน้าสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมตามประกาศของศอฉ. เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารประจำการอยู่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงห้ามเข้าไปในพื้นที่แล้ว นายสมรยังขับรถยนต์ตู้ต่อไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุจึงได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่รถยนต์ตู้ของนายสมร เป็นเหตุให้ลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายจนถึงแก่ความตาย

ศาลจึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ตายระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ถนนศรีอยุธยา แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

อ่านคำสั่งศาลไต่สวนการตายของด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณฉบับเต็ม

 


[1]  การไต่สวนชันสูตรพลิกศพด.ช.คุณากร นี้มีการใช้พยานบุคคลและหลักฐานบางส่วนร่วมกับคดีนายพัน คำกอง

[3] “สืบพยานคดีน้องอีซา เหยื่อสลายการชุมนุม พ.ค.53,” Voice TV, 20 ก.ค. 55 ; “ไก่อูเบิกความคดียิงดช.อีซา ‘แดง’นัดลุ้น 23 กค.ชี้ชะตาตู่,” ข่าวสด, 21 ก.ค. 55

[4] พยานทหารทั้ง 3 นาย นี้เป็นชุดเดียวกับที่ขึ้นเบิกความในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายพัน คำกอง

[5] ในรายงานข่าวลงชื่อผิด

[6] “โชว์หลักฐาน’หัวกระสุน’ สื่อดัตช์พค.53 ย้ำโดนจนท.ยิง,” ข่าวสด, 30 ต.ค. 53

[7] “ไต่สวน 2 ศพ แดง,” ข่าวสด, 6 พ.ย. 55

[8] เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ ทั้ง 2 นาย นั้นได้ให้การในการไต่สวนชูนสูตรนายพัน คำกองด้วย

[10] พยาน 1-4 ให้การในการไต่สวนชันสูตรนายพัน คำกอง ด้วย

[12] “ศาลชี้ศพ 4 “ดช.อีซา” จนท.ยิง! “มาร์ค-เทือก” หนักต้องถูกดำเนินคดีต่อเนื่อง’พัน คำกอง’เผยกระสุนทะลุหลังใกล้บังเกอร์ทหารไต่สวน6ศพวัดปทุม-นาทีชีวิตน้องเกด,” ข่าวสด, 21 ธ.ค. 55 ; “ศาลสั่งเป็นคดีที่ 4 “ด.ช.อีซา” เหยื่อกระสุน พ.ค. 53 เสียชีวิตจากทหาร,” ประชาไท, 20 ธ.ค. 55

บันทึกการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายพัน คำกอง

นอกเหนือ

คดีหมายเลขดำที่ :  อช. 2/2555    วันที่ฟ้อง :  21/02/2555

คดีหมายเลขแดงที่ :   อช. 7/2555   วันที่ออกแดง :  17/09/2555

โจทก์ :   พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 สำนักงานอัยการสูงสุด  ผู้ร้อง

ผู้เสียชีวิต :  นายพัน คำกอง

คดี :  ชันสูตรพลิกศพ

นัดสืบพยานวันที่ 11 พฤษภาคม 2555[1]

            พยาน

  1. นางหนูชิต คำกอง ภรรยานายพัน คำกอง
  2. น.ส.ศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนาย
  3. นายอเนก ชาติโกฎิ  พนักงานรักษาความปลอดภัยโครงการคอนโดมิเนียม ไอดีโอ

พยานปากแรกคือ นางหนูชิต คำกอง ได้เบิกความว่า นายพัน คำกองได้ไปที่อู่แท็กซี่ ย่านวัดสระเกศ เพื่อนำรถแท็กซี่มาประกอบอาชีพ แต่เนื่องจากช่วงนั้นรัฐบาลนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีคำสั่งขอคืนพื้นที่แถบราชปรารภ โดยเวลา 20.00 น. สามีโทรศัพท์หาลูกสาวว่ายังเดินทางกลับมาไม่ได้เพราะมีการกระชับพื้นที่ของทหาร และได้มาหลบภัยบริเวณงานก่อสร้างคอนโดแห่งหนึ่งแถวราชปรารภ ซึ่งเป็นการติดต่อครั้งสุดท้าย จากนั้นเวลาเที่ยงคืน นายอเนก ไม่ทราบนามสกุล(คือนายอเนก ชาติโกฎิ) รปภ.ดูแลงานก่อสร้างคอนโดดังกล่าว ได้โทรศัพท์มาแจ้งบุตรชายตนว่าสามีถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิต ต่อมาศพของสามีจึงถูกนำไปชันสูตรที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระหว่างรอแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพ ได้สังเกตเห็นศพของสามี มีรอยกระสุนใต้ราวนมซ้ายทะลุออกซี่โครง และรอยกระสุนที่แขนด้านขวา ซึ่งการชันสูตรศพนั้นแพทย์ให้พยานเข้าไปร่วมสังเกตด้วย แต่พยานปฏิเสธเพราะไม่กล้าเข้าไปดู หลังจากนั้น 3 วัน พยานได้เข้าไปดูพื้นที่เกิดเหตุก็พบรอยเลือดอยู่ และทราบว่าขณะเกิดเหตุบริเวณดังกล่าวไม่มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีแต่กองกำลังทหารเท่านั้น

พยานปากที่สองน.ส. ศิริพร เมืองศรีนุ่น ซึ่งเป็นทนายที่รับมอบอำนาจจากนางหนูชิตให้ร่วมแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสน.พญาไท ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สั่งตั้งศอฉ. และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ในขณะนั้นและเบิดความว่าเชื่อได้ว่านายพัน คำกองเสียชีวิตเนื่องจากนาย สมร ไหมทอง ขับรถตู้เข้าไปในพื้นที่ควบคุมแนวของทหารทำให้มีการระดมยิงรถตู้จนเป็นรูพรุนซึ่งนายสมรก็ได้รับบาดเจ็บ และกระสุนอาจไปโดนนายพัน โดยบริเวณใกล้เคียงก็ยังพบศพ ด.ช. คุณากร ศรีสุวรรณ ที่ถูกยิงเสียชีวิตด้วย

พยานปากที่สามนายอเนก ชาติโกฎิ รปภ.ประจำโครงการก่อสร้างคอนโด ไอดีโอ เบิกความว่า เวลา 20.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. 53  ระหว่างที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่นายพันได้เข้ามาขอหลบที่โครงการเพราะทหารประกาศห้ามเดินผ่านและมีการติดป้ายใช้กระสุนจริง และได้ประกาศห้ามออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 19.00 น.  เขาได้สอบถามกับนายพันว่ามาจากไหน นายพันได้ตอบว่าจะไปเอาแท็กซี่แต่เนื่องจากยังซ่อมไม่เสร็จ  จากนั้นนายพันได้นั่งเล่นหมากฮอสกับนายอเนก  จนเที่ยงคืนได้ยินเสียงประกาศเตือนจากรถทหาร สั่งให้รถตู้หยุดวิ่ง ไม่หยุดจะทำการยิงจากเบาไปหนักพยานได้วิ่งหลบ ส่วนนายพันวิ่งออกไปดู  และได้ยินเสียงปืนดังทีละนัดดังต่อเนื่องกันราว 20 นัด  แต่รถตู้ยังไม่หยุด และยังมีเสียงปืนดังต่อเนื่องอีกราว 1 นาที นายพันได้วิ่งกลับเขามาบอกกับนายอเนกว่าให้ช่วยโทรบอกที่บ้านว่าเขาถูกยิง พยานเห็นนายพันมีเลือดไหลเอามืออุดแผลใต้ราวนมแล้วล้มไป พยานจึงนำโทรศัพท์มือถือนายพันโทรไปมีเสียงเด็กผู้ชายรับสาย พยานจึงบอกว่าพ่อถูกยิงที่ย่านราชปรารภ และเขาได้แจ้งศูนย์นเรนทรมารับศพนายพัน หลังจากนั้นมีทหาร นักข่าว และหน่วยกู้ภัยมารับศพนายพันออกไปที่โรงพยาบาล โดยตั้งแต่เกิดเหตุจนหน่วยกู้ภัยมารับศพไปใช้เวลานาน 20 นาที และที่เกิดเหตุไม่พบบุคคลอื่นนอกจากทหาร

 

นัดสืบพยานวันที่ 3 กรกฎาคม 2555[2]

            พยาน

  1. พ.ท. วรการ ฮุ่นตระกูล  ผู้บังคับกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.)
  2. ร.อ. เสริมศักดิ์ คำละมูล ผู้บังคับกองร้อยอยู่ในสังกัดของพ.ท. วรการ  (ป.พัน.31 รอ.)
  3. ทหารพยาบาล 2 นาย

พยานที่ให้การคนแรกคือ พ.ท. วรการ ฮุ่นตระกูล เบิกความว่า ช่วงหัวค่ำมีเสียงระเบิดคาดว่าเป็น M 79 ทยอยระเบิดห่างไม่เกิน 500 ม. กระทั่งมีตกลงบนถนนราชปรารภและหลังคาสะพานลอยที่มีทหารประจำการอยู่จึงถอนกำลังออก เมื่อสงบจึงได้กลับไปประจำที่อีกครั้ง จนเมื่อ 24.00 น. ได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่ามีรถตู้ออกมาจากซอยวัฒนวงศ์(ราชปรารภ 8) มุ่งหน้าไปที่แอร์พอร์ตลิงค์ไม่มีรายงานว่ามีการระดมยิง หลังเหตุการณ์สงบได้มีการตรวจค้นรถตู้ในรถมีผ้าพันคอและเสื้อสีแดง เขียนข้อความ “แดงทั้งแผ่นดิน” และมีมีดดาบยาวประมาณ 2 ฟุต ไม่มีอาวุธอย่างอื่น จากนั้นได้รับรายงานเพิ่มอีกว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ เป็นคนขับรถตู้ และเด็กอีก 1 คน จึงให้ติดต่อประสานรถพยาบาลในพื้นที่ จากนั้นก็มีการแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บอีกรายที่บริเวณคอนโด ไอดีโอ ซึ่งกำลังก่อสร้าง โดยเหตุการณ์ทั้งหมดพยานไม่ได้เห็นด้วยตัวเองแต่เป็นการรับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชานั้น และปฏิเสธว่าไม่มีทหารในหน่วยของตัวเองยิงรถตู้ และไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิงรถตู้  ไม่มีการจับคนร้ายและในคืนนั้นไม่มีการประชุมกองแต่อย่างใด

พ.ท.วรการให้การในส่วนเรื่องอาวุธที่ใช้ในการปฏิบัติการเอาไว้ว่า “หน่วยของตน” มีโล่กระบองครบ ทั้ง 150 คน ปืนลูกซอง 30 กระบอก  และปืน M 16 20 กระบอก  โดยมีการแจกกระสุนแบลงค์สำหรับ M 16  กระสุนยางสำหรับปืนลูกซอง โดยไม่มีการบรรจุกระสุนไว้ในปืน โดยกระสุนทั้ง 2 ชนิดไม่มีอันตรายถึงชีวิต  และเขายืนยันว่าไม่มีการแจกกระสุนจริงให้ใช้ แต่มีการเบิกกระสุนจริงสำหรับปืน M 16 มาเป็นจำนวน 400 นัด ส่วนกระสุนซ้อม(แบลงค์)นั้นจำไม่ได้ กระสุนจริงสำหรับปืนลูกซองจำไม่ได้ กระสุนปืนพกไม่มีกระสุน ในการเบิกทำผ่านศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก(ศปก.) มีบัญชีชัดเจน  การติดป้าย “พื้นที่กระสุนจริง” เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าเป็นของหน่วยไหนเขียนไปติด

พ.ท.วรการได้ให้การเพิ่มว่าในวันที่ 14 พ.ค. ตนได้รับแจ้งจาก ศปก.พล.1รอ.  ว่าแอร์พอร์ตลิงค์ถูกผู้ชุมนุมยึดและอาจจะมีการเผา จึงถูกเรียกให้ไปยึดคืนจึงออกจากทำเนียบรัฐบาลไปที่ราชปรารภ  ซึ่งที่แอร์พอร์ตลิงค์มีเพียง 1 หน่วยที่ประจำการอยู่  จึงมีการเรียกเข้าไปเพิ่มทั้งหมด 3 หน่วย  แต่เมื่อไปถึงปรากกฎว่ามีทหารประจำการอยู่ก่อนแล้วจึงเข้าใจว่ามีหน่วยอื่นมายึดคืนได้ก่อนแล้ว สภาพแวดล้อมบริเวณรอบๆ ขณะนั้นมีกองยางและรถน้ำทหารถูกเผาอยู่ และระหว่างเข้าไปในพื้นที่ยังได้รับแจ้งเตือนระมัดระวังชายชุดดำซุ่มยิงจากที่สูง ซึ่งก็มีการยิงลงมาจากตึกด้วยแต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บและได้รับแจ้งเตือนให้ระวังรถตู้ที่อาจจะเข้ามาก่อเหตุคาร์บอมบ์

ทหารทั้ง 4 กองพันที่ปฏิบัติการในพื้นที่นั้นมีการประสานกันโดยจะเป็นการประสานกันเองระหว่างผู้บังคับกองร้อย  ในส่วนของผู้บังคับกองพันนั้นจะมีหน้าที่รับนโยบายและควบคุมดูแล โดยหน่วยของตนจะวางกำลัง 80 คน อยู่ที่ฝั่งซ้ายของถนนและฝั่งขวาเป็นของ พ.ท. พงศกร อาจสัญจร จาก ร.1พัน3

หลังจากสืบพยานได้มีการเปิดวิดีโอของนักข่าวเนชั่นโดยได้บันทึกขณะช่างภาพอยู่หลังทหารที่หลบอยู่หลังเสาไฟฟ้า ห่างจากรถตู้ 50-100 ม.  และมีเสียงปืนดังขึ้นเพื่อหยุดรถตู้ ราว 20 นัด จนกระทั่งรถหยุด และมีทหารเข้าไปดู มีการนำคนเจ็บลงจากรถเพื่อปฐมพยาบาล และมีภาพการลำเลียงคนเจ็บอื่นๆ จากรถพยาบาลทหารขึ้นรถหน่วยกู้ชีพ และในศาลมีการซักถามกับ พ.ท.วรการว่า ในวิดีโอมีลูกน้องของตนอยู่ด้วยหรือไม่  เขายอมรับว่ามีอยู่ 2 คน  แต่ทหารคนอื่นๆ เขาไม่แน่ใจว่าเป็นทหารจาก ร.1พัน3 หรือไม่

พยานปากที่สอง ร.อ. เสริมศักดิ์ คำละมูล ให้การว่าตนเป็นทหารในสังกัดของพ.ท.วรการ ซึ่งเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ย้ายมาจากทำเนียบเพื่อเข้าปฏิบัติการที่ราชปรารภในเย็นวันที่ 14 พ.ค.  โดยกองร้อยของตนอยู่ทางฝั่งซ้ายของถนนราชปรารภโดยหันหน้าไปทางด้านแยกประตูน้ำ โดยมีทั้งบนสะพานลอยหน้าราชปรารภ 6 และ หน้าร้านอินเดียฟู้ดส์ และอีกส่วนอยู่บนถนนมักกะสันเรียบทางรถไฟ โดยเขาได้รับแจ้งเตือนให้ระวังรถตู้สีขาวที่อาจจะเข้าก่อเหตุ

ในเวลา 17.00-18.00 น. มีคนเข้าไปด่าทอทหาร ร.อ.เสริมศักดิ์ยังบอกด้วยว่ามีชายชุดดำรวมอยู่ในกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย แล้วกลุ่มคนก็เดินจากไป แต่ไม่ถึงนาทีก็มีระเบิดปิงปอง 3 ลูก ตกใกล้กับทหารแต่ไม่มีใครบาดเจ็บ  จากนั้นมีระเบิด M79 ตามมาเป็นระยะประมาณ 10 นาที  ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ เขาไม่ทราบว่ามาจากทางไหน แต่ระยะไม่เกิน 750 ม. ต่อมาในเวลา 22.00 น. ก็มีระเบิด M79 อีกครั้ง มีเสียงปืนสั้นประปรายและมี การยิงน๊อตลูกแก้วด้วย ไม่มีทหารได้รับบาดเจ็บอีกเช่นกัน

ต่อมาเวลา 23.00 น. ได้มีการส่งกำลังไปรักษาการณ์ที่ราชปรารภ 8  เวลาประมาณเที่ยงคืนมีรถตู้สีขาวคล้ายกับที่ได้รับแจ้งเตือนออกมาจากทางราชปรารภ 8 จึงได้มีการแจ้งเตือนให้วนกลับไปทางเดิมหรือเลี้ยวไปทางประตูน้ำจากนั้นอีก 10 นาทีก็ได้ให้รถทหารประกาศอีกทีปรากกฏว่ารถตู้เลี้ยวขวามุ่งหน้าแอร์พอร์ตลิงค์ พยานยังได้ยินเสียงประกาศอยู่ตลอดพร้อมกับมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ  เขาและทหารที่อยู่ที่หน้าร้านอินเดียฟู้ดส์ด้วยกัน 5-6 นาย จึงหมอบลงอยู่กับพื้นประมาณ 1 นาที จนเสียงปืนสงบลงจึงได้สั่งกำลังพลให้ไปตรวจการที่ประตูน้ำ แต่ไม่ได้ไปดูที่รถตู้  อัยการถามย้ำว่า มีการใช้ปืนยิงสกัดรถตู้ไหม ร.อ.เสริมศักดิ์ตอบว่า ไม่มี และทนายได้ถามว่าในขณะที่มีเสียงปืนนั้นเป็นเสียงที่ดังขึ้นทั้งสองฝั่งถนนใช่หรือไม่  พยานกล่าวว่าไม่รู้เนื่องจากเสียงก้องมาก คำถามต่อมา เมื่อรถตู้ถูกยิงแล้วมีอาการอย่างไร(น่าจะหมายถึงว่าเมื่อรถตู้ถูกยิงแล้วลักษณะการวิ่งของรถตู้เป็นอย่างไร) พยานตอบว่าไม่ทราบเนื่องจากหมอบอยู่จึงไม่เห็นเหตุการณ์ และทนายยังได้ถามอีกว่าทราบหรือไม่ว่าเป็นเสียงปืนอะไร พยานตอบว่าแยกไม่ออก แม้ว่าศาลจะได้เปิดวิดีโออีกครั้ง ทนายได้ถามเขาว่า หลังเหตุการณ์มีการประสานเพื่อสอบถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่  พยานตอบว่าไม่มีการประสาน

พยานอีก 2 คน คือ ทหารพยาบาลที่ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บคือนายสมร ไหมทอง และ ด.ช.คุณากร โดยหลังเหตุการณ์สงบได้เข้าไปช่วยเหลือโดยการห้ามเลือดให้ แต่ไม่ได้ดูบาดแผลเนื่องจากขณะปฐมพยาบาลแสงไฟไม่สว่าง แต่ในตอนเช้าก็ได้เห็นรถตู้มีกระสุนปืนรอบคัน จากนั้นทนายได้นำผลการรักษามาอ่าน พบหัวกระสุนปลายแหลมหุ้มทองเหลืองในบาดแผลของนายสมร  และได้ถามว่าใช่ลักษณะของหัวกระสุนปืน M16 หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ

ทหารพยาบาลอีกคนเป็นคนที่เข้าไปช่วย ด.ช. คุณากร ขณะช่วยพบบาดแผลที่ช่องท้องและลำไส้ไหล แต่ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด ไม่ทราบว่าพบเด็กคนนี้ได้อย่าง ทราบในภายหลังว่าคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ

 

นัดสืบพยานวันที่ 4 กรกฎาคม 2555[3]

            พยาน

  1. พ.ท.พงศกร อาจสัญจร (ขณะนี้ยศพันเอก) ผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 (ผบ.ร. 1 พัน 3 รอ.)
  2. พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์  รองผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 พัน 3 รอ.)
  3. ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ผบ.มว.อาวุธหนัก  ร. 1 พัน 3 รอ.
  4. ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.) จังหวัดลพบุรี
  5. ส.อ.วรากรณ์ ผาสุก กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  (ป.พัน.31 รอ.) จังหวัดลพบุรี

พยานปากแรก พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ได้เบิกความว่า ในวันที่ 14 พ.ค. 53 ได้รับแจ้งว่ามีการรื้อกระสอบทรายที่แยกจตุรทิศ ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ให้ไปที่เกิดเหตุโดยมีรองผู้บังคับกองพันเป็นคนคุมกำลังไป 1 กองร้อย เป็นจำนวน 150 นาย  แต่เนื่องจากจำนวนผู้ชุมนุมที่มีมากตนจึงได้รายงานไปที่ผู้บังคับการกรมฯ เพื่อนำกำลังไปที่เกิดเหตุอีก 1 กองร้อย จำนวน 150 นาย  โดยหน่วยที่นำไปนั้นรักษาความปลอดภัยสถานที่และควบคุมฝูงชน โดยมีการใช้กฎเกณฑ์จากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน ในระหว่างนั้นไม่สามารถปฏิบิตหน้าที่ได้เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมล้อมอยู่ ในการจัดกำลังพลนั้น ใน 1 กองร้อยจะมีโล่ กระบอง ปืนลูกซองกระสุนยาง 30 กระบอก กระบอกละ 10 นัด รวมทั้งหมด 300 นัด และเขาได้อธิบายเพิ่มว่ากระสุนยางไม่เหมือนลูกแบลงค์ โดยลูกแบลงค์จะเป็นกระสุนซ้อมรบ จะมีแต่เสียงเพื่อให้เกิดความสมจริง โดยกระสุนจะเป็นหัวจีบ ไม่มีหัวกระสุน แต่ถ้าอยู่ในระยะ 1 ม. ความแรงของดินปืนจะทำให้ไหม้ได้ ส่วนกระสุนยางจะใช้กับปืนลูกซอง ซึ่งยิงได้ในระยะ 10 ม. เมื่อถูกยิงจะจุกแต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต และไม่สามารถยิงทะลุผ่านเหล็กหรือไม้ได้

เวลาประมาณ 13.00 น. เขาได้นำกำลังไปที่ปากซอยรางน้ำ ถนนราชปรารภและเดินเข้าไปที่แยกจตุรทิศ ในขณะนั้นมีรถบรรทุกของทหารจอดอยู่บริเวรดังกล่าวแล้วมีผู้ชุมนุมเข้าไปแย่งยึดและกระชากทหารที่อยู่บนรถลงมา แต่หน่วยของเขาได้เข้าไปช่วยทหารทั้ง 2 นาย  แต่ไม่สามารถนำรถออกมาได้ เนื่องจากถูกผู้ชมุนุมล้อมเอาไว้ โดยในขณะนั้นมีผู้ชุมนุมอยู่ราวประมาณ 700 คน ทั้งบนสะพานจตุรทิศ และด้านล่างก็ยังมีผู้ชุมนุมและผู้สัญจรไปมาเนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีการปิดเส้นทาง  จากนั้นเขาจึงให้ผู้บังคับบัญชาปิดการจราจรให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ออกจากพื้นที่ไปเพื่อความปลอดภัย แต่เจ้าตัวก็ไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าที่ปิดหรือไม่ แต่อีก 20 นาทีต่อมา จึงไม่มีรถเข้าแล้วใช้เวลาประมาณ 1 ชม.

เขาได้ประเมินว่ามีคนอยู่จำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ของตนมีน้อยจึงได้ขอกำลังเสริมอีกกับผู้บังคับบัญชา จากนั้นจึงได้มีทหารจากกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ (ป.พัน.31.รอ.) เข้ามาราวสองกองร้อย โดยอยู่คนละฝั่งกับหน่วยของตนซึ่งอยู่ทางด้านขวา โดย ป.พัน.31.รอ. อยู่ทางซ้าย จนถึงเวลา 16.00 น. สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง  ประจำอยู่ใต้สะพานลอยหน้าโรงพยาบาลพญาไท 1 โดยอีก 1 กองร้อย ของพ.ท. ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์นำมาจะอยู่ที่แอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งตนประจำอยู่บริเวณดังกล่าวจนเสร็จในวันที่ 22 พ.ค. 53

ในช่วงค่ำ มีข่าวการแจ้งเตือนว่าให้ระวังการยิงมาในพื้นที่ และได้ยิน M203  ไม่ทราบจุดตก แต่ได้ยินมาจากด้านประตูน้ำ ในช่วงประมาณ 19.00 -21.00 น. ประมาณ 6-8 นัด และทราบว่าตกตรงสะพานลอยถนนราชปรารภ หน้าโรงแรมอินทราจากการรายงานทางวิทยุของ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ หลังจากนั้นราวเที่ยงคืนครึ่ง มีเสียงปืนดังติดต่อกันประปราย ทราบว่ามีรถวิ่งผ่านมา ตนอยู่ในมุมที่ไม่ได้ยินมากเพราะเสียงก้อง จากนั้นเสียงปืนสงบลง อัยการได้ถามว่าสามารถแยกเสียงปืนได้ไหมว่าเป็นปืนชนิดใด ในเมื่อทราบว่าเป็นเสียงระเบิดชนิดใด พยานได้ตอบว่าไม่แน่ใจเนื่องจากเสียงก้อง  ในช่วงที่เกิดเหตุ พ.ท.พงศกร ได้มอบหน่วยของ พ.ท.ไชยยงค์ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของ พ.อ.ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตรซึ่งมียศสูงกว่าตนควบคุมหน่วยแทน ทนายได้ซักถามว่าทราบหรือไม่ว่ามีหน่วยใดบ้างนอกจากหน่วยของพยาน พ.ท.พงศกรตอบว่าไม่ทราบ ทราบเพียงว่ามี ป.พัน. 31 รอ. สุดท้ายทนายซักว่าสั่งการกันอย่างไรในสถานการณ์ พยานตอบว่าใช้วิทยุสั่งการ

พยานปากที่สอง พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ รองผู้บังคับการ ร.1พัน.3รอ.  เบิกความถึงอาวุธที่นำมาใช้ ว่าหน่วยของตนมีปืนลูกซอง 30 กระบอก มี M16 20 กระบอก โดยมีการกำหนดตัวกำลังพลที่จะใช้ แต่จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาก่อนคือ พ.อ.ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตร  พยานเบิกความความต่อว่า ปืนลูกซองจะอยู่ติดตัวกำลังพล แต่ M16 จะเก็บแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการแย่งชิง และการจะนำมาใช้ต้องรายงานผู้บังคับบัญชาทราบและตัดสินใจก่อน  กระสุนที่ใช้กับ M16 จะเป็นกระสุนซ้อมรบ คือลูกแบลงค์ ซึ่งจะแยกกันระหว่างปืนกับกระสุน โดยนำมา 400 นัด การบรรจุเหมือนการบรรจุกระสุนจริง ซองกระสนุจะบรรจุได้ 20 นัดต่อกระบอกลักษณะการใช้จะเป็นการยิงเตือน แต่สามารถยิงต่อเนื่องอัตโนมัติได้[4] และเขาได้เบิกความเกี่ยวกับการใช้กระสนุยางว่า การใช้กระสุนจริงและกระสุนยางแตกต่างกัน เช่น ลักษณะการบรรจุกระสุน  ทิศทางการเล็ง  เทคนิกก็จะต่างกัน    จะยิงเพื่อให้หนีหรือหยุดกระทำ อัยการได้ถามว่าปืนกระสุนจริงกับกระสุนยางใช้ร่วมกันได้หรือไม่ พยานตอบว่าบางกระบอกใช้ได้ บางกระบอกใช้ไม่ได้ ใช้เฉพาะกระสุนยาง

พ.ท.ทรงสิทธิ์เบิกความถึงสถานการณ์ในคืนนั้นเอาไว้ว่า ไม่มีเหตุการณ์ปล้นปืนหรือกระสุนไป  ในคืนนั้นตนและพ.อ.นัฐวัฒน์ อัครนิบุตร อยู่บนชั้น 2 ของแอร์พอร์ตลิงค์  ส่วนกำลังพลอยู่บนชั้น 3  โดยในช่วงกลางคืนมีเสียงปืนดังมาจากทุกทิศทาง  มีกระสุน M79 มาตกที่แอร์พอร์ตลิงค์ หลายลูก นอกจากนี้เห็นระเบิดไม่ทราบชนิด แต่เห็นตอนเช้า โดยดูจากร่องรอยวิเคราะห์เอาว่าเป็น RPG ที่บริเวณตึกแถวฝั่งตรงข้ามโรงแรมอินทรา

พ.ท.ทรงสิทธิ์เบิกความต่อว่า เขาได้รับรายงานทางวิทยุจากส่วนกลางหรือส่วนควบคุมว่ามีรถตู้วิ่งมาจากทางด้านประตูน้ำ ในเวลาเที่ยงคืนหลังจากรถตู้วิ่งเข้ามาได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลังเหตุการณ์ได้ลงไปดูกับผู้บังคับบัญชา มีรถมูลนิธิมารับผู้บาดเจ็บ แต่ตนไม่เห็นผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิต แต่ทราบภายหลังว่ามีนายพัน คำกอง ได้รับบาดเจ็บและ คนขับรถตู้(นายสมร ไหมทอง) และเด็ก(ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ)

จากนั้นอัยการได้เปิดวิดีโอของนักข่าวเนชั่น ซึ่งถ่ายเหตุการณ์ไว้ได้และได้ถามว่าเสียงปืน 20 นัดดังกล่าว เป็นเสียงจากปืนชนิดใด พยานตอบว่ามีทั้งปืน M16 และลูกซอง แต่เสียงของ 2 นัดสุดท้าย เป็นเป็นปืนยาวแต่เสียงอยู่ไกลมากไม่ใช่พื้นที่ที่เกิดเหตุ แต่ไม่มั่นใจว่าเป็นเสียงลูกซ้อมหรือลูกจริง และลูกซ้อมจะมีประกายไฟได้ และอัยการได้ถามอีกว่าพบชายชุดดำในช่วงที่มีการปฏิบัติการหรือไม่ พยานตอบว่าไม่มีการรายงานถึงเรื่องชายชุดดำ

พยานปากที่สาม ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ผบ.มว. อาวุธหนัก จาก ร.1พัน 3 รอ. คุมกำลังอยู่ใต้แอร์พอร์ตลิงค์บริเวณแยกจตุรทิศ เบิกความว่า กระสุนยางบรรจุเหมือนกับกระสุนจริง และปืนสามารถใช้ได้ทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง ท่าการยิงเหมือนกันไม่มีท่าเฉพาะ ส่วนเสียงปืนนั้น พยานกล่าวว่าเสียงลูกแบลงค์กับลูกกระสุนจริงจะแตกต่างกัน โดยกระสุนจริงเสียงจะดังแน่นกว่า

ร.อ.เกริกเกียรติ เบิกความต่อว่าในวันที่ 14 พ.ค. นั้น ได้นำกำลังไปวางที่หน้าโรงหนังโอเอ อยู่ในซอยหลังกำแพง และช่วงเหตุการณ์รถตู้เข้ามานั้นตนกำลังพักจึงไม่ทราบเหตุการณ์ภายนอก  ทราบในช่วงเช้าจากที่มีรายงานทางวิทยุ และทราบแต่เพียงว่ามีคนเจ็บ ไม่ทราบว่ามีคนเสียชีวิต แต่ทราบในภายหลังจากหนังสือพิมพ์ว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว และอัยการได้เปิดวิดีโออีกครั้งเพื่อถามว่าเสียงปืนที่ดังเป็นปืนชนิดใด พยานตอบว่าไม่สามารถแยกได้

ทนายได้ซักถามถึงเรื่องอาวุธปืนของหน่วยที่นำมาใช้ว่ามีอะไรบ้าง ร.อ.เกริกเกียรติระบุว่ามี M16A1 และทาโวร์ ส่วนปืนลูกซองที่นำมาใช้ไม่ใช่ของหน่วยพึ่งได้รับมาในช่วงเหตุการณ์ ส่วนกระสุนหน่วยของตนใช้เป็นกระสุนหัวตะกั่วหุ้มทองแดง

และเขาไม่ทราบว่ามีหน่วยใดอยู่ที่บริเวณแอร์พอร์ตลิงค์บ้าง  ตนไม่ได้ประสานกับหน่วยข้างเคียงเพราะเป็นเรื่องของผู้บัญชาการ

พยานปากที่สี่ ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่าหน่วยของตนอยู่ฝั่งซ้ายของแอร์พอร์ตลิงค์ หากหันหน้าไปทางประตูน้ำหรือฝั่งคอนโด ไอดีโอ  พยานเบิกความเรื่องอาวุธไว้ว่าอาวุธประจำกายของตนคือ M16 และกระสุนซ้อมรบ(กระสุน แบลงค์) 20 นัด  ซึ่งติดมาจากลพบุรี และมีหลักเกณฑ์การใช้อาวุธก็ต่อเมื่อตนเองหรือคนอื่นจะได้รับอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และห้ามใช้อาวุธกับเด็ก สตรี และผู้ไม่มีอาวุธ

ส.อ.ชิตณรงค์เบิกความต่อว่า เวลาประมาณเที่ยงคืนได้ยินเสียงรถประชาสัมพันธ์บอกให้รถตู้กลับออกไป ให้ใช้เส้นทางอื่น เป็นเวลา 10 นาที ต่อมาได้ยินเสียงคล้ายเสียงปืนไม่ทราบทิศทาง เพราะเสียงก้อง ไม่ทราบจำนวนนัด รถตู้ได้มาหยุดที่ใต้แอร์พอร์ตลิงค์ ใกล้กับรถประชาสัมพันธ์ ในขณะนั้นไม่พบชายชุดดำ หรือคนอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร แต่เขาไม่ได้เข้าไปที่เกิดเหตุเนื่องจากไม่ได้รับคำสั่ง และเห็นรถพยาบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ทราบภายหลังว่ามีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 1 คน และไม่ทราบว่าคนเสียชีวิตอยู่บนรถตู้หรือไม่ ส่วนกำลังพลของเขาไม่ได้รับบาดเจ็บและอาวุธไม่ได้ถูกแย่งชิงไป ทนายได้ซักถามเรื่องชายชุดดำว่าตามความเข้าใจของพยานชายชุดดำมีลักษณะอย่างไร  คือชายชุดดำถืออาวุธ หากใส่ชุดดำแต่ไม่ถืออาวุธไม่ใช่ชายชุดดำ

พยานปากที่ห้า ส.อ. วรากรณ์ ผาสุก เบิกความว่าหน่วยของตนอยู่ที่ฟุตปาธหน้าคอนโด ไอดีโอ แอร์พอร์ตลิงค์ ใกล้ตู้โทรศัพท์ ตรงร้านอินเดียฟู้ดส์ ซึ่งอยู่ที่เดียวกับ ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล เขาได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้เอาไว้ว่า รถตู้ที่เกิดเหตุมาเวลาประมาณเที่ยงคืนกว่า ออกมาจากซอยวัฒนวงศ์ หรือราชปรารภ 8 มีเสียงประกาศให้รถถอยกลับออกไปราว 10 นาที แต่ไม่มีใครลงจากรถหรือถอยกลับไป โดยขณะนั้นหน่วยของเขาอยู่ใกล้สุดคือห่างประมาร 80 ม. โดยปากซอยมีรั้วลวดหนามวางเอาไว้ด้วย อัยการได้ถามว่าได้มีการเข้าไปเตือนโดยตรงหรือไม่ พยานปฏิเสธว่าไม่ได้มีการเข้าไปเตือนโดยตรงเนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นรถอะไร  จากนั้นรถได้ออกจากซอยวัฒนวงศ์เลี้ยวไปทางแอร์พอร์ตลิงค์ รถประชาสัมพันธ์ยังคงประกาศเตือนต่อ แต่รถตู้ยังวิ่งเข้าหา หลังจากนั้นได้ยินเสียงคล้ายเสียงปืนดังขึ้นแต่ไม่ทราบทิศทาง ขณะเกิดเหตุเขาหมอบหลบนอนราบกับพื้นอยู่ไม่ได้มองว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีใครได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ส่วนกำลังพลไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

อัยการได้ซักถามเรื่องชายชุดดำกับ ส.อ.วรากรณ์  เขาได้ยืนยันว่าตลอดเวลาที่อยู่ไม่ชายชุดดำ ไม่พบหน่วยอื่นนอกจากทหาร ส่วนฝั่งตรงข้ามบริเวณโรงแรมอินทรา ไม่ทราบว่ากลุ่มคนที่มายืนอยู่เป็นใคร อัยการสอบถามว่าหากไม่ทราบว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นใครแล้วได้มีการรายงานกับผู้บังคับบัญชาหรือไม่ เขาตอบว่าไม่มีการแจ้ง เนื่องจากเป็นหน้าที่ของผู้บังคับกองร้อย

 

นัดสืบเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555[5]

            พยาน

  1. ทหารจากปราจีนบุรี  2 นาย
  2. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด

การสืบพยานครั้งนี้พยานที่มาให้การทั้งหมดไม่ได้ให้การที่เกี่ยวข้องกับคดีพัน คำกอง เนื่องจากทหารจากปราจีนบุรี 2 คนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และให้การแต่ในส่วนของวันที่ 10 เมษายน  และ 1 ใน 2 คนนั้นเบิกความว่าถูกยิงที่เข่าจากเหตุการณ์ในช่วงบ่ายที่ถนนตะนาว โดยเขาได้เห็นชายคนหนึ่งชักปืนออกมายินตนเองด้วย

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เบิกความว่าตนไม่ทราบรายละเอียดเหตุการณ์ยิงรถตู้วันที่ 15 พ.ค. เพราะรับผิดชอบแต่ส่วนนโยบาย  แต่มีการเบิกความไล่เหตุการณ์ตั้งแต่ เริ่มการชุมนุม 12 มี.ค. และสาเหตุที่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าผู้ชุมนุมได้มีการบุกรัฐสภาและมีการยื้อแย่งอาวุธ แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ยึดตามหลักสากลจากเบาไปหาหนัก ซึ่งท้ายสุดจะมีการยิงกระสุนจริงขึ้นฟ้าหรือหากไม่ได้ผลก็จะมีการยิงไปในทิศทางที่ปลอดภัย ไม่มีผู้ชุมนุมอยู่และจะยิงต่อเป้าหมายก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นจะทำร้าย ประทุษร้ายต่อประชาชนหรือเจ้าหน้าที่เท่านั้นและมุ่งให้หยุดการกระทำไม่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต

และให้การอีกว่า ในวันที่ 10 มีการขอคืนพื้นที่ จากผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้า ในวันดังกล่าวมีการปะทะกันแต่ไม่มีใครเสียชีวิต กระทั่งก่อนเวลา 17.00 น. เนิ่มมีการปะทะกันมากขึ้น ขณะที่แสงสว่างกำลังจะหมด ศอฉ. จึงมีการสั่งให้หยุดปฏิบัติการและถอนกำลังออก แต่ที่สี่แยกคอกวัวไม่สามารถถอนกำลังออกได้เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมเอาไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขณะที่ชายชุดดำแฝงตัวมาในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้อาวุธยิงเข้ามาจนทำให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตตามที่เป็นข่าว รวมถึงพ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรมด้วย

พ.อ.สรรเสริญยังยืนยันถึงเรื่องมีคำสั่งถอนกำลังว่าเป็นจริงเมื่อถูกทนายซักถามถึง โดยเขาได้ตอบว่า มีมติให้สั่งถอนกำลัง โดยในที่ประชุมมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่วนตนเองเดินเข้าๆออกๆ สำหรับการสั่งการ ศอฉ. ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะใช้การสั่งการทางวิทยุ โดยแต่ละหน่วยจะมีเจ้าหน้าที่วิทยุเข้าไปในที่ประชุมอยู่แล้วและสามารถสั่งการได้เลย นอกจากนี้ยังระบุว่าคำสั่งกระชับวงล้อมนั้นอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงได้ตามเอกสารที่นำส่งศาล ส่วนจะใช้กำลังเท่าไหร่ อาวุธอะไรบ้างนั้นตนไม่ทราบรายละเอียด

ในวันนั้นในช่วงบ่ายที่บริเวณสะพานปิ่นเกล้าและถนนดินสอ มีผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าแย่งอาวุธของทหาร มีการนำไปแสดงบนเวทีแต่ไม่ได้ส่งคืน ทหารสามารถยึดคืนได้จำนวนมากแต่มีบางส่วนที่สูญหาย โดยแจ้งความไว้ที่สน.บางยี่ขัน ปืนที่หายได้แก่ ทาโวร์ 12 กระบอก ปืนลูกซอง 35 กระบอก

พ.อ.สรรเสริญ กล่าวถึงการปรับกำลังในช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 10 เอาไว้ว่า ได้มีการปรับกำลังพลหลังจากที่พยายามผลักดันผู้ชุมนุมมานานแต่ไม่สำเร็จว่า ได้มีการปิดเส้นทางต่างๆ มากขึ้น และปรับกำลังในการรับผิดชอบพื้นที่ต่างๆ โดยมี พล. 1 รอ. จำนวน 22 กองร้อย รักษาความสงบ และ 19 กองร้อย ปราบจลาจล เข้าปิดถนนเส้นทาง ราชปรารภ เพชรบุรี พญาไท ราชวิถี ศรีอยุธยาแต่ก็ยังไม่สำเร็จนักเนื่องจากมีตรอกซอกซอยเป็นจำนวนมากจนกระทั่ง วันที่ 19 พ.ค. 53 ศอฉ. มีคำสั่งกระชับวงล้อม เนื่องจากที่ผ่านมาทหารถูกชายชุดดำโจมตีด้วย M79 แต่ทหารไม่ได้ไปจนถึงเวที

 

นัดสืบพยานวันที่ 11 กรกฎาคม 2555[6]

            พยาน

  1. พ.ต.อ.สุขเกษม สุนทรวิภาต  ผกก.สภ.บ้านไร่ อ.ศรีสำโรง จว.สุโขทัย ผู้ควบคุมกองร้อยควบคุมฝูงชนตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัย
  2. พ.ต.ท.วีรเมศว์ วีรสุธีกุล สวป.สภ.ขาณุวรลักษบุรี จว.กำแพงเพชร ผู้ควบคุมกองร้อยควบคุมฝูงชนตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร
  3. ด.ต.ธีรพงษ์ เย็นใจราษฎร์  มาจากหน่วยเดียวกันกับพ.ต.ท .วีรเมศว์ ผู้ขับรถหกล้อในการขนส่งกองร้อยและในวันเกิดเหตุผู้ขับรถขนสัมภาระ

พยานคนแรก พ.ต.อ.สุขเกษม สุนทรวิภาต เบิกความว่าในวันที่ 14 พ.ค. 53 ตนได้นำหน่วยเข้าไปกั้นถนนบนแยกจตุรทิศซึ่งมีกำลังพล 150 นาย ตามคำสั่งของทหาร  เนื่องจากเกรงว่าจะมีการปิดถนนจึงให้พยานได้เข้าไปเจรจาก่อนแต่เนื่องจากไม่สามารถคุมได้ทหารจึงจะนำรถน้ำมาใช้ฉีดประชาชน แต่กลับถูกปล่อยลมยางเสียก่อน ทหารจึงสั่งให้ถอยเพราะจะทำการ “ขอคืนพื้นที่” และจะมีการใช้แก๊ซน้ำตา  ตำรวจจึงไปหลบตามซอยต่างๆ จนกระทั่งถึง 16.00 น.  ตนจึงได้รับคำสั่งให้ตามกำลังกลับมา ซึ่งในเวลานั้นไม่มีประชาชนอยู่แล้วเหลือแต่ทหารที่ยึดพื้นที่ไว้ได้หมดแล้วโดยมีการกั้นลวดหนามทั้งสี่ทิศของแยกจตุรทิศ รถสัญจรไปมาไม่ได้แล้ว โดยเขาได้เบิกความต่ออีกว่า ได้มีการจัดกำลังตำรวจ 40 นาย อยู่เป็นแนวหลังของทหารใต้สะพานฝั่งไปซอยหมอเหล็ง ซึ่งเป็นถนนขนานกับสะพาน ส่วนกำลังพลที่เหลือได้พักที่บริษัทโตโยต้า

อัยการได้ถามพ.ต.อ.สุขเกษม ว่ากำลังพล 40 นายนั้นมีการติดอาวุธหรือไม่ เขาได้ตอบว่ามีเพียงตัวเปล่า ไม่มีอาวุธประจำกายแม้แต่โล่และกระบอง ซึ่งทหารได้สั่งให้หน่วยของตนระวังหลังให้ อัยการถามต่อว่าทหารในเวลานั้นมีอาวุธปืนหรือไม่ เขาตอบต่อว่ามีปืนลูกซองและปืนเล็กยาว ไม่แน่ใจว่าเป็น  M16 หรือ HK (HK 33)  ซึ่งพลทหารจะใช้ปืนลูกซอง ส่วนนายสิบขึ้นไปจะใช้ปืนเล็กยาว โดยมีทหารประจำอยู่กับหน่วยของพยานด้วย 1 ชุด และจะมีอยู่ตรงถนนราชปรารภทางไปประตูน้ำ แอร์พอร์ทลิงค์และทางไปโรงพยาบาลพญาไท 1

พ.ต.อ.สุขเกษมเบิกความต่อว่า หลัง 2 ทุ่ม จะมีประชาชนเข้าออกพื้นที่จึงได้มีการสอบถามและมีการตรวจค้น  ซึ่งช่วงหัวค่ำจะมีเสียงปืนดังตลอดจากทางประตูน้ำ แต่ไม่ได้ออกไปดู  และเบิกความถึงช่วงเกิดเหตุว่า หลังเที่ยงคืนได้ยินเสียงรถประกาศของทหารบอกรถตู้อย่าเข้ามาสักพักไม่กี่นาที  ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดหลังจากเสียงสงบลงตนก็ได้มองดูเห็นรถตู้จอดอยู่ใกล้รถประกาศของทหาร ตอนประชุม 10 โมงเช้า ตนได้เห็นรอยกระสุนปืนบนรถตู้หลายสิบรอย  อัยการถามว่าทราบเหตุการณ์ยิงรถตู้หรือไม่ เขาตอบว่า ตนเข้าใจว่าเป็นการยิงเพื่อหยุดรถไม่เข้ามา และอธิบายเพิ่มว่า เพราะรถกำลังจะเข้ามาที่กองบัญชาการ ทหารจึงยิงเพื่อหยุด และพ.ต.อ.สุขเกษมได้ปฏิเสธว่าไม่พบเห็นชายชุดดำและไม่มีการพูดในที่ประชุมเมื่ออัยการถามเขาว่าได้พบเห็นชายชุดดำบ้างหรือไม่  เขาได้ให้เล่าถึงการใช้รถประกาศของทหารว่า เสียงจากรถทหารนั้นจะได้ยินเสียงประกาศเตือนตั้งแต่ช่วงหัวค่ำซึ่งจะถี่ เช่นมีคนข้าม หรือรถแท็กซี่เข้ามาก็จะมีการประกาศเตือน แต่พอดึกแล้วจะไม่ถี่

พยานคนที่สองพ.ต.ท .วีรเมศว์ วีรสุธีกุล  และสามคือ ด.ต.ธีรพงษ์ เย็นใจราษฎร์ เบิกความว่าเห็นทหารในพื้นที่ถือปืนยาว M16 และลูกซอง ไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารถือโล่และกระบองหรือไม่ ส่วนตัวเขาเองมีปืนพก แต่ไม่ได้นำมาออกมาใช้

 

นัดสืบพยาน 18 กรกฎาคม 2555[7]

            พยาน

  1. พ.ต.ท. ธีรนันต์ นคินทร์พงษ์  กลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
  2. พยานจากกองพิสูจน์หลักฐานอีก 3 นาย

พยานที่มาในการสืบพยานครั้งนี้เป็นเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐาน เบิกความเกี่ยวกับการพิสูจน์หัวกระสุนที่พบในตัวนายพัน คำกอง โดยมีการเบิกความว่าหัวกระสุนที่พบในร่างนายพันนั้นเป็นกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มม.)  ซึ่งใช้กับปืนเล็กกลและไรเฟิลได้ เช่น M16, HK และทาโวร์ และเป็นกระสุนชนิดเดียวกับที่ใช้ในปืนของทหารที่นำส่งตรวจ แต่ลักษณะรอยตำหนิพิเศษของหัวกระสุนที่ยิงจากปืนที่ได้มีการส่งตรวจนั้น  ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นปืนกระบอกเดียวกับที่ใช้ยิงนายพันหรือไม่  โดยรอยตำหนินั้นในการยิงจากปืนแต่ละกระบอกนั้นจะไม่เหมือนกันตามลำกล้องของปืนแต่ละกระบอก แต่ลำกล้องปืนนั้นสามารถถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้และหากมีการเปลี่ยนลำกล้องปืนก็จะไม่สามารถยืนยันได้

พ.ต.ท. ธีรนันต์ นคินทร์พงษ์  ได้เบิกความว่า  การพิสูจน์เปรียบเทียบหัวกระสุนที่อยู่ในร่างผู้เสียชีวิตกับอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้ในการปฏบัติการในพื้นที่ดังกล่าว โดยหน่วยงานตรวจสอบได้รับมอบปืนกลเล็ก 5 กระบอก ของ ป.พัน.31 รอ.  ในวันที่ 1 มิ.ย. 54  จากพนักงานสอบสวนพญาไทอีกที โดยเขาได้บอกว่า “ปรากฎว่ากระสุนของกลาง ไม่ได้ใช้ยิงมาจากปืนทั้ง 5 กระบอกนี้”

อัยการได้มีการสอบถามถึงเหตุที่ไม่เหมือนกัน เขาได้ตอบว่า พิจารณาจากตำหนิรอยร่องเกลียว ซึ่งเกิดจากการที่กระสุนวิ่งผ่านลำกล้องปืน โดยแต่ละกระบอกนั้นตำหนิจะไม่ซ้ำกัน[8]  และลำกล้องปืนนั้นสามารถถอดเปลี่ยนได้ และได้ตอบอีกว่า กระสุนที่พบในร่างนายพันเป็นกระสุนปืนเล็กกล .223 ซึ่งสามารถใช้กับปืนเล็กกลและปืนไรเฟิลได้ เช่น  M16, HK และทาโวร์ เป็นต้น และกระสุนปืนที่พบนั้นสามารถใช้ยิงจากปืนของทหารที่นำมาส่งตรวจได้

ทนายได้มีการซักถามว่าปืนที่ใช้ก่อเหตุนั้นได้มีการเปลี่ยนลำกล้องก่อนส่งตรวจจะสามารถยืนยันว่ากระสุนนั้นมาจากปืนที่ส่งตรวจได้หรือไม่ เขาได้ตอบว่าไม่ได้เนื่องจากจะทำให้รอยตำหนิเปลี่ยนไป และศาลได้ถามว่าขณะยิงจะมีไฟออกที่ปากกระบอกปืนหรือไม่ เขาตอบว่ามีแต่ไม่มากเนื่องจากมีปล่องควบคุม

นัดสืบพยาน 24 กรกฎาคม 2555[9]

            พยาน

  1. พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม  ผู้เชี่ยวชายด้านอาวุธปืน ทำหน้าที่ตรวจสอบอาวุธปืน
  2. พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
  3. พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย กลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุนปืน สตช. ทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน
  4. พยานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานอีก 3 นาย (รอเช็ค)

พยานที่มาในวันนี้ได้มีการเบิกความว่าหัวกระสุนที่อยู่ในร่างนายพัน คำกองเป็นกระสุนปืนเล็กกล ทองแดงหุ้มเหล็กและตะกั่ว ขนาด .223(5.56 มม.) แบบ M 855 ซึ่งสามารถใช้กับปืนเล็กกล เช่น  M16 และทาโวร์ เป็นกระสุนชนิดเดียวกันกับที่อยู่ในร่างนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู่ที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์เดียวกัน รวมทั้งยังเป็นกระสุนชนิดเดียวกันที่ใช้กับปืนของเจ้าหน้าที่ทหารจาก ร.1 พัน 3 รอ และ ป.พัน 31 รอ. ที่พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ส่งมาให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจ

โดยลักษณะรอยตำหนิพิเศษของหัวกระสุนที่ถูกยิงจากลำกล้องของปืนที่ส่งตรวจนั้น ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นปืนกระบอกเดียวกันกับที่ใช้ยิงผู้ตาย เนื่องจากตำหนิจะเกิดจากลำกล้องปืนแต่ละกระบอกที่ไม่เหมือนกันแต่หากมีการเปลี่ยนลำกล้องเจ้าที่พิสูขน์หลักฐานยืนยันว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้

พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม ได้เบิกความว่าลำกล้องของเจ้าหน้าที่ว่าตัวลำกล้องไม่มีหมายเลขประทับ ไม่มีการตอกหมายเลข และการเปลี่ยนลำกล้องนั้นสามารถทำได้หากเจ้าหน้าที่ในภาคสนามมีความสามารถที่จะเปลี่ยนโดยการเปลี่ยนลำกล้องปืนนั้นใช้เวลาเพียง 15 นาที

ทนายได้ซัก พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก ถึงการยิงสกัดรถตู้ที่ไม่ได้หมายชีวิตกับการยิงเพื่อหมายชีวิตแตกต่างกันหรือไม่ เขาได้ตอบว่าแตกต่างกัน โดยการยิงที่ไม่ได้ต้องการเอาชีวิตจะยิงในส่วนที่ไม่สำคัญหรือยิงที่บริเวณล้อรถ  จากนั้นทนายได้นำรูปรถตู้ของนายสมรให้เขาดู พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ได้ตอบว่ารอยกระสุนบนรนั้นเชื่อได้ว่าเป็นการยิงซึ่งอาจจะมีผลต่อชีวิตได้

พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัยได้เบิกความว่าตามรูปถ่ายรถตู้จุดที่กระสุนเข้ามากที่สุดเป็นประตูด้านขวาฝั่งคนขับ  ทนายได้ถามว่าหากยิงเพื่อสกัดหยุดรถควรจะทำอย่างไร เขาได้ตอบว่าควรจะยิงที่ยางหรือห้องเครื่อง และศาลได้ถามอีกว่าการยิงมาที่ตำแหน่งคนขับตามภาพแสดงว่าอะไร เขาได้ตอบอีกว่า  “คิดว่ามีลักษณะที่คาดว่ายิงให้คนขับถึงแก่ชีวิต”

อัยการได้เปิดวิดีโอของนายคมสันติ ทองมาก อดีตช่างภาพเนชั่นแชนเนล ที่ถ่ายไว้เมื่อคืนวันที่ 14 พ.ค. 53 ให้พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ดู  และเขาได้เบิกความว่ามีความเป็นไปได้สูงว่ารถตู้คันดังกล่าวถูกยิงด้วยอาวุธสงคราม และศาลได้ถามว่าอะไรคืออาวุธสงคราม เขาอธิบายว่าคือปืนเล็กกล หรือเรียกว่า M16 และบอกในวิดีโอดังกล่าวมีทหารถือ M16 และปืนลูกซองด้วย

 

นัดสืบพยาน วันที่ 25 กรกฎาคม 2555[10]

            พยาน     

  1. พ.ต.ท.สมิต นันท์นฤมิตร  พนักงานสอบสวน สน.พญาไท
  2. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมต.ไอซีที ในช่วงเหตุการณ์เป็นเลขาธิการศูนย์ติดตามช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยของประชาชน(ศชปป.)

พ.ต.ท. สมิต นันท์นฤมิตร ได้เบิกความว่า วันเกิดเหตุหลังจากที่ผู้ตายนำรถแท็กซี่ไปส่งที่อู่ แล้วเดินกลับที่พัก แต่ไม่สามารถกลับได้จึงไปพักกับพนักงานรักษาความปลอดภัยที่คอนโดไอดีโอ  ขณะเกิดเหตุมีเสียงทหารประกาศเตือนห้ามรถตู้ของนายสมร ไหมทองที่ขับเข้ามาบริเวณนั้น  จากนั้นมีการยิงสกัดรถตู้ ทำให้นายพันที่อยู่บริเวณนั้นถูกยิงด้วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ผลการตรวจหัวกระสุนในร่างนายพัน คำกองและนายสมร ไหมทอง เป็นกระสุนปืนความเร็วสูง และทหารมีกระสุนชนิดนี้ใช้ พร้อมทั้งในพื้นที่เกิดเหตุอยู่ในการควบคุมของทหาร และจากการตรวจที่เกิดเหตุพบว่าแนวบังเกอร์ทหาร รถตู้นายสมรที่ถูกยิง และบริเวณสำนักงานขายคอนโดไอดีโอ ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ตายอยู่เป็นจุดที่แนววิถีตรงกัน พนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้เบิกความต่อศาลถึงการสรุปสำนวนคดีนี้ว่า นายพัน คำกองเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ยิงรถตู้นายสมร ไหมทอง แล้วพลาดไปโดน

พยานคนถัดมา น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เบิกความว่า ในการสลายการชุมนุมมีการใช้กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้าจำนวนมาก ซึ่งกระสุนจะตกกลับลงมาซึ่งกระสุนที่ตกลงมานั้นสามารถทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ และในระดับสากลนั้นการสลายการชุมนุมนั้นจะต้องมีการประกาศล่วงหน้าแต่ไม่มีการประกาศล่วงหน้า  ในวันที่ 10 เม.ย. 53 นั้น มีการใช้แก๊สน้ำตามาจากอากาศยาน(เฮลิคอปเตอร์) ลงมาในที่ชุมนุมที่มีคนจำนวนมากและไม่มีการประกาศเตือน ทั้งที่น้ำหนักของกระป๋องแก๊สน้ำตา ที่ตกลงมาก็มีความอันตราย

อัยการได้ถามถึงลำดับการบังคับบัญชาในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร น.อ.อนุดิษฐ์ได้อธิบายว่าจะต้องสั่งลงมาตามลำดับขั้นแม้สุดท้ายผู้บังคับกองพันจะเป็นคนสั่งให้พลทหารภายใต้สังกัดตัวเองบรรจุกระสุน แต่ผู้พันเองก็ไม่มีอำนาจไปสั่งให้ใครยิงได้จนกว่าผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่าจะสั่งการลงมาเพราะฉะนั้นในการปฏิบัติการทางทหารผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวคือผู้บังคับบัญชาที่สูงที่สุดในการกำกับดูแล อัยการได้ถามว่าผู้บังคับบัญชาสูงสุดในขณะนั้นคือใครเขาได้ตอบว่าถ้าดูคำสั่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถือเป็นผู้กำกับการปฏิบัติการ ซึ่งได้ถูกแต่งตั้งโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อัยการถามต่ออีกว่ากรณีแบบนี้นายกรัฐมนตรีจะพ้นความรับผิดชอบที่ได้จัดตั้ง ศอฉ.  แต่งตั้งผู้อำนวยการ ศอฉ. ได้หรือไม่ น.อ.อนุดิษฐ์ เบิกความว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ให้ภาระความรับผิดชอบในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แล้วการดำเนินการดังกล่าวแล้วไม่สามารถทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ตั้งแต่ 10 เม.ย. ถึง 19 พ.ค.53 ดังนั้นนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ทนายได้สอบถามในประเด็นนี้ต่อว่าถึงรัฐบาลขณะนั้นได้มีการพยายามหยุดยั้งการตายและเจ็บหรือไม่ เขาได้ตอบว่า ยังคงมีอย่างต่อเนื่องภายหลังจาก 110 เม.ย. 53 เพราะรัฐบาลขณะนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารและอาวุธ

น.อ.อนุดิษฐ์ ยังได้เบิกความถึงการสลายการชุมนุมในปี 2552 ที่นำมาสู่การบาดเจ็บ  ในภายหลังเหตุการณ์ทางสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของแต่ละคณะกรรมาธิการ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการใช้กำลังในช่วงตี 2 – 3 ของวันที่ 12 เม.ย.52 ที่เข้าสลายการชุมนุมผู้ชุมนุมที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และผลักดันที่ทำเนียบรัฐบาลภายหลังนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมาธิการทุกชุดที่ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้สรุปการสลายการชุมนุมในเวลากลางคืนโดยกำลังทหารและอาวุธสงคราม กระสุนจริง ไม่สามารถทำได้ จะสลายได้เฉพาะเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นจนตก ส่วนการใช้กระสุนจริงจะกระทำไม่ได้

น.อ.อนุดิษฐ์ได้เบิกความว่าในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน พ.ค.53 เขาและส.ส.หลายคนได้มีการใช้ช่องทางสื่อสารของรัฐบาลทั้งทีวีและวิทยุ เช่น ช่อง 3 และช่อง 11 ให้ฝ่ายค้านได้ทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้การสถานการณ์คลี่คลายแต่ถูกปฏิเสธ  ทนายได้ถามความเห็นเขาว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณมักอ้างถึงชายชุดดำยิงผู้ชุมนุมหรือผู้ชุมนุมยิงกันเอง เขาได้ตอบว่า “จะเกิดจากชายชุดดำอย่างไรเป็นเรื่องที่รัฐบาลขณะนั้นต้องพิสูจน์ แต่หน้าที่ของรัฐบาลต้องปกป้องประชาชน ไม่ใช่นำเอาอาวุธมาดำเนินการกับประชาชน”

ศาลได้ถามน.อ.อนุดิษฐ์เกี่ยวกับวิดีโอที่ถ่ายโดยนายคมสันต์ ทองมาก ว่ามีชายชุดดำหรือไม่ เขาได้ตอบว่าเป็นไปไม่ได้ ในทางการทหารพื้นที่นั้นได้ถูก “สถาปนาพื้นที่” ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีแต่กำลังทหาร การวางกำลังนั้นจะไมได้มีการวางเพียงแนวเดียวแต่จะมีการวางกำลังแนวหน้า รวมไปถึงแนวหลัง แนวสนับสนุน เป็นต้น เพราะฉะนั้นแนวปะทะแบบในวิดีโอ ตรงนั้นจะเป็นส่วนแนวหน้า เพราะฉะนั้นในแนวอื่นจะไม่อนุญาตให้ชายชุดดำมาอยู่ร่วมกับแนวหน้าได้เลย ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้

 

นัดสืบพยานวันที่ 21 สิงหาคม 2555(เลื่อน)[11]

            พยาน

  1. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี
  2. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ เป็นผอ.ศอฉ. ในช่วงสลายการชุมนุม

ไม่มีการสืบพยานเนื่องจากมีการขอเลื่อนนัด 15 วัน โดยนายสุเทพอ้างว่าหมายศาลที่ส่งมาให้นั้นส่งมาให้กระชั้นชิดเกินไปโดยเขาได้รับหมายเรียกเมื่อวันที่ 15-16 ส.ค. 55  จึงทำให้เตรียมข้อมูลไม่ทัน

นัดสืบพยานวันที่ 28 สิงหาคม 2555(เลื่อน)[12]

            พยาน 

  1. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.
  2. พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 1

ไม่มีการสืบพยาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขอเลื่อนเนื่องจากติดภารกิจ ส่วนพล.อ.คณิต สาพิทักษ์ขอเลื่อนเพราะต้องไปดูงานต่างประเทศ  ทนายได้กล่าวด้วยว่ายังคงติดใจอยู่จากการขอเลื่อนดังกล่าว เนื่องจากพยานซึ่งขอหมายเรียกไปนั้นก็เพื่อต้องการได้ข้อเท็จจริงจากพยานแต่ละปาก ซึ่งถ้าพยานแต่ละปากมา ก็จะได้ทราบว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อย่างไร แต่ศาลก็เห็นว่า การไต่สวนข้อเท็จจริงที่ผ่านมามีข้อมูลเพียงพอที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคดี (การเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐ) ได้แล้ว

 

นัดสืบพยานวันที่ 30 สิงหาคม 2555[13]

            พยาน

  1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและเป็นผอ.ศอฉ. ในช่ววงสลายการชุมนุม
  2. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมันตรี
  3. พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ มีตำแหน่ง รักษาการ ผบ.ตร. ในขณะนั้น

พยานปากแรก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เบิกความว่า เมื่อมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ได้ตั้งเวทีที่ผ่านฟ้า และยึดถนนราชดำเนิน นายกรัฐมนตรีจึงใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ตั้ง ศอรส.  โดยได้รับการอนุมัติจาก ครม.  เพื่อคลี่คลายสถานการณ์แต่ต่อมาผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ คุกคามการใช้ชีวิตโดยสงบของประชาชนทั่วไป มีการก่อเหตุร้าย ยิงปืน M 79 ระเบิดชนิดขว้าง ใส่สถานที่ราชการและเอกชน จนเกิดความหวาดหวั่น ปลุกระดมด้วยข้อความที่ทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลและสถาบันอันเป็นที่เคารพ   และหลังจากผู้ชุมนุมบุก ก.ก.ต.และรัฐสภา พร้อมด้วยอาวุธ และเข้ายึดอาวุธจากเจ้าหน้าที่ ครม.จึงเห็นชอบประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เมื่อ 7 เมษายน 2553 พร้อมมอบหมายให้เขาเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. เพื่อป้องกันเหตุร้าย คลี่คลายสถานการณ์ให้ปกติสุข และดำรงไว้ซึ่งอำนาจรัฐและความมั่นคงปลอดภัยของบ้านเมือง

นายสุเทพ เบิกความต่อว่า ศอฉ.มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการระดมกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร เพื่อป้องกันยับยั้งเหตุร้าย โดยสายบังคับบัญชายังมีอยู่ตามปกติ   ทั้งนี้เขายืนยันว่า ศอฉ.ไม่เคยมีคำสั่งสลายการชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียว โดยตลอดเวลา 2 เดือนครึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นการแก้ไขตามสถานการณ์ในแต่ละเวลา เช่น เมื่อ นปช.ตั้งเวทีที่ผ่านฟ้า และยึดราชดำเนินทั้งสาย ทั้งยังยึดสี่แยกราชประสงค์ ก่อให้เกิดปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ อย่างรุนแรง ศอฉ.จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผลักดันผู้ชุมนุม เพื่อขอคืนพื้นที่บางส่วน เพื่อแก้ปัญหาจราจรตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และการผลักดันผู้ชุมนุม ไม่ใช่การสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังบังคับให้เลิกโดยเจ้าหน้าที่ แต่เป็นการดันให้ผู้ชุมนุมถอยร่น เพื่อคืนพื้นที่บางส่วนสำหรับใช้ในการจราจร

นายสุเทพได้เบิกความอธิบายการปฏิบัติการในวันที่ 10 เมษายน เอาไว้ว่า ศอฉ. มีคำสั่ง 1/53 ระบุวิธีปฏิบัติในการควบคุมฝูงชน โดยสาระสำคัญในการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอยู่ในภาคผนวก 9 ว่าด้วยการใช้กำลัง ซึ่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามหลักสากล ตั้งแต่ โล่ กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง และปืนลูกซองกระสุนยาง ซึ่งมีการแจ้งให้ประชาชนและผู้ชุมนุมทราบโดยตลอด ทั้งนี้ รับว่าหนังสือดังกล่าวประทับตรา “ลับมาก” ไม่เผยแพร่สู่ประชาชนตามระเบียบของราชการ แต่ ศอฉ.และรัฐบาลก็ได้ชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยตลอด   ในส่วนของการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ในแถวหน้าจะให้ถือโล่ กระบอง แถวถัดมาเป็นรถฉีดน้ำ และปืนลูกซอง  มีการอนุญาตให้มีอาวุธปืนเล็กยาวได้ไม่เกิน 10 คนต่อหน่วย โดยคนถือจะต้องเป็นผู้บังคับหมู่ขึ้นไป เพื่อใช้ป้องกันหน่วย หรือประชาชนกรณีมีเหตุร้าย ซึ่งเป็นปกติที่กำหนดไว้ในกฎการใช้กำลัง  แต่มีคำสั่งกำชับชัดเจนให้ใช้เมื่อพบผู้กระทำผิดซึ่งหน้า และจะเกิดอันตรายถึงชีวิตแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน

ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ปฏิบัติการเริ่มในเวลา  13.00 น. และหยุดเมื่อ 18.15 น. เนื่องจากเห็นว่าใกล้ค่ำจึงให้ทุกหน่วยหยุด ณ จุดที่ไปได้ถึง แต่ปรากฎว่ามีผู้ชุมนุมล้อมรถพาหนะของเจ้าหน้าที่และแย่ง M16 ทาโวร์ ไปจำนวนมาก แกนนำมีการปลุกระดม เกิดการปะทะด้วยความรุนแรงขึ้น และเนื่องจากมีลม ทำให้แก๊สน้ำตาจากพื้นดินไม่ได้ผล ศอฉ. จึงสั่งให้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิวและแก๊สน้ำตาทางอากาศ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงเจ้าหน้าที่ เมื่อถึงเวลาทุ่มเศษ มีกองกำลังชุดดำใช้อาวุธสงครามยิงใส่เจ้าหน้าที่และประชาชน มีผู้บาดเจ็บล้มตาย เมื่อศอฉ. สั่งถอนกำลัง ปรากฎว่ามีการปิดล้อมเจ้าหน้าที่ ใช้ M79 และปืนเล็กยาว ยิงใส่เจ้าหน้าที่ รวมถึงใช้ระเบิดขว้าง ศอฉ.จึงอนุญาตให้ใช้อาวุธปืนยิงขู่เพื่อป้องกันตนเองได้ แต่ก็ไม่สามารถจับชายชุดดำได้แม้แต่คนเดียวเนื่องจากเข้าไม่ถึงตัวและปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม

แต่มีตำรวจสายตรวจของนครบาลสามารถแย่งชิงอาวุธจากชายชุดดำได้ 1 ราย เป็น M79 มา หลังเหตุการณ์ 10 เมษายน ได้มีการกำหนดมาตราการป้องกันการสูญเสียและบาดเจ็บ เช่น ให้เจ้าหน้าที่ตั้งหน่วยอยู่กับที่ รักษาระยะห่างอย่างน้อย 150 ม. ด่านตรวจมีที่กำบัง และเขาปฏิเสธว่า ไม่มีการอนุญาตให้มีการซุ่มยิง เพราะไม่มีเจตนาทำร้ายประชาชน การอนุมัติใช้อาวุธมีลำดับขั้นตอนตามความรุนแรงของสถานการณ์โดยหลังเกิดเหตุ 10 เม.ย. ได้อนุญาตให้ใช้ปืนลูกซองกระสุนลูกปราย เพื่อระงับเหตุและไม่ประสงค์ชีวิตประชาชน โดยต้องเล็งยิงในระดับต่ำกว่าเข่าลงไป ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตามถนน ได้ถูกผู้ก่อการร้ายใช้อาวุธสงครามโจมตี จึงอนุญาตให้มีปืนเล็กยาวป้องกันตัวจากนั้นเมื่อผู้ก่อการร้ายซุ่มยิงจากตึกสูง จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่สูงข่มรอบบริเวณเพื่อไม่ให้มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้

นายสุเทพได้เบิกความถึงกรณีการเสียชีวิตของนายพัน คำกองว่าจากการสอบถามคณะตัวแทนของ พล.ร.1 เพื่อชี้แจงต่อสภาหลังเหตุการณ์ ได้ข้อมูลว่า เช้ามืดวันที่ 15 พ.ค. มีรถตู้ฝ่ามาบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ มีการโจมตีชุลมุน ไม่รู้ใครเป็นใคร เมื่อเหตุสงบพบผู้เสียชีวิต 2 ราย รายหนึ่งคือนายพัน คำกอง เสียชีวิตใกล้บังเกอร์เจ้าหน้าที่แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่ อีกรายคือเด็กชายคุณากร (ศรีสุวรรณ)  ซึ่งถูกยิงในซอยข้างโรงหนัง นอกวิถีกระสุนของเจ้าหน้าที่ และเมื่อทนายได้เปิดภาพรถตู้ที่มีรอยกระสุนบริเวณกระจกข้าง เขาได้ตอบว่า ไม่ทราบว่าใครเป้นคนยิง แต่เจ้าหน้าที่จะยิงแบบนี้ไม่ได้

อัยการซักถามถึงเรื่องชายชุดดำ นายสุเทพได้เบิกความว่า ชายชุดดำปรากฎชัดเจนในช่วงค่ำของวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งมีการขอคืนพื้นที่โดยจากเหตุทั้งหมดมีที่จับกุมได้บางส่วน และส่งให้ดีเอสไอดำเนินคดีก่อการร้าย

และมีการเปิดวิดีโอของช่างภาพเนชั่น ศาลได้ถามว่าในคำสั่งของ ศอฉ. เกี่ยวกับการใช้อาวุธระบุว่าห้ามใช้ปืนยิงอัตโนมัติ แต่ในคลิปดังกล่าวมีเสียงปืนอัตโนมัติ ผิดหรือไม่ นายสุเทพตอบว่า ในภาพไม่เห็นว่าใครยิง และมีปืนกี่กระบอก ได้ยินแต่เสียง อาจจะเป็นการยิงพร้อมๆ กันก็ได้

พยานปากที่สอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  เบิกความยืนยันว่าไม่มีการสั่งให้สลายการชุมนุม ก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและขอคืนพื้นที่  รัฐบาลได้ขอให้ศาลแพ่งวินิจฉัยว่ากระทำได้เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้มีหลักการปฏิบัติตามความเหมาะสมและจำเป็น แต่เขากล่าวต่อมาว่าไม่ทราบรายละเอียดการปฏิบัติและไม่ทราบว่าในการปฏิบัติจริง มีการทำคำสั่งหรือไม่ แต่มีรายงานว่าได้ดำเนินตามนโยบายที่ให้ไว้

เขาได้กล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. เอาไว้ว่า ขณะที่มีการปฏิบัติการอยู่ยังไม่มีรายงานการเสียชึวิต จนเมื่อมีการหยุดปฏิบัติการในช่วงใกล้ค่ำ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ถูกโอบล้อม และมีการใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่   จึงมีการรายงานการสูญเสียครั้งแรก  และตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. มีรายงานว่ามีผู้ติดอาวุธโจมตีเจ้าหน้าที่ที่ด่านรอบที่ชุมนุม โดยมีการลำเลียงอาวุธจากในที่ชุมนุม

แต่เขาได้กล่วถึงการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นว่ายังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากยังไม่มีรายงานว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยยกตัวอย่าง เช่น การเสียชีวิตจาก M79 ว่าไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไมได้มีการใช้ M79  ส่วนการเสียชีวิตที่เกิดจากการยิง ต้องรอสอบสวนเนื่องจากมีการปล้นอาวุธของเจ้าหน้าที่และนำไปใช้ และทราบว่ามีกลุ่มติดอาวุธในผู้ชุมนุมจากวิดีโอ ได้มีการดำเนินคดีไปแล้วบางส่วนแต่เขาจำรายละเอียดไม่ได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าได้พยายามเจรจากับแกนนำ นปช. หลายครั้ง มีการประกาศแผนปรองดอง กำหนดวันยุบสภา แต่แกนนำไม่ยอมยุติการชุมนุมและเปลี่ยนเงื่อนไขการเจรจา รัฐบาลจึงมีนโยบายกระชับวงล้อมเพื่อกดดันให้ยุติการชุมนุมโดยไม่สลายการชุมนุม เช่นเดียวกับการชุมนุมในปี 2552 และเขาได้ปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าใครสั่งให้เคลื่อนพลใช้กำลังพร้อมอธิบายว่าการใช้คำว่าขอคืนพื้นที่ เป็นการอธิบายตามความจริง ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงคำว่าสลายการชุมนุม โดยวันนั้นขอคืนพื้นที่สวนลุมพินี การชุมนุมที่ราชประสงค์ก็ยังทำได้ แต่ถ้าเป็นการสลายการชุมนุมจะไม่เป็นเช่นนั้น

เขาได้เบิกความถึงเหตุการณ์ในวัดปทุมฯ เอาไว้ว่ามีการโทรขอความช่วยเหลือจากนักข่าว นสพ. อินดิเพนเดนท์ กับทางรัฐบาล  แต่หน่วยพยาบาลที่เข้าไปถูกซู่มยิง และมีการรายงานอย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าชายชุดดำในวัดปทุมฯ มีการต่อสู้ ข่มขู่ทวงหนี้กันด้วย

พยานคนสุดท้าย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เบิกความว่าหลังการประกาศ พรก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอฉ. ซึ่งในการประชุม ศอฉ. มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณนั่งอยู่ในการประชุมด้วยทุกครั้งตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุม  มีการให้ตำรวจหาข่าวตลอด ทั้งตำรวจในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ   ในช่วงแรก มีการใช้ตำรวจ 70 กองร้อย กองร้อยละ 155 คน โดยจะขึ้นตรงต่อกองทัพภาคที่ 1 ต่อมาหลัง 14 พ.ค. ได้เปลี่ยนมาขึ้นตรงกับ ศอฉ. เนื่องจากมีการชุมนุมในต่างจังหวัดด้วย แต่ความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 1 อยู่แค่ในกรุงเทพฯจึงต้องเปลี่ยนไปขึ้นกับ ศอฉ. แทน

เขาได้เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 10 เม.ย.53 ว่า  ตนเองไม่ทราบว่าใครควบคุมการสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ แต่ทราบว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายยุทธการของทหาร โดยจะจัดกำลังเป็น 3 ชั้น  ชั้น 2 และ 3  เป็นกำลังตำรวจ ส่วนชั้นแรกจะเป็นของหน่วยงานอื่น และไม่ทราบถึงรายละเอียดการใช้กำลังและวิธีปฏิบัติ เนื่องจากตนเองดูแลนโยบายเท่านั้น  ในส่วนของราชประสงค์กำลังเป็นของฝ่ายทหารไม่ทราบว่าฝ่ายใดปิดล้อม โดยกำลังตำรวจนั้นยังอยู่ชั้นที่ 2-3 เหมือนเดิม

ส่วนอาวุธที่ตำรวจใช้ในวันที่ 10 เม.ย. นั้นมีเพียงโล่ กระบองเท่านั้นไม่มีอาวุธอื่น จนในช่วงหลังมีการอนุญาตให้พกปืนพกได้ เนื่องจากมีตำรวจเสียชีวิต 2 นาย จากการโดนยิงที่ท้อง 1 นาย และ M79 1 นาย  นอกจากนี้ ศอฉ. ให้เจ้าพนักงานใช้ปนลูกซอง และปืนเล็กยาวเพื่องป้องกันตนเองได้ โดยสมควรแก่เหตุ โดยมีการทำหนังสือย้ำหลักปฏิบัติตลอด

ส่วนการเสียชีวิตนั้นเขาไม่ทราบถึงรายงานการเสียชีวิต รวมถึงนายพัน คำกอง ที่จัดทำโดยตำรวจนครบาล พญาไท และเขายังกล่าวอีกว่าโดยปกติเมื่อเกิดการเสียชีวิตจะต้องเข้าไปตรวจสอบโดยเร็วแต่พนักงานสอบสวนไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากติดรั้วลวดหนาม และมีการปะทะกัน  ต่อมาจึงได้ไปที่โรงพยาบาลพญาไทที่ศพตั้งอยู่

เขายังกล่าวอีกว่า หากมีการสลายการชุมนุมโดยตำรวจจะต้องได้รับรายงาน แต่ที่ผ่านมาไม่พบกรณีเจ้าหน้าที่ถูกลงโทษทางวินัยจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หากมีการทำเกินกว่าเหตุ เขาในฐานะผบ.ตร. เจ้าพนักงานตำรวจผู้ที่กระทำจะต้องรับผิดชอบ

 

ศาลออกคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ วันที่ 17 กันยายน 2555[14]

ศาลได้มีคำสั่งว่าผู้ตาย นายพัน คำกอง ตายที่หน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียม ชื่อไอดีโอ ตอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กทม. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 เวลาก่อนเที่ยงคืน เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223(5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตายในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของ ศอฉ.

อ่านคำสั่งศาลการไต่สวนการตายของพัน คำกอง

 


[4] การยิงต่อเนื่องของกระสุนแบลงค์จะสามารถทำได้โดยการติดอแดปเตรอ์ที่ปลายปากกระบอกปืนเท่านั้น แต่จากภาพและคลิป ที่เห็นไม่มีการติดอแดปเตอร์ดังกล่าวทั้งตอนตั้งแถวในช่วงกลางวันและขณธเกิดการยิงในช่วงกลางคืน แต่การยิงนั้นเป็นการยิงต่อเนื่อง ซึ่งจะทำได้จะต้องเป็นกระสุนจริงเท่านั้น

[8] การพิสูจน์จะทำโดยการนำปืนที่ส่งพิสูจน์ไปทดลองยิง แล้วนำหัวกระสุนมาเปรียบเทียบรอยตำหนิ ซึ่งลำกล้องของปืนแต่ละกระบอกจะมีการเซาะร่องเกลียวเอาไว้เพื่อทำให้กระสุนหมุน ซึ่งเกลียวที่ว่านี้จะทำให้เกิดรอยบนหัวกระสุนที่ยิงออกไป ซึ่งลำกล้องแต่ละอันจะมีร่องเกลียวที่แตกต่างกันไป  และลำกล้องนี้เป็นอะไหล่ 1 ชิ้นในปืน ซึ่งสามารถทำการถอดเปลี่ยนได้ เมื่อเปลี่ยนแล้วกระสุนที่ยิงออกจากปืนกระบอกเดียวกันแต่มีการเปลี่ยนลำกล้อง ก็จะมีตำหนิต่างไปอีก

 

10 เมษายน 2553 – กลางวัน

รูป

[print_gllr id=6724]

[print_gllr id=6811]

[print_gllr id=6892]

[print_gllr id=6973]

[print_gllr id=7054]

[print_gllr id=7135]

[print_gllr id=7217]

วัดปทุมฯ ทหารบนรางวัดปทุมฯ

รูป

ภาพจากกล้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ซึ่งถ่ายจากอาคารในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภาพจะมาจาก 2 กล้อง

 

[print_gllr id=6607]