ลำดับเหตุการณ์

เหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มชุมนุม-สลายการชุมนุม

12 มีนาคม 2553

นปช. – นปช. เปิดฉากรณรงค์การชุมนุม (kick off campaign) “กิจกรรม 12 มีนา 12 นาฬิกาลั่นกลองศึกเขย่าขวัญอำมาตย์” โดยมีการรวมตัวกัน 7 จุด 1.อนุสาวรีย์ปราบกบฏหลักสี่ 2.อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินวงเวียนใหญ่ 3.แยกบางนา-ตราด 4.ศาลากลาง จ.นนทบุรี 5.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สามเหลี่ยมดินแดง 6.สวนลุมพีนี และรณรงค์ไปตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

นปช. ต่างจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ในจังหวัดและทยอยเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพ (เท่าที่ระบุได้จากสื่อ) (อีสาน 19 จังหวัด ) อุบลธานี กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด มุกดาหาร นครราชสีมา อำนาจเจริญ หนองคาย นครพนม สกลนคร อุดรธานี ขอนแก่น สุรินทร์ มหาสารคาม (เหนือ 17 จังหวัด) เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยนาถ พิจิตร (ภาคตะวันออก-ภาคกลาง) ชลบุรี ปราจีนบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ อยุธยา (ภาคใต้) สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา

นปช. อยุธยาขับไล่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯที่มาตรวจเยี่ยมด่านตรวจวังน้อยกิโลเมตรที่ 65-66 หมู่ 4 ต.ลำตาเสา อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา (ที่ตั้งสกัด-ตรวจการเคลื่อนเข้ากรุงเทพฯ ของรัฐบาล)

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – 35 ประเทศยกระดับการเตือนภัยพลเมืองของตนเองในการเดินมายังประเทศไทย ธนาคาร 6 แห่ง 9 สาขา แจ้ง ธปท.ขอปิดดำเนินการชั่วคราว

หมายเหตุ – ข่าวจาก www.khaosod.co.th,มติชน และ ไทยรัฐ , 13 มี.ค. 53

 

13 มีนาคม 2553

นปช. – ที่กรุงเทพ นปช. ตั้งเวทีชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้า และจัดเตรียมสถานที่รองรับผู้ชุมนุมที่ทยอยมาจากต่างจังหวัด, คนผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัดเริ่มเดินทางเข้ามาถึง กทม.

นปช. ภาคอีสาน 17 จังหวัด มารวมตัวกันที่ อ.ปากช่องนครราชสีมา เพื่อเคลื่อนขบวนเข้ากรุงเทพพร้อมกัน

นปช. ภาคเหนือ รวมตัวกันที่สนามกีฬา จ. นครสวรรค์เพื่อเคลี่ยนขบวนเข้ากรุงเทพพร้อมกัน

นปช. ภาคตะวันออก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว นครนายก ชลบุรี ระยอง ตราด รวมตัวกันที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเคลื่อนขบวนเข้ากรุงเทพ

รัฐบาล – รัฐบาลส่งนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเข้าเจรจากับแกนนำ นปช.

เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจรักษาความปลอดภัยและวางรั้วลวดหนามรอบทำเนียบรัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กองบัญชาการทหารบก ถ.ราชดำเนินกลาง คณะสงฆ์อาสาพัฒนาสันติวิธีและพระสงฆ์กลุ่มสังฆสามัคคีเดินทางไปที่หน้า บก.ทบ.ขอบิณฑบาตกองทัพไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน

ที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย รณรงค์แจกคู่มือ “ไม่เอาความรุนแรง” แก่คนกรุงเทพ เตรียมรับการชุมชุม

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 14 มี.ค.53 และ ไทยรัฐ 14 มี.ค.53

 

14 มีนาคม 2553

นปช. – นปช. เริ่มต้นการชุมนุมใหญ่อย่างเป็นทางการ เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 24 ชั่วโมง นปช. ตั้งเวทีใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้า พื้นที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงครอบคลุมพื้นที่ตลอดถนนราชดำเนิน ด้านหนึ่งไปจรดลานพระบรมรูปทรงม้าและตึกไทยคู่ฟ้า อีกด้านหนึ่งจรดสนามหลวงและเชิงสะพานปิ่นเกล้า สันติบาลประเมินจำนวนผู้ชุมนุมว่ามี 120,000-200,000 คน ส่วนสื่อต่างประเทศประเมินว่ามีมากกว่า 200,000 คน นับเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

นปช. นนทบุรี ปทุมธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา เคลื่อนขบวนมาทางเรือตามลำน้ำเจ้าพระยา มาขึ้นที่บริเวณท่าเรือสามพระยา เขตพระนคร กทม. เพื่อเข้าร่วมการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ (www.khaosod.co.th 15 มี.ค.53)

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทรายฝ่าย

หมายเหตุ

 

15 มีนาคม 2553

นปช. – นปช. เคลื่อนขบวนไปยังกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) ถนนพหลโยธิน สถานที่ตั้งของกองบัญชาการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อรอฟังคำตอบของรัฐบาลหลังยื่นคำขาดให้ยุบสภา
(ย่อหน้าใหม่) เมื่อผู้ชุมนุมเคลื่อนมาถึงหน้า ร.11 รอ. ทหารจากกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา กรมรบพิเศษที่ 2 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี ซึ่งเข้ามาตั้งหน่วยปฏิบัติการภายในกรมทหารราบที่ 11 รอ. ได้เปิดเพลงพระราชนิพนธ์ สลับการการปราศรัย เพื่อกลบเสียงของเวทีปราศรัยของ นปช.

หลังผ่านเส้นตายเวลา 12.00 น. ไปประมาณ 1 ชั่วโมง นายณัฐวุฒิได้ประกาศว่า วันรุ่งขึ้นถ้ารัฐบาลอภิสิทธิ์ยังไม่ลาออก ผู้ชุมนุมจะใช้วิธี “หลั่งเลือดเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย” โดยสันติวิธี ซึ่งจะเจาะเลือดคนเสื้อแดงหนึ่งแสนคนหนึ่งล้านซีซี รวบรวมกันไปเทประท้วงหน้าประตูทำเนียบรัฐบาล หากยังไม่ยุบสภาอีกจะนำไปเทที่หน้าพรรคประชาธิปัตย์และหน้าบ้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะตามลำดับ จากนั้นผู้ชุมนุมจึงได้เดินทางกลับ (ดู “คนเสื้อแดงเคลื่อนถึงราบ 11 แล้ว,” ประชาไท, 15 มี.ค.53  ; และดูคำปราศรัยประกาศหลั่งเลือดเพื่อประชาธิปไตยที่ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ: ‘เลือดทุกหยดที่ไหล คือเลือดไพร่ที่ไม่มีเส้น’,” ประชาไท, 15 มี.ค.53)

รัฐบาล – นายกรัฐมนตรีขึ้นเฮลิคอปเตอร์จาก ร. 11 รอ. หลังจากมวลชนเสื้อแดงมาชุมนุมหน้า ร.11 รอ.

นายกรัฐมนตรีแถลงยืนยันว่าจะไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของ นปช.

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 ใส่กองรักษาการณ์ กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 พัน 1 รอ.) ถนนวิภาวดีรังสิต จำนวน 4 ลูก ทำให้ทหารบาดเจ็บ 2 นาย คาดว่าผู้ก่อเหตุยิงมาจากทางยกระดับโทลล์เวย์

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 16 มี.ค.53

 

16 มีนาคม 2553

นปช. – นปช. เจาะเลือด 3แสนซีซี ใส่แกลลอนแล้วนำไปเทที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและพรรคประชาธิปปัตย์ ยุทธวิธีเทเลือดส่งผลให้แกนนำ นปช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากหลายฝ่าย รวมทั้งแนวร่วม เช่น พล.ต.ขัตติยะ และนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำกลุ่มแดงสยาม สุดท้ายในช่วงค่ำแกนนำ นปช.ประกาศตัดแดงสยามออกจากขบวนการ

นปช. เชียงใหม่ พร้อมพระสงฆ์ นำเลือดไปแห่รอบอนุสาวรีย์เจ้ากาวิละ หน้ากองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และทำพิธีบวงสรวง พร้อมราดเลือดใส่กระถางธูปบูชา

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 ไปตกใกล้ๆ บ้านของนายอักขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด ใน ซ.ลาดพร้าว 23

ที่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตอนเช้ามืด เกิดเหตุคนร้ายขี่จักรยานยนต์ขว้างระเบิดใส่บริษัทเชียงใหม่คอนสครัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นของนายคะแนน สุภา พ่อตานายเนวิน ชิดชอบ

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 17 มี.ค.53

 

17 มีนาคม 2553

นปช. – นปช. นำเลือดไปเทที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี ที่สุขุมวิท 31 ขณะที่ นปช. อีกกลุ่มหนึ่งเดินทางไปยื่นหนังสือที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

ที่ จ.นครราชสีมา นปช. โคราช เจาะเลือดที่ลานอนุสาวรีย์ย่าโม นำเลือดไปเทที่บ้านไร้กังวล ถ.สืบสิริ อ.เมือง บ้านพักของพล.อ.เปรมติณสูลานนท์ แต่ถูกสกัดก่อนถึงบ้าน 500 เมตร จึงทำการเทเลือดใส่รูปพลเอกเปรมแทน

ในช่วงค่ำ นปช.ประกาศบนเวทีว่าจะชุมนุมยืดเยื้อจนกว่าจะได้รับชัยชนะ พร้อมประกาศตัดขาดกลับกลุ่มแดงสยามของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และกลุ่มของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ที่ออกมาโจมตีแนวทางเคลื่อนไหวของ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน

รัฐบาล – นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอให้ใช้สภาฯ เป็นทางออกของความขัดแย้ง โดยเปิดอภิปรายทั่วไปตาม ม.179 อย่างไรก็ตามการประชุมต้องล่มไปเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ เพราะ ส.ส.จำนวนมากไม่กล้าเดินทางมาประชุม

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสามารถดำเนินการได้ตามปกติ แต่องค์ประชุมไม่ครบ

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ฝ่ายสมาชิกวุฒิสภา 60 คน เข้าชื่อกันเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไป ส่วนกลุ่ม 40 ส.ว.แสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาล

สนนท.ออกแถลงการณ์สนับสนุน นปช.

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 18 มี.ค.53 และไทยรัฐ 19 มี.ค.53

 

18 มีนาคม 2553

นปช. – แกนนำ นปช. มีมติกดดันอีกระลอกด้วยการเคลื่อนพลใหญ่วันที่ 21 มี.ค. รณรงค์ทั่วกรุงเทพเรียกร้องให้คนกรุงออกมาขับไล่รัฐบาล

นปช. สุรินทร์ รณรงค์ในเมือง ตลาดเทศบาลตำบลกังแอน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ หาเสบียงสนับสนุนการชุมนุมที่กรุงเทพ

นปช. เชียงใหม่ แห่โลงศพ และดอกไม้จันทน์ไปชุมนุมบริเวณหน้าศูนย์ประสานงานพรรคประชาธิปัตย์ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อแสดงจุดยืนว่าไม่ยอมรับนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์

รัฐบาล – หลังบ้านพักถูกเทเลือด นายกฯ สั่งดำเนินคดีกับแกนนำเสื้อแดงที่พูดว่าจะเอาเลือดไปล้างเท้า ด้านกรรมการสิทธิ์ระบุม็อบละเมิดสิทธิ์คุกคามประชาชน

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กสม. นำโดย ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ ร.11 รอ. หลังการพูดคุยกันนายกรัฐมนตรีและประธาน กสม. ได้แถลงร่วมกัน โดยประธาน กสม.กล่าวว่า ได้นำข้อเสนอเชิงตกลงระหว่าง นปช.กับรัฐบาล โดยผู้ชุมนุมตกลงว่าจะชุมนุมโดยสงบ และรัฐบาลจะดูแลเรื่องความสงบเรียบร้อย รวมถึงมีข้อตกลงที่จะไม่มีการปิดล้อมที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและองค์รัชทายาท สถานที่ราชการ สนามบิน และสถานทูต โดยทางรัฐบาลขอเพิ่มข้อตกลงเรื่อง จะต้องไม่มีการปิดล้อมบ้านพักของนายกรัฐมนตรีหรือของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะการปิดล้อมบ้านพักของบุคคลเป็นการละเมิดสิทธิ์ ทั้งนี้ประธาน กสม. ยังระบุว่า รัฐบาลพร้อมที่จะเปิดการเจรจา หากนำไปสู้ข้อยุติทางการเมืองและความสงบ โดยต้องเคารพกติกาด้วยกันทุกฝ่าย

ด้านนายอภิสิทธิ์แถลงว่า ตนมีความจริงใจในการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันด้วยเหตุผล แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขการชุมนุมที่อยู่ภายใต้กรอบกติกา ถ้าเป็นการชุมนุมนอกกติกา ไม่อาจที่จะเข้าสู่กระบวนการพูดคุยได้ เพราะไม่อาจทำให้สังคมต้องอยู่ภายใต้หรือเดินตามการข่มขู่คุกคาม

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนั้น นายสาทิตย์ วงษ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯและแกนนำคนเสื้อแดงประกาศทำสงคราม “อำมาตย์” กับ “ไพร่” ว่า ถือเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งที่จะนำประเทศกลับไปสู่สงครามคอมมิวนิสต์เหมือนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำคือการอธิบายให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับประชาชนว่า ความหมายของทั้งสองคำคืออะไร โดยนายกฯ สั่งการในที่ประชุม ศอ.รส. ชี้แจงเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นระบบทั้งผ่านสื่อ และผ่านเครือข่ายในต่างจังหวัด โดยมี กอ.รมน.รับผิดชอบ และจะให้นักวิชาการทำความใจกับประชาชน

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.-แดงทั้งแผ่นดิน กล่าวว่า นปช.พร้อมเจรจากับนายอภิสิทธิ์คนเดียวเท่านั้น บนพื้นฐานการเจรจาแบบเสมอภาค ส่วน นพ.เหวง โตจิราการ กล่าวยืนยันข้อเสนอเดิมคือการยุบสภา หากนายกฯ จะเจรจาก็พร้อมเจรจาด้วย

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 21.00 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หนึ่งในแกนนำ นปช. ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุการไม่ยอมเปิดเจรจากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อยุติปัญหาว่า การเจรจาจะเกิดขึ้นได้เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายมีความเท่าเทียมกัน แต่วันนี้รัฐบาลยังให้สื่อของรัฐออกข่าวโจมตี ใส่ร้ายป้ายสีพวกตน และคนเสื้อแดงว่าเป็นพวกล้มเจ้า คิดลอบสังหารนายกฯ ทำให้กลายเป็นผู้ร้ายของสังคม แล้วตนจะไปนั่งเจรจาทำไม ถ้ารัฐบาลอยากเจรจาอย่างจริงใจ ก็ควรเปิดพื้นที่ให้พวกตนมีโอกาสชี้แจงนำเสนอข้อเท็จจริงต่อพี่น้องประชาชน ทั่วประเทศผ่านสื่อของรัฐด้วย (ดู “กสม. แม่สื่อเจรจา นายกฯ-นปช. สองฝ่ายยังตั้งแง่,” ประชาไท, 19 มี.ค. 53)

นายอภิสิทธิ์และแกนนำ นปช. แสดงท่าทีตอบรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ นปช. แกนนำ นปช. มีข้อเสนอให้ถ่ายทอดสดการเจรจา ด้านรัฐบาลเสนอให้ผู้ชุมนุมคืนพื้นที่บริเวณแยกมิสกวันถึงแยกลานพระบรมรูปทรงม้า ถ.อู่ทองใน ถ.ศรีอยุธยา ตั้งแต่แยกวัดเบญจมบพิตฯ ถึงแยก พล.1 เพื่อใช้พื้นที่สำหรับจัดงานกาชาด

เกิดเหตุวางระเบิดป้ายรถเมล์ ประจำทาง หน้ากระทรวงยุติธรรม อาคารซอฟท์แวร์พาร์ค ถ. แจ้งวัฒนะ (ระเบิดแสวงเครื่องบรรจุท่อ pvc) จาก www.khaosod.co.th 20 มี.ค.53

กลุ่มประชาชนจากเขตบางรัก เดินทางไปให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีที่บ้านพัก จาก ไทยรัฐ 19 มี.ค.53

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 19 มี.ค.53

 

19 มีนาคม 2553

นปช. – นปช. จัดการชุมนุมย่อยในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง นครสวรรค์ สกลนคร ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย หนองคาย ขอนแก่น มุกดาหาร อุดรธานี อุบลราชธานี พัทลุง

แกนนำ นปช. ปฏิเสธที่จะให้ กสม. เป็นตัวกลางในการเจรจากับรัฐบาล

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – กลางคืน เกิดเหตุขว้างขวดบรรจุน้ำมันใส่รถถัง หน้ากองพลทหารม้าที่ 2 (พล.ม.2) ถนนพหลโยธิน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 20 มี.ค.53

 

20 มีนาคม 2553

นปช. – นปช. จัดการรณรงค์รอบกรุงเทพฯ นำโดยรถมอเตอร์ไซต์และรถยนต์ส่วนตัวนับหมื่นคัน สันติบาลประเมินว่ามีจำนวนผู้ชุมนุมร่วมขบวนมากกว่า 65,000 คน

ในช่วงเย็น นายณัฐวุฒิ เลขาธิการ นปช. แถลงว่า นปช.ไม่ปิดประตูการเจรจาเพราะการเจรจาเป็นแนวทางที่ดีที่สุด แต่ไม่ต้องการเจรจากับนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะเจรจากับผู้มีอำนาจสูงสุดคือ นายอภิสทธิ์ ในเงื่อนไขเดียวคือ ยุบสภาทันที ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่จึงมาเริ่มกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ (ดู “แกนนำแถลงมวลชนมากสุดในประวัติศาสตร์ ยอมเจรจานายกฯ ปัดคนกลาง,” prachatai, 20 มี.ค. 53)

รัฐบาล – เวลา 10.00 น. ร.11 รอ. นายสาธิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงท่าทีของรัฐบาลว่า การแสดงออกจากฝ่ายของกลุ่มผู้ชุมนุมยังเป็นท่าทีที่ไม่มีความจริงใจที่จะเจรจา เนื่องจากล่าสุดได้มีการเรียกร้องให้มีการยุบสภาก่อนจึงจะมีการเจรจากัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลเองเห็นว่าข้อเสนอที่ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอเข้ามาเป็นตัวประสานการเจรจานั้น รัฐบาลพร้อมที่จะเจรจา แต่ต้องตั้งอยู่บนกติกาพื้นฐานของการที่จะต้องมีการตกลงร่วมกันก่อน เพราะฉะนั้นการสร้างเงื่อนไขของฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการแถลงออกมาเมื่อวานนี้ (19 มี.ค. 53) จึงเป็นการสร้างเงื่อนไขที่ไม่สามารถที่จะนำไปสู่การเจรจาได้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงเจตนาของกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงว่า คงจะขัดขวางไม่ให้รัฐบาลทำงานได้ และใช้ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวต่อรอง ซึ่งท่าทีของนายกรัฐมนตรีก็ชัดเจนคือเราจะไม่ให้มีการจับสังคมเป็นตัวประกัน จากนี้ไปรัฐบาลก็จะพยายามแก้ปัญหาทุกทาง โดยการเจรจาก็เป็นอีกทางออกหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เราต้องรอความจริงใจจากทางกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเชื่อว่าคงรอสัญญาณ จาก พ.ต.ท.ทักษิณฯ ว่าพร้อมที่จะมีการเจรจาเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้หรือไม่ (ดู “เทพไทระบุเสื้อแดงจัดฉาก จ้างรถ 2,000-3,000 คนยืนเชียร์ 500,” prachatai, 20 มี.ค. 53)

นายกฯ เดินสายให้สัมภาษณ์สื่อ ระบุว่ารัฐบาลไม่ปิดกั้นที่จะพูดคุยกับผู้ชุมนุมเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่การชุมนุมต้องเป็นไปตามกติกาของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ พ.ต.ท. ทักษิณไม่ยอมรับการพูดคุย (ดู “นายกรัฐมนตรีย้ำหากยุบสภาต้องเป็นการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับกติกา,” prachatai, 20 มี.ค. 53 และยังมีการให้สัมภาษณ์ TNN และ ThaiPBS ด้วย)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลาประมาณ 1.30 น. เกิดเหตุปาระเบิดประดิษฐ์ใส่ป้ายโรงเรียนเปรมติณสูลานนท์ บ้านหนองกุงขี้ควง หมู่ 5 ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

21.50 น. เกิดเหตุระเบิดบริเวณสนามหญ้าสำนักงานใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ที่สนามบินน้ำ นนทบุรี แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

ต่อมาเกิดเหตุยิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม เวลาประมาณ 22.45 น. เกิดเหตุระเบิดที่ชุมชนแพร่งภูธร ถนนตะนาว ศาลเจ้าพ่อเสือ หลังกระทรวงกลาโหม มีผู้บาดเจ็บเป็นชาย 1 คน ถูกสะเก็ดระเบิดที่แขนขวา ต่อมาเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นการยิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม แต่พลาดไปโดนสายไฟ เจ้าหน้าที่ตรวจค้นรถกระบะที่จอดทิ้งห่างจุดเกิดเหตุ 700 ม. พบเครื่องยิงอาร์พีจี ปืนกลมือ ระเบิดมือขว้างเอ็ม 67 กระสุนปืน และเสื้อสีแดง โดนภาพจากกล้องวงจรปิดปรากฏภาพคนร้าย 2 ราย

นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่าพบระเบิดซีโฟร์วางไว้บริเวณเชิงสะพานปิ่นเกล้า แต่เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ได้ทัน เหตุการณ์ระเบิดทั้งหมดรัฐบาลและ นปช. ต่างกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของอีกฝ่าย

หมายเหตุ – จาก www.khaosod.co.th 21-22 มี.ค.53

 

22 มีนาคม 2553

นปช. – นปช. ออกแถลงการณ์ยื่อข้อเสนอต่อรัฐบาล 5 ข้อ โดยขอเจรจากับนายกรัฐมนตรีคนเดียว ได้แก่ (1) ให้ยุบสภาทันที (2) ยืนยันไม่มีข้อเรียกร้องอื่นใดนอกเหนือจากนี้ (3) ยินดีให้มีการเจรจา (4) เมื่อยุบสภาแล้วทุกฝ่ายต้องสลายตัวทันที และ (5) ให้จัดการเลือกตั้งที่สุจริตและยุติธรรม

หน่วยสันติวิธีของ นปช. ขอเข้าตรวจสอบอาวุธของทหารและตำรวจที่มาตั้งจุดบริเวณใกล้ที่ชุมนุม คือ วัดโสมนัสราชวรวิหาร ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย (สนามม้านางเลิ้ง)

ที่อุดรธานีและหนองคาย นปช.อุดรธานี และหนองคาย ร่วมกันขับไล่นายกฯ ที่เดินทางไปตรวจราชการ-สภาพลำน้ำโขงจาก จ.อุดร ถึง หนองคาย จนนายกต้องยุติภารกิจและกลับกรุงเทพ

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – พระสงฆ์จากขอนแก่นกว่า 100 รูป ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอบิณฑบาตให้คืนอำนาจแก่ประชาชนเพื่อนำสังคมพ้นวิกฤต ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

เกิดเหตุปาระเบิด เอ็ม-67 ใส่ป้อมยามหมวดการทางตลิ่งชัน ถ.สิรินธร ขาเข้า กทม.

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 23 มี.ค.53

 

23 มีนาคม 2553

นปช. – นปช. รณรงค์ด้วยขบวนรถจักรยานยนต์ทั่วกรุงเทพ แจกจ่ายสติ๊กเกอร์รณรงค์ให้ยุบสภา ให้แก่ประชาชน

ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั่วประเทศกว่า 100 คน ขึ้นเวทีที่ผ่านฟ้าให้กำลังใจคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมขับไล่รัฐบาล

รัฐบาล – รัฐบาลย้ายที่ประชุม ค.ร.ม. จากราบ 11 มาที่กระทรวงสาธารณสุข

ครม. มีมติขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ต่อไปอีก 7 วัน เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตำรวจและทหารหลายพันนายเข้าปิดถนนและตรึงกำลังบริเวณรัฐสภา ห้าม ส.ส. และเจ้าหน้าที่เข้ารัฐสภา นายกรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มกำลังพลในการรักษาความสงบ โดยใช้เจ้าหน้าที่จำนวน 47,000 นาย เมื่อรวมกับกำลังเสริมคาดว่ามีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 64,000 นาย

ส่วนความคืบหน้ากรณียิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม เจ้าหน้าที่ได้ลายมือผู้ต้องสงสัย พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น. แถลงข่าวการออกหมายจับ ส.ต.ต. บัณฑิต สิทธิทุม อายุ 43 ปี อดีตตำรวจตระเวณชายแดน

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลา 14.20 น. หลังเสร็จการประชุม ครม. เพียงครึ่งชั่วโมง เกิดเหตุยิงระเบิดเอ็ม 79 รวม 2 ลูก ใส่ลานจอดรถกระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ส่วนที่เชียงใหม่ พบลูกระเบิด m79 ข้างอาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแอร์พอร์ตพลาซ่า หลังจากเข้ามาตรวจสอบเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าน่าจะเป็นการนำมาวางเพื่อสร้างสถานการณ์

นางแบบ มิสแม็กซิม เดินทางมาปลอบขวัญ ให้กำลังใจและมอบดอกกุหลาบสีขาว ให้นายทหารและกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ ภายในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 24 มี.ค.53

 

24 มีนาคม 2553

นปช. – ส.ส. เพื่อไทยปฏิเสธเข้าร่วมการประชุมรัฐสภา หลังจากที่ทหารได้ทำการปิดล้อมรัฐสภาทุกด้าน โดยการนำรั้วลวดหนามมาขึงกั้น เสริมแท่นคอนกรีตปิดทุกด้าน ด้านละ 3 ชั้น นำรถบรรทุกน้ำ รถบดถนน รถเครน รถขนขยะมากั้นเป็นชั้นๆ เพื่อวางแนวป้องกัน วางกำลังตำรวจ-ทหารยืนประจำการเรียงแถวหน้ากระดานอยู่ทุกแยก เพื่อป้องกันเดินทางมาประท้วงนายกรัฐมนตรีที่จะมาประชุมสภาของ นปช.

ท่านผู้หญิงวิรยา ชวกุล ขึ้นเวที นปช. นำผู้ชุมนุมร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงหายจากพระอาการประชวร พร้อมร้องเพลงสดุดีมหาราชา

รัฐบาล – นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าผู้ต้องสงสัยยิงอาร์พีจีใส่กลาโหมเป็นคนติดตามนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช. มหาดไทย

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ประธานวุฒิสภาตำหนิรัฐบาลที่นำกำลังทหารมาปิดล้อมรัฐสภา ขณะที่กลุ่ม ส.ว. นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายสมชาย แสวงการ นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายคำนูญ สิทธิสมาน และ น.ส. รสนา โตสิตระกูล แถลงการตอบโต้ประธานวุฒิสภา เนื่องจากต้องการให้คงกำลังทหารไว้รักษาความปลอดภัย

เกิดเหตุวางระเบิดบริเวณริมรั้วกรมบังคับคดี ถ.บางขุนนนท์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ

ในช่วงค่ำเกิดเหตุวางระเบิดถล่มหน้าห้องควบคุมไฟฟ้า ภายในศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี เจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นระเบิดทีเอ็นที ห่างกันราว 1 ชั่วโมง เกิดเหตุปาระเบิดชนิดขว้าง m 67 ใส่กรมยังคับคดี

 

25 มีนาคม 2553

นปช. – นปช. ประมาณ 400 คน โกนหัวประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ที่เวทีชุมนุมสะพานผ่านฟ้าฯ

รัฐบาล – ศอ.รส. สรุปเหตุการณ์ระเบิดว่ามีทั้งหมด 20 ครั้ง ในกรุงเทพและปริมณฑล 16 ครั้ง และมีเหตุก่อนประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ 4 ครั้ง นอกจากนี้มีรายงานข่าวจากสันติบาลว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. สมาชิกกลุ่มโจรก่อการร้ายอาร์เคเคจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มนายสะแปริง บาซอ และสมาชิก 50 คน ได้เดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อร่วมเคลื่อนไหวกับ นปช. และหาโอกาสสร้างสถานการณ์ความรุนแรง และจากการข่าวยังพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความรุนแรงที่เป็นสมาชิกชมรม PNYS จำนวนมากพร้อมอาวุธ เดินทางมาพักอาศัยหน้า มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เกิดเหตุวางระเบิดเอ็ม 26 ตู้เอทีเอ็ม ธนาคารกรุงเทพ หน้าบริษัท เอส.เค. เลเธอร์ จำกัด บ้านสันกลาง หมู่ 3 ต.สนกลาง อ.สันกำแพง เชียงใหม่ แต่เจ้าหน้าที่สามารถที่จะเก็บกู้ไว้ได้

เครือข่ายสันติวิธีเดินรณรงค์รอบวงเวียนอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดเอาประชาชนเป็นตัวประกัน

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 26 มี.ค.53

 

26 มีนาคม 2553

นปช. – ขบวนมอเตอร์ไซค์ หน่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ของ นปช. จัดขบวนออกจากสะพานผ่านฟ้าฯ ตระเวนไป 5 สาย เชิญชวนชาวกรุงเทพฯ มาร่วมชุมนุมใหญ่ในวันที่ 27 มี.ค. เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา

ขณะที่แกนนำ นปช. กลุ่มหนึ่งเข้าหารือกับคณะตัวแทนทูต 15 ประเทศ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงแนวทางการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง

รัฐบาล – ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยรณรงค์หน้าอาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ขอให้คนเสื้อแดงชุมนุมโดยสันติ และคัดค้านการเรียกร้องให้ยุบสภา

ตอนเช้า มีผู้นำระเบิดขว้างชนิดเอ็ม 67 โยนไว้บนสนามหญ้า บริเวณริมรั้ว ใกล้ลานจอดรถ ภายในรั้วของสำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก เจ้าหน้าที่เก็บกู้ได้

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 27 มี.ค.53

 

27 มีนาคม 2553

นปช. – นปช. เคลื่อนขบวน 8 สาย ไปกดดันทหารรอบพื้นที่ชุมนุมให้ถอนกำลังกลับหน่วยของตน ที่ตั้งของทหาร 8 จุดรอบที่ชุมนุมได้แก่ 1 บริเวณสนามม้านางเลิ้ง 2 บริเวณวัดบวรนิเวศฯ 3 บริเวณวัดตรีทศเทพ 4 วัดมกุฏกษัตริยาราม 5 วัดสุนทรธรรมทานหรือวัดแคนางเลิ้ง 6 วัดโสมนัสฯ 7 (โรงเรียนวชิราวุธฯ ถนนพระราม 8) วิทยาลัยราชมงคลพาณิชยการพระนคร รวมทั้งทำเนียบรัฐบาล ในตอนค่ำ

รัฐบาล – บ่ายวันเดียวกัน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก บช.น. แถลงข่าวว่า ศอ.รส. มีคำสั่งให้ถอนทหาร 8 จุดที่คนเสื้อแดงเคลื่อนมวลชนเข้ากดดันกลับสู่ที่ตั้งทั้งหมด และให้ตำรวจเข้าดูแลพื้นที่บริเวณ ถ.ราชดำเนิน รัฐสภา และเขาดิน

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เกิดเหตุระเบิด 3 แห่งในพื้นที่กรุงเทพ แห่งแรก ช่วงค่ำเกิดเหตุปาระเบิดเข้าใส่หน้าสถานี โทรทัศน์ช่อง 5 สนามเป้า ถนนพหลโยธิน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย เป็นทหารเวร 1 ราย และพลเรือนที่ขับรถผ่านมา 2 ราย แห่งที่สอง ต่อมาเวลาประมาณ 21.40 น. เกิดเหตุยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่เจ้าหน้าที่บริเวณเต็นท์รักษาการ ด้านหน้าสถานีวิทยุโทรทัศน์ ช่องเอ็นบีที ถ.วิภาวดีฯ มีผู้บาดเจ็บ 4 ราย เป็นพลทหารและพนักงาน รปภ. คาดว่าเป็นการยิง m79 มาจากทางยกระดับโทลล์เวย์ แห่งที่สาม เกิดเหตุขว้างระเบิดลูกเกลี้ยงชนิดขว้าง K-75 ในอาคาร 120 ปี กรมศุลกากร ถนนสุนทรโกษา แขวงและเขตคลองเตย กทม.

นอกจากนั้น ยังเกิดเหตุยิงเอ็ม 79 และปืนอาก้าใส่ ธนาคารกรุงเทพ ใน จังหวัดพะเยาด้วย

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 28 มี.ค.53

 

28 มีนาคม 2553

นปช. – เวลาประมาณ 7.30 น. นายขวัญชัย ไพรพนา นำคนเสื้อแดงเดินทางไปที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ขณะเดียวกันฝ่ายแกนนำ นปช. ที่สะพานผ่านฟ้าได้ประชุมหารือกัน

กระทั่งเวลา 9.30 น. แกนนำ นปช. ลงมติให้เวลานายอภิสิทธิ์ตัดสินใจ 1 ชั่วโมงว่าจะเจรจาหรือไม่ โดยแกนนำ นปช. ยินดีเจรจาที่ไหนก็ได้

เวลา 10.50 น. แกนนำ นปช. แถลงไม่ขัดข้องในการเจรจา โดยผู้ชุมนุมจะปักหลักอยู่ที่สะพานผ่านฟ้า ส่วนมวลชนที่อยู่หน้าราบ 11 จะยังปักหลักรอความคืบหน้าของการตกลงเรื่องการเจรจาหน้าราบ 11

ในที่สุดเวลา 13.20 น. ก็ได้ข้อสรุปว่าทั้งสองฝ่ายจะเจรจากันเวลา 16.00 น. ที่สถาบันพระปกเกล้า กลุ่มคนสนแดงที่ชุมนุมหน้าราบ 11 จึงสลายการชุมนุม

ตอนเย็น 3 แกนนำ นปช. (นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นพ. เหวง โตจิราการ) เจรจา เจรจากับรัฐบาล (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์) ที่ห้องประชุมสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เริ่มต้นเจรจาเมื่อเวลา 16.30 น. ถึง 20.00 น. ถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 การเจรจานัดแรกไม่ได้ข้อยุติ ทั้งสองฝ่ายจึงนัดเจรจากันอีกครั้งในวันที่ 29 มี.ค. เวลา 18.00 น.

รัฐบาล – เวลา 9.00 น. อภิสิทธิ์ออกแถลงการณ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ กล่าวว่าไม่พร้อมเจรจาหากยังมีการกดดันหน้ากรมทหารราบที่ 11 นายสุเทพ เทือกสุบรรณประกาศว่า หากมีการบุกเข้าไปในกรมทหารราบที่ 11 จะให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารประกาศกฎอัยการศึกเพื่อปกป้องเขตทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์

ต่อมาเวลา 10.45 น. นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กล่าวผ่านช่อง 11 ว่า นายกรัฐมนตรีจะเจรจากับแกนนำ นปช.

เวลา 12.10 น. นายกรัฐมนตรีนั่งเฮลิคอปเตอร์มาที่ราบ 11 เพื่อรับเอกสารจำนวนหนึ่งและออกไปโดยไม่ทราบจุดหมาย

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เวลาประมาณ 4.00 น. เกิดเหตุยิงอาวุธปืนเอ็ม 79 ยิงเข้ามาภายในกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศอ.รส. และเป็นที่พักของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (แต่ในช่วงที่เกิดเหตุ นายกฯ และนายสุเทพ ไม่ได้พักอยู่เหมือนเช่นทุกคืนที่ผ่านมา) จำนวน 2 นัด มีพลทหารได้รับบาดเจ็บ 4 นาย โดยพลทหาร 1 รายบาดเจ็บสาหัส

16.00 น. เกิดเหตุมีคนใช้อาวุธปืนยิงใส่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานขาว ซอยหลานหลวง 10 ถ.หลานหลวง จำนวน 5 นัด

22.30 น. เกิดเหตุปาระเบิดเอ็ม 67 ใส่ป้ายรถเมล์หน้าบ้านนายบรรหาร ศิลปอาชา ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 57 บางพลัด คนที่เดินผ่านถูกสะเก็ดระเบิดบาดเจ็บ 1 คน

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 29 มี.ค.53

 

29 มีนาคม 2553

นปช. – ณัฐวุฒิแถลงบนเวทีว่า นปช. ยังยืนยันให้นายกรัฐมนตรียุบสภา ส่วนระยะเวลาจะเป็นเท่าไรตามที่หลายฝ่ายเสนอ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ค่อยมาเจรจา

เจรจาครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นเวลา 18.00 น. ที่สถาบันพระปกเกล้าฯ นายอภิสิทธิ์เสนอกรอบในการเจรจาว่า จะยุบสภาวันนี้หรืออีก 15 วันไม่เชื่อว่าจะเป็นทางออกให้สังคม ได้หารือพรรคร่วมรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีปัญหาถ้าจะยุบสภาก่อนหมดวาระ แต่ต้องปูทางไปสู่ความสงบก่อนมีการเลือกตั้ง เช่น แก้รัฐธรรมนูญ ลดความแตกแยกในสังคม แต่ฝ่าย นปช. เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่มีทางเป็นไปได้เพราะพรรค ปชป. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ จึงสายเกินไปที่จะพูดเรื่องนี้ ดังนั้น จึงขอให้เลือกตั้งใหม่เลยเพื่อให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ให้ยึดผลการเลือกตั้งเป็นตัวตั้ง นายอภิสิทธิ์กับนายจตุพรตอบโต้กันอย่างไม่ลดละ ฝ่ายรัฐบาลเสนอกรอบเวลา 9 เดือนในการยุบสภาและเสนอให้ทำประชามติเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น การเจรจาดำเนินมาถึงเวลา 20.20 น. นายจตุพรได้ตัดบทขอยุติการเจรจา โดยไม่สามารถหาข้อตกลงอะไรได้ และไม่ชัดเจนว่าจะมีการนัดหมายเจรจาต่อหรือไม่ หลังการเจรจาดังกล่าวฝ่ายรัฐบาลมีท่าทีอยากเจรจาต่อ ส่วนฝ่าย นปช. นายวีระแสดงท่าทีอยากเจรจาต่อ แต่นายจตุพรไม่ต้องการเจรจาอีกต่อไป

รัฐบาล – นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แถลงสรุปการเจรจาวันแรกว่า (1) ทั้งสองฝ่ายยอมรับกรอบการเจรจาร่วมกัน (2) ทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิเสธข้อเสนอยุบสภา เพียงแต่ต้องเจรจาว่าการยุบสภาควรจะเกิดขึ้นเมื่อไรและควรดำเนินการใดๆ ก่อนยุบสภาหรือไม่ และ (3) การเข้าสู่โต๊ะเจรจาอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีการเคลื่อนขบวนชุมนุมไปยังที่ใด

ด้านนายสุเทพได้หารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นตามมติคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยทุกอย่างจะเสร็จสิ้นในปลายปี

ก่อนการเจรจา 2 ฝ่ายในช่วงเย็น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่า ในวันที่ 30 มีนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปบาห์เรน จึงมอบหมายให้ตนเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และในฐานะเป็นผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) จึงตัดสินใจใช้ห้องประชุมกรมทหารราบที่ 11 เป็นสถานที่ประชุม ครม. รวมถึงจะใช้สถานที่ดังกล่าวในการประชุม

คณะกรรมการชุดต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนเป็นประธาน จนกว่าจะยกเลิก ศอ.รส. ก็จะกลับเข้าทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลตามเดิม

ครม. มีวาระเกี่ยวกับความมั่นคง 2 เรื่อง คือ การเสนอให้ ครม. เห็นชอบประกาศพื้นที่ความมั่นคงตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราช อาณาจักร (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ในพื้นที่โดยรอบอำเภอชะอำ และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับผู้นำประเทศที่จะเดินทางเข้าร่วมประชุมกลุ่ม ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า และจีน ในระหว่างวันที่ 2-5 เมษายนโดยจะมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เป็นผู้อำนวยการ ศอ.รส. ในพื้นที่ดังกล่าว

นายสุเทพ กล่าวว่า อีกวาระหนึ่งขึ้นอยู่กับผลการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลและแกนนำแนวร่วม ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ค่ำวันนี้ หากเป็นที่ยุติ ทุกคนกลับบ้านได้ สถานการณ์เข้าสู่สภาพปกติ ก็จะไม่ต่ออายุพ.ร.บ.มั่นคงในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล แต่ถ้าผลการเจรจาไม่เรียบร้อยและนปช.มีท่าทีชุมนุมยืดเยื้อตนก็จะเสนอ ครม. ขอความเห็นชอบประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงต่อไปอีก 7 วัน (ดู “สุเทพเตรียมเสนอต่อพ.ร.บ.มั่นคงอีก 7 วัน,” prachatai, 30 มี.ค.53)

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – พธม. ออกแถลงการณ์เรื่อง “ปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย…ทางออกจากวิกฤต” ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ นปช. เพราะแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นไม่ใช่ตัวแทนของคนทั้งประเทศ เป็นเพียงหุ่นเชิดของทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีอาญาแผ่นดินในคดีโกงชาติ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจะต้องไม่ยอมรับการเจรจาที่จะกลายเป็นเครื่องมือหรือสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบทักษิณ ทั้งนี้ พธม. เห็นว่าการยุบสภาไม่ใช่ทางออกของประเทศ เนื่องจากข้อเสนอให้มีการยุบสภาของผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น เป็นข้อเสนอที่มีวาระซ่อนเร้นเพื่อปูทางไปสู่การฟอกความผิดให้ทักษิณ ชินวัตร ประกอบการยื่นข้อเสนอนี้มาพร้อมกับการก่อการชุมนุมที่ไม่ปกติ เพราะมีการก่อเหตุรุนแรง และการก่อวินาศกรรมคู่ขนานไปด้วยกัน โดยเอาชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นเครื่องสังเวยและเครื่องมือต่อรองกับรัฐบาล

พธม. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายลงโทษกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายอย่าง เคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ ทั้งการกระทำความผิดในการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การกระทำความผิดในการยุยงปลุกปั่นมวลชนด้วยข้อความอันเป็นเท็จผ่านสถานี วิทยุโทรทัศน์และวิทยุชุมชน การก่อวินาศกรรม ฯลฯ เพื่อทำให้ประเทศชาติกลับเข้าสู่ภาวะความเป็นปรกติสุขโดยเร็วที่สุด (ดู “พันธมิตรค้านยุบสภา ชี้รัฐบาลกำลังเจรจากับหุ่นเชิดของนักโทษ,”_prachatai, 29 มี.ค. 53

นักวิชาการเครือข่ายสันติประชาธรรม 155 คน เสนอให้ (1) นายกรัฐมนตรียุบสภาภายใน 3 เดือน (2) ฝ่าย นปช. ไม่ควรยืนยันให้ยุบสภาทันที และ (3) ทุกฝ่ายต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง

ที่เชียงใหม่ เกิดเหตุระเบิดตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้าวัดทรายมูลเมือง ถนนทรายมูล ต.พระสิงห์ อ.เมือง และเกิดเหตุปาระเบิดเอ็ม 26 ใส่สำนักงานศาลปกครอง จ.เชียงใหม่

ที่กรุงเทพ ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเวลาประมาณ 20.15 น. เกิดเหตุเสียงดังคล้ายระเบิดบริเวณภายในรั้วทำเนียบรัฐบาล ฝั่งประตูทางเข้าด้านสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถ.ราชดำเนิน โดยจากการตรวจสอบพบว่าเป็นประทัดปิงปอง มีขนาดเท่าลูกแก้ว ขว้างเข้ามาจากนอกรั้วทำเนียบรัฐบาล จำนวน 3 ลูก แต่เกิดระเบิดเสียงดัง 1 ลูก ส่วนอีก 2 ลูกไม่ทำงาน จากเหตุดังกล่าวไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ

ด้านเจ้าหน้าที่ทหารได้เก็บระเบิดที่ยังไม่ทำงานอีก 2 ลูก ไปตรวจสอบหาหลักฐานต่อไป ทั้งนี้ ทหารที่รักษาความปลอดภัยบริเวณดังกล่าว ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นการปาเข้ามาจากด้านนอกทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 29 มี.ค. ก็มีการปาระเบิดชนิดเดียวกันเข้ามาในพื้นที่เดียวกันนี้ 3 ลูก โดยเกิดเสียงดัง 1 ลูก ส่วนอีก 2 ลูก ไม่ทำงาน

สรุปแล้วตลอดทั้งวัน มีการขว้างเข้ามาประมาณ 5-6 ลูก และก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 28 มี.ค. ก็มีผู้ขว้างระเบิดประเภทเดียวกันเข้ามาในจุดเดียวกัน 2 ลูก แต่เป็นเพียงระเบิดก่อกวนที่มีเสียงดัง ไม่มีอานุภาพร้ายแรง (ดู “สุเทพเตรียมเสนอต่อพ.ร.บ.มั่นคงอีก 7 วัน,” prachatai, 30 มี.ค. 53

ต่อมาเวลา 20.40 น.ที่ผ่านมา พ.ต.ท.สำเริง ส่งเสียง รองผกก. สน.ดุสิต ได้เดินทางมาดูที่เกิดเหตุ พร้อมเปิดเผยว่า ดูแล้วน่าจะเป็นการก่อกวนมากกว่า เพราะเป็นเพียงประทัดปิงปองที่ไม่มีอานุภาพร้ายแรงพอที่จะทำให้บาดเจ็บหรือ เสียชีวิตได้

นอกจากนี้ยังเกิดเหตุยิงปืนใส่กระจกประตูธนาคารกรุงเทพ สาขาบางยี่ขัน ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 57/3 ห่างจากบ้านนายบรรหาร ศิลปอาชา เล็กน้อย

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 30 มี.ค.53

 

30 มีนาคม 2553

นปช. – ฝ่าย นปช. แถลงว่า ถ้าจุดยืนของรัฐบาลยังอยู่ที่ 9 เดือนยุบสภา ก็ไม่จำเป็นต้องเจรจา แต่หากรัฐบาลพิจารณาข้อเสนอ 3 เดือนของนักวิชาการ แกนนำ นปช. ก็จะนำเข้าที่ประชุมเพื่อลงมติ

แกนนำ นปช. ประกาศระดมมวลชนครั้งใหญ่เพื่อยกระดับไปอีกขั้น กำหนดดีเดย์วันที่ 3 เม.ย.

รัฐบาล – เวลา 07.45 น. ณ ท่าอากาศยานขนส่งทหาร กองบิน 6 (บน.6) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางไปเยือนบาห์เรนถึงกรณีที่การเจรจากับแกนนำคนเสื้อแดงครั้งที่ 2 ไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่า รัฐบาลได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุด รับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม และรับฟังจากประชาชนทั่วไปที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้ชุมนุม ได้พยายามเสนอทางออกที่คิดว่ามีเหตุมีผลรองรับชัดเจน และได้ให้ทางตัวแทนของกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้เวลาในการกลับไปพิจารณาเพราะตนจะ เดินทางไปต่างประเทศและกลับในวันที่ 31 มีนาคม 2553 แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าได้รับการปฏิเสธอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ได้พยายามเปิดทางให้มีการพูดคุยกันในวันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน 2553 แต่ก็กลับมีการส่งสัญญาณให้ปิดการเจรจาโดยเร็ว เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลก็ยังยืนอยู่ในจุดเดิม นั่นก็คือจะพูดคุยกับผู้ชุมนุมได้เสมอหากผู้ชุมนุมไม่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่กดดันหรือคุกคาม พร้อมๆ กับที่จะบริหารสถานการณ์ของการชุมนุมให้เกิดผลกระทบความเดือดร้อนน้อยที่สุด ทั้งนี้ก็อยากขอให้ประชาชนช่วยกันแสดงออกว่าจริงๆ นี้ประเทศเราต้องการทางออกที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของความต้องการของคนหนึ่งคนใด หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ถ้าประชาชนได้แสดงออกโดยสันติวิธีในรูปแบบต่างๆ ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่นั้นต้องการที่จะให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติและรัฐบาลก็มีข้อเสนอที่ถือว่าสมเหตุสมผลแล้ว ก็คงจะช่วยลดการสนับสนุนของผู้ชุมนุมได้

นายกรัฐมนตรียังตอบผู้สื่อข่าวถึงเรื่องความจำเป็นที่จะต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ ด้วยว่า ก็เพราะมีปัญหาการก่อวินาศกรรม รวมทั้งการชุมนุมที่มีคนจำนวนมากก็มีความละเอียดอ่อนอยู่ในหลายสถานการณ์ กฎหมายความมั่นคงที่ได้ประกาศใช้มาก็สามารถช่วยให้การชุมนุมซึ่งมีลักษณะยืดเยื้อ ไม่มีปัญหาความรุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต (ดู “นายกรัฐมนตรีเผยการหารือแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดแล้วพร้อมยืนยันเดินหน้าบริหารราชการต่อไป,” ข่าวทำเนียบ, 30 มี.ค. 53

ครม. มีมติขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ถึงวันที่ 7 เม.ย. และเพิ่มพื้นที่ อ.ชะอำ 2 ตำบล และ อ.หัวหิน 2 ตำบล เพื่อรับการประชุมสุดยอดแม่น้ำโขง

นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรค ปชป. แถลงว่ารัฐบาลยอมยุบสภาในวันที่ 6 ธันวา 53 เลือกตั้งวันที่ 23 ม.ค. 54

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว. นนทบุรี อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง เสนอให้รัฐบาลกับ นปช. ปิดห้องเจรจา และกล่าวว่าการแก้รัฐธรรมนูญโดยตัดการทำประชามติออกไปสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นได้ภายใน 4 เดือน

ที่รัฐสภา กลุ่มสยามสามัคคี นำโดย พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม และเพื่อน ส.ว. แถลงประณาม พ.ต.ท. ทักษิณ ที่วีดีโอลิงค์มายังเวที นปช. ทุกคืน และมีบางตอนพาดพิงสถาบันเบื้องสูง

เวลา 20.00 น. เกิดเหตุคนร้าย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์ปาเอ็ม 67 เข้าไปในรั้วของมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถนนอู่ทองนอก แขวงและเขตดุสิต กทม.

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 31 มี.ค.53

 

31 มีนาคม 2553

นปช. – พ.ต.ท. ทักษิณวิดีโอลิงค์มายังเวทีใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้าฯ ปลุกคนเสื้อแดงให้รวมพลังสู้ครั้งใหญ่ในวันที่ 3 เม.ย. กดดันให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ระบุการต้องสู้ต้องจบก่อนสงกรานต์

รัฐบาล

ฝ่ายที่สาม/ไม่ทราบฝ่าย – เกิดเหตุยิงระเบิดเอ็ม 79 ถล่มสำนักงานขนส่ง หมู่ 4 ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

หมายเหตุ – www.khaosod.co.th 1 เม.ย.53

 

<<< Back                                                                                                                                                                                 Next>>>