แผนที่ผู้เสียชีวิตวันที่ 14 พฤษภาคม 2553: บ่อนไก่-พระรามสี่

กดที่ร่างผู้เสียชีวิตเพื่ออ่านรายละเอียดรายบุคคล

พื้นที่ที่วิกฤติที่สุดแห่งหนึ่งก็คือบริเวณชุมชนบ่อนไก่ ซึ่งตกอยู่ระหว่างกลางของกลุ่มผู้ชุมนุมกับฝ่ายรัฐบาลโดยวันที่ 14 พฤษภาคม ได้เริ่มปิดถนนพระราม 4 มีกองกำลังทหารมาตั้งที่บริเวณคอสะพานไทย –เบลเยียม แยกถนนวิทยุเพื่อป้องกันมวลชนฝ่ายเสื้อแดงเข้าไปที่สีลมหรือราชประสงค์ ขณะที่ฝ่าย นปช. ก็ได้วางแนวหน้าถนนพระราม 4 หน้าธนาคารกรุงเทพกับธนาคารไทยพาณิชย์ และบริเวณใต้ทางด่วนกับย่านคลองเตย หลังจากเริ่มถูกตัดน้ำตัดไฟ ชาวชุมชนบ่อนไก่เริ่มออกจากชุมชนประมาณร้อยละ 80 เหลือเพียงร้อยละ 20 ที่ยังคงอยู่ในชุมชนและรับรู้ถึงการปะทะ ซึ่งประชาชนรายหนึ่งให้ความเห็นว่า “เหมือนอยู่ในสงคราม” เพราะเสียงปืนดังตลอด แต่ไม่สามารถแยกแยะว่าเป็นกระสุนปืนหรือเสียงจากประทัด และมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องในกลุ่มผู้ชุมนุมกับแนวทหารที่พยายามกระชับพื้นที่ แนวต้านชุมชนบ่อนไก่บนถนนพระราม4 เป็นจุดวิกฤติที่สำคัญ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 4 คน คือ นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง (เสียชีวิตภายหลังเหตุการณ์), นายอินแปลง เทศวงศ์, นายบุญมี เริ่มสุข (เสียชีวิตภายหลังเหตุการณ์) และนายเสน่ห์ นิลเหลืองถูกยิงเสียชีวิต

อ่านเพิ่มเติมในรายงาน ศปช บทที่ 3.1: ความตายที่สวนลุมพินี-บ่อนไก่

แผนที่ผู้เสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2553: วัดปทุมวนาราม และห้างเซ็นทรัลเวิลด์

กดที่ร่างผู้เสียชีวิตเพื่ออ่านรายละเอียดรายบุคคล

ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2553 มีการประกาศให้วัดปทุมวนารามเป็นเขตอภัยทาน ผู้ชุมนุมที่ไม่ยังไม่สามารถกลับภูมิลำเนาได้เข้าหลบพักในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการชั่วคราว ระหว่างนั้นฝ่ายทหารได้ปิดล้อมพื้นที่แยกราชประสงค์ทั้ง 4 ทิศ หน่วยทหารที่อยู่ใกล้กับวัดมากที่สุดคือ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ. ร. 31 พัน 2 รอ.) ประจำอยู่บนถนนพระราม 1 และมีกองพันรบพิเศษที่ 1 กรมรบพิเศษ ที่ 1 2 และ 3 จากจังหวัดลพบุรี ประจำอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งวางกำลังอยู่บริเวณสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และกองพลทหารราบที่ 9 จากทางด้านเพลินจิตจนมาถึงแยกราชประสงค์

วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทหารเข้าทำการสลายการชุมนุม มีประชาชนเสียชีวิต 6 ราย ภายในวัดปทุมวานาราม และ 1 ราย ภายในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ จากสาเหตุขาดอากาศหายใจจากเหตุเพลิงไหม้

อ่านเพิ่มเติมในรายงาน ศปช บทที่ 3.3 ความตายที่ราชประสงค์/วัดปทุมวนาราม

 

แผนที่ผู้เสียชีวิตวันที่ 13 พฤษภาคม 2553: ศาลาแดง-สาธร

กดที่ร่างผู้เสียชีวิตเพื่ออ่านรายละเอียดรายบุคคล

ความตายที่ศาลาแดงในวันที่ 13 พฤษภาคม

เมื่อการชุมนุมของ นปช. ดำเนินมาต่อเนื่องจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม ในที่ประชุม ศอฉ. ในตอนเช้าของวันที่ 13 พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด แถลงว่า ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ศอฉ. จะทำการปิดล้อมสกัดกั้นพื้นที่รอบแยกราชประสงค์เพื่อกดดันให้ผู้ชุมนุมต้องออกจากพื้นที่ และจะมีการตัดระบบสาธารณูปโภคทุกชนิด ได้แก่ น้ำประปา ไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์ร่วมด้วย นอกจากนี้ พันเอกสรรเสริญยังกล่าวถึงการนำรถหุ้มเกราะมาใช้ว่าไม่ได้นำมาเป็นอาวุธทำร้ายผู้ชุมนุมแต่เป็นการนำมาเพื่อป้องกันการก่อเหตุของกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมและอาจฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ และหากกลุ่มผู้ก่อการร้ายยังพยายามสร้างความรุนแรง ทางเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้อาวุธในการควบคุม โดยจะมีการใช้กระสุนจริงหากมีความจำเป็น แต่จะเป็นการยิงทีละนัดเพื่อป้องกันเท่านั้น และเมื่อถึงเวลา 18.00 น.ปฏิบัติการของ ศอฉ. ก็ได้เริ่มขึ้น ในวันเดียวกันนี้มีผู้เสียชีวิต 2 คน คือพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล และนายชาติชาย ซาเหลา

อ่านเพิ่มเติมในรายงาน ศปช บทที่ 3: ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตและความรุนแรง พฤษภา 53

 

แผนที่ผู้เสียชีวิต วันที่ 10 เมษายน 2553 (ปฎิบัติการ “ขอคืนพื้นที่”)

กดที่ร่างผู้เสียชีวิตเพื่ออ่านรายละเอียดรายบุคคล

ปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่”

แม้ว่าก่อนหน้าวันที่ 10 เมษายน นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะประกาศให้ นปช. ถอนการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ แล้วให้กลับไป “ใช้สิทธิตามรัฐะรรมนูญ” ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ จุดเดียว ซึ่งทำให้ ณ เวลานั้น คนเสื้อแดงได้เร่งระดมมวลชนส่วนใหญ่ไปตรึงพื้นที่ไว้ที่ราชประสงค์ เนื่องจากพวกเขาประเมินกันว่า ศอฉ. กำลังจะเข้าสลายการชุมนุมในบริเวณดังกล่าว แต่ปรากฏว่า ในวันที่ 10 เมษายน 2553 นายอภิสิทธิ์กลับสั่งการให้ ศอฉ. ปฏิบัติการสลายการชุมนุมที่บริเวณผ่านฟ้าแทนโดยไม่มีการแจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุมทราบล่วงหน้า

จากสำเนาเอกสารคำสั่งปฏิบัติการ ศอฉ. ในวันที่ 10 เมษายน ที่ถูกนำมาเผยแพร่เมื่อกลางปี 2554 โดยกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มทหารตำรวจเพื่อประชาธิปไตย 2554” ทำให้ทราบว่า ในวันนั้น นายกฯ อภิสิทธิ์ ได้สั่งการ ศอฉ. “ทำการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่และพื้นผิวการจราจรบริเวณสะพานผ่านฟ้าและพื้นที่ใกล้เคียง ตั้งแต่ 10 เม.ย. 53 เวลา 13.30 เป็นต้นไป” โดย ศอฉ. ได้จัดกำลังเพื่อปฏิบัติภารกิจจำนวนมากกว่า 70 กองร้อย

อ่านต่อใน รายงาน ศปช. บทที่ 2: ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตและความรุนแรง เมษา 53

แผนที่ผู้เสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2553: อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

กดที่ร่างผู้เสียชีวิตเพื่ออ่านรายละเอียดรายบุคคล

แผนที่ผู้เสียชีวิตวันที่ 14 พฤษภาคม 2553: แยกจตุรทิศ

ในคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 บริเวณแยกมักกะสัน มีทหารประจำการอยู่ 3 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 หน้าโรงแรมอินทรา ประจำการในลักษณะใช้รั้วลวดหนามกั้นถนนและติดป้ายพื้นที่กระสุนจริง; จุดที่ 2 บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ประจำการอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นทั้งสองฝั่งถนน ตัวสถานีที่อยู่เหนือพื้นผิวจราจรและมีบังเกอร์ขนาดเล็กอยู่ฝั่งตะวันตก ตั้งกำแพงน้ำพลาสติกจราจร (สีส้ม) เป็นเครื่องกีดขวางในแถวแรกประมาณสามในสี่ของผิวจราจร แถวที่ 2 เป็นลวดหนามเต็มผิวการจราจรและมีกรวยยางขนาดเล็กปิดไว้อีกชั้นหนึ่ง รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านไปมาได้; และจุดที่ 3 แยกจตุรทิศ ประจำการในลักษณะเป็นบังเกอร์ขนาดใหญ่ปิดการจราจรครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการวางกำลังทหารบนสะพานลอยหน้าโรงแรมอินทราอีกด้วย

ในบริเวณนี้ มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 4 ราย หนึ่งในนั้นคือ เด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ อายุ 12 ปี ซึ่งพยานในเหตุการณ์พบเด็กคนนี้อยู่บริเวณด่านทหารใต้แอร์พอร์ตลิ้งค์

อ่านต่อในรายงาน ศปช บทที่ 3.2: ความตายที่ราชปรารภ