บันทึกไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายฟาบิโอ โปเลงกี

คดีหมายเลขดำที่ : ช.10/2555  วันที่ฟ้อง : 01/05/2555

โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4

ผู้เสียชีวิต : นายฟาบิโอ โปเลงกี

คดี : ชันสูตรพลิกศพ

 

นัดสืบพยานวันที่ 23 กรกฎาคม 2555[1]

          พยาน พ.ต.อ.สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 6 (รอง ผบก.น.6) และหัวหน้าพนักงานสอบสวน

พ.ต.อ. สืบศักดิ์ เบิกความว่า หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ รับคดีของนายฟาบิโอ โปเลงกีเข้าเป็น 1 ใน 16 สำนวนที่เชื่อว่าเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อปลายปีที่แล้ว ตนได้เป็นเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว และสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากดีเอสไอ และ สน. ปทุมวัน

โดยพบว่า นายฟาบิโอเสียชีวิตในช่วงกลางวันของวันที่ 19 พ.ค. 53 ที่บริเวณแยกราชดำริ ระหว่างเข้าไปทำข่าวการชุมนุม ขณะนั้นทหารกำลังเคลื่อนมาทางแยกราชดำริ โดยมีผู้ชุมนุม และผู้สื่อข่าวอยู่บริเวณดังกล่าว มีการใช้อาวุธปืนยิงมาเป็นระยะๆ มาทางด้านผู้ชุมนุม  ผู้พิพากษาได้ถาม พ.ต.อ.สืบศักดิ์ว่า “ยิงตรงขึ้นฟ้า หรือยิงแนวระนาบ” พ.ต.อ.สืบศักดิ์ตอบว่า “ยิงแนวราบ” และให้การต่อว่า

“ผู้เสียชีวิตกำลังถ่ายภาพ และวิ่งหลบอันตราย ทั้งหนี ทั้งถ่ายภาพด้วย ในลักษณะก้มตัวเล็กน้อย จากสี่แยกราชดำริมายังสี่แยกราชประสงค์ โดยหันหลังให้กับฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้อาวุธปืน และถูกกระสุนจึงล้มลงบริเวณบริษัทสายไฟฟ้าบางกอกเคเบิล ใกล้กับแยกราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ลูกปืนเข้าที่ด้านหลัง ด้านขวา 1 นัด ทะลุออกหน้าอกด้านซ้าย แล้วล้มลงติดกับเกาะกลางด้านบริษัทดังกล่าว ผู้ชุมนุมจึงพาซ้อนรถจักรยานยนต์ไปยังโรงพยาบาลตำรวจ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา” พ.ต.อ.สืบศักดิ์กล่าวต่อศาล

พ.ต.อ. สืบศักดิ์เบิกความอีกว่า ในช่วงการสลายชุมนุมซึ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและอยู่ภายใต้การสั่งการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอ.ฉ) แล้วนั้น บริเวณแยกราชประสงค์- ราชดำริ มีทหารจากกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ (ม.พัน.3 รอ.) กำลังพล 300 นาย ผู้บังคับบัญชาคือ พ.ท.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ (หมายเหตุ – ยศในขณะนั้น ปัจจุบันเลื่อนยศเป็น พ.อ. ตำแหน่ง เสธ.ม.1 รอ.) โดย ม.พัน.3 รอ. อยู่ภายใต้กรมทหารม้าที่ 1 กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์และในวันที่ 19 พ.ค.53 กำลังพลจาก ม.พัน.3 รอ. ได้เข้าควบคุมพื้นที่และขอคืนพื้นที่บริเวณถนนราชดำริ มีการใช้รถหุ้มเกราะนำทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ มีการใช้ ปืน HK (ปืนชนิด Heckler & Koch 33 หรือ ปลย.11) ปืนลูกซอง ปืนสั้น มีการใช้กระสุนยาง กระสุนซ้อมรบ กระสุนจริง และแก๊ซน้ำตาชนิดขว้างในการปฏิบัติการดังกล่าว

เมื่ออัยการซักถามพยานถึงสาเหตุการตายของนายฟาบิโอ พ.ต.อ. สืบศักดิ์กล่าวว่า น่าจะเป็นกระสุนปืนจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามคำสั่ง และการตั้งข้อสันนิษฐานดังกล่าว มาจากการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง 47 ปาก ทั้งผู้เชี่ยวชาญ พยานแวดล้อม เอกสารนิติเวชศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาพถ่ายและคลิปวีดีโอจากนักข่าวต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่ออัยการถามถึงชนิดของลูกกระสุนปืน เขาไม่สามารถระบุชนิดของลูกกระสุนได้ เนื่องจากกระสุนทะลุร่างของผู้ตาย แต่คาดว่าเป็นกระสุนประเภทความเร็วสูง โดยให้เหตุผลว่า “ดูจากการทะลุทะลวง และสภาพบาดแผล”

 

นัดสืบพยานวันที่ 7 ธันวาคม 2555[2]

          พยาน

  1. แบรดลี่ย์ ค๊อกซ์ (ช่างภาพอิสระ)
  2. อุดร วรรณสิงห์ (ผู้ชุมนุม)
  3. ขวัญชัย โสวะภาส (ขับจักรยานยนต์รับจ้าง)
  4. ยุพิณ ปิ่นฉิม(ไม่มา เลื่อนไป 26 ธันวาคม 2555)

พยานคนแรก แบรดลี่ย์ ค๊อกซ์ ช่างภาพสารคดี(เกษียรแล้ว) ให้การว่า เขาทราบข่าวว่ามีการชุมนุม เนื่องจากเคยเป็นช่างภาพจึงสนใจที่จะเข้าไปถ่ายวิดีโอเก็บภาพการชุมนุม โดยเข้าไปที่ราชประสงค์ตั้งแต่วันที่ 13 – 19 พ.ค. 53

วันที่ 19 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 9.00น. พยานเข้าที่ราชประสงค์เหตุการณ์เหมือนปกติในวันที่ผ่านๆ มา แต่พยานได้ทราบว่าเกิดปัญหาขึ้นที่บริเวณสวนลุมพินี 10.00 น. เขาจึงเรียกจักรยานยนต์รับจ้างไปที่แยกสารสิน แต่คนขับขอให้เขาลงก่อนถึงราว 200 ม.(โรงแรมโฟร์ ซีซั่น หรือ เดอะ รีเจนท์) เขาจึงต้องเดินเข้าไปจนถึงแยกสารสินด้วยตัวเอง บนแยกมีแนวกั้นอยู่ โดยในขณะนั้นยังมีคนอยู่ในบริเวณนั้นเยอะแต่หลบตามข้างทาง มีเพียงนักข่าวและผู้ชุมนุมบางส่วนเท่านั้นที่อยู่บนถนน

ระหว่างที่แบรดลี่ย์อยู่บริเวณที่เกิดเหตุเขาได้เห็นคนเสื้อแดงวิ่งไปมาระหว่างเต็นท์กับแนวกั้นบนแยกสารสิน  ในขณะนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ จากจุดที่เลยเต็นท์ออกไปทางด้านสวนลุมพินี ทิศทางจากศาลาแดงในระหว่างที่เขาอยู่ตรงนั้นเขาไม่ได้คุยกับใครเลยเนื่องจากไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ซึ่งเขาก็ได้พบกับช่างภาพญี่ปุ่นด้วย(น่าจะเป็นไซโต้ มาซายูกิ มากกว่า มาซารุ โกโตะ) แต่ก็ไม่ได้คุยอะไรกันเนื่องจากไม่สามารถพูดญี่ปุ่นได้เช่นกัน แต่เขาได้พบช่างภาพชาวอเมริกันคนหนึ่งใช้กล้องวิดีโอขนาดเล็กถ่ายภาพในบริเวณนั้นและได้มีการสนทนากัน (แต่อัยการไม่ได้ซักถามว่าสนทนาเรื่องอะไร)

แบรดลี่ย์ได้เห็นทหารเมื่อมองผ่านเต็นท์บนถนนราชดำริไปทางสวนลุมพินี เป็นกลุ่ม ไม่แน่ใจว่ามีจำนวนกี่กลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน วิ่งสลับไปมา 5-6 ครั้ง บนถนนราชดำริมุ่งหน้ามาที่แยกสารสิน  จำนวนทหารที่เห็นราว 10-20 คน แต่คิดว่าน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้  พยานไม่พบว่ามียานพาหนะใดๆ

เขาได้ยินเสียงปืนดังอยู่ตลอด และมีเสียงคนร้องตะโกนทางด้านหลังของพยาน(ด้านหลังของเขาคือจากทิศทางราชประสงค์) เขาจึงหันหลังวิ่งกลับไปทางราชประสงค์เพื่อไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นและเขาได้ทราบว่ายังมีคนอื่นๆ ที่วิ่งตามเขามาหนึ่งในนั้นมีฟาบิโอรวมอยู่ด้วย   ระหว่างที่วิ่งอยู่นั้นเขารู้สึกเจ็บที่ขาขวาจึงหันกลับไปดูเห็นฟาบิโอล้มอยู่ เวลาในขณะนั้นคือ 10.58 น. ซึ่งเขาทราบจากเวลาที่แสดงอยู่ในกล้องวิดีโอขณะกำลังถ่ายเหตุการณ์โดยได้ถ่ายเอาไว้จนกระทั่งมีคนพาฟาบิโอไปส่งที่โรงพยาบาลตำรวจ วันนั้นฟาบิโอใสเสื้อสีมืดเข้ม หมวกพลาสติกสีเขียว

แบรดลี่ย์คิดว่าถูกยิงจากเจ้าหน้าที่ทหารเพราะวิถีกระสุนมาจากทางด้านศาลาแดง  เขาเห็นฟาบิโอล้มศีรษะชี้มาทางราชประสงค์ เขารู้สึกแปลกใจที่เขาและฟาบิโอถูกยิงเนื่องจากเขาก็ได้วิ่งออกมาห่างจากแนวกั้นและทหารแล้ว ซึ่งเขาคิดว่าห่างพอที่จะปลอดภัย จากนั้นพยานจึงไปที่โรงพยาบาลตำรวจหลังจากถูกยิง ระหว่างทางเขาได้พบว่ามีผู้ชุมนุมตลอดทางที่ผ่านและยิ่งใกล้ราชประสงค์ผู้ชุมนุมยิ่งเยอะขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไปถึงเขาได้พบฟาบิโอนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลและทราบจากข่าวในวันรุ่งขึ้นว่าชื่อนายฟาบิโอ โปเลงกี(พยานไม่ได้รู้จักกับฟาบิโอมาก่อน) และเสียชีวิตแล้ว

ราว 1 ชั่วโมงครึ่งจากนั้นเขารู้สึกไม่ดีจึงพยายามออกจากที่ชุมนุมไปทางถนนสุขุมวิทแต่ได้มีผู้ชุมนุมเตอนเขาว่าทางด้านนั้นมีทหารอยู่ แต่ได้มีเสียงระเบิดดังขึ้นทางด้านเวทีเขาจึงกลับไปที่ราชประสงค์อีกครั้ง

ขณะที่แบรดลี่ย์อยู่ในที่เกิดเหตุเขาเห็นมีผู้ชุมนุมใส่เสื้อสีดำแต่ไม่ทราบว่าเป็นคนชุดดำหรือไม่  แต่ไม่พบเห็นคนถืออาวุธ และเสียงปืนดังมาจากทิศทางศาลาแดงเท่านั้น

พยานคนที่สอง นายอุดร วรรณสิงห์ เป็นผู้ชุมนุมโดยเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่ผ่านฟ้าและได้ย้ายมาที่ราชประสงค์หลังจากมีการย้ายที่ชุมนุมมาราชประสงค์ เขาให้การว่าเวลา 5.00 น. ของวันที่ 19 พ.ค. 53 เขานอนอยู่ที่เต็นท์มุมรั้วสวนลุมพินี แยกสารสิน ได้มีผู้ชุมนุมวิ่งมาบอกว่ามีทหารราว 20 นาย แต่งกายชุดลายพราง ใส่หมวกเหล็กติดสติ๊กเกอร์สีชมพูที่หมวก พร้อมนำรถหุ้มเกราะมาที่แยกศาลาแดง เขาจึงได้วิ่งไปที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อดูเหตุการณ์  เขาจึงได้เห็นรถหุ้มเกราะทำลายแนวกั้นเข้ามา เมื่อทหารเข้ามาแล้วได้ใช้รถหุ้มเกราะตั้งแนวเอาไว้ และใช้อาวุธปืนยิงเข้ามาที่ผู้ชุมนุม  เมื่อเห็นทหารยิงผู้ชุมนุมจึงหลบตามป้ายรถประจำทางและพุ่มไม้หน้าโรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อทหารเข้ามาแล้วทหารก็เคลื่อนที่ต่อเข้ามาในถนนราชดำริ สลับกับหยุดตั้งแนวเป็นระยะ ส่วนทางด้านผู้ชุมนุมไม่ได้มีการตอบโต้กับทหารแต่อย่างใด  โดยระหว่างที่พยานหลบอยู่ตรงนั้นเขาได้เห็นคนถูกยิง 2-3 คน

จากนั้นอุดรก็คลานออกไปเรื่อยๆ จนถึงหน้าตึก สก. ขณะนั้นมีคนเข้าไปเผายางด้วย เขาอยู่ตรงนั้นจนถึงประมาณ  10.00 น. จึงได้กลับไปที่แยกสารสิน ตอน 11.00 น. ตรงจุดนี้มีเต็นท์พยาบาลอยู่โดยเต็นท์นั้นจะอยู่บนผิวถนนติดเกาะกลาง อยู่เขาจึงเข้าไปหลบที่หลังถังน้ำแข็งในนั้นระหว่างที่หลบอยู่นั้นเขาก็ได้เห็นคนหนีหลบเข้ามา ส่วนทหารในขณะนั้นตั้งแนวอยู่ที่บริเวณตึก สก. และมีการยิงแบบยิงทีละนัด มาที่ผู้ชุมนุมด้วย

ขณะที่พยานหลบอยู่หลังถังน้ำแข็งบนแยกสารสินเขาได้เห็นนักข่าวยกกล้องถ่ายภาพมาทางเขาและเมื่อทหารมีการยิงมานักข่าวคนนั้นก็หันหลังวิ่งไปทางราชประสงค์แล้วก็ถูกยิงเสียชีวิตห่างจากจุดที่เขาอยู่ราว 30 ม.  นักข่าวที่ถูกยิงใส่เสื้อแขนยาว เสื้อยืดสีดำข้างใน ใส่หมวกสีฟ้าอ่อน สะพายกล้อง   ซึ่งอัยการได้นำภาพของนายฟาบิโอให้พยานดู  เขายืนยันว่านักข่าวที่กล่าวถึงเป็นคนเดียวกัน

จากนั้นพยานจึงได้เข้าไปช่วยยกขาเขาขึ้นมาแต่ระหว่างที่กำลังยกนั้นมีสิ่งของซึ่งเจ้าตัวสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกระสุนกระทบเข้าที่หมวกกันน๊อกของเขา เขาจึงปล่อยขาของฟาบิโอลงแล้วหลบออกไปจากตรงนั้น แต่ได้มีคนราว 4-5 คน เข้าไปช่วยฟาบิโอโดยยกแขนยกขาหิ้วออกไป มุ่งไปทางแยกราชประสงค์ และได้นำตัวขึ้นจักรยานยนต์ออกไประหว่างนั้นตัวเขาเองหลบอยู่ที่ตึกบางกอกเคเบิล จนกระทั่งเสียงปืนสงบเขาจึงได้วิ่งและหลบไปจนถึงเวทีและเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจและอยู่จนถึงวันที่ 21 และมีรถมารับไปส่งที่หัวลำโพง

ระหว่างที่อยู่ในเหตุการณ์เขาไม่พบผู้ชุมนุมใช้อาวุธต่อสู้แต่มีกระสุนมาจากทางด้านที่ทหารอยู่

พยานคนสุดท้ายคือนายขวัญชัย โสวะภาส ในช่วงการชุมนุมเขาขับจักรยานยนต์รับจ้างอยู่ในที่ชุมนุมทะเบียนรถคือ มปก 754 และพยานยังเป็นผู้ชุมนุมอีกด้วย วันที่ 19 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 9.30 น. ระหว่างรอผู้โดยสารอยู่ที่บริเวณพระพรหมมีนักข่าวต่างชาติมาเรียกให้เขาพาเข้าไปส่งที่แยกสารสินโดยนักข่าวคนที่เข้ามาเรียกนั้นมีกล้อง ใส่เสื้อกั๊ก กางเกงสีเขียวขี้ม้า ใส่หมวกกันน๊อกแต่พยานจำสีไม่ได้ ในขณะนั้นพยานยังไม่ทราบชื่อแต่ทราบในภายหลังว่าเป็นนายฟาบิโอเพราะเขาจำได้ว่าในวันนั้นหลังจากเขาส่งฟาบิโอถึงที่หมายฟาบิโอจ่ายเงินให้เขา 20 บ. แล้วเขาได้ทอนเงินให้ฟาบิโอ 10 บ. แต่ฟาบิโอไม่รับเงินทอนเขาจึงได้ขอบคุณ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้พยานจำฟาบิโอได้

เมื่อส่งฟาบิโอเสร็จ ขวัญชัยได้ขับกลับไปที่พระพรหมอีกครั้งและได้รับนักข่าวเวียดนามมาส่งที่จุดเดียวกับที่ส่งฟาบิโอลง  แต่ในคราวนี้พยานได้อยู่ที่แยกสารสินต่อเพื่อดูเหตุการณ์บริเวณนั้น เพราะได้เห็นทหารเคลื่อนมาจากทางแยกศาลาแดงมาอยู่ที่บริเวณเยื้องกับตึก สก. และตรงสวนลุมพินีด้วย โดยขณะนั้นพยานเองอยู่ที่เต็นท์ฝั่งเดียวกับสนามม้า

พยานได้เห็นทหารยิงมาจากทางทั้งทหารที่อยู่ฝั่งสวนลุมพินีและฝั่งตึก สก. โดยห่างออกไปไม่เกิน 70 ม. ที่รู้ว่าเป็นทหารเพราะเห็นใส่ชุดทหารและมีรถหุ้มเกราะมาด้วย

ระหว่างที่ทหารกำลังยิงเข้ามาเขาได้เห็นฟาบิโอถูกยิง  โดยขณะเกิดเหตุนั้นฟาบิโอหันหน้าไปทางศาลาแดงและถ่ายรูปจากนั้นเขาได้เอี้ยวตัวหันหน้ากลับมาทางแยกราชประสงค  ฟาบิโอก็ถูกยิงล้มลงศีรษะชี้มาทางแยกราชประสงค์ โดยล้มอยู่ตรงเกาะกลางถนนด้านหน้าตึกบางกอกเคเบิล จากนั้นได้มีผู้ชายเข้าไปช่วยแต่ถูกยิงที่หมวกจึงหลบออกไป และมีคน 4-5 คน  ช่วยจับแขนจับขาวิ่งซิกแซกไปทางแยกราชประสงค์ขึ้นจักรยานยนต์ไปทางด้านราชประสงค์ หลังจากนั้นพยานได้อยุ่ที่บริเวรนั้นจนถึง 14.00 น. และได้เห็นทหารเคลื่อนมาจนถึงแยกสารสิน จนกระทั่ง 15.00 น. พยานจึงได้ออกไปหลบอยู่ที่ บิ๊กซี ราชดำริพยาน

จุดที่ฟาบิโอถูกยิงกับบริเวณตึก ศก. อยู่ห่างกันราว 50 ม. ส่วนทางด้านฝั่งสวนลุมจะอยู่ห่างราว 30-40 ม. พยานยืนยันว่าเป็นทหารยิง  พบเห็นผู้ชุมนุมใส่เสื้อยืดดำ ไม่มีชุดทหารและไม่พบว่ามีอาวุธ

 

นัดสืบพยานวันที่ 26 ธันวาคม 2555[3]

          พยาน

  1. นายมาริต คำนัน(นักข่าว ThaiPBS)
  2. ยุพิณ ปิ่นฉิม(ไม่ได้มาให้การในวันนี้ เนื่องจากข้อเท็จจริงของเธอตรงกับพยานในนัด 7 ธ.ค. จึงใช้เพียงบันทึกข้อเท็จจริงยื่นต่อศาล)

นายมาริต คำนัน ช่างภาพสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เบิกความสรุปว่าได้รับมอบหมายให้เข้าไปทำข่าวการชุมนุม โดยเข้าไปอยู่ที่ สตช. ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.  ในวันที่ 19 พ.ค. ในตอนเช้า  6.00 น. มีทีมข่าวจะเดินทางมาเปลี่ยนกับกลุ่มของพยาน แต่ไม่สามารถเข้ามาได้ เนื่องจากประกาศปิดถนน พยานจึงออกจาก สตช. ไปที่แยกสารสิน โดยมีนักข่าวต่างประเทศประมาณ 10 คน อยู่ในบริเวณแยกสารสินนั้นด้วย พยานและนักข่าวต่างประเทศคนอื่นๆ นั่งอยู่หลังบังเกอร์ที่ขวางถนนอยู่ ในขณะนั้นมีเสียงดังคล้ายประทัดตลอดเวลา มีผู้ชุมนุมบางส่วนตะโกนว่ามีสไนเปอร์และระเบิด แต่พยานไม่เห็น

มาริตเบิกความต่อว่า มีเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้นใกล้บังเกอร์ที่เขานั่งอยู่ และมีรถกู้ภัยที่เพิ่งเข้ามาในบริเวณดังกล่าวถูกระเบิดได้รับความเสียหาย เขาจึงวิ่งไปบนถนนราชดำริมุ่งหน้าราชประสงค์ โดยมีกลุ่มนักข่าวต่างประเทศวิ่งตามไปด้วย เมื่อวิ่งไปได้สักระยะหันมาใช้กล้องบันทึกภาพเหตุการณ์ จึงเห็นฟาบิโอถูกยิงล้มลง และมีกลุ่มนักข่าวเข้าไปช่วย จากนั้นเห็นฟาบิโอถูกนำขึ้นรถจักรยานยนต์ออกไป ขณะนั้นเขายังไม่ทราบว่าคือใคร แต่มาทราบในภายหลังว่าคือฟาบิโอ โปเลงกี  โดยขณะเกิดเหตุพยานไม่ทราบเวลาว่าเป็นเวลาเท่าไหร่

หลังจากฟาบิโอถูกยิงเขายังอยู่ในที่เกิดเหตุอีกประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ โดยสถานการณ์หลังเกิดเหตุเขายังได้ยินเสียงดังเป็นระยะ และมีผู้ชุมนุมตะโกนว่าเป็นเสียงปืน แต่เขาไม่เห็นเจ้าหน้าที่ในบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด และเขามอบหลักฐานเป็นซีดีภาพเหตุการณ์ขณะหันไปถ่ายภาพฟาบิโอให้พนักงานสอบสวนแล้ว

นัดสืบพยานวันที่ 25 มกราคม 2556[4]

          พยาน

  1. พ.อ.จิรศักดิ์ พรรังสฤษฎ์ รอง ผบ. กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ จ.สระบุรี
  2. พ.อ.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ รอง ผบ.กรมทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์ จ.สระบุรี
  3. จ.ส.ต.ณรงค์ เกตุศรี สังกัดกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์

การสืบพยานนัดนี้นอกจากทนายคารมณ์ พลพรกลาง ซึ่งเป็นทนายญาติแล้วยังมีทนายอาคม ศิริพจนารถเข้าร่วมซักถามพยานด้วย

พยานปากแรก พ.อ.จิรศักดิ์ พรรังสฤษฎ์ เบิกความว่าในช่วงเหตุการณ์อยู่ในส่วนเสนาธิการของผู้บังคับบัญชา  ทำหน้าที่วางแผนอำนวยการให้เป็นไปตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง โดยก่อนเกิดเหตุได้รับคำสั่งจาก กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ซึ่งทางกองกองพลได้รับคำสั่งจาก ศอฉ. แจ้งให้หน่วย พล.ม. 2 รอ. มีการปรับกำลัง เพื่อเน้นควบคุมพื้นที่สวนลุมพินีและเส้นทางข้างเคียงได้แก่ ถนนราชดำริและถนนวิทยุ  โดยถนนราชดำริจะเริ่มตั้งแต่แยกศาลาแดง จนถึงแยกราชดำริ(สารสิน)[5] ถนนวิทยุจะเริ่มจากแยกวิทยุถึงแยกสารสิน  แต่ตัวเขาเองไม่ได้อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการ แต่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนตึก CP ซึ่งเป็นศูนย์บังคับบัญชา  โดยช่วงเหตุการณ์จะมีหลายหน่วยอยู่ในการควบคุมของ พล.ม.2 รอ. ในการควบคุมพื้นที่ทั้งหมด

พ.อ.จิรศักดิ์ เบิกความต่อว่า วันที่ 19 พ.ค. 53 เวลา 5.45 น. ศอฉ. ได้มีคำสั่งให้เข้าควบคุมสวนลุมพินีและถนนราชดำริตั้งแต่แยกศาลาแดงถึงแยกราชดำริ หลังจากที่ได้รับคำสั่งเขาได้สั่งการให้หน่วยใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามคำสั่งของ ศอฉ. โดยรายละเอียดการปฏิบัติการคือให้เข้าทำการตรวจสอบพื้นที่สวนลุมพินี โดยกำลังพลจะมีอาวุธประจำกายทุกคนคือปืนลูกซองและมีปืนเล็กยาวบางนาย  ปืนลูกซองจะมีกระสุนจริงและกระสุนยาง ส่วนปืนเล็กยาวจะเป็นกระสุนซ้อมรบที่มีแต่เสียงไม่มีหัวกระสุน ซึ่งเสียงจะดังคล้ายกระสุนจริงแต่ไม่มีหัวกระสุนออกมา

ในการเข้าไปในพื้นที่พ.อ.จิรศักดิ์ ได้รับรายงานในตอนเช้าว่าได้ทำการแจ้งเตือนตามขั้นตอนโดยแจ้งว่าทหารจะเข้าควบคุมพื้นที่ตรงไหนบ้าง โดยการแจ้งเตือนจะใช้ลำโพงในการแจ้ง  ซึ่งในส่วนของรายละเอียดในการปฏิบัติการเขาได้ชี้แจงว่าจะให้พยานจากหน่วยรองลงไปชี้แจงในรายละเอียดภายหลังซึ่งก็คือ พ.อ.นพสิทธิ์ ที่มาเป็นพยานในการสืบครั้งนี้

พ.อ.จิรศักดิ์กล่าวต่อว่า พ.อ.นพสิทธิ์ได้รับมอบหมายจากเขาในการเขาปฏิบัติการตั้งแต่แยกศาลาแดงโดยอยู่แค่แนวรั้วยางของ นปช. 9โมงเช้า เขาได้รับรายงานว่า หน่วยได้ขยับผ่านแนวรั้วเข้าไป โดยในการผ่านแนวรั้วทหารได้ใช้รถสายพานเป็นกำบังเข้าไปซึ่งเขาจำยอดตัวเลขไม่ได้ หลังจากเข้าไปได้แล้วเขาได้รับแจ้งว่าในพื้นที่มีเต็นท์สิ่งกีดขวางมากจึงใช้เวลาในการตรวจสอบ

11.00-12.00 น. จะมีแนวรั้วอยู่แถวตึก ศก. ซึ่งหน่วย ฉก.ม.1 ซึ่งเป็นหน่วยที่ขึ้นไปตามถนนราชดำริหยุดรออยู่ตรงนั้นเนื่องจากต้องรอหน่วยที่อยู่ภายในสวนลุมพินีเคลื่อนขึ้นไปพร้อมกัน  เวลาประมาณ 12.30 น.  หน่วยได้เข้าถึงแยกราชดำริมีการรายงานว่าสามารถจับกุมผู้ชุมนุมได้ 10 กว่าคน มี M79 ตกใส่ทหารทำให้มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บและเสียชีวิต 1 นาย  และหน่วยของเขาได้รับคำสั่งให้เข้าควบคุมตึกสูง แต่ไม่ได้เข้าทำการควบคุมแต่อย่างใดเนื่องจากเป็นตึกของเอกชน บ่ายโมงกว่าได้รับรายงานเรื่อง M79 จึงได้ให้แก้ไปตามสถานการณ์

และมีรายงานว่าหลังแนวรั้วแยกราชดำริใกล้กับแนวรั้วโรงพยาบาลจุฬาฯ มีศพผู้เสียชีวิต 2 ศพ คนหนึ่งคือนายถวิล คำมูล และเขารู้แค่ว่ามีทหารเสียชีวิตที่โรงพยาบาลแต่เขาไม่ทราบว่า M79 ยิงจากที่ใด

ช่วงทนายซักถามได้ถามถึงการสั่งการ จำนวนทหารในหน่วย และอาวุธที่ใช้ในการปฏิบัติการขณะนั้นกับพ.อ.นพสิทธิ์ เขาตอบว่า ศอฉ. เป็นผู้ออกคำสั่งให้เข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่แยกศาลาแดงแต่เขาจำไม่ได้ว่าในคณะกรรมการมีใครบ้างส่วนผู้บังคับบัญชาในขณะนั้นคือ พล.ต.สุรศักดิ์(บุญศิริ) ผู้บัญชาการ พล.ม. 2 รอ.  โดยเขาควบคุมกำลังพลราว 300-400 นาย(เขาแจ้งว่าจำไม่ได้และไม่แน่ใจตัวเลขนี้)  การแต่งกายใส่ชุดลายพรางและติดสติ๊กเกอร์สีที่หมวกเพื่อกำหนดฝ่าย  อาวุธที่ใช้จะต่างกันออกไปในแต่ละหน่วย แต่จะมี M16 และ HK33  ซึ่งจัดเป็นปืนเล็กยาวเหมือนกัน เขาไม่ทราบว่ามีการพกพาอาวุธปืนสั้น 11 มม. หรือไม่ ส่วนกระสุนที่ใช้กับ M16 และ HK33 คือ 5.56 มม.(.223) และเขาไม่ทราบว่าในวันเกิดเหตุนั้นนอกจากรถสายพานลำเลียงพลแล้วมีรถติดเครื่องขยายเสียงและรถน้ำหรือไม่เนื่องจากเขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการและเขาไม่ทราบว่ามีการเคลื่อนที่อย่างไร และในการปฏิบัติการกระสุนที่ใช้นั้นในปืนเล็กยาวจะใช้กระสุนซ้อมเท่านั้น ส่วนกระสุนจริงจะมีใช้แค่กับปืนลูกซอง

ทนายถามต่อโดยนำภาพถ่ายให้พ.อ.จิรศักดิ์ดู  เป็นภาพทหารประทับอาวุธเล็งเตรียมยิงว่าอาวุธในภาพคือปืนชนิดใด เขาตอบว่าเป็น  HK33 ทนายถามต่อว่าซองกระสุน(แม็กกาซีน) ที่ใส่กระสุนซ้อมเป็นแบบเดียวกันกับซองกระสุนที่ใส่กระสุนจริงหรือไม่ เขาตอบว่ากระสุนซ้อมและกระสุนจริงใช้ซองกระสุนเดียวกันได้  ทนายได้ถามถึงระยะยิงไกลสุดของปืนเล็กยาวเมื่อใช้กระสุนจริงว่าระยะเท่าไหร่ เขาตอบว่า 400 ม. และเขาได้ปฏิเสธว่าไม่มีการใช้ปืนสไนเปอร์และไม่ทราบว่าระยะยิงไกลสุดของปืนสไนเปอร์ระยะเท่าไหร่  ส่วนเรื่องเกี่ยวกับการตรวจค้นเต็นท์บนถนนราชดำริเขาได้ตอบว่ามีเพียงการรายงานเรื่องการยิง M79 เท่านั้น  แต่ไม่มีรายงานการพบปืนเล็กยาวในเต็นท์

ทนายได้ถามว่าในที่ประชุมมีการกล่าวถึงการแบ่งแยกลักษณะของผู้ชุมนุมและนักข่าวอย่างไรบ้าง เขาตอบเพียงว่าหน่วยเหนือได้กำชับว่าไม่ให้มีการทำร้ายผู้ชุมนุม

พยานปากที่ 2 พ.อ.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ เบิกความว่า มีคำสั่งจาก ศอฉ. ให้เข้าควบคุมพื้นที่สีลมตั้งแต่ 16 เม.ย. 53  ในวันที่ 19 พ.ค. 53 ได้รับคำสั่งให้เข้าควบคุมพื้นที่ตั้งแต่แยกศาลาแดงถึงแยกราชดำริ มี่คำสั่งในเวลา 5.30 น. ให้เคลื่อนกำลไปที่แยกศาลาแดง โดยมีทหารในบังคับบัญชา 100 นาย ซึ่งในการเข้าควบคุมพื้นที่ไม่ได้มีการกำหนดขั้นตอนและเวลาจากหน่วยเหนือมา

ในการเข้าปฏิบัติการจะมีการทำเป็นขั้นตอนเนื่องจากที่ลานพระบรมรูปร.6 และหน้าโรงพยาบาลจุฬาฯ ผู้ชุมนุมได้สร้างกำแพงด้วยยางและลวดหนาม ไม้ไผ่สูง 2 ม. ทำให้ไม่สามารถตรวจการณ์ได้จึงต้องทำลายกำแพงก่อน แนวรั้วค่อนข้างแข็งแรงและอาจจะมีระเบิดถังแก๊ซ ขวดน้ำมัน ประทัดยักษ์หรือระเบิดแสวงเครื่อง โยงสายไฟระโยงระยาง จึงใช้รถสายพานลำเลียงพลทำลายเครื่องกีดขวาง แต่เนื่องจากภารกิจหลักไม่ใช่การควบคุม กองทัพบกมีการแจกปืนลูกซองกระสุนจริงและกรุสนยาง แต่แจกไม่ครบ บางส่วนจึงใช้ปืนเล็กยาว HK33 ใช้กระสุนลูกซ้อม(แบลงค์) ในการเข้าควบคุม ซึ่งในการเบิกจ่ายกระสุนจะต้องขอกับกองทัพบก และเขายังกล่าวต่ออีกว่าใช้กระสุนซ้อมทั้งหมดหากมีการใช้จริงจะต้องขอกับเขาก่อน

กระสุนซ้อมนั้นจะมีแต่เสียงเหมือนกระสุนจริง ในการยิงจะต้องดึงคันรั้งลูกเลื่อนทุกครั้ง หากจะยิงต่อเนื่องจะต้องใช้อแดปเตอร์ แต่ในการปฏิบัติได้มีการดัดแปลงอแดปเตอร์ที่ปลอกลดแสงให้ยิงต่อเนื่องได้แบบอัตโนมัติได้ กระสุนซ้อมไม่มีอันตรายถึงชีวิต

เมื่อเข้าพื้นที่แล้วหลังได้เคลื่อนสู่แยกศาลาแดง นัดพร้อมเวลา 5.30 น. เวลา 5.45 น. ได้เคลื่อนไปบนสี่แยกและวางกำลังไว้ หน้าโรงแรมดุสิตธานี ในห้วงเวลานั้นสภาพอากาศทำให้ไม่สามารตรวจการณ์ได้ 6.15 น. ใช้เครื่องขยายเสียงแจ้งแก่ผู้ชุมนุมว่าทหารจะเข้าไปให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ เวลา 7.45 น. มีคนจุดกองไฟที่ยางหน้า ตึก ภปร. แต่ไม่ทราบว่าเป็นใครเนื่องจากไม่สามารถตรวจการณ์ เมื่อเห็นดังนั้นจึงได้ใช้รถดับเพลิงเข้าไปดับไฟ โดยใช้รถสายพานลำเลียงพลเป็นกำบังเข้าไป ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงจึงควบคุมเพลิงได้

เวลา 9.30 น. สั่งรถสายพานลำเลียงพลทำลายแนวรั้วที่พระรามอยู่ติดกับพระราม 4 หลังรั้วพังลงแล้วบางส่วนใช้รถดับเพลิงฉีดที่แนวรั้วให้เปียกป้องกันการระเบิดจากวัตถุระเบิด โดยที่แนวรั้วนั้นจะมีถังแก๊ซและถังดับเพลิงต่อสายไฟไว้ระโยงระยาง แต่ยังผ่านไปไม่ได้ จึงปรึกษากับหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดซึ่งได้คำแนะนำมาว่าให้ผูกสายไฟเข้าด้วยกันแล้วใช้รถสายพานลำเลียงพลดึง  ซึ่งทำอยู่เกือบหนึ่งชั่วโมง  10.30 น. หลังพังรั้วทำให้สามารถตรวจการณ์ได้แล้ว จึงสั่งให้รถสายพานเคลื่อนปีนรั้วเข้าไป โดยมีกำลังพลตามรถเข้าไปยังลานพระบรมรูปร. 6 เนื่องจากมีเต็นท์ตั้งอยู่ในบริเวณนั้นรถสายพานลำเลียงพลจึงหยุดเคลื่อนและกำลังพลจึงได้เข้าทำการเคลียร์ตามเต็นท์และเข้าควบคุมพื้นที่เกาะกลาง

11.50 น. ไปถึงแนวบริเวณตึก สก. บริเวณนั้นมีรถสุขาอยู่ เขาคิดว่าถ้ายังวางกำลังอยู่แถวนั้นกำลังพลจะได้รับอันตรายเนื่องจากมีเต็นท์ปิดทึบจึงขอผู้บังคับบัญชาทำการตัดผ้าใบที่ติดเต็นท์อยู่เพื่อให้สามารถตรวจการณ์ได้โดยเคลื่อนกำลังไปด้วยมุ่งหน้าไปทางแยกราชประสงค์  ในการเข้าควบคุมพื้นที่ไม่มีการยิงต่อสู้ มีการตรวจพบระเบิดแสวงเครื่อง และพบผู้เสียชีวิต 2 ศพ แต่คาดว่าเสียชีวิตนานหลายชั่วโมงแล้วโดยเขาสังเกตจากบริเวณขอบของกองเลือดเริ่มแห้งแล้วจึงให้ถ่ายรูปเอาไว้ เขาได้แจ้งกับ กรม ม. 1 รอ. ให้ประสานรถมูลนิธิเข้าไปเก็บศพออกไปทหารไม่ได้ทำการเก็บศพเอง ทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิที่เข้าไปเก็บศพแจ้งว่าพบวัตถุระเบิด 1 ลูกซ่อนอยู่ในกระเป๋าสะพาย

ระหว่างที่เคลื่อนกำลังนั้นได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่ยังไม่ได้ออกจากพื้นที่ซึ่งจะอยู่ตามเต็นท์ได้ 14 คน และมีพระสงฆ์ 2 รูป ได้ในเวลา 11.50 น.ไปแล้ว เมื่อไปถึงแยกราชดำริได้นำตัวผ็ชุมนุมที่ควบคุมตัวได้ไปหลใต้ตึกใกล้แยกราชดำริ หลังจากนั้นได้แจ้ง สน.ลุมพินีมารับแต่ตำรวจยังมาไม่ถึงจึงวางกำลังไว้ส่วนหนึ่ง ในบริเวณนั้นเหนือขึ้นจากแยกราชดำริมีรถบรรทุก 6 ล้อ ปิดทึบจอดอยู่บริเวณเสารางรถไฟฟ้าเสาแรกจากแยกราชดำริ ซึ่งอยู่ห่างจากเขาไปราว 20 ม. เขาได้ส่งทหาร 3 นาย ไปตรวจสอบ แต่หลังจากนั้นทั้ง 3 นาย ได้วิ่งกลับมาแจ้งว่าถูกยิงด้วยปืนเล็กยาว เวลาในขณะนั้นประมาณ 13.30 น.

พ.อ.นพสิทธิ์ได้เบิกความย้อนถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าเข้าไปถึงแยกราชดำริว่าไม่มีการยิงเลยตั้งแต่เคลื่อนจากแยกศาลาแดงจนถึงสารสิน  แต่ขณะที่อยู่บนแยกศาลาแดงได้มีการยิงลูกกระสุนซ้อม(แบลงค์) เพื่อทำการขู่ไม่ได้เป็นการยิงเพื่อตอบโต้ แต่ระหว่างที่เคลื่อนที่ไม่มีการยิงจนกระทั่งไปถึงแยกสารสิน

พ.อ.นพสิทธิ์เบิกความถึงเหตุการณ์ที่แยกสารสินต่อว่ามีการขว้างระเบิดมือที่แยกราชดำริจากนั้นมีการยิง M79 3 ลูก โดย 2 ลูกตกในบ่อน้ำภายในสวนลุมพินี อีกลูกตกลงบนสวนหย่อมที่ติดกับสามแยกที่กองกำลังวางกำลังอยู่  ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ยิงตอบโต้ด้วยปืนลูกซองกระสุนจริงไปตามแนวถนนราชดำริ  เหตุการณ์นี้ทำให้มีทหารบาดเจ็บ 7 นาย เสียชีวิต 1 นาย มีผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บ 1 คน เนื่องจากในการปฏิบัติการได้ให้สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศติดตามเข้าไปกับกำลังพลอย่างใกล้ชิด  หลังจากนั้นได้ให้มูลนิธิมารับคนเจ็บและมีการให้รถสายพานลำเลียงเข้ามารับคนเจ็บด้วย

ในขณะเข้าไปในพื้นที่มีการแจ้งกับหน่วยเหนือตลอดและการใช้อาวุธก็จะต้องทำการแจ้งกับหน่วยเหนือด้วย

ช่วงทนายซักถามได้มีการถามถึงรายละเอียดการปฏิบัติและเหตุการณ์บนแยกสารสิน พ.อ.นพสิทธิ์ได้ตอบว่าทหารที่เข้าปฏิบัติการจะใส่ชุดรบ ส่วนอาวุธมีการเบิกพิเศษมาคือปืนลูกซอง ส่วนรถสายพานลำเลียงมาจาก ในส่วนของกระสุนแบลงค์ทนายได้ถามเขาว่าการจะยิงกระสุนแบลงค์จะต้องมีการติดอุปกรณ์ก่อนหรือไม่พ.อ.นพสิทธิ์ตอบว่าไม่ต้อง

ทนายได้ถามถึงพ.อ.นพสิทธิ์ว่าได้ทราบหรือไม่ว่ามีนักข่าวถูกยิงเขาตอบว่าไม่ทราบ  ทราบเพียงว่ามีนักข่าวได้รับบาดเจ็บเพราะถูกระเบิด M79 เท่านั้น  ทนายถามต่อว่าสามารถจับคนที่ยิงใส่เจ้าหน้าที่ได้หรือไม่ เขาตอบว่าไม่สามารถจับกุมได้เนื่องจากไม่ได้ตามเลยแยกสารสินขึ้นไป

พยานปากสุดท้าย จ.ส.ต.ณรงค์ เกตุศรี เบิกความสรุปว่าได้รับคำสั่งให้ไปตรวจสอบรถบรรทุก 6 ล้อ แต่ตรวจไม่พบวัตถุอันตราย ก่อนได้รับคำสั่งให้ไปตัดผ้าใบของเต็นท์ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำริ เนื่องจากบดบังการมองเห็น แต่ขณะนั้นมีชายคนหนึ่งใช้อาวุธปืนอาก้ายิงเข้ามา พยานเห็นว่าชายคนดังกล่าวนอนหมอบอยู่ข้างฟุตปาธตรงศูนย์วิจัยโรคเอดส์ เลยแยกราชดำริไปทางแยกราชประสงค์ สวมเสื้อสีดำ และกางเกงสีดำ แต่ไม่สวมหมวก พยานจึงไปหลบอยู่หลังตอม่อ จากนั้นเพื่อนทหารบอกให้หนี จึงคลานหมอบออกจากตอม่อ สักพักมีการขว้างระเบิดมาบริเวณตอม่อที่พยานเคยหลบอยู่ ก่อนยิงM 79 เข้ามา 3 ลูก มี 1 ลูกตกใส่เพื่อนทหารตรงกำแพงสวนลุมพินี และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

นัดสืบพยานวันที่ 28 มกราคม 2556

          พยาน

  1. พล.ต.ท. อัมพร จารุจินดา ข้าราชการบำนาญ อดีตเคยทำงานตรวจอาวุธปืน และเครื่องกระสุน กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ
  2. พ.ต.ท. วัชรัศม์ เฉลิมสุขสันต์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

พยานปากแรก พล.ต.ท. อัมพร จารุจินดา เบิกความว่า DSI  แต่งตั้งเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องหัวกระสุนและบาดแผลที่เกิดจากกระสุน ในคดีที่เกิดขึ้นในช่วงการชุมนุมปี 53 โดยเขาได้ตรวจหลายศพ ซึ่งในส่วนของคดีนี้คือนายฟาบิโอ โปเลงกี โดยเขามีหน้าที่แปลผลชันสูตรบาดแผลของศพที่เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจ  โดย DSI ได้ส่งรายงาน ภาพถ่ายบาดแผลเข้า-ออก และ ฟิล์ม เอ็กซเรย์ให้เขาดู

เขาให้ความเห็นว่า  ในส่วนของกระสุนนั้นเขาไม่สามารถยืนยันขนาดได้ เพราะข้อมูลรายละเอียดไม่พอนื่องจากกระสุนทะลุผ่านหายไป กระสุนไม่มีการแตกตัว และยืนยันทิศทางไม่ได้เนื่องจากไม่ทราบท่าทางของนายฟาบิโอในขณะที่ถูกยิง  แต่เมื่อดูภาพบาดแผลแล้วนายฟาบิโอถูกยิงจากหลังไปหน้า   เมื่อดูจากบาดแผลแล้วคาดว่าจะเป็นกระสุนขนาด .22 แต่ .22 มีหลายชนิดเขาไม่สามารถระบุได้ว่าเป็น .22 ชนิดใด   และถ้ากระสุนมีความเร็วสูงจะมีการแตกตัวของหัวกระสุนตลอดทางที่ผ่าน(ในส่วนนี้ศาลไม่ได้บันทึก)

ทนายซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องกระสุน เขาได้ตอบว่า กระสนุ .223 จะใช้ได้กับปืนหลายชนิด ซึ่งใช้ได้กับปืน  HK33 และ M16 ได้  และถ้ากระสุนวิ่งช้าลงเนื่องจากระยะทางที่ไกลหัวกระสุนจะไม่มีการแตกตัว  ระยะหวังผลของปืน HK33 และ M16 มีระยะหวังผลที่ 300 – 400 ม.

พยานปากที่ 2 พ.ต.ท. วัชรัศม์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่ารับราชการอยู่ที่ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ  ทาง DSI ร้องให้ตรวจสถานที่เกิดเหตุเมื่อ 25 มกราคม 2554 เนื่องจากคดีนี้เพิ่งเป็นคดีพิเศษและอยู่ในอำนาจการสอบสวนของ DSI  โดยเขาร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ DSI เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ

เขาได้รับหลักฐานจาก DSI ได้แก่ ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ และผลการตรวจศพ จากการตรวจหลักฐานที่ได้รับเขานำมามาร์คตำแหน่งเข้า-ออกของกระสุนบนหุ่นจำลอง โดยเขาลงความเห็นว่ากระสุนเข้าทางด้านหลังออกทางด้านหน้าผู้ถูกยิง แต่ไม่รู้ท่าทางที่แท้จริงของผู้ที่ถูกยิง เพียงแต่จำลองจากท่ายืนตรง ในส่วนของตำแหน่งที่ถูกยิงเขาได้ทำแผนที่เอาไว้และได้ยื่นแผนที่ต่อศาล  อัยการถามเขาว่าเป็นไปได้ว่ายิงมาจากทางใด เขาตอบว่าหลังการตรวจสถานที่เกิดเหตุร่วมกับข้อมูลประกอบคือภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ คาดคะเนว่ามีทิศทางจากแยกศาลาแดงมุ่งหน้าแยกราชประสงค์ ส่วนตำแหน่งของคนยิงไม่สามารถระบุได้ว่ายืน นั่งหรือหมอบอยู่ ส่วนยิงจากมุมใดบอกไม่ได้เนื่องเนื่องจากต้องทราบว่าผู้ตายอยู่ในลักษณะท่าทางใดด้วย  ส่วนขนาดและชนิดของกระสุนเขาไม่ได้เป็นผู้ตรวจ

ในที่เกิดเหตุพบรอยกระสุนบนทางเท้า เสาไฟฟ้า ป้ายจราจร ตั้งแต่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ถึงสนามราชกรีฑาโดยพบ 13 รอยทิศทางจากแยกศาลาแดงมุ่งหน้าราชประสงค์ แต่ไม่สามารถยืนยันชนิดของกระสุนได้ ระดับความสูงของรอยกระสุนมีตั้งแต่ไม่ถึง 1 เมตร จนถึงระดับ 3 เมตร เป็นการยิงในแนวระดับพื้นราบ เป็นไปไม่ได้ที่จะยิงมาจากตึกสูง  และมีรอยกระสุนบนตอม่อรถไฟฟ้าเสาแรกบนสามแยกราชดำริ(แยกสารสิน)  มีทั้งหมด 7 รอย ระบุชนิดกระสุนไม่ได้เช่นกัน  โดยรอยกระสุนทั้งหมดเขาได้ถ่ายภาพรอยกระสุนและทำรายงานไว้และได้ส่งมอบให้แก่ศาล

ทนายซักถามเขาว่า CD ที่นำมอบต่อศาลได้มาอย่างไรเขาบอกว่าได้มาจากพนักงานสอบสวนแต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ถ่ายคลิปและภาพที่อยู่ในแผ่น และทนายได้ซักถามเพิ่มถึงเรื่องรอยกระสุนบนตอม่อรถไฟฟ้าว่าความสูงของรอยกระสุนบนตอม่อนั้นสูงอยู่ในระดับใด เขาได้ตอบว่ามีตั้งแต่ระดับไม่ถึง 1 เมตร จนถึงระดับ 3 เมตร ทนายยังได้ถามอีกว่าไม่สามารถระบุได้หรือไม่ว่าเป็นรอยที่เกิดขึ้นเมื่อไหร่ พยานตอบว่าไม่ทราบว่าเป็นรอยที่เกิดจากการยิงในวันไหน

 

นัดสืบพยานวันที่ 1 มีนาคม 2556

          พยาน

  1. พ.ต.ท.ปกรณ์ วะศินรัตน์ แพทย์ สบ.3 แผนกพยาธิวิทยา สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ
  2. พ.ต.ท.สุพจน์ ชายป่า พนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง

 

พ.ต.ท.ปกรณ์ วะศินรัตน์  เบิกความว่า เป็นแพทย์เวรตรวจศพนายฟาบิโอ โปเลงกี ในวันที่ 20 พ.ค.53 ผลการตรวจพบบาดแผลที่ 1 บาดแผลฉีกขาดเป็นรูปกลมรี ขนาด 0.5 X 0.4 ซม. บริเวณหลังด้านบนขวา ห่างจากบ่า 27 ซม. ห่างกึ่งกลางลำตัว 9.5 ซม. ส่วนบาดแผลที่ 2 ฉีกขาดเปนรูปกลมรี ขนาด 2 X 0.8 ซม. บริเวณหน้าอกซ้าย ห่างจากบ่า 26 ซม. ห่างกึ่งกลาง ลำตัว 7.5 ซม. สรุปผลการตรวจ บาดแผลที่ 1 เป็นทางที่กระสุนเข้า ทะลุซี่โครงที่ 10 ด้านหลังขวา ทะลุปอดขวากลีบล่าง เฉียดกระบังลมและเนื้อตับฉีกขาด และกล้ามเนื้อหัวใจฉีกขาด และทะลุซี่โครงซี่ที่ 6-7 ด้านหน้าซ้ายแตก ทะลุออกทางบาดแผลที่ 2 ทิศทางจากหลังไปหน้า ขวาไปซ้าย ล่างขึ้นบนเล็กน้อย  ไม่พบหัวกระสุนในร่างกายจึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากกระสุนปืนชนิดใด  แต่จากลักษณะของบาดแผลสันนิษฐานว่าเป็นกระสุนปืนความเร็วสูง เพราะอวัยวะภายในเกิดการฉีกขาดอย่างรุนแรง

ก่อนทำการผ่าชันสูตรศพเขาได้เอ็กซเรย์ด้วยเครื่องฟลูออโรสโคปเพื่อหาสิ่งแปลกปลอมในร่างกายแต่ไม่พบอะไรแต่ไม่ได้มีการพิมพ์ภาพถ่ายการเอ็กซเรย์ไว้เนื่องจากเครื่องดังกล่าวไม่สามารถพิมพ์ได้  ขณะทำการผ่าชันสูตรกลุ่มภาพถ่ายทางการแพทย์ได้ถ่ายภาพเอาไว้ด้วย

ทนายซักถามถึงการตรวจศพผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ เขาตอบว่าในวันเดียวกันยังได้ตรวจศพผู้เสียชีวิตรายอื่นด้วย ซึ่งศพบางส่วนไม่พบหัวกระสุนแต่มีลักษณะบาดแผลคล้ายกับของนายฟาบิโอ  บางศพก็พบเศษกระสุน บางศพก็พบหัวกระสุนปลายเรียวแหลมที่ใช้กับอาวุธปืนความเร็วสูง โดยศพผู้ตายรายอื่นที่ได้ตรวจเสียชีวิตในเวลาใกล้เคียงกับนายฟาบิโอ  และทนายได้ถามต่ออีกว่าในวันที่เขาไปที่โรงพยาบาลตำรวจเพื่อตรวจศพซึ่งอยู่ในพื้นที่ปิดล้อมของทหาร ได้พบเห็นป้ายใช้กระสุนจริงหรือห้ามเข้าหรือไม่  เขาตอบว่าไม่เห็นแต่ในเช้าวันที่ 20 ที่เข้าไปนั้นเขามาจากทางถนนพระราม 1 ได้ผ่านด่านทหารที่แยกกษัตริย์ศึกและด่านบริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ

พ.ต.ท.สุพจน์ ชายป่า เบิกความว่า ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจาก บก.น.6 ให้เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ โดยเขาได้ทำการสอบพยานที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง ซึ่งเป็นพยานผู้ชุมนุม 3 ปาก คือนายขวัญชัย โสวะภาส นายอุดร วรรณสิงห์ นายสามารถ นกน้อย  ซึ่งให้การตรงกันว่า เข้าร่วมชุมนุมอยู่บริเวณถนนแยกราชดำริ และเห็นทหารเคลื่อนกำลังจากแยกศาลาแดงมายังแยกราชดำริ โดยยิงปืนใส่ผู้ชุมนุมเป็นระยะ ขณะนายฟาบิโอวิ่งไปทางราชประสงค์ก็ถูกยิงล้มลงและเสียชีวิต และพยานอีกปากคือนายวิจิตร จริตรำ ให้การว่า เข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง และเห็นเจ้าหน้าที่ยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม เมื่อหันไปเห็นผู้ตายถูกยิงล้มลง ได้มีคนอุ้มร่างผู้ตายเข้ามาบริเวณทางเท้าใกล้กับที่พยานยืนอยู่ พยานได้ขับรถจักรยานยนต์พานายฟาบิโอไปส่งโรงพยาบาลตำรวจ และเขาได้สอบนายมาริต คำนัน ช่างภาพจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และนายคริสโตเฟอร์ แบรดลีย์ คอกซ์ ช่างภาพอิสระชาวอเมริกัน ให้การตรงว่า วันเกิดเหตุเข้าไปถ่ายภาพการชุมนุมบริเวณแยกราชดำริ และได้ยินเสียงปืนจากแยกศาลาแดงดังมาเป็นระยะ และได้ยินเสียงระเบิดมาจากบริเวณแยกราชประสงค์ ทั้งคู่จึงวิ่งไปดูเหตุการณ์พร้อมกับนายฟาบิโอ ขณะวิ่งไปนั้นนายฟาบิโอถูกยิงล้มลง และนายคริสโตเฟอร์ก็ถูกยิงเช่นกัน

พ.ต.ท.สุพจน์ เบิกความต่อว่า ได้ทำการสอบพ.อ.จิรศักดิ์ พรรังสฤษฎ์ และ พ.อ.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ ซึ่งให้การว่า วันเกิดเหตุได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชดำริ โดยเคลื่อนตัวจากแยกศาลาแดงจนถึงแยกราชดำริ โดยใช้กำลังในการปฏิบัติการ 300 นาย มีการใช้อาวุธปืนลูกซอง อาวุธปืนเล็กยาวหรือ ปืน HK โล่ กระบอง และแก๊สน้ำตา โดยสามารถควบคุมพื้นที่บริเวณราชดำริได้ในเวลาประมาณ 12.00 น. นอกจากนี้เขายังได้รวบรวมหลักฐานเป็นแผ่นวีซีดีบันทึกภาพเคลื่อนไหวในช่วงเวลาเกิดเหตุ จำนวน 6 แผ่น และแผ่นซีดีบันทึกภาพนิ่ง จำนวน 2 แผ่น ซึ่งได้รับมากจากพยานที่มาให้การ และขอจากสื่อต่างๆ

หลังจากรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสรุปได้ความว่า วันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ทหาร ภายใต้การนำของ พ.อ.นพสิทธิ์ นำกำลัง 300 นาย เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่แยกศาลาแดงจนถึงแยกราชดำริ โดยระหว่างที่ทหารกำลังปฏิบิตการได้มีผู้ชุมนุมเห็นทหารยิงปืนมาทางผู้ชุมนุม และขณะที่นายฟาบิโอวิ่งไปทางแยกราชประสงค์ได้ถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ สอดคล้องกับภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่รวบรวมมาได้ ประกอบกับคำให้การของพยานที่กล่าวมาข้างต้น สอดคล้องกับรายงานการตรวจพิสูจน์ศพของสถาบันนิติเวชวิทยา ซึ่งยืนยันว่าผู้ตายถูกยิงเข้าบริเวณหลังด้านขวาทะลุอกด้านซ้าย มีทิศทางจากหลังไปหน้า และรายงานการจำลองวิถีกระสุนของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พบว่าผู้ตายถูกยิงบริเวณแยกราชดำริ โดยมีทิศทางจากแยกราชดำริไปทางแยกราชประสงค์ จากการสอบสวนและรวบรวบพยานหลักฐานทั้งหมด จึงสรุปสำนวนว่า นายฟาบิโอตายโดยผิดธรรมชาติเกิดจากผู้อื่นทำให้ตาย โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่

จากนั้นทนายความญาติผู้ตายถามว่า ในการสอบสวนพบว่าบริเวณแยกศาลาแดงไปถึงแยกราชดำริเจ้าหน้าที่ทหารสามารถเข้าควบคุมพื้นที่ได้ทั้งหมดหรือไม่ พ.ต.ท.สุพจน์ตอบว่าทหารเข้าควบคุมพื้นที่ได้ทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้ในการสอบสวนยังไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในที่เกิดเหตุและไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธปืนอาก้าหรือ HK แต่อย่างใด และจากการสอบสวน พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ประธานกรรมธิการทหาร ได้ให้การว่าในการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 มีการเบิกจ่ายกระสุนปืนหลายแสนนัด โดยนำไปใช้ในหลายพื้นที่ แต่ไม่ได้ระบุว่าแต่ละพื้นที่ใช้จำนวนเท่าใดบ้าง ส่วนกระสุนขนาด .223 (5.56 มม.) เรียกอีกอย่างว่ากระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งจะมีใช้เฉพาะทหารเท่านั้น  ทนายได้ถามอีกว่าทำไมจึงไม่มีการสอบพยานนาย ไซโต้ มาซายูกิและนายมิเชล มาสส์ เขาได้ตอบว่าเนื่องจากทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสอบสวนแล้ว และในภายหลังทางพนักงานสอบสวนได้มีการตามมาให้การ แต่ตามตัวมาไม่ได้จึงไม่ได้ทำการสอบสวนเอาไว้

 

นัดสืบพยานวันที่ 15 มีนาคม 2556

          พยาน มิเชล มาส (Michael Guillaume Marie Maas)[6] นักข่าววิทยุและโทรทัศน์ของ NOS Radio & Television

มิเชล มาส เบิกความว่า เขาเป็นนักข่าวที่รับผิดชอบพื้นที่เอชียตะวันออกเฉียงใต้ ของสถานี NOS Radio & Television และเริ่มเข้ามาทำงานข่าวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2005 โดยเดินทางไปมาระหว่างจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของเขาและที่ตั้งสำนักงานซึ่งไม่ได้มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย ในปี 2553 เขาเข้ามาทำข่าวการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนพฤษภาคมซึ่งเขาพักอยู่ที่โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท แยกประตูน้ำ  เขาได้ทำข่าวการชุมนุมตั้งแต่บริเวณประตูน้ำจนถึงบริเวณสวนลุมพินี

เช้าวันที่ 19 เขาเห็นข่าวโทรทัศน์เห็นทหารเข้ามาที่แยกศาลาแดงพร้อมรถทหารทำลายแนวกั้นมุ่งหน้าเข้าสู่พื้นที่ชุมนุม  เขาอยากเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเองจึงตัดสินใจเข้าไปทำข่าว  เมื่อเข้าไปทำข่าวเขาอยู่ห่างจากแยกศาลาแดงราว 400 – 500 ม. โดยจุดที่เขาอยู่ใกล้กับโรงแรมรีเจ้นท์ซึ่งบริเวณนั้นมีนักข่าวต่างประเทศคนอื่นๆ  และผู้ชุมนุมอยู่ด้วย  ในขณะที่อยู่บริเวณนั้นเขาเห็นทหารแต่งกายในเครื่องแบบและมีอาวุธปืนเคลื่อนเข้ามาจากทางศาลาแดงมุ่งหน้าแยกราชประสงค์ในเวลาราว 10.30 น.  วันนั้นเขาใส่เสื้อเชิ๊ตสีชมพูเหมือนคนทั่วไปไม่มีเครื่องหมายที่ระบุได้ว่าเป็นสื่มวลชน ไม่มีกล้องถ่ายภาพหรือวิดีโอ มีเพียงมือถือที่สามารถถ่ายภาพได้และเครื่องอัดเสียงขนาดเล็กเท่านั้น

ในช่วงเกิดเหตุเขาได้ยินเสียงปืนดังขึ้นและเห็นมีผู้บาดเจ็บถูกนำออกมา เขาตั้งใจจะเดินจากจุดที่เขาอยู่ลึกเข้าไปอีกแต่เมื่อห็นว่ามีกระสุนยิงออกมาจากจากทางที่ทหารอยู่ทิศทางจากแยกศาลาแดง เขาจึงหลบเข้าไปข้างๆในบริเวณใกล้เคียงกับที่เขาอยู่ซึ่งมีต้นไม้อยู่ในบริเวณนั้น  เขาได้ยินเสียงปืนดังหลายนัดมีความวุ่นวายเกิดขึ้นมีเสียงคนตะโกนร้องและวิ่งหนีออกมาทางที่เขาอยู่ ในขณะนั้นเขาได้ยินว่ามีคนถูกยิงแต่เขาไม่เห็นเนื่องจากจุดที่เขาอยู่เมื่อมองไปถนนฝั่งตรงข้ามมีสิ่งกีขวางบังอยู่ เวลาในขณะนั้นราว 11.20 น.

ขณะที่เขาหลบอยู่นั้นเขาได้เห็นว่าสถานการณ์รุนแรงขึ้นมีคนวิ่งหนีออกมาเขาจึงหันกลับวิ่งออกไปด้วยพร้อมกับรายงานสถานการณ์สดกลับไปที่สถานีวิทยุที่เขาทำงานด้วย ในขณะนั้นเองเขาก็ถูกยิงมาจากทางด้านหลังถูกด้านหลังข้างขวาของเขา  เมื่อเขาถูกยิงได้มีคนพาเขาไปขึ้นรถจักรยานยนต์นำส่งโรงพยาบาลตำรวจตอนที่เขาถูกยิงไม่ทราบเวลาแน่ชัดแต่คาดว่าราว 11.20 น.

หลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเขาได้ย้ายโรงพยาบาลไปที่โรงพยาบาลสมิติเวชแต่ในระหว่างที่รักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งสองแห่งนั้นยังไม่ได้มีการผ่าตัดเอาหัวกระสุนออกจนกระทั่งกลับไปจากาตาร์ไป 5 สัปดาห์จึงได้กลับมาที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง และเขารับการผ่าตัดเอาหัวกระสุนออกที่โรงพยาบาลสมิติเวช  ซึ่งหัวกระสุนที่ผ่าออกมาทางโรงพยาบาลได้ถ่ายภาพเอาไว้แล้วมอบเอกสารรายงานการผ่าตัดและหัวกระสุนให้แก่เขา ซึ่งเขาได้นำหัวกระสุนที่ได้มามอบให้แก่ DSI ไป  กระสุนที่ได้ให้ไปนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธได้บอกแก่เขาว่าเป็นหัวกระสุนปืน M16 เขาได้ให้การกับทาง DSI และตำรวจ สน.ลุมพินี และเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับหนังสือพิมพ์ข่าวสดด้วย  โดยเขาให้สัมภาษณืไว้ว่าในที่เกิดเหตุเขาไม่พบเห็นชายชุดดำ และกระสุนที่ยิงมานั้นมาจากฝั่งทหารทางศาลาแดงยิงมาทางราชประสงค์

เขาทราบภายหลังว่าคนที่ถูกยิงคือนายฟาบิโอในขณะที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ และในภายหลังเขาได้มีการติดต่อกับอลิซาเบตต้า โปเลงกี

อัยการได้ถามนายมิเชลว่าทำไมในการรักษาหลังถูกยิงจึงไม่ได้ผ่าเอาหัวกระสุนออกต้องกลับมาผ่าออกเมื่อกลับมากรุงเทพฯอีกครั้ง  เขาตอบว่าแพทย์แจ้งเหตุผลแก่เขาว่ากระสุนเข้าจุดที่ไม่อันตรายมากหากผ่าตัดอาจจะเกิดอันตรายมากกว่า ปล่อยให้อยู่ในร่างกายก่อนแล้วผ่าตัดออกในภายหลังจะปลอดภัยกว่า

ในวันนี้ทนายญาติผู้เสียชีวิตได้นำพยานมาด้วยกันทั้งหมด 3 คน คือนายมิเชล มาส นายไซโต้ มาซายูกิและนายเจฟฟรี จาบลอนสกี้(Jeffrey Jablonski) ซึ่งได้มีการยื่นขอให้มีการสืบพยานในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายฟบิโอด้วย แต่ผู้พิพากษาได้ตัดนายไซโต้และนายเจฟในการสืบพยานออก รับสืบเพียงนายมิเชลคนเดียว  โดยให้เหตุผลในการตัดพยานออกว่าในการไต่สวนเพียงต้องการทราบว่าผู้ตายเป็นใคร เสียชีวิตที่ไหน ตายเมื่อใด ใครทำให้ตาย ซึ่งมีข้อเท็จจริงเพียงพอแล้วจึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องทำการสืบพยานเพิ่มอีก

ซึ่งนายไซโต้นั้นเป็นพยานซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ซึ่งได้ถ่ายภาพนายฟาบิโอไว้ได้ตั้งแต่ที่นายฟาบิโอกำลังวิ่งข้ามแยกสารสินมาจากทางด้านข้างตึก ศก.มุ่งหน้ามาทางสถานีรถไฟฟ้าราชดำริ และหลังจากนายฟาบิโอถูกยิงล้มไปแล้วเขาก็ได้ถ่ายภาพนายฟาบิโอไว้อีกและเป็นคนที่เข้าไปช่วยนายฟาบิโอไปขึ้นรถจักรยานยนต์เพื่อนำส่งโรงพยาบาลด้วย  ส่วนนายเจฟฟรีนั้นเป็นผู้ที่ถ่ายคลิปวิดีโอเหตุการณ์แวดล้อมบริเวณแยกสารสินในช่วงก่อนที่นายฟาบิโอจะถูกยิง

นัดฟังคำสั่งวันที่ 29 พฤษภาคม 2556[7]

ในการอ่านคำสั่งศาลวันนี้ไม่มีอัยการเข้าร่วมฟังด้วย มีเพียงทนายญาติผู้เสียชีวิตมาเท่านั้น  ส่วนในรายละเอียดของคำสั่งศาลมีดังนี้

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลา 5.45 น. ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) มีคำสั่งให้ทหารกองพันทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ซึ่งเป็นหจ้าพนักงานเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี ตั้งแต่แยกศาลาแดงจนถึงแยกราชดำริ และใช้รถสายพานลำเลียงในการเข้าทำลายแนวกั้นของผู้ชุมนุม เจ้าพนักงานดังกล่าวมีอาวุธปืนประจำกาย ได้แก่ อาวุธปืนเล็กยาว M16 HK 33 ปืนลูกซอง และปืนพก โดยได้รับคำสั่งให้ใช้กระสุนปืนจริงและกระสุนปืนซ้อมรบกับอาวุธปืนลูกซอง ส่วนอาวุธปืนเล็กยาวให้ใช้แต่เพียงกระสุนปืนซ้อมรบเพียงอย่างเดียว ระหว่างที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่และเคลื่อนเข้ากระชับพื้นที่นั้น ได้มีนักข่าวซึ่งรวมผู้ตาย เข้าไปทำข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเหตุการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น กลุ่มผู้ขุมนุม นักข่าว และผู้ตายได้วิ่งหลบหนีจากแยกราชดำริไปยังแยกราชประสงค์ เมื่อผู้ตายวิ่งมาถึงบริเวณเกาะกลางถนนหน้าบริษัทสายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด ปรากฎว่าผู้ตายถูกยิงล้มลง จากนั้นมีคนนำผู้ตายไปส่งที่โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาล

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร เห็นว่า ผู้ร้องมีพยานปากนักข่าวคือนายแบรดลี่ย์ ค๊อกซ์และนายมาริต คำนัน ได้ให้การว่าในเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 พวกเขาได้ให้การตรงกันว่าในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ได้ยินเสียงปืนดังเป็นระยะ  และได้เห็นผู้ตายถูกยิงล้มลงขณะที่วิ่งหลบหนีไปทางเยกราชประสงค์ระหว่างที่เจ้าหนักงานกำลังเคลื่อนมาจากแยกศาลาแดง พยานทั้งสองปากเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา

เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพ.ต.ท. วัชรัศม์ เฉลิมสุขสันต์ พยานผู้เขี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนปืนยิงมาจากทางเเยกศาลาแดงซึ่งเป็นทิศทางที่เจ้าพนักงานกำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จนถึงแยกราชดำริ อีกทั้งพ.ต.ท.ปกรณ์ วะศินรัตน์แพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายและพล.ต.ท. อัมพร จารุจินดา ผู้แปลผลการชันสูตรพลิกศพยังเบิกความสอดคล้องต้องกันโดยสรุปว่าบาดแผลของผู้ตายน่าจะเป็นบาดเเผลที่เกิดจากกระสุนปืนที่ยิงออกมาจากอาวุธปืนที่มีความเร็วสูง

เมื่อไม่ปรากฎจากการไต่สวนว่ามีบุคคลอื่นเข้ามาก่อเหตุใดๆ ทั้งกระสุนปืนที่เจ้าพนักงานใช้ประจำการในการเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุเป็นกระสุนปืนขนาด .223 ที่ใช้กับอาวุธปืนเล็กยาวM16 และHK 33 ที่มีประสิทธิภาพในการยิงวิถีไกลและมีความเร็วสูง และได้ความจากนักข่าวต่างประเทศ พยานมารดาผู้ตาย ว่าในขณะเกิดเหตุพยานได้วิ่งไปทิศทางเดียวกับผู้ตายและถูกยิงด้วยกระสุนปืนในบริเวณใกล้เคียงกับผู้ตายที่บริเวณด้านหลังข้างขวาและกระสุนปืนฝังใน

ต่อมาแพทย์ได้ผ่าตัดเอาหัวกระสุนปืนออก พบว่าเป็นหัวกระสุนปืนจากอาวุธปืนเล็กยาว M16 ซึ่งสอดคล้องกับอาวุธปืนที่เจ้าพนักงานใช้ประจำกายในวันเกิดเหตุ พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงผู้ตาย ถูกยิงมาจากด้นเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ

จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายฟาบิโอ โปเลงกี ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลตำรวจ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลา 11.30 น. เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน เป็นเหตุให้เกิดบาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

 

 

 


[3] “’มาร์ค-เทือก’อ่วมอีก 19คนเจ็บ แจ้งคดีพยายามฆ่า,” ข่าวสด, 27 ธ.ค. 53,

[4] “คดีชาญณรงค์จ่อ,” ข่าวสด, 26 ม.ค. 56,

[5] ในการให้การของเขาแยกราชดำริจะหมายถึงสามแยกสารสิน ในที่นี้จะเรียกว่าแยกราชดำริตามการเบิกความของเขา